Custom Search

Sep 19, 2014

ศาสตราจารย์ ประหยัด พงษ์ดำ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) ประจำปีพุทธศักราช 2541


การเสียชีวิตอย่างสงบของ ศ.ประหยัด พงษ์ดำ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) ประจำปี พ.ศ. 2541 เมื่อเช้าวันที่ 19 ก.ย.57 นับเป็นอีกหนึ่งการสูญเสียบุคคลผู้ทรงคุณค่าของวงการศิลป์ของประเทศไทย ไม่ต่างจากการสูญเสีย อ.ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ ศ.ประหยัดได้สร้างงานศิลปะอันทรงคุณค่าไว้มากมาย ซึ่งวันนี้ "ไทยรัฐออนไลน์"​ ขอรวบรวมผลงานเด่นๆ ไว้…
สร้างสรรค์กรรมวิธี "ภาพพิมพ์"
ศ.ประหยัด คิดค้นกรรมวิธีทางภาพพิมพ์ที่เป็นประโยชน์แก่การศิลปะภาพพิมพ์เป็นจำนวนมาก เช่น คิดค้นการผสมผสานระหว่างภาพพิมพ์สู่งานจิตรกรรมให้เป็นภาพเดียวกันได้ พบวิธีถ่ายทอดลายไม้จากแผ่นหนึ่ง เข้าไปผสมกับงานเขียนภาพจิตรกรรม ซึ่งวิธีนี้ยังไม่มีใครคิดและทำมาก่อน ซึ่ง ศ.ประหยัด ได้เขียนตำราและบรรยายแก่สถาบันที่มีการเรียนการสอนศิลปะหลายแห่ง


เขียนภาพใน "พระมหาชนก"​
ศ.ประหยัด เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับเลือกให้เขียนภาพประกอบหนังสือ เรื่อง พระมหาชนก พระราชนิพนธ์โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ภาพประกอบที่รับผิดชอบ 4 ภาพคือ 1. ภาพนางมณีเมขลาสนทนากับพระมหาชนก ซึ่งกำลังว่ายน้ำกลางมหาสมุทร 2. เป็นภาพหมู่เทวดาให้พรให้กำลังใจแก่พระมหาชนก ซึ่งใช้ความพากเพียรพยายามว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรเพื่อไปเมืองถิระนคร 3. พระนางมณีเมขลาอุ้มพระมหาชนกเหาะลอยไปในอากาศเพื่อไปสู่เมืองถิระนคร และ 4. เมืองถิระนครซึ่งใช้เค้าโครงการก่อสร้างคล้ายกับพระมหาราชวังในปัจจุบัน
ทำงานถวายในหลวง และพระเทพฯ
ขณะเดียวกัน ศ.ประหยัด ยังทำงานถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้แก่ เป็นผู้ออกแบบ และเขียนภาพเพดานโบสถ์ วัดหลวงพ่อโสธร จ.ฉะเชิงเทรา และออกแบบลวดลายแกะหินอ่อน พื้นพระอุโบสถ ที่องค์พระหลวงพ่อโสธรประทับนั่งอยู่ รวมถึงภาพประกอบฝาผนังอีก 1 ภาพ ซึ่งเป็นประวัติการก่อสร้าง และเรื่องราวของเจ้าอาวาส วัดหลวงพ่อโสธรผู้ล่วงลับไปแล้ว นอกจากนี้ ยังทำงานถวาย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยการเขียนภาพผนังพระอุโบสถ วัดพระรามเก้า ร่วมกับ ผศ.ปรีชา เถาทอง


หนึ่งในภาพที่ ศ.ประหยัด วาดในหนังสือเรื่องพระมหาชนก

พลิกวงการ "แสตมป์ไทย"
"การทำแสตมป์" ถือเป็นผลงานของ ศ.ประหยัด ที่พลิกวงการแสตมป์ของประเทศไทย เพราะเป็นผู้ออกแบบและเขียนแสตมป์ด้วยตัวเอง ตั้งแต่ยุคเริ่มต้น โดยเปลี่ยนรูปแบบของแสตมป์ไทยประมาณปี พ.ศ.2504 เป็นต้นมา เนื่องจากแต่เดิมแสตมป์ไทย ส่วนใหญ่จะเป็นรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ราคาจะต่างกันตามสี จากนั้นจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงรูปแบบของแสตมป์ไทย ด้วยการนำเอกลักษณ์ของประเทศ เช่น ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะ งานช่างผีมือ ความเป็นอยู่ของชาวเขาเผ่าต่างๆ ชุดเรือพระราชพิธี ชุดรำไทย หรือรูปแบบอื่นๆ เพื่อแสดงให้ทราบว่า เป็นแสตมป์ของประเทศไทย ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มเปลี่ยนแปลงนั้น กรมไปรษณีย์โทรเลข องค์การสื่อสารแห่งประเทศไทย ก็ได้เชิญ ศ.ประหยัด นั่งเป็นประธานและกรรมการคัดเลือกตัดสิน ในการประกวดออกแบบและเขียนรูปแสตมป์เป็นประจำทุกปี
แสดงผลงานทั้งใน-นอก กับรางวัลมากมาย
สำหรับ ศ.ประหยัด นั้น มีการแสดงและการประกวดงานศิลปกรรม ทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ก็ได้รับรางวัลที่ในการแสดงและประกวดงานศิลปะมากกมาย เช่น รางวัลภาพจิตรกรรม จากประเทศอิตาลี, รางวัลประเภทภาพพิมพ์ จากประเทศเวียดนาม, ประเภทมัณฑนศิลป์, ประเภทภาพพิมพ์ และรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย



หอศิลป์ "Palazzo Pavone" ภาพจากเฟซบุ๊ค Palazzo Pavone

หอศิลป์ "Palazzo Pavone"
หอศิลป์ "Palazzo Pavone" หรือ หอศิลป์พาลาซโซ พาโวเน่ นั้น เป็นของ ศ.ประหยัด ตั้งอยู่เลขที่ 237 หมู่ 11 ต.ขนงพระ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 6 ไร่ ตามโครงการเปิดบ้านศิลปินแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม โดยชื่อ "พาลาซโซ พาโวเน่" มาจากภาษาอิตาเลียน ซึ่งแปลว่า "นกยูง" โดยที่หอศิลป์แห่งนี้ อยู่ท่ามกลางหุบเขารูปนกยูงขนาบข้าง มีลักษณะอาคารรูปแบบศิลปะอิตาลี ตกแต่งด้วยสีสันสดใส โทนสีส้ม เหลือง ชมพู และขาว เพื่อให้ดูมีชีวิตชีวา พร้อมกับภายในที่จัดแสดงผลงานของ ศ.ประหยัด กว่า 150 ภาพ มีทั้งภาพสีน้ำมัน ภาพพิมพ์ งานประติมากรรม และงานแกะภาพบนพื้นไม้ ที่รวบรวมมาตั้งแต่ปี 2505 จนถึงปัจจุบัน แต่ละภาพล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้ง รูปไก่ แม่อุ้มลูกสาว นกฮูกคู่ แมว ปลา งู เป็นต้น
ทั้งนี้ ยังมีผลงานศิลปะ ที่ยังไม่เคยจัดแสดงมาก่อนมาจัดแสดงให้ได้ชมกันอย่างจุใจ อาทิ ภาพร่างต้นแบบพื้นโบสถ์ และเพดานของวัดโสธร จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งอาจารย์เป็นผู้ออกแบบและเป็นผู้ควบคุมการทำงานเองทั้งหมด, ภาพทะเลสาบบาซาโน่ อิตาลี ที่สร้างสรรค์ขึ้นปี 2505 ขณะอาจารย์ประหยัดยังศึกษาที่ประเทศอิตาลี และได้นำภาพดังกล่าวกลับมาเก็บสะสมไว้ในประเทศไทย รวมทั้งมีภาพจิตรกรรมสีน้ำมันโบสถ์เก่าอยุธยา ที่สร้างสรรค์ไว้เมื่อปี 2500 ด้วย
ขณะเดียวกัน ยังมีภาพที่เขียนขึ้นใหม่ในช่วงวันสำคัญต่างๆ อาทิ ภาพครอบครัวแมว ที่เขียนเนื่องในวันคล้ายวันเกิด เมื่อวันที่ 28 ต.ค.56 ส่วนอีกโซนหนึ่ง จัดเป็นสตูดิโอสำหรับสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของอาจารย์ประหยัด และใกล้ๆ กันเป็นร้านจำหน่ายของที่ระลึกที่มีส่วนของภาพผลงานของอาจารย์ประหยัด เช่น เสื้อยืด หมอนอิง แก้วน้ำ ผ้าพันคอ ภาพพิมพ์ โปสต์การ์ด สมุดภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีรีสอร์ตขนาดเล็กๆ ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวทั่วไปและผู้ที่ชื่นชอบผลงานศิลปะด้วย.



ภาพเหมือน ศ.ประหยัด พงษ์ดำ
 ฝีมือ สุรเดช แก้วท่าไม้