Custom Search

Apr 25, 2009

การประพฤติธรรม

คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
มติชน ภาพ/เรื่อง
วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2552

วันนี้จะพูดถึงสูตรสำเร็จแห่งชีวิตสูตรที่ 16 คือ
ธัมมจริยา (การประพฤติธรรม)
พระอรรถกถาจารย์ท่านให้คำจำกัดความว่า ธัมมจริยา
คือการประพฤติตามกุศลกรรมบถสิบประการชาวบ้านฟังแค่นี้ก็คงถามต่อไปว่า
แล้ว"กุศลกรรมบถสิบประการ" ล่ะ คืออะไร
กุศลกรรมบถ คือแนวทางแห่งกุศล
หรือ "ทางแห่งความดี" นั่นแหละครับ
มีสิบประการ แบ่งเป็นดีทางกายสาม
ดีทางวาจาสี่ และดีทางใจอีกสาม
รวมเป็นสิบพอดี มีอะไรบ้าง
ผู้ใฝ่รู้ไปหาอ่านเอาเอง
ถ้าเราตั้งคำถามและหาคำตอบให้แก่ตัวเองได้ชัดแจ้งว่า
ธรรมคืออะไร บางทีเรื่องเรื่องนี้จะดูง่ายขึ้นกระมังครับ
ลองมาคิดกันดู
ธรรมคือ อะไร คงมีผู้รู้ให้คำตอบแตกต่างกันออกไป
แต่ถ้าจะให้พูดสั้นๆ ให้ครอบคลุมแล้ว
ธรรมน่าจะได้แก่
ความถูกต้องและความดี อะไรที่ถูกด้วยดีด้วย
อันนั้นเรียกว่าธรรมหมดไม่มียกเว้นส่วนสิ่งใดไม่ถูกต้อง
และไม่ดี หรือพูดอีกนัยหนึ่ง
สิ่งที่ผิดและสิ่งที่เสียไม่เรียกว่า
ธรรม คำจำกัดความแค่นี้คิดว่าคงครอบคลุม
ลองนึกให้ดีก็แล้วกัน
ธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนมีมากมาย
ที่ท่านว่า มีถึงแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์นั้นน่ะ
เป็นเรื่องของความดีทั้งนั้น

สวา กขาโต ภควตา ธัมโม - พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ถูกต้องแล้ว ตรัสไว้ดีแล้ว ไหมล่ะ
บทสวดมนต์สรรเสริญพระธรรมก็บอกอยู่ชัดแจ้งแล้ว
ทีนี้การประพฤติธรรมล่ะ ทำอย่างไร
การประพฤติธรรมสรุปได้สองสถานคือ 

-ประพฤติ เป็นธรรม หมายถึงทำให้ถูก ทำให้ดีนั้นเอง
ไม่ต้องทำอะไรใหม่ ใครมีหน้าที่อะไรอยู่แล้ว
มีงานมีการอะไรทำอยู่แล้วก็ทำหน้าที่นั้น
การงานนั้นให้ถูกและดียิ่งขึ้น ที่มันถูกอยู่แล้วดีอยู่แล้ว
ก็ทำให้มันถูกมันดียิ่งๆ ขึ้นไป
เป็นนักเรียนก็เรียนให้มันถูกวิธี เรียนให้มันดี
ทำราชการก็ทำให้มันถูกทำให้มันดี
ค้าขายก็ค้าให้มันถูกให้มันดี
เป็นนักการเมืองจะอนุมัติอะไรตามอำนาจหน้าที่
ก็อนุมัติให้มันถูกให้มันดี
คนขออนุมัติมาก็ขอให้มันถูกให้มันดี
เขาอนุมัติให้แค่นี้
ก็ไม่ไปทำเกินกำหนดที่เขาอนุมัติอะไรอย่างนี้
เรียกว่า การประพฤติตามธรรม
หลวงปู่ท่านหนึ่งท่านมักย้ำเสมอว่า
การทำตามหน้าที่ให้ดีที่สุดนั่นแหละ
คือการปฏิบัติธรรมก็หมายความดังที่ผมว่ามานี่แหละครับ

-ประพฤติ ตามธรรม นัยนี้ก็คล้ายกับนัยต้น
แต่ละเอียดประณีตขึ้น นัยต้นถูกดีอาจถูกดีเพียงระดับพื้นฐาน ถ้ามองอย่างสายตาชาวโลกก็อาจไม่เห็นความ
"ถูกดีที่ไม่สมบูรณ์" ก็ได้ เช่น นาย ก.มีอาชีพขายลูกน้ำ
เลี้ยงปลา
ตั้งหน้าตั้งตาทำงานในหน้าที่ของตนอย่างขยันหมั่นเพียร
จนขายลูกน้ำได้เงินมาเลี้ยงตนและครอบครัวไม่เดือดร้อน
ก็เรียกว่า นาย ก.ประพฤติเป็นธรรม
คือทำหน้าที่ของตนให้ถูกให้ดี
และเจริญรุ่งเรืองเพราะทำถูกทำดีนั้น
แต่ถ้ามองให้ลึก อาชีพนั้นยังเป็นไปเพื่อเบียดเบียนอยู่
ถ้าจะให้ถูกต้องจริงๆ นาย ก.จะต้องเลิกอาชีพขายลูกน้ำ
หันมาประกอบอาชีพอื่นที่ดำเนินตามทางธรรม
หรือบริสุทธิ์กว่า

การประพฤติตามธรรมจึงหมายถึง
การฝึกฝนอบรมตนตามแนวทางแห่งความถูกต้องดีงามให้สูงขึ้น ประณีตขึ้น บริสุทธิ์ตามลำดับ
จะอธิบายในแง่ไหนก็ไม่หนีกรอบที่พระอรรถกถาจารย์ท่านให้ไว้ คือ
"การดำเนินชีวิตตามแนวทางแห่งกุศล"
นั่นแหละครับคือการประพฤติธรรม ผู้รู้ท่านตั้งข้อสังเกตว่า
นักประพฤติธรรมควรดูพระอริยสงฆ์เป็นหลักแล้ว
จะไม่เสียหลักการประพฤติธรรม
ท่านว่าอย่างนั้น ดู อย่างไร

พระอริยสงฆ์ท่านปฏิบัติครบสี่ลักษณะคือ ปฏิบัติดี
ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติเหมาะสม
ปุถุชนอย่างเราเวลาจะทำอะไรก็ควรยึดหลัก
"ดี-ตรง-ควร-เหมาะสม" แล้วจะประสบความสำเร็จ
นี่ว่าถึงการกระทำหน้าที่การงานโดยทั่วไป
พูดในเรื่องการทำความดี
ไม่ว่าจะทำอย่างไหนก็ตามก็ต้องยึดหลักนี้เช่นกัน คือ
จะต้องทำดีให้ดี ทำดีให้ตรง
ทำดีให้ควรและทำดีให้เหมาะสม พูดมาถึงตรงนี้
บางท่านอาจสงสัยว่า
ผมพูดอะไร "ไม่รู้ฟัง" ทำดีไม่ดี มีหรือ มีสิครับ
ลองดูพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ดู
หลายคนทำดีก็จริง แต่ทำไม่ดีดอกครับ
ยกตัวอย่าง บางคนตั้งใจจะบวช
นั่นเป็นการทำดีไม่มีใครเถียง
แต่พอถึงวันบวชเลี้ยงเหล้ายาปลาปิ้งเฉลิมฉลองกัน
พอเหล้าเข้าปากก็ทะเลาะวิวาทกันถึงกับฆ่ากันตายก็มี
นาค แทนที่จะได้เข้าโบสถ์บวชเป็นพระ
กลับต้องขึ้นเมรุ
คือกลายเป็นศพถูกหามไปเผาที่เมรุแทนก็มี
อย่างนี้เรียกว่า เจตนาจะทำดี แต่ทำดีไม่ดี
ทำดีไม่ตรงตามเป้าหมาย ทำดีไม่เหมาะสม
ทำดีไม่ควร เลยกลายเป็นเสียไป
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ว่า
ธมฺมํ สุจริตํ จเร พึงประพฤติธรรมให้สุจริต
แปลเอาง่ายๆ ชนิดที่ฟังออกทันที ก็คือ
อันการทำดีนั้นต้องทำดีๆ มันถึงจะดีนั่นแหละครับ
การประพฤติ ธรรม
กับการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องเดียวกันนะครับ
เพียงแต่ใช้คำให้มันต่างกันเท่านั้นเอง
การประพฤติธรรมแปลมาจากคำพระว่า
"ธัมมจริยา" การปฏิบัติธรรมแปลมาจากคำว่า "ปฏิปัตติ"
หรือ "ธัมมปฏิปัตติ" มี หลายคนยังเข้าใจผิดว่า
การศึกษากับการปฏิบัติเป็นคนละเรื่องกัน
เข้าใจว่า การเล่าเรียนหรือการเรียนหนังสือเรียกการศึกษา
การลงมือทำตามที่เรียนมาคื การปฏิบัติ
ความจริงไม่ใช่ ถ้าดูที่มาของคำเหล่านี้
แล้วจะเห็นคำพูดอยู่สามคำมาเป็นหมวดเดียวกันคือ
ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ทั้งปริยัติ (การเรียน)
และปฏิบัติ (การลงมือทำ) คือสิ่งที่เรียกว่าการศึกษา
ส่วนผลที่เกิดจากปริยัติและปฏิบัติ เรียกว่า ปฏิเวธ
ดังนั้น ปริยัติก็คือการศึกษา เป็นการศึกษาขั้นปริยัติ
ปฏิบัติก็คือการศึกษาเรียกว่า
ศึกษาขั้นปฏิบัติเรื่องที่ต้องศึกษา
ตามหลักพระพุทธศาสนาก็คือ เรื่องปัญญา ศีล สมาธิ
(หรือที่คนไทยเรียกติดปากว่า ศีล สมาธิ ปัญญา)
เมื่อใคร เอ่ยคำว่า ปฏิบัติ
จึงมิใช่การทำสมาธิเพียงอย่างเดียว
หากหมายถึง การทำศีล สมาธิ
ปัญญาให้เกิดมีและเจริญ
เป็นการดำเนินตามหลักอริยมรรคมีองค์แปดหรือดำเนินตามแนวทางแห่งกุศลกรรมบถสิบ
ดังที่พระอรรถกถาจารย์ท่านว่าหรือเรียกง่ายๆ ว่า
"การทำให้ดี ให้ตรง ให้ควร ให้เหมาะสม"
นั่นเองมิใช่อย่างอื่น ที่ผมพูดมานี้รู้ดีว่า
บางท่านอ่านแล้วเข้าใจทันที
แต่อีกหลายท่านคงบ่นอุบอิบว่า
เขียนอะไรอ่านไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ก็ต้องเขียนครับ
เพื่อปรับความเข้าใจให้ตรงกัน
ในแง่หลักวิชาไม่งั้นจะเตลิดไปไกล ไกล
จนเห็นได้ว่า การนั่งทำสมาธิเท่านั้นคือการปฏิบัติธรรม
คนอื่นที่เขาดำเนินชีวิตในทางที่ถูกต้องดีงาม
อย่างอื่นไม่ได้ปฏิบัติธรรมนั่นแหละจ้ะ
หน้า 6