Custom Search

Apr 9, 2020

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน จากเด็กโคราชเลี้ยงหมู สู่โฆษก “ศบค."





ทวีศิลป์เป็นชาวนครราชสีมา บิดาชื่อ เว้งกวง แซ่โต๋ว มารดาชื่อ เพ็ญนภา มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน โดยเป็นลูกคนที่ 2 ครอบครัวมีอาชีพค้าขาย เปิดร้านโชวห่วย อยู่หน้าตลาดเทศบาล 2 จังหวัดนครราชสีมา บิดาประสบอุบัติเหตุจนต้องตัดขา ทุกคนในบ้านจึงช่วยทำงาน รวมถึงทวีศิลป์ที่ต้องช่วยเลี้ยงหมู พับถุงขาย กรอกน้ำกรด ทำขนมผิง ฯลฯ

ทวีศิลป์ จบการศึกษาที่โรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา ระดับมัธยมที่โรงเรียนบุญวัฒนา จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยจากแพทย์ชนบท มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยเป็นการสอบโควตาของชมรมแพทย์ชนบท พอเรียนจบแพทย์ปี 6 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ปี พ.ศ. 2532 เริ่มทำงานที่โรงพยาบาลจิตเวช นครราชสีมา เป็นเวลา 3 ปี หลังจากนั้นก็ได้เข้าเรียนที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา และได้เข้าทำงานที่นี่ และทำหน้าที่สอนนักศึกษาแพทย์ควบคู่กันไป จนปี 2537 ก็ตัดสินใจไปเรียนต่อเพิ่มเติมด้านจิตเวชที่ชิคาโก สหรัฐอเมริกา ทางด้านประสาทจิตเวชศาสตร์ ช่วงที่อยู่ที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เริ่มทำหน้าที่ตอบคำถามเรื่องจิตเวชผ่านสื่อต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้คุณหมอเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป จนราวปี พ.ศ. 2546–47 ผู้ใหญ่ทางกระทรวงให้ย้ายมาอยู่กับทางกระทรวงสาธารณสุข เริ่มจากการเป็นโฆษกกรมสุขภาพจิต แล้วขึ้นเป็นผู้อำนวยการสำนักสุขภาพจิตและสังคม พร้อมดำรงตำแหน่งโฆษกกระทรวงสาธารณะสุข จากนั้นวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 ได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุม ศบค.อย่างเป็นทางการ ให้ดำรงตำแหน่งโฆษก ศบค
ที่มา http://motherandchild.in.th/content/view/324/




“ผมเคยเลี้ยงหมู เดินขอน้ำข้าวมาเลี้ยงหมู ทำขนมผิง ขายก๋วยเตี๋ยว เป็นชีวิตที่เหนื่อย ลำบาก...
อยากทานเป๊บซี่ที ก็ต้องรอทานจากฟองที่เหลืออยู่
ไม่ก็แบ่งกับพี่น้อง…”
ชีวิตบทหนึ่งของ น.พ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน
ก่อนก้าวสู่ โฆษกกระทรวงสาธารณะสุข
                ย้อนกลับไปเมื่อ 40 กว่าปีก่อน (ณ วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2563) ที่หน้าตลาดเทศบาล 2 จังหวัดนครราชสีมา เด็กน้อยหน้าตี๋คนหนึ่งเกิดที่นี่ ไม่มีใครรู้ว่าอีกสี่สิบกว่าปีต่อมา เด็กน้อยคนนี้จะกลายมาเป็นจิตแพทย์ชื่อดัง ก่อนก้าวสู่ตำแหน่งโฆษกกรมสุขภาพจิตและสังคม และขึ้นเป็นผู้อำนวยการฯ และโฆษก กระทรวงสาธารณะสุข ในเวลาต่อมา
อย่าว่าแต่คนอื่นเลย เขาเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำ... ไม่รู้ว่าชีวิตของเขาและครอบครัวจะมาถึงจุดหักเหในวันหนึ่ง  วันที่บิดาซึ่งเป็นกำลังสำคัญของครอบครัวประสบอุบัติเหตุไม่คาดคิด นั่นคือ “ต้องเสียขาไปหนึ่งข้าง” นับจากวันนั้น คุณหมอเล่าให้ฟังว่า ทุกอย่างดิ่งลงหมด จากเคยมีชีวิตที่ค่อนข้างสบาย จากการค้าขายโชวห่วยในตลาด นับตั้งแต่นั้นก็ต้องมาเลี้ยงหมู พับถุงขาย กรอกน้ำกรด ทำขนมผิง พับถุงขาย และอื่นๆ อีกสารพัด เพื่อช่วยเหลือครอบครัว

ทุกอย่างดิ่งลมหมด เมื่อ...
“ตอนนั้นบ้านผมเปิดเป็นโชวห่วย อยู่หน้าตลาดเทศบาล 2 ก็เป็นห้องแถว ไม่ได้ใหญ่โตอะไร แต่อาศัยว่าอยู่หน้าตลาด การค้าดี มีสะตุ้งสะตังค์ ผมจำได้ว่ามีภาพถ่ายภาพหนึ่ง มีรถของพ่อ เป็นรถปิกอัพไว้ส่งของอะไรด้วยซ้ำ
...จนวันหนึ่งแกขายของ แล้วน้ำแข็งมาส่งไม่ทัน แกก็ไปที่โรงน้ำแข็ง ไปเอาน้ำแข็งเอง ปรากฎว่าไปลื่น แล้วล้ม ขาด้านซ้ายไหลไปสู่เลื่อยวงเดือน ตอนนั้นผมยังเด็กๆ ประถม กำลังเรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียน ไม่รู้เรื่องอะไรเลย น้ำแข็งมันก็ลื่นมาก เป็นกั๊กใหญ่ๆ ไสกันมาเข้าเลื่อยวงเดือน เพื่อไปเฉือน เวลาเค้าไปเฉาะจะได้ง่ายขึ้น เลื่อยวงเดือนก็อยู่บนลานสังกะสี เพื่อจะได้เลื่อยง่ายๆ มันก็ลื่นไป ปรื้ดไป เลื่อยวงเดือนก็เลยผ่าตรงกลางฝ่าเท้าเลย แกมาเล่าให้ฟังทีหลัง ตอนนั้นหน้าแกตกใจมาก พอเห็นเลือดไหล แกก็เอามือบีบขาที่ฉีกทั้งสองข้างเอาไว้ หาเชือกฟางแถวนั้นพัน ก็มีคนช่วยหามมาส่งที่โรงพยาบาล แกก็ร้อง หมอ.. หมอช่วยรักษาให้หน่อย
...หมอเห็นแผล ก็บอกว่าไม่ไหว เพราะแผลมันฉกรรจ์มาก ใหญ่มาก ซึ่งตอนนั้นสามสิบกว่าปีที่แล้ว เทคโนโยลียังไม่ก้าวหน้าพอ ก็จำเป็นต้องตัดขาข้างซ้ายทิ้ง จากนั้นพ่อก็พิการ พอพิการเสร็จ ทุกอย่างก็ดิ่งลงหมดเลย จากที่เคยอยู่ที่ตลาด ก็ต้องย้ายออกมาอยู่นอกเมือง คือคนขาขาดน่ะ จะทำอะไรได้ ขับรถก็ไม่ได้ ซื้อของก็ไม่ได้ ก็ต้องเริ่มต้นใหม่หมด แม่ก็มีลูก 5 คน ผมเป็นคนที่ 2 ช่วงนั้นแย่ที่สุดในชีวิต โชคดีว่าก่อนหน้านี้พ่อผมมีที่ดินซื้อไว้ตรงชานเมืองประมาณ 100 ตารางวา ก็เลยมาอยู่ริมถนนมิตรภาพ อยู่ริมทางรถไฟ ซึ่งก็เป็นขอบเมืองเลย มาเลี้ยงหมู หาปลาแถวนั้น วิดปลาขาย เลี้ยงหมูไว้ขาย มีคอกหมู เล้าหมู ขายก๋วยเตี๋ยว ขายของทุกอย่าง ที่ขายได้ ทำขนมผิง พับถุง เล็กๆ น้อยๆ ผมกับพี่ๆ น้องๆ ก็ช่วยพ่อแม่ทำมาตลอด”

ต้องขอขี้เลื่อยมาต้มข้าวหมู
“ก็ไม่ได้รู้สึกว่าลำบากหรืออะไรนะ เพราะตัวเองก็ลำบากมาตลอด ตอนอยู่หน้าตลาดก็ช่วยพ่อช่วยแม่ขายของ กลับจากเรียนหนังสือก็ต้องมาค้าขาย เป็นภาพแบบนี้มาตลอด แต่คนที่ทุกข์คือพ่อกับแม่ที่ทุกข์มากขึ้น พ่อขาขาด แม่ต้องทำทุกอย่าง เช้าไปตลาด เราก็ไปขอน้ำข้าวตามบ้านแต่ละหลังแถวๆ นั้นมาเลี้ยงหมู โห ลำบากสุดๆ ข้าวเนี่ยจะไม่มีกรอกหม้อเลย
...หน้าบ้านถึงแม้อยู่ถนนมิตรภาพ แต่ไม่มีคนผ่าน แต่ก่อนสามสิบปีที่แล้ว มันแทบจะเป็นชนบทมากๆ เลย นานๆ จะมีรถวิ่งผ่านสักคัน ตอนนั้นผมเรียนอยู่โรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา ก็ไกลพอสมควร ก็มีสามล้อนั่งไปไป เพราะเดินไม่ไหว ไกลมาก สักประมาณห้ากิโล สิบกิโลได้ ก็เลี้ยงหมูตั้งแต่เด็กๆ ไปเก็บผักตบชวามาซอยผสมรำข้าวกับน้ำข้าว ประหยัดเงินหน่อยก็ไปขอข้าวหมูมาจากบ้านใกล้ๆ ช่วยพ่อหาฟืน หาอะไร ซึ่งก็มีญาติทำเฟอร์นิเจอร์ เค้าทิ้งขี้เลื่อยเศษไม้อะไรต่างๆ พ่อกับแม่ก็บอกให้เค้าเอาขี้เลื่อยมาทิ้งข้างบ้านเรา เพื่อเอาขี้เลื่อยแยกมา ทำเป็นฟืนต้มข้าวหมู ต้องใช้ฟืนเยอะ เพราะต้องต้ม ไม่งั้นหมูป่วยตาย ท้องเสียตายหมด
...ตอนนั้นผมเรียนอยู่ที่โรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา จากนั้นก็ย้ายมาที่โรงเรียนเมืองนครราชสีมา มาต่อมัธยมที่โรงเรียนบุญวัฒนา ซึ่งเป็นสหศึกษา เพราะใกล้บ้าน ไม่ต้องลำบากพ่อกับแม่ เช้ามา ก็ต้องดูแลที่บ้าน ให้เรียบร้อย ตอนเย็นก็มาช่วยต่อ”



ทานเป๊บซี่สักขวด..ยังลำบาก
“ช่วงนั้นแม่ก็เริ่มป่วยเป็นโรคหัวใจ อายุสักสี่สิบกว่าแม่ก็เสียแล้ว ซึ่งตอนท่านเสีย ผมเรียนอยู่ชั้นม.ศ. น้องคนเล็กยังเรียนชั้นประถมอยู่เลย ตอนนั้นก็เปลี่ยนมาหลายอาชีพ มาทำขนมผิง เช้าๆ ก็มาช่วยก่อเตา เสาร์อาทิตย์ก็มานวดแป้งกัน มาใส่ซองพลาสติก มัดเป็นขยุ้มๆ ให้แม่เอาไปขายที่ตลาดเทศบาล 2 บางครั้งก็ติดตามคุณแม่ไปขาย หน้าบ้านก็ทำเป็นโชวห่วยเล็กๆ ขายก๋วยเตี๋ยว ขายข้าวแกง ทำทุกอย่าง เพราะเลี้ยงหมูได้ระดับหนึ่ง แล้วมันเหนื่อยมาก ไม่ไหว ตอนแรกๆ เลยขายขนมผิงด้วย เลี้ยงหมูไปด้วย แต่ก็ไม่ได้ดีสักเท่าไหร่ เพราะขายไม่ออก บางทีทำไปแล้วไม่มีคนรับซื้อ ของก็เหลือเต็มไปหมด ก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร มันต้องพัฒนา ต้องมีสูตร คู่แข่งก็เยอะ ก็ล้มเลิกไป
...ก็มาขายก๋วยเตี๋ยว เอาไม้ เอาเฟอร์นิเจอร์ เอาลัง พ่อผมก็มาต่อๆๆ กัน แต่ลูกค้าก็ไม่มาก นานๆ จะมีรถมาแวะจอด คนมากินส่วนใหญ่ก็เป็นขาประจำ เป็นคนแถวนั้น ขายตั้งแต่ชามละ 5 บาท จำได้ว่าเป๊บซี่ขวดนึง 2.50 บาท แต่แม่ไม่ให้กิน เป๊บซี่ขวดนึงเวลาเทขาย เค้าจะซื้อใส่ถุง เสร็จแล้วมันจะตีขึ้นมาเป็นฟอง เราก็จับตั้งลงมา จากฟองที่ตกลงมา เราก็ได้กินตรงนั้น คือมันหิวไง อยากจะกินเป๊บซี่ นานน๊านสักทีนึง แม่จะให้เป๊บซี่ขวดนึง แต่มีข้อแม้ว่า ต้องแบ่งกัน 5 คน (หัวเราะ) พี่ชายก็เป็นคนจัดแจง ใส่หลอดเข้าไปหลอดนึง แล้วบอกว่า เอ้า! คนที่หนึ่งดูดก่อน ก็ขีดๆๆ ไว้ ดูดเสร็จ พี่ก็บีบปลายหลอดไว้ อย่ากลืนนะ บางทีก็ดูดดูดปร๊วด แต่ไม่ติดไง (หัวเราะ) ก็สนุกสนานกัน คือความที่เราไม่มีกิน เป็นส่วนนึงที่ทำให้เราพี่น้องได้แน่นแฟ้นกันมากขึ้น เพราะเราทุกข์ยากมาด้วยกัน”
เล่ามาถึงตรงนี้ คุณหมอก็เอ่ยถึงพี่ๆ น้องๆ ว่า คนโตชื่อ ทวีศักดิ์ ต่อมาคือคุณหมอ ทวีศิลป์ คนกลางชื่อ ทวีชัย และคนถัดไปชื่อ ทวีโชค เป็นหมอเหมือนกันทั้งคู่ ส่วนน้องคนเล็กเป็นผู้หญิงชื่อ รวีวรรณ ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ สสวท.
“ทุกคนก็ต้องตื่นเช้ามาช่วยกันหมด พี่ชายก็ต้องเป็นคนเปิดบ้าน ยกโต๊ะออกไป ผมมีหน้าที่ยกหม้อต้มกระดูก ส่วนน้องๆ ช่วยกันก่อไฟ คนกลางก็ช่วยสับหมู ซอยผัก วันนึงซอยไปซอยมา ปาดนิ้วตัวเองเลือดสาด ส่วนคนเล็กก็ช่วยจัดโต๊ะ เจ้าเก้าอี้ มาเรียง ก็ต้องช่วยกันหมด
...ก็มีบ้างนะ ที่คิดว่า ทำไมเสาร์อาทิตย์ เราถึงไม่ได้ไปเล่น อ้อ อีกอาชีพที่ทำ คือกรอกน้ำกรดน้ำกลั่น เติมแบตเตอร์รี่รถ ช่วงนั้นพ่อก็หาอาชีพมาเสริม เราก็นั่งกรอกน้ำกรดน้ำกลั่น มันก็ลวกมือเราพอง เราก็คิดว่า ทำไมเราต้องมานั่งทำอย่างนี้ด้วย ทำไมเราไม่ได้หยุดอย่างเพื่อนๆ เขา เห็นพ่อแม่คนอื่นเป็นข้าราชการ เสาร์อาทิตย์หยุดพาลูกไปเที่ยวดีจังเลย แต่เราไม่มีโอกาสอย่างนั้น มันเป็นความอยากในสมัยเด็กๆ แต่เราก็ต้องทำ ไม่ทำไม่ได้ ซึ่งมองมาจนปัจจุบัน นั่นก็อาจเป็นเรื่องที่ดี ทำให้ผมกับพี่ๆ น้องๆ ถูกหล่อหลอม วันหยุดเราก็ได้อยู่กับพ่อแม่ ทั้งคู่ได้สอนเรา สอนให้รู้จักประหยัด ใช้จ่ายให้เป็น ดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง ซึ่งเราก็เห็นอยู่แล้วว่าสิ่งที่เกิดกับพ่อเราไม่ได้เป็นเรื่องที่เกิดโดยเจตนาเลย ทำทุกอย่างตามถูกต้องตามครรลองมาตลอด แม่เราก็เลี้ยงดูลูกๆ มาอย่างดี ยังเป็นโรคหัวใจตายเลย นั่นก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่ใช้ชีวิตโดยประหม่า”
ไม่ได้คิดจะเป็นหมอจิตเล้ย!
“จริงๆ ผมก็ไม่ได้เป็นคนเรียนเก่งนะ ออกจะชอบศิลปะตามชื่อตัวเองด้วยซ้ำ งานขีดงานเขียนอะไรทั้งหลายก็ถนัด เคยประกวดได้เงินรางวัลด้วย แต่ที่เรียนแพทย์ ส่วนหนึ่งก็ตามความตั้งใจของพ่อกับแม่ด้วย ท่านบอกกับเราเสมอว่า เราจะเปลี่ยนแปลงความทุกข์ยากของเราได้ ก็คือ การได้เป็นหมอ ได้เรียนดีๆ ซ่งผมจำได้คือ ตอนที่สอบเข้าที่โรงเรียนบุญวัฒนา พ่อผมบอกว่า ถ้าต้องเข้าโรงเรียนเอกชนก็คงจะต้องออก เพราะที่บ้านไม่มีเงินส่ง ทำให้ผมต้องขยันขันแข็ง สอบเข้าให้ได้ ตั้งแต่นั้นก็วางชีวิตเป็นระบบมาตลอด ก็ไม่ถึงกับเรียนได้ดี แต่ก็ไม่ทิ้งการเรียน จนจบมัธยม เราก็ได้ที่ต้นๆ ของสายวิทย์ ซึ่งได้ระบบโควต้า ได้เข้าไปสอบก่อนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นโควต้าแพทย์ชนบท มีมหดิล มีขอนแก่น อะไรทั้งหลาย แต่ขอนแก่นจะสอบก่อน ปรากฏว่า พอไปสอบก็ติด เข้าไปได้ ผมก็เรียนปานกลาง ไม่ได้เป็นคนหัวดี ทำกิจกรรม วาดๆ เวิดๆ อยู่กับการทำหนังสือของสโมสรคณะแพทย์บ้าง กระทั่งจนจบ
…จบมาก็ไม่ได้วางแผนชีวิตอะไร คิดว่าคุ้นเคยกับอีสาน เป็นเด็กอีสาน ก็คงอยู่ที่อีสาน ไม่ได้คิดว่าจะมาเป็นจิตแพทย์ด้วยซ้ำ ตอนนั้นยังไมได้วางแผนว่าจะเป็นหมอเฉพาะทางด้านไหน จบปุ๊บ ทุกคนก็ต้องมาจับลูกปิงปองกัน เพื่อไปใช้ทุนที่ต่างจังหวัด ซึ่งที่โคราชมีห้าตำแหน่ง แต่มีคนจับฉลากสิบคน คนที่ได้หมายเลข 1 – 5 ก็ได้ก่อน ส่วนผมตกตั้งแต่รอบแรก (หัวเราะ) จับไม่ได้ ก็ไหลรูดมาจนรอบที่สี่ ก็เหลือพวกโรงพยาบาลที่เขาไม่ค่อยอยากไปกัน หนึ่ง เป็นโรงพยาบาลขอบชายแดนทั้งหลาย สอง เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง อย่างกรณีของโรงพยาบาลที่รักษาโรคติดต่อทั้งหลาย และสุดท้าย โรงพยาบาลทางจิต ก็มีโรงพยาบาลจิตเวชที่สงขลา ที่นครราชสีมา บังเอิญเพื่อนผมที่จบรุ่นเดียวกัน เขาเป็นผู้หญิง เขาก็อยากอยู่ที่โรงพยาบาลที่เป็นเมืองท่องเที่ยวก็คือสงขลา ผมก็เลยเลือกกลับไปที่โคราช ก็ได้ไปอยู่จิตเวชที่นั่น
...แรกๆ ก็รู้สึก เราจะเรียนได้หรือเปล่าหนอ เพราะเราก็ไม่เคยสนใจ แต่คะแนนของการเรียนจิตเวชก็ไม่ได้ถึงกับแย่ ก็มีเอ แต่พอไปทำงานสักสองปี ก็รู้ว่ามีเรื่องอะไรที่เราควรรู้ตั้งเยอะแยะ โรงพยาบาลวันๆ นึงก็ต้องตรวจคนไข้สองร้อย สามร้อยคน เพราะตอนนั้นมีหมอน้อย มีกันอยู่สองคน วันๆ นึง ตอนเช้าๆ สามชั่วโมงก็ตรวจคนไข้ร้อยคน ทั้งรับยาเก่า ทั้งปรึกษา ทั้งมีโรควิตกกังวล โรคจิต ความเครียด บ้างก็มาแบบหลงลืมตัว หมดสติ กินยาม้าก็มี เป็นโรคทางจิตมา อาละวาด คลุ้มคลั่ง ทำร้ายตัวเอง กินยาฆ่าตัวตายมา ก็แก้ไขเขา ช่วยชีวิตเขา เต็มไปหมด
...ก็ยอมรับนะ แรกๆ เราก็เครียด เพาะเรายังไม่มีวิชาความรู้ รู้สึกเหมือนถูกบังคับให้ต้องมาเรียน ผมก็ถามอาจารย์ ผมจะไปอย่างอื่นได้ไหม อาจารย์เขาบอกว่าคงยาก หมอมาทางด้านนี้แล้ว ก็มาเรียนต่อทางด้านนี้ก็แล้วกัน คือเปลี่ยนได้ ตอนนั้นก็มีประสาทวิทยา ก็ว่าจะไปเรียนประสาทวิทยา ปรากฎว่ารุ่นพี่เอาตำแหน่งนี้ไปเรียนก่อน ก็เลยว่า เอ้า! เรียนก็เรียน ก็เรียนเป็นแพทย์เฉพาะทางอยู่สามปี ที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา) ก็เรียนทุกด้าน ทั้งด้านสมอง สุขภาพจิต โรคจิต
...เงินเดือนตอนนั้น จบมาครั้งแรกตอนอยู่ที่โคราช 4,750 บาท เป็นนายแพทย์ 4 ชีวิตตอนนั้นก็ยังลำบากอยู่นะ เพราะน้องก็ยังไม่จบ ต้องส่งอะไรกันอยู่ ต้องหาเงิน อยู่วงอยู่เวร กลางคืนอยู่เวรได้แค่ 350 บาทเอง”
ชีวิตในวัย 42 ปี
ต่อมา คุณหมอได้พบกับแฟนคือ คุณหมอวิไลรัตน์ วิษณุโยธิน (ปัจจุบันเป็นกุมารแพทย์ อยู่ที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ) ซึ่งทั้งคู่พบกันตอนไปใช้ทุนที่จังหวัดนครราชสีมา ก่อนแต่งงานและย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันคุณหมอมีลูก 2 คนแล้ว เช่นเดียวกัน ช่วงที่อยู่ที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา คุณหมอก็เริ่มทำหน้าที่ตอบคำถามเรื่องจิตเวชผ่านสื่อต่างๆ ซึ่งนั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้คุณหมอเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป
“ผมก็ทำหน้าที่จิตแพทย์ และดูแลเรื่องวิชาการ งานทางด้านสื่อประชาสัมพันธ์หลายๆ อย่าง แล้วก็เป็นผู้ตอบคำถามทั้งหลายให้กับทางกรมสุขภาพจิต จนปี 46 - 47 ผู้ใหญ่ก็บอกให้มาอยู่ที่กระทรวงเลยแล้วกัน ตอนนั้นผมก็เป็นนายแพทย์ 8 เริ่มจากการเป็นโฆษกกรมสุขภาพจิต แล้วขึ้นเป็นผู้อำนวยการสำนักสุขภาพจิตและสังคม พร้อมดำรงตำแหน่งโฆษกกระทรวงสาธารณะสุข
...แต่ไหนแต่ไร ชาวบ้านไม่ค่อยจะรู้โรคทางจิตว่ามีอะไรบ้าง มักจะรู้แต่โรคจิต โรคประสาท เรื่องเพศ เรื่องแย่ๆ ที่ออกไปทางด้านไม่ดีนัก แต่พอเราทำความรู้ออกสื่อ ชาวบ้านก็เข้าใจมากขึ้น ว่ามีทั้งซึมเศร้า วิตกกังวล เรื่องของเด็กผิดปกติ เด็กสมาธิสั้น ออทิสติก เป็นปรับเชิงรุก ซึ่งไม่ใช่ผมคนเดียว ช่วยกันทั้งวงการ”
อยากคุยต่อเรื่องการทำงานที่กระทรวง แต่เนื่องจากคุณหมอมีธุระที่ต้องจัดการอีกมาก จึงขอพักไว้เท่านี้ คุณหมอปิดท้ายก่อนจากลากันว่า
“เมื่อก่อนคนอาจคิดว่าจิตแพทย์น่ากลัว คิดว่าจะไปปรึกษาทำไมฮึ จิตแพทย์เนี่ย แต่จริงๆ แล้ว จิตแพทย์ไม่ได้น่ากลัว เราไม่ได้เป็นคนผ่าตัด มาถึง ก็ควักหัวใจมาดู อะไรทำนองนั้น ผมว่าสมัยนี้คนรู้มากขึ้นว่าช่วยเขาได้ อาจเริ่มจากปรึกษาคนที่มีประสบการณ์ก่อน ซึ่งถ้าหาคำตอบจากคนรอบข้างไม่ได้ ก็ลองมาหาจิตแพทย์ดูครับ ก็จะสามารถช่วยท่านได้ครับ”

น.พ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน
อาชีพและผลงาน
- นายแพทย์ ระดับ 9 (น.พ.9) จิตแพทย์และอาจารย์
- จัดรายการวิทยุถาม-ตอบปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต
- จัดรายการยู-ไลฟ์ ทางเคเบิ้ลทีวี
- จัดรายการเฮลท์ สเตชั่น ทางฟรีทีวี
- 1 ในผู้ก่อตั้ง www.thaimental.com เว็บไซต์ด้านสุขภาพจิต


  • โฆษกกรมสุขภาพจิต 
  • ผู้อำนวยการสำนักสุขภาพจิตและสังคม 
  • โฆษกกระทรวงสาธารณะสุข  
  • โฆษก ศบค