Custom Search

Aug 5, 2020

เช็กให้ชัวร์! ไขข้อข้องใจ หนึ่งวันกิน ‘ไข่ไก่’ ได้มากกี่ฟอง?


6/8/2563 © Matichon



เมนู “ไข่” นอกจากจะทำง่ายแล้วยังกินง่ายอีกด้วย เพราะไม่ว่าจะเพศหรือวัยไหนก็กินได้ แต่กระนั้นก็เป็นที่สงสัยกันว่า ในหนึ่งวัน สามารถบริโภคไข่ในปริมาณเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม และไม่ส่งผลต่อสุขภาพ

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวในบทความเรื่อง “สธ.ตอบ ควรกินไข่วันละกี่ฟอง! ถึงไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ” ความว่า ไข่เป็นอาหารโปรตีนที่มีคุณภาพดี ราคาถูก หาได้ง่าย และมีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมกับทุกกลุ่มวัย มีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายครบถ้วน เป็นแหล่งของแร่ธาตุที่สำคัญมีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส ช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง และเป็นแหล่งของวิตามินที่สำคัญ เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 บี 2 บี 6 โฟเลต วิตามินดี วิตามินอี เลซิธิน ที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย

ซึ่งการบริโภคไข่อย่างฉลาด จะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่หลากหลายเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย

สำหรับ ปริมาณไข่ที่แนะนำให้บริโภคนั้น เด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน ให้เริ่มที่ไข่แดงต้มสุกบด วันละครึ่ง ถึง 1 ฟอง เด็กอายุ 7 เดือนขึ้นไป กินไข่ต้มสุกวันละครึ่งถึง 1 ฟอง และเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไปถึงวัยสูงอายุกินไข่ต้มสุกได้วันละฟอง

ส่วน “ผู้ป่วยเบาหวาน” ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง กินไข่ได้ 3 ฟองต่อสัปดาห์หรือบริโภคเฉพาะไข่ขาวได้ทุกวัน ตามคำแนะนำของแพทย์ ที่สำคัญต้องดูแลการบริโภคอาหารอย่างอื่นร่วมด้วย โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง และกินอาหารที่หลากหลายในแต่ละมื้อ โดยให้มีอาหารประเภทข้าว – แป้ง ธัญพืช เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ครบทั้ง 5 หมู่ในสัดส่วนปริมาณที่เหมาะสม เพื่อคุณค่าทางโภชนาการและสารอาหารที่ครบถ้วน โดยเฉพาะผักและผลไม้สดจะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและไขมันส่วนเกินให้เป็นปกติ

และหากพ่อแม่ต้องการให้เด็กได้กินไข่ทุกวันและไม่เบื่อนั้น ควรใช้วิธีการประกอบอาหารที่มีการใส่ผักลงไปในไข่เพื่อเป็นการจูงใจให้เด็กกินผัก เช่น ไข่เจียวหรือไข่ตุ๋นใส่ผักสับละเอียด เป็นการเสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกายแก่เด็กอีกด้วย

ทั้งนี้ ควรเลี่ยงกินไข่ดิบ เพราะถ้าไข่ไม่สุกอาจปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์จะขัดขวางการดูดซึมไบโอติน ทำให้ย่อยยากจึงได้รับประโยชน์ไม่เต็มที่ และควรบริโภคในรูปแบบไข่ต้ม ไข่ตุ๋น ไข่พะโล้ จะมีประมาณไขมันน้อยกว่า ไข่ดาว ไข่เจียว ไข่ลูกเขย ส่วนการปรุงอาหารควรใช้น้ำมันที่ไม่อิ่มตัว อาจกินเป็นสลัดไข่ ยำไข่ต้ม เพราะจะทำให้ได้สารจากไข่ และได้ไฟเบอร์และวิตามินซีจากผักและผลไม้ อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงคือ ขนมปังไข่ดาวใส่เบคอนหรือ ไส้กรอก เพราจะได้รับปริมาณไขมันสูงมากจากเบคอนน้ำมันที่ใช้ทอด และเนยที่ทาขนมปัง

สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องฟันที่ไม่สามารถทานอาหารโปรตีนอื่นได้ แนะนำให้กินไข่เป็นแหล่งของโปรตีนแทนเนื้อสัตว์ และผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องไขมันในเลือดสูงในบางมื้ออาจหลีกเลี่ยงการกินไข่แดงด้วย