Custom Search

Dec 30, 2007

มองอนาคตการเมืองแบบรัฐศาสตร์ 'ฟ้าเปิด' หรือ 'มรสุม'

ภาพประกอบ คุณชัย ราชวัตร
มติชน
31 ธันวาคม 2550
http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=552


'..ทั้งหมดมันเกิดบทเรียนกับทุกฝ่าย คือความทุกข์ยากที่เกิดมา 2 ปี ตั้งแต่ยุบสภา รัฐประหาร ความอึดอัด เศรษฐกิจตกต่ำ ทุกคนมีบทเรียน เป็นเรื่องความรู้สึกสำนึกของนักการเมือง และทหารว่า อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ..'

รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลายเป็นสัญลักษณ์ของ 'อารยะขัดขืน' ของการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549
เพราะการแสดงเจตจำนงไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง ด้วยการ 'ฉีกบัตร'
ซึ่งต่อมาได้เกิดชนวนรัฐประหาร 19 กันยายน 2550 ทำให้ประเทศไทยถูกปกคลุมไปด้วย
'เมฆหมอก' ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา
การเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 เป็นเหมือนสายลมที่พัดพาเมฆหมอกให้เลือนหายไปจากท้องฟ้าเมืองไทย เป็นความหวัง ความสุข และความหมายของคนไทยทั้งประเทศ
หากแต่เมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้น พรรคพลังประชาชน ที่ใครก็รู้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้การสนับสนุนด้านกำลังใจอยู่ ได้ที่นั่งมากถึง 233 ที่นั่ง ทำให้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสภาพการณ์ดังกล่าว ทำเอาหลายคนหนักใจว่า ความวุ่นวายทางการเมืองจะยุติลงหรือไม่

รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร เปิดมุมมองในทรรศนะผ่าน 'มติชน' เพื่อมองทิศทางอนาคตการเมืองไทยในปี 2551

- มองอนาคตการเมืองไทยภายใต้แกนนำอย่างพรรคพลังประชาชนอย่างไร
พรรคพลังประชาชน หากจะตั้งรัฐบาล ก็ต้องพยายามลดประเด็นความเปราะบางทางการเมือง เพราะการยืนยันว่าจะช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ และการนิรโทษกรรม 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย จะเป็นเงื่อนไขที่พรรคเล็กยังตั้งแง่อยู่ นอกจากนี้เงื่อนไขดังกล่าวจะทำให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเคลื่อนไหว และจะเกิดการประท้วง เกิดการสนับสนุนให้ปะทะกันของฝูงชน อาจนำไปสู่การนองเลือด การสิ้นอายุขัยของรัฐบาลโดยเร็ว และสิ้นอายุของประชาธิปไตยอีกครั้ง เพราะจะมีคนขึ้นมารักษาความสงบ ซึ่งอาจชอบธรรมกว่า 19 กันยา 49 ด้วยซ้ำ เพราะมันนองเลือดชัด ขณะที่ 19 กันยา 49 ยังเป็นเรื่องถกเถียงกันอยู่ว่า จะมีการนองเลือดจริงหรือไม่ และทหารก็มีบทเรียนแล้วว่า ถ้ามีการเคลื่อนไหวปะทะกันก็ต้องปล่อยให้นองเลือด
ถ้าจะให้ประเทศเดินไปได้ด้วยดีภายใต้การนำของรัฐบาลพรรคพลังประชาชน นายสมัคร
(สุนทรเวช) ก็ต้องคิดให้ดีว่าผลประโยชน์ของพรรคคืออะไร ระหว่างการช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ และ 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย หรือจะเป็นการทำให้พรรคเติบโตเข้มแข็ง นำนโยบายที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจมาเร่งทำเพื่อแก้ความเดือดร้อนประชาชน ทั้งนี้ ถ้ารัฐบาลใหม่ไม่แทรกแซงเรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณ และนิรโทษกรรม 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย การเมืองไทยจะเดินหน้าปกติ และผมเชื่อว่า อาจอยู่ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ปีครึ่ง และถ้าแสดงฝีมือดีก็จะอยู่ได้นานกว่านั้น แต่ปัญหาสำคัญคือ ตอนนี้เศรษฐกิจอยู่ในขาลงสุดท้าย ก็ต้องให้เขาเร่งพิสูจน์ฝีมือในการแก้ปัญหา สถานการณ์ในเงื่อนไขนี้ทำให้เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

- นั่นหมายความว่าพรรคประชาธิปัตย์ปิดประตูตั้งรัฐบาลสนิทแล้ว
พรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสตั้งรัฐบาลได้น้อยมาก คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค ควรบอกคุณอภิสิทธิ์ให้เลิกคิดเถอะ เพราะถ้ารวมทุกพรรคเล็กตอนนี้จะได้ 247 เสียง ซึ่งมันเสียวไส้จะล่ม เพราะ ส.ส.บางคนไปเป็นรัฐมนตรีก็ไม่สามารถโหวตในสภาได้ ยกเว้นพรรคพลังประชาชนจะเจอใบแดง ใบเหลือง จนสรุปสุดท้ายเหลือ ส.ส.ราว 210 คน อันนี้จะเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง แต่การที่ กกต.จะให้ใบแดงได้ ต้องมีหลักฐานแน่นหนานะอย่าลืม

- แต่เป้าหมายของพรรคพลังประชาชนดูเหมือนจะอยู่ที่การช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ และนิรโทษกรรม 111 คน
นายสมัคร ประกาศกับสื่อต่างประเทศว่า จะทำทั้ง 2 เรื่อง แต่นายสมัคร ก็เคยให้สัมภาษณ์กับ 'มติชน' ฉบับวันที่ 17 ธันวาคม ว่า จะไม่ยุบ คตส. ส่วนวันที่ 23 ธันวาคม หลังเห็นภาพรวมของผลการเลือกตั้ง นายสมัคร ก็ไม่ได้พูดประเด็นนี้ ผมเชื่อว่า นายสมัคร ในฐานะเป็นนักการเมืองที่ซื่อสัตย์กับตัวเองเยอะ คงเชื่อว่า คะแนนที่ได้มาขนาดนี้ อย่างน้อยก็เป็นฝีมือการจัดการบริหารของตัวเองด้วย นอกจากนี้ ข้ออ้างที่จะไม่ไปยุ่ง 2 เรื่องนั้นมีและดีพอสมควร คือจะไม่ทำให้พรรคเป็นพรรคการเมืองของบุคคล ใครมาก็ได้ ขอให้สืบสานนโยบายไทยรักไทย เช่นที่สืบสานได้โดยพรรคพลังประชาชน
นอกจากนี้ การนิรโทษกรรม ถามว่า คนในพรรคพลังประชาชนที่เป็นรัฐมนตรีแล้ว จะไปนิรโทษกรรม 111 คนนั้นทำไม เพราะคนเหล่านั้นก็จะมาเป็นรัฐมนตรี ฉะนั้นพิสูจน์ฝีมือดีกว่า และรอเวลาไป 3-4 ปี อาจมีเลือกตั้ง 2-3 ครั้ง ก็รักษาฐานพลังประชาชนไว้ เวลานั้นคุณจาตุรนต์ ฉายแสง ก็มาแทนนายสมัครได้ หรือจะเป็นคุณสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก็มาแทนได้ แถมมีโอกาสที่จะเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่คู่กับพรรคประชาธิปัตย์ได้ในอนาคตด้วย ซึ่งทางเลือกนี้มันเป็นประโยชน์กับทุกคน รวมถึงตัว พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะถ้าคิดกันไกลๆ ว่า พรรคนี้อยู่ได้ยาวเพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ตั้งขึ้นมาก็จะดูเป็นบุคคลอ้างอิง แต่ถ้าให้ช่วยแก้คดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ตอนนี้ มันจะล้มกันไปหมด ผมเชื่อว่า คนในพรรคพลังประชาชนจะยึดผลประโยชน์ประชาชนมากกว่า

- แต่ยุทธศาสตร์พรรคพลังประชาชนก็เกาะเกี่ยวภาพ พ.ต.ท.ทักษิณ มาตลอดในช่วงหาเสียง
การพยายามช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ และพยายามยุบ คตส. จะทำให้เกิดวิกฤตแน่ แม้แต่คนที่สนับสนุนพรรคพลังประชาชนเอง เขาก็อยากให้พรรคแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ส่วนเรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ให้เป็นตามกระบวนการศาล อันนี้คนที่เลือกพรรคพลังประชาชนเขาก็พูดกันเยอะ คือมันเป็นเรื่องการใช้เหตุผลว่า ผลประโยชน์ของฉันคืออะไร ของรากหญ้าคืออะไร ไม่ใช่ไปช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ แล้วเกิดความวุ่นวายทางการเมือง และจะทำให้ผลประโยชน์ของทุกฝ่ายพังพินาศไปหมด จริงอยู่ในช่วงหาเสียง ก็เป็นยุทธศาสตร์ ถ้านายสมัครบอกว่า ผมอิสระ ไม่สนใจ พ.ต.ท.ทักษิณ คงไม่มีใครเลือกหรอก ที่คนเขาเลือกเพราะใช้ภาพลักษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ กับอีก 111 คน แต่ตอนนี้มันไม่จำเป็นแล้ว อาจจะมองว่า เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล (นิ่งคิด) ผมคิดว่า คงไม่ใช่การทรยศทางการเมือง แต่เป็นไปตามยุทธศาสตร์การหาเสียงมากกว่า แต่ตอนนี้ เมื่อชนะมาแล้วจะไปช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ เพียงคนเดียวหรืออีก 111 คนเท่านั้นได้อย่างไร เพราะมีประชาชนที่เดือดร้อนอีกเยอะ

- คนชนชั้นกลางยอมรับผลการเลือกตั้งแบบนี้ได้หรือ
รับได้เลย (พูดสวน) สิ่งสำคัญคือเสถียรภาพของรัฐบาล ผมคิดว่า คนชนชั้นกลางส่วนใหญ่จะรู้ว่า เมื่อคะแนนเป็นอย่างนี้ก็ยอมรับ และเฝ้าดู แต่ถ้าจะบอกว่า โกง แล้วอยากได้คุณอภิสิทธิ์ ก็ต้องพูดว่า 'อยากได้ก็ได้ไป คะแนนมาแบบนี้จะทำอย่างไร' ทั้งนี้ถ้าพรรคพลังประชาชนแสดงฝีมือแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระดับพื้นฐานก่อน ผมคิดว่าคนไทยก็รับได้ ตอนพรรคไทยรักไทยมาใหม่ๆ ก็ชนชั้นกลางนี่แหละที่เทคะแนนให้

- กลุ่มที่เคยต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างชนชั้นสูง ชนชั้นกลาง นักวิชาการ จะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมใต้น้ำหรือไม่
ไม่หรอก เพราะเขาจะมุ่งไปที่ คตส.และศาล โอกาสที่ พ.ต.ท.ทักษิณ สู้คดีมีอยู่ ถ้าไม่กลับมาสู้ก็หมายความว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ร้าย ผมคิดว่า กลุ่มที่ไม่เอา พ.ต.ท.ทักษิณ จะรอให้กระบวนการยุติธรรมทุกอย่างดำเนินการไป ส่วนคุณสมัคร จะไปอำนวยความสะดวกให้เขากลับมาอย่างคน ก็ทำไปเลย แต่อย่าแทรกแซง เพราะจะเป็นชนวนความวุ่นวาย

- ระบอบการเมืองที่ข้าราชการขุนนางได้อำนาจมาหลังรัฐประหาร แต่คะแนนออกมาที่พลังประชาชนอย่างท่วมท้น คน 2 กลุ่มนี้จะต่อสู้กันอย่างไร
ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ การจะมีเมกะโปรเจ็คต์ซ่อนเร้นยาก รัฐบาลทำงานยากขึ้น และไม่กลัวว่าพรรคไหนจะเป็นรัฐบาล เพราะรัฐธรรมนูญเคร่งครัดมาก อย่างไรก็ดี ภายใต้ 233 เสียง และเป็นรัฐบาลมาจากประชาชน ก็คงมีความอิสระพอสมควร และขึ้นกับภาวะผู้นำของนายกฯคนใหม่ด้วย
ส่วนที่ว่า รัฐธรรมนูญเป็นกลไกทำให้เกิดอำมาตยาธิปไตย ผมคิดว่าผู้วิจารณ์ไม่ได้ดูรัฐธรรมนูญจริงๆ เพราะฝ่ายบริหารจะอ่อนแอเมื่อฝ่ายบริหารทำผิดกติกา หรือพยายามโกง ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ 50 กำหนดให้รัฐบาลแถลงนโยบายต่อสภา ต้องใช้เงินอย่างไร มีผลดีผลเสียอย่างไร ผมคิดว่า ดีมากเพราะบังคับให้ทำงานอย่างเคร่งครัด ส่วนเรื่อง ส.ว.แบบผสม ถ้าทุกอย่างคลี่คลายแล้ว ประชาชน นักการเมืองแสดงให้เห็นว่า การเลือกตั้ง ส.ว.คืออะไร หน้าที่ ส.ว.คืออะไร ก็น่าจะเป็นการเลือกตั้ง ส.ว.ทั้งหมดได้
ส่วนฝ่ายทหารก็คงอยู่ในกรม กอง เพียงแต่อย่ามายุ่งกับเขา อย่ามายุ่งกับ คตส.และนิรโทษกรรม ซึ่งถ้าวันหนึ่งพลังประชาชนบริหารดี ใครๆ ก็ยอมนิรโทษกรรมให้
แต่เรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณ คงยอมกันไม่ได้ ต้องเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม

- ปากของคุณสมัคร จะมีผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลมากน้อยแค่ไหน
ปากของคุณสมัคร ไม่ได้ทำให้พ้นจากผู้ว่าฯกทม.คราวนั้น คุณสมัคร รู้แหละว่าควรจะทำอย่างไร อย่างพูดกับสื่อกรณีเสพเมถุน แล้วทำอะไรคุณสมัครได้ล่ะ อย่างมากเขาก็ถูกด่า ประณาม ไปเรื่อยๆ แต่การบริหารเป็นเรื่องสำคัญที่จะเป็นตัวชี้เสถียรภาพ ซึ่งถ้าอยู่ไป 1 ปีครึ่งแล้วเปลี่ยนรัฐบาลก็ไม่เสียหาย ถ้าเป็นการเปลี่ยนตามครรลองประชาธิปไตย คือ ลาออก จับขั้วใหม่ ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ โอเค เสถียรภาพรัฐบาลอาจไม่ค่อยดี แต่เสถียรภาพการเมืองแข็งโป๊ก เพราะมันเปลี่ยนตามครรลอง แต่ที่ผ่านมาบ้านเรามีปัญหาเพราะเสถียรภาพรัฐบาลก็ไม่ดี แถมเสถียรภาพทางการเมืองก็ไม่ดี เพราะทุกอย่างมันถึงทางตันหมด เลือกตั้งก็มีปัญหา

- อาจารย์เชื่อว่า ปัญหาการเมืองที่สุมๆ อยู่หมดสิ้นไปแล้วหรือ?
หมด..หมดอย่างน่าอัศจรรย์ จากฝีมือความสามารถของพรรคพลังประชาชน และ (เน้นเสียง) จากฝีมือของการทำรัฐประหาร เพราะเรื่องทั้งหมดมันเกิดบทเรียนกับทุกฝ่าย คือความทุกข์ยากที่เกิดมา 2 ปี ตั้งแต่ยุบสภา รัฐประหาร ความอึดอัด เศรษฐกิจตกต่ำ ทุกคนมีบทเรียน เป็นเรื่องความรู้สึกสำนึกของนักการเมือง และทหารว่า อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ นอกจากนี้ หากสังเกตจะพบว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีคนมาลงคะแนนถึง 74% อาจเพราะเปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าด้วยส่วนหนึ่ง และ กกต.ก็ฉลาดที่ทำให้การเลือกตั้งเป็นไปแบบสบายๆ ทั้งนี้การเลือกตั้งที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า รัฐประหารไม่ทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายทางการเมืองขนาดที่เคยบอกๆ กันว่า จะไม่ไปลงคะแนน แต่เมื่อถึงวันจริง คนก็ไปลงคะแนนเยอะ
ที่สำคัญก่อนหน้านี้นักรัฐศาสตร์ นักนิติศาสตร์บางคนบอกว่า การเลือกตั้งภายใต้กติกาที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนด จะทำให้เป็นพรรคการเมืองเบี้ยหัวแตก รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งผลก็ออกมาว่า ไม่จริง เพราะในที่สุดในระบบเลือกตั้ง กับพฤติกรรม วิธีคิด การคิดเรื่องเหตุเรื่องผลของประชาชน ทำให้เหลือพรรคใหญ่ 2 พรรค และพรรคเล็กไม่กี่พรรค แปลว่า คนไทยกับประชาธิปไตยมีการพัฒนาขึ้นเยอะมาก

- หมายความว่า ฟ้าเปิดแล้ว สำหรับอนาคตการเมืองไทย
ใช่ แต่ถ้าคุณสมัคร ยังคิดไม่ออก และจะเป็นนอมินีจริงๆ ก็คงพาให้ทุกอย่างลงเหวหมด
หรือถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ และอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน
พยายามให้พรรคพลังประชาชนช่วย ก็จะพาลงเหว แต่ถ้าคุณสมัคร ไม่แตะ 2 เรื่องนี้
ก็ไม่ได้หมายความว่าหักหลังพ.ต.ท.ทักษิณ
เพราะเป็นยุทธศาสตร์การเลือกตั้งซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้

- การเมืองไทยจะเหมือนหลังปี 2544 หรือไม่ ที่คนชื่นมื่น
ไม่เหมือน..เพราะรัฐธรรมนูญต่างกัน จิตสำนึกคนเปลี่ยนแปลงไป
ที่จะไม่บ้าเห่ออะไรง่ายๆแล้ว ขณะที่ปี 2544 บ้าเห่อกับหัวหน้าพรรคจบดอกเตอร์
เป็นตำรวจ เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ มีอดีตฝ่ายซ้ายที่เป็นเอ็นจีโอเก่า
โห...ตอนนั้นมันครบเครื่องทุกอย่างที่คนทั่วๆ ไปจะหลงใหลไปได้
แต่ตอนนั้นผมไม่ไว้ใจเขาตั้งแต่ต้นแล้ว มีอย่างที่ไหน มาถึงก็เจอเรื่องซุกหุ้นกันตั้งแต่แรก
แต่วันนี้ผมคิดว่า คนทั่วไปก้าวหน้าขึ้นเยอะ