Custom Search

Sep 15, 2010

การก้าวลงบัลลังก์ของท่านอักขราทร






การก้าวลงบัลลังก์ของท่านอักขราทร

มติชนออนไลน์

วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553


ขุนสำราญภักดี

10 ปีมาแล้วที่ ดร.อักขราทร จุฬารัตน

นั่งเป็นประธานศาลปกครองสูงสุด
จากตึกเอ็มซิมแบงก์ย่านพหลโยธิน
สู่"อาคารเอ็มไพร์"ย่านสาทร

จนมาปักหลักเป็นศาลปกครองที่ยิ่งใหญ่อลังการบนถนนแจ้งวัฒนะ
แต่อีกไม่นาน ประมุขศาลปกครองคนแรกของประเทศไทย
จะก้าวลงจากบัลลังก์ ในวัย 70 ปี

เปิดทางให้ผู้สืบต่อ คือ "หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล"
ขับเคลื่อนศาลปกครองต่อไป

เอาเข้าจริง ผมน่าจะเป็นนักข่าวที่

เห็นเส้นทางของอาจารย์อักขราทร
มายาวนานกว่านักข่าวคนอื่นๆ
เพราะผมเรียนกฎหมายวิชา "นิติกรรม"
กับอาจารย์หนุ่มจากอิตาลีเมื่อปี 2526

ดร.อักขราทร เล่าว่า สมัยเป็นหนุ่มต้องเลือกระหว่าง
ไปเรียนที่อังกฤษ กับ อิตาลี
ถ้าไปเรียนที่อังกฤษกลับมาก็เป็นแค่ครูสอนวิชาภาษาอังกฤษ
จึงเลือกไปเรียนอิตาลี เพื่อกลับมาเป็นอาจารย์สอน
กฎหมาย
นี่เป็นเหตุที่ผมได้ฟังเลกเชอร์ของอาจารย์อักขราทร ตั้งแต่ยังเป็นเด็กๆ

เมื่อผมมาเป็นนักข่าว ผมก็ไปหาข่าวที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
เดินเข้าออกอยู่ 2 ห้องคือ
ห้องรองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา "ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์"

กับห้องเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ดร.อักขราทร จุฬารัตน

ยังจำได้ว่า มองออกจากหน้าต่างห้องเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
จะเห็นแม่น้ำเจ้าพระยาในมุมที่สวยที่สุด
เชื่อว่า สวยกว่า มุมมองจากกรมการค้าภายใน และโรงแรมโอเรียนเต็ล

ตอนขับเคลื่อน"ศาลปกครอง"
ผมเป็นเสียงหนึ่งที่เปิดพื้นที่ให้กับระบบศาลคู่
เพราะอยากเห็นศาลปกครองเกิดขึ้นในประเทศไทย
จนคนในศาลเดี่ยวไม่ค่อยพอใจ

คนที่เป็นหัวเรือใหญ่ของระบบศาลคู่ คือ ดร. อมร จันทรสมบูรณ์
แต่คนที่ได้เป็นประธานศาลปกครองสูงสุดคือ ดร.อักขราทร

ผมคิดเอาเองว่า เส้นทางชีวิตจากอาจารย์สอนกฎห
มาย
มาสู่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
และสูงสุดในตำแหน่งประมุขศาลปกครอง

ไม่ใช่แค่ กึ๋นอย่างเดียว แต่ต้องเป็น"โชควาสนา" อย่างแน่นอน
ที่เดินทางมาในกาละและเทศะที่เหมาะสม
ทำให้ไม่ต้องออกแรงมาก เหมือนคนอื่นๆ

หรืออย่าง ดร.โภคิน พลกุล รองประธานศาลปกครองสูงสุด
แทนที่จะได้เป็นเบอร์หนึ่งก็กระโดดลงเล่นการเมือง
โยนทิ้งอนาคตไปเสียอย่างนั้น

ผมถาม อาจารย์อักขราทร ว่า ครบ 70 ปีแล้ว
อยากจะทำอะไรที่ยังไม่ได้ทำ คำตอบคือ

อยากเล่นเปียโน และเข้าครัวทำอาหาร เพราะซื้อตำราทำอาหารไว้เยอะมาก

"จะสนุกอะไร ไปยกร่างรัฐธรรมนูญกับอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ ไม่ดีกว่าหรือ "
ผมถามอาจารย์อักขราทร เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

คำตอบคือ ไม่สนใจ เพราะต่อให้เขียนรัฐธรรมนูญดีอย่างไร
นักการเมืองมันไม่เอาก็เป็นแค่กระดาษ เสียเวลาเปล่า

ดร.อักขราทร เชื่อว่า
โอกาสจะปฎิรูปการเมืองจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมี Stateman

ที่เป็นคนดีและคนกล้า เท่านั้น
กระโดดเข้ามาเขียนกติกาใหม่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

นี่ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับ ศ. ดร. อักขราทร

เพราะผมเองไม่เชื่อใน Stateman เพราะ Stateman
ตัวเป็นๆ ที่ปลอดจากความโลภความหลง อัตตาส่วนตัว และปลอดจากพวกพ้อง

ผมไม่เคยเห็น และไม่คิดว่าในอนาคตจะมี Stateman โผล่ขึ้นมา
เอาเวลาคิดเรื่อง Stateman ไปทำเรื่องอื่นดีกว่า

ผมเชื่อว่า สังคมไทยต้องเรียนรู้และผ่าน
บททดสอบประชาธิปไตยกันไปอย่างนี้แหละครับ

จนกว่าจะแบ่งปันผลประโยชน์และอำนาจกันลงตัวของทุกสถาบัน

และแม้ว่าจะต้องตายกันอีกเป็นเบือ
ดังนั้นสำหรับผมแล้ว ไม่มีทางลัด
ไม่มี Stateman ไม่มี ปาฎิหารย์ อะไรทั้งสิ้น !!!


เช่นเดียวกับเรื่อง การทำหน้าที่ของสื่อ
ผมเคยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องนี้กับท่านประมุขศาลปกครอง
ท่านบอกว่า สื่อไม่จำเป็นต้องเป็นกลาง ขอให้มีจุดยืนที่ถูกต้องก็เพียงพอ

ผมค้านว่า ไม่ดีแน่ ถ้าสื่อไม่เป็นกลาง
นำเสนอความจริงเพียงครึ่งเดียว
อันตรายที่สุด เพราะสื่อพวกนี้

จะนำสังคมเข้ารกเข้าพงได้โดยง่าย อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

" สู้ให้สื่อนำเสนอความจริงทั้งสองด้าน แล้วให้คนอ่าน
ตัดสินใจเอาเองว่า จะเลือกเชื่อใครดีกว่ากัน ? "
ผมบอกท่านไปอย่างนั้น

ผมเชื่อของผมเองว่า สื่อที่เสนอความจริงด้านเดียว
แย่ยิ่งกว่า นักข่าวเขียนข่าวเท็จ เสียอีก
เพราะเขียนข่าวเท็จ ชาวบ้านทั้งตลาดก็รู้ว่า มันโกหก

แต่สื่อพวกที่เสนอความจริง ด้านเดียว

มันคือยาพิษ ดีๆ นี่เอง (ครับ) เสพข่าวเท็จโดยไม่รู้ตัว

จริงๆ แล้ว ผมสัมภาษณ์ ท่านอักขราทร นับครั้งไม่ถ้วน
ส่วนใหญ่แล้วเห็นพ้องด้วยในหลักวิชาการ
และหลักกฎหมายทุกเรื่องทุกประเด็น


มีเพียงเรื่อง สื่อ กับ เรื่องตุลาการภิวัตน์ เท่านั้นเอง ที่ผมเห็นต่าง (ครับ)

แต่ทั้งหมด ผมฟันธงว่า

ท่านเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่กราบไหว้ได้สนิทใจ (ครับ)
ทั้งในฐานะอาจารย์สอนกฎหมาย

เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และประมุขศาล