Custom Search

Dec 31, 2007

100 ปี ไอน์สไตน์


ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล

อี-เมลจากคุณ SARAVUTH...

ในปี ค.ศ. 2004 มีการกล่าวถึงการฉลอง 100 ปี ไอน์สไตน์ แต่ก็ได้ยินมาเช่นกันว่า
ปี 2004 ยังไม่ใช่ปี 100 ปี ไอน์สไตน์ที่แท้จริง ต้องเป็นปี 2005
จึงขอเรียนถามอาจารย์ว่า ที่ถูกต้องเป็นอย่างไรกันแน่

100 ปี ไอน์สไตน์ที่กล่าวถึงกันนั้นเป็นปี 2004 หรือปี 2005 และจริงๆ แล้ว ผมก็ยังไม่เข้าใจนักว่า 100 ปี ไอน์สไตน์ที่กล่าวถึงกันนั้น เป็น 100 ปี อะไรเกี่ยวกับไอน์สไตน์
เพื่อที่ผมและเพื่อนๆ จะได้ร่วมฉลอง 100 ปี ไอน์สไตน์ด้วย ถ้ายังไม่สายเกินไป?

ถูกต้องแล้วครับที่มีการกล่าวถึง 100 ปี ไอน์สไตน์กันมากในปี ค.ศ. 2004
และข้อสงสัยของคุณ Saravuth คงจะหายไปทันทีเมื่อทราบว่า การฉลอง 100 ปีของไอน์สไตน์ที่กำลังกล่าวถึงอยู่ขณะนี้ เป็นการฉลองอะไรที่เกี่ยวกับไอน์สไตน์

การฉลอง 100 ปี ไอน์สไตน์นี้ เป็นการฉลองในวาระครบรอบ 100 ปี ของการเสนอหรือให้กำเนิดทฤษฎีสัมพัทธภาพ (Theory of Relativity) ของไอน์สไตน์
เมื่อปี ค.ศ. 1905 (พ.ศ. 2448) หรือเมื่อ 100 ปีมาแล้ว
ซึ่งเมื่อนับถึงปี ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) ก็เป็นปีที่ถึงปี 100 ของกำเนิดทฤษฎีสัมพัทธภาพ
แต่เมื่อนับถึงปี ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) ก็ยังฉลอง 100 ปี

ทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ได้อยู่ดี เพราะปี 2005
ก็เป็นปีที่ทฤษฎีสัมพัทธภาพได้ถือกำเนิดมาแล้วครบ 100 ปีโดยสมบูรณ์ ดังนั้น ทั่วโลกจึงฉลอง 100 ไอน์สไตน์กันทั้งปี ค.ศ. 2004 และปี ค.ศ. 2005 ครับ

จริงๆ แล้ว ทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ มีสองภาค คือ ภาคพิเศษ
(เรียกทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคพิเศษ หรือ Special Theory of Relativity)
และภาคทั่วไป (เรียกทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไป หรือ General Theory of Relativity) ภาคพิเศษเป็นภาคที่ไอน์สไตน์เสนอเมื่อปี ค.ศ. 1905 หลังจากนั้นสิบปี คือถึงปี ค.ศ. 1915
ไอน์สไตน์จึงเสนอทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไป

ดังนั้นการฉลอง 100 ปี ไอน์สไตน์ในปี ค.ศ. 2004 หรือ 2005 จริงๆ แล้ว
จึงเป็นการฉลองวาระครบรอบ 100 ปีของทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคพิเศษของไอน์สไตน์
อย่างไรก็ตาม จากความสำคัญของทฤษฎีสัมพัทธภาพภาพพิเศษและหลักการพื้นฐานที่เหมือนกันของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั้งสองภาค

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นความเร็วของแสงว่า เป็นความเร็วคงที่ ไม่ขึ้นอยู่กับสภาพการเคลื่อนที่ของต้นกำเนิดแสงและผู้สังเกต

ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงจุดกำเนิดของทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ ปี ค.ศ. 1905
จึงเป็นปีที่เป็นเสมือนกับจุดเริ่มต้นของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั้งหมด

ถ้าคุณ Saravuth และเพื่อนๆ ยังไม่ได้ร่วมฉลอง 100 ปีไอน์สไตน์ในปี ค.ศ. 2004 มา ปี ค.ศ. 2005 ก็ยังไม่สายเกินไปครับ

สมการ E = mc2 ที่มักเรียกกันเป็นสมการของไอน์สไตน์ เกี่ยวข้องกับ การฉลอง 100 ปี ไอน์สไตน์หรือไม่ครับ?

สมการ E = mc2 เป็นสมการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างสสารกับพลังงาน เป็นสมการหรือผลที่สำคัญที่สุดสมการหนึ่งจากทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคพิเศษของไอน์สไตน์ ดังนั้นถ้าจะฉลองปี 2004 หรือ 2005 เป็น 100 ปีของสมการ E = mc2 ก็ได้ และมีอยู่หลายกลุ่มหลายองค์กรทั่วโลกที่สนใจ เรื่องราวของไอน์สไตน์ก็ฉลองปี 2004 หรือ ปี 2005 เป็นการฉลอง 100 ปี สมการ E = mc2 ครับ

ไอน์สไตน์เคยคิดผิดไหมครับ ในเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์?

ไอน์สไตน์ได้รับการยกย่องเป็นอัจฉริยะ นักวิทยาศาสตร์ผู้ถ่อมตนที่สุด และในหนังสือ “ไอน์สไตน์ผู้พลิกจักรวาล” ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล (ผู้เขียน) และผมก็เห็นด้วย...
ยกย่องไอน์สไตน์เป็น “ยักษ์ใหญ่ใจดีผู้ไม่หลงตนเอง” เพราะไอน์สไตน์จะกล่าวอย่างถ่อมตนเสมอในความสำคัญหรือบทบาทของเขาต่อความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์
ซึ่งสรุปอย่างสั้นๆ ก็คือ ไอน์สไตน์ไม่คิดว่า ทฤษฎีของตนเอง ความคิดของไอน์สไตน์เอง จะต้องถูกต้องเสมอไป

ไอน์สไตน์ยอมรับว่า ในชั่วชีวิตของไอน์สไตน์ ก็คิดผิดอยู่บ่อยๆ หลายเรื่อง แต่เรื่องที่ไอน์สไตน์รับว่าเป็นเรื่องใหญ่ เป็นการคิดผิดที่ไอน์สไตน์เองเสียใจหรืออับอายที่สุดมีอยู่สองเรื่อง
เรื่องหนึ่งที่ไอน์สไตน์บอกว่า เสียใจที่สุด คือ การลงนามในจดหมายถึงอดีตประธานาธิบดี แฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ สหรัฐอเมริกา
ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของโครงการแมนฮัตตัน นำไปสู่การสร้างระเบิดอะตอมที่ถูกนำไปถล่มฮิโรชิมาและนางาซากิ เมื่อ ปี พ.ศ. 2488 ...

อีกเรื่องหนึ่งที่ไอน์สไตน์บอกว่า เป็นการคิดผิดที่เขาอับอายที่สุด คือ การแก้สมการคำตอบจากการนำเอาทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไปของเขา ไปทดสอบใช้กับสภาพของจักรวาล
เมื่อปี พ.ศ. 2460

ซึ่งขณะนั้นเชื่อกัน (ในวงการวิทยาศาสตร์ ทั่วโลก) ว่าจักรวาลมีสภาพคงที่ ไม่ใช่จักรวาลแบบกำลังขยายตัว แต่ผลจากทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ออกมาว่า จักรวาลกำลังขยายตัว ไอน์สไตน์จึงแก้สมการคำตอบ โดยเพิ่มค่าคงที่ขึ้นมา เรียกว่า Cosmological Constant ซึ่งทำให้คำตอบจากทฤษฎีสัมพัทธภาพออกมาสอดคล้องกับความจริง (ที่เข้าใจกันอย่างผิดๆ ในขณะนั้น)

จนกระทั่งต่อมา เมื่อนักดาราศาสตร์โลกได้หลักฐานที่ชัดเจนว่า ความเข้าใจเดิมของวงการวิทยาศาสตร์ต่อสภาพของจักรวาลนั้นผิด เพราะจริงๆ แล้ว จักรวาลกำลังขยายตัว
ไอน์สไตน์จึงออกมายอมรับว่า การเพิ่มค่าคงที่ Cosmological Constant ของเขานั้น
ไม่จำเป็น

จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของไอน์สไตน์เขาเองก็กล่าวเสมอว่า ทฤษฎีหรือความคิดในเรื่องของวิทยาศาสตร์ของเขา ก็อาจผิดได้เสมอ เพราะความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นเช่นนั้น
เนื่องจากมนุษย์เรา ไม่มีเครื่องมือใดๆ จะตรวจสอบได้ว่า ทฤษฎีหรือความคิดหรือองค์ความรู้ใดๆ ของวิทยาศาสตร์ เป็นที่สุดของความจริงแล้ว และสำหรับวงการวิทยาศาสตร์

การค้นพบหลักฐานข้อมูลหรือองค์ความรู้ใหม่ ที่ขัดแย้งหรือลบล้างทฤษฎีเก่า ความรู้เก่า มิใช่เรื่องเสียหายแต่อย่างใด หากเป็นความก้าวหน้าเสียอีก ดังนั้น สำหรับ นักวิทยาศาสตร์นักคิดที่เชื่อหรือมั่นใจว่า ทฤษฎี ของไอน์สไตน์ผิด ก็ขอให้มุ่งมั่นเดินหน้าต่อ เพราะโอกาสที่จะสร้างทฤษฎีใหม่ หรือค้นพบองค์ความรู้ใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่าของไอน์สไตน์ มีอยู่เสมอครับ