หลังเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 งานหนักสำหรับเด็กก็บังเกิด เพราะไม่เพียงการเรียนออนไลน์ที่ทำให้หลายฝ่ายปวดหัวด้วยข้อกำจัด ทว่า ยังมีการบ้านที่ต้องส่ง ม็อบที่ต้องไป ด้วยยุคสมัยของพวกเขาเต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถามที่ผุดขึ้นมากมายในขณะสิทธิเสรีภาพถูกกดทับจนขยับไม่ได้ หายใจแทบไม่ออก
ไม่เว้นกระทั่ง “ทรงผม” ที่แม้ระเบียบล่าสุดจะปรับเปลี่ยนให้เข้ายุคสมัย แต่หลายสถาบันยังคงยึดติดระเบียบเดิมที่เคยทำมา จนกลุ่ม “นักเรียนเลว” ออกมาขยับ บุกกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ขอความชัดเจนในการบังคับใช้ระเบียบ ร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ผ่านแคมเปญ “เลิกบังคับ หรือจับตัด” ทิ้งคำถามให้ผู้ใหญ่คิดในใจ ว่า “ไม้เรียวสร้างคนได้จริงหรือ ?”
ถือเป็นสัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ชัดแจ้งจากการที่เยาวชนทั่วทุกภูมิภาคออกมาทวงสิทธิ มากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ปรากฏการณ์ ม็อบหนูแฮมสเตอร์ ออกมาวิ่งวนร้องเพลงแฮมทาโร่ เวอร์ชั่นยุบสภา เพื่อขับไล่รัฐบาล เปิดเวทีปราศรัย ถกปมการศึกษา ปัญหาที่เกิดขึ้น ครอบคลุมไปถึงประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ และล่าสุด “กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท” จ่อชุมนุม “ทวงคืนอนาคต” หน้ากระทรวงศึกษาธิการ จะเห็นการขยับของทั้งม็อบมหา’ลัย และม็อบโรงเรียน
เกิดอะไรขึ้นในรั้วโรงเรียน เยาวชนไทยถึงต้องออกมาพูดนอกรั้วในที่สาธารณะ แล้วคำพูดสุดคุ้นหู “เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน” อยู่ที่คนจะขวนขวาย จริงหรือ ?
ภาพประกอบจาก Thai PBS
ไม่นานมานี้ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น อดีต ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล แย้งด้วยข้อมูลที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันประชากรประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง พ่อแม่กว่า 20 ล้านครอบครัว หรือเกือบครึ่งคือ “ชนชั้นกลาง” ซึ่งสังคมส่วนใหญ่ซื้อระบบนิเวศ ทำอย่างไรก็ได้ให้สามารถเข้าโรงเรียนที่ดี ที่ดัง ก็แย่งกันเข้า เมื่อ ร.ร.มีที่นั่งจำกัด ก็ต้องสอบคัดเลือก ข้อสอบต้องยาก มีผู้แพ้ ต้องเข้าสู่ ร.ร.กวดวิชาบวกกับระบบการศึกษาของเรา เข้าใจว่าแทบไม่มีการเปลี่ยน โรงเรียนชั้นสูงที่อยู่ในท็อปไฟว์ ระบบการจัดห้องเรียนก็ไม่แตกต่างจากเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เป็นฐานข้อมูลที่ทำให้กลับมาคิดว่า จุดอ่อนของบ้านเรา คือ ในกลุ่มที่อยู่ชานเมือง เนื่องจากระบบอินเตอร์เน็ต รวมถึงทรัพยากรพื้นฐานของคน ที่เข้าไปไม่ถึงจึงเกิดความเหลื่อมล้ำ เกิดเป็นประเด็นขึ้นมาว่าเรียนที่ไหนก็เหมือนกัน จริงหรือ ?
‘ระบบ’ทารุณ‘ทัศนคติ’รังแก
“เด็กที่อยู่ในระบบการศึกษา น่าจะเป็นกลุ่มลูกหลานที่มาจาก เจน X และ Y ต้นๆ
โดยบุคลิกของเจน X เกิดยุคหลังสงครามโลก ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ต้องเดินเท้าเป็น 10 กิโล ไปเรียน และเติบโตบนแนวคิดว่า ‘ถ้าลูกเรียนสูงๆ จะมีความมั่นคง’ แต่อาจไม่ได้คิดว่าจะอยู่ร่วมกับสังคมอย่างไร เพราะวิถีแห่งชีวิตของเขา เลิกเรียนก็ว่าง ทำกิจกรรมกับครอบครัว บางคนไปช่วยพ่อแม่ทำมาหากินก็มี ไม่ต้องมาพัฒนาอะไรนอกรั้วโรงเรียนเพิ่มเติม ไม่มีบรรยากาศนอนเล่นเกม พ่อแม่ที่ผ่านเจน X ผ่านความยากลำบาก ผ่านร้อน-หนาว โตขึ้นจึงอยากเลี้ยงลูกให้เป็นคนเรียนสูงๆ เกิดทัศนคติเช่นนี้ขึ้น” รศ.นพ.สุริยเดวระบุ ก่อนจะอธิบายต่อว่า
ระบบการศึกษาในยุคเจน X จะเป็นการเอ็นทรานซ์ แบบเลือก 6 คณะ มีครั้งเดียว สอบไม่ติดก็จบ กลายเป็นกระแส สร้างความกดดันกับเด็กสมัยนั้น
ส่วนยุค เจน Y เริ่มมีสิ่งอำนวยความสะดวก มีคอมพิวเตอร์ การเรียนรู้และการจัดการก็มีมากขึ้น แต่ระบบการศึกษาไม่เปลี่ยน ยังคงต่อเนื่องมาตั้งแต่เจน X Y Z จนถึงปัจจุบัน คือ “เจนอัลฟ่า” ระบบแทบไม่ได้เปลี่ยนแปลง จึงยังมีแนวคิดว่าเรียนสูงๆ เข้าไว้ จะได้มีอาชีพที่มั่นคง มั่งคั่ง เพราะเขาเจริญรอยตามวิถีตั้งแต่ยุค เจน X มา Y ซึ่งหัวใจสำคัญที่สุด อย่างระบบการศึกษาไม่ได้มีวิวัฒนาการตาม
“วิธีดูง่ายๆ โรงเรียนที่ว่าเป็นแกรนด์ท็อป 5 ของประเทศ เดินเข้าไปจะเห็นวิธีการจัดห้องเรียน ที่มโนภาพไว้ได้เลย เมื่อ 20 ก่อน ไม่แตกต่าง คุณครูเดินมาที่หน้าชั้น แล้วก็สั่งสอนเนื้อหาวิชา แทบจะหมดคาบเรียน 5-10 นาที ยังเป็นบุญที่เปิดให้ตั้งคำถาม วิวัฒนาการนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลง มีคำว่า เด็กหน้าห้อง ก็มีคำว่า เด็กหลังห้อง มี เด็กนอกห้อง มี เด็กนอกระบบการศึกษา เนื้อหาอัพเดตไปบ้าง แต่ด้วยระบบวิธีการเรียนการสอนยังไม่เปลี่ยน ยัดเนื้อหาเข้าไป โอกาสที่จะเกิดประเด็นถกแถลง ไม่มี จึงไม่ต่างอะไรจากเดิม ระบบเจียรไนให้เป็นแบบนั้น ต้องเห็นใจครู ผู้ปฏิบัติ ถ้าระบบยังคงมาแบบนี้
“ส่วนตัวมองว่า ไม่เพียงการยกเลิกสอบเข้า ป.1 ทั่วประเทศ แต่ต้องการยกเลิกการสอบทุกรูปแบบในช่วงปฐมวัย อนุบาล-ประถมต้น ไม่มีการตัดเกรด เพื่อเปรียบเทียบ ไม่เห็นควรให้มีการสอบที่จะส่งกระทบต่อการพัฒนาของร่างกาย จิตใจ สังคม ซึ่งกฎหมายในลักษณะนี้เมื่อมีผลบังคับใช้ในที่สุด คุณครูก็ต้องทำตัวชี้วัด ถ้าไม่ทำก็เท่ากับละเลยหน้าที่ ดังนั้น ต่อให้มีกฎหมายใด แต่ถ้าไม่งดเว้นเรื่องตัวชี้วัด คุณครูก็ต้องทำแบบเดิม จึงต้องช่วยลดภาระครูด้วยการจัดระบบใหม่ ระบบนี้ไม่เหมาะสำหรับประเทศไทย เป็นการทารุณกรรมเด็กโดยใช้ระบบทารุณ“
คุณหมอยกกรณีตัวอย่าง เด็กที่เป็นคนไข้กำลังจะเข้าห้องสอบ แต่ง่วงนอน แม่จึงเอายาหม่องป้ายแต่ไม่ตื่น จึงพูดว่า “ลูกนี่คือวันชี้เป็นชี้ตายของหนู” ซึ่งเด็กเข้าห้องไปสอบตามหน้าที่ ออกมาพร้อมกับกระดาษที่มีเลือดกำเดาไหล
“นี่ใช่ไหมที่เด็กกำลังถูกทารุณกรรม นี่ใช่ไหมที่ต้องใช้คำว่าระบบรังแก ตรงนี้คนไม่ได้เป็นจำเลย ครูไม่ได้ผิด เพราะต้องทำไปตามระบบ ใครคือ จำเลย ระบบแพ้คัดออก ที่ไม่เหมาะสำหรับเด็กเล็ก เพราะลิดรอนสิทธิของเด็กทั้งหมด” โดยมีอุปสรรคคือคำว่า “เรียนที่ไหนก็ (ไม่) เหมือนกัน”
“ญี่ปุ่นกำลังจะสร้างเมืองโรโบติก เราสร้างหุ่นยนต์ได้จากปัญญา ปัญญามาจากจินตนาการ ถ้าระบบการศึกษาทำลายซึ่งจินตนาการ มีปัญหาแน่ ประโยคเด็ดของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ‘จินตนาการสำคัญกว่าความรู้’ แต่วันนี้ระบบการศึกษายิ่งท่องจำ กวดวิชาเปิดเป็นดอกเห็ด วันหยุดเด็กไม่ได้หยุด ต้องท่องจำ
ช่วงชีวิตของตน อยากล้มเอ็นทรานซ์ ไม่อยากเห็น เพราะนี่แหละที่ไปผูกหัวมัดท้าย ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่มีทางสูญสิ้น พ่อแม่ต้องเสียไปกับค่ากวดวิชา เนื่องจากข้อสอบออกยาก”
รศ.นพ.สุริยเดวยังยกอีกหนึ่งตัวอย่าง เป็นเด็ก ป.4 หน้าตาน่ารัก วาดการ์ตูนเก่ง แต่ต้องมาหาหมอด้วยภาวะซึมเศร้า วิถีชีวิตเด็กคนนี้คือตื่นตั้งแต่ตีห้า ล้อหมุน 06.00 น. ต้องกินข้าวเช้าบนรถ ถึง ร.ร. ครูให้การบ้านเขียนไว้บนกระดาน เลิก 15.30 น. ไปเรียนกวดวิชาต่อ กว่าจะถึงบ้าน 20.00 น. เพราะรถติด ต้องกินข้าวบนรถ ถึงบ้านต้องไปนั่งทำการบ้านต่อ กว่าจะเสร็จล่อไปสี่-ห้าทุ่ม
“บังเอิญเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย แต่ลองนึกสภาพ จันทร์-เสาร์เป็นแบบนี้ วิถีชีวิตแบบแพ้คัดออกทำให้เสียไปทั้งหมด นี่คือสิ่งที่จะบอกว่า ระบบกำลังเจียให้เป็นแบบนี้ทั้งหมด”
เพราะ‘เด็ก’ไม่ใช่‘ผ้าขาว’
ปัจจุบันคนเริ่มตระหนักว่าเรียนที่ไหนก็ไม่เหมือนกัน เท่ากับระบบกักขังตั้งแต่ตอนแรก จึงต้องแก้ตั้งแต่ต้น ไม่เพียงระดับอุดมศึกษา อุดมศึกษาก็แก้ได้ แก้ส่วนที่ผูกโยงกันมาก เช่น ทัศนคติของผู้ใหญ่ ทำอย่างไรให้เปิดกว้าง ว่าไม่ใช่ทุกคนเป็นหมอ คือ ความเห็นของ รศ.นพ.สุริยเดว ที่บอกอีกว่า
“เด็กเกิดมาไม่ใช่ผ้าขาว อย่าเข้าใจผิด เพราะพื้นฐานอารมณ์ไม่เหมือนกัน บางคนเลี้ยงยาก เลี้ยงง่าย หัวรั้น พลังเยอะ อ่อนไหว ต่างกัน สมาธิก็ต่างกัน เวลาที่เกิดเรื่องราวต่อเขา ปฏิกิริยาที่ตอบสนองก็ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ และสภาพสังคมแวดล้อมที่อาศัยอยู่ จะค่อยเชฟเขาให้ขึ้นมาเป็นตัวตน”
“เด็กเป็นผ้าสีพื้น ต่างสี บางคนอาจจะเป็นเหลืองทั้งผืน ฟ้าทั้งผืน เด็กทุกคนเกิดมาใสบริสุทธิ์จริง แต่ลวดลายที่เกิดขึ้นบนผ้าสีพื้นนั้นเกิดจากการเลี้ยงดูและสภาพสังคม แต่ระบบการศึกษาเราออกแบบมาเพียงเพื่อ เลี้ยงง่าย เป็น ‘ผ้าพับไว้’ จัดห้องเรียนแบบนั้น ห้ามมีคำถาม ยัดเนื้อหาวิชาไว้ทั้งหมด หมอจึงไม่ค่อยแปลกใจว่าทำไมครูบางท่านส่งมาปรึกษาว่าลูกสมาธิสั้น ครูบอกวิ่งเล่นตลอด แต่หมอว่า 3 ขวบนั่งนิ่งเหมือนผ้าพับไว้นี่น่าจะดูผิดปกติมากกว่า”
วิชา‘ขนมจาก’วิชา‘ส้มตำ’
สลายสูตรสำเร็จ แชร์ความภาคภูมิ
ระบบการศึกษาอาจต้องออกแบบโดยสลายคำว่าเด็กหน้าห้อง-หลังห้อง ให้เป็นกลุ่ม เรียนรู้ข้ามวิชา มหาวิทยาลัยก็ทำได้ และเริ่มเห็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลง” คุณหมอสุริยเดวเล่า ก่อนจะเสนอแนะด้วยว่า
เราสามารถทำให้กลายเป็นเรียนแบบเปิดในออนไลน์ แบบนิวนอร์มอล ได้หรือไม่ เข้ามหาวิทยาลัยมีหน่วยกิตพื้นฐาน 30 เปอร์เซ็นต์ แล้วให้เลือกรายวิชาที่เป็นตัวตน โดยใช้เทคโนโลยีประมวลหน่วยกิต เพื่อระบุสาขาของปริญญาบัตร หรือจะ open ไปถึงนอกรั้วมหาวิทยาลัย ทำให้ลุง ป้า น้า อา ย่า ยาย สลายวิธีคิดเดิมของเจน X Y Z ว่า ถ้าอายุ 6 ปี ต้อง ป.1, 7 ปีต้อง ป.2 ซึ่งเราก็ติดกับดักนี้ ผิดอายุเมื่อไหร่คือฟอสซิล แก่เกิน ซ้ำชั้น บูลลี่กันไปมา ทำไมไม่ทำให้โลกนี้เป็นโลกแห่งการเรียนรู้ ไม่จำเป็นต้องมามีลิมิตแค่ตัวเลข
รศ.นพ.สุริยเดวยืนยันว่า กระบวนการเช่นนี้ทำได้ตั้งแต่ในรั้วมหาวิทยาลัย อย่างใน “สิงคโปร์” ก็สลาย entrance โดยใช้วิธีการคัดเลือกคนเข้า ด้วย portfolio ให้นำเสนอผลงาน และดูวิสัยทัศน์ ดูความเชื่อมโยงของพอร์ตกับการตอบคำถาม และรับเข้าโดยไม่ต้องสอบข้อเขียน ชั้นปี 2 3 4 เรียนด้วยกัน ไม่ต้องมีรับน้องคณะ โลกเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว แต่ละชั้นปีก็จะได้เห็นวุฒิภาวะของกัน และเหลาความคิดไปด้วยกัน เรียน 2 ปีอาจจะจบเลยก็ได้ ไม่มีสูตรสำเร็จรูป สวิตเซอร์แลนด์สลายความคิดในชั้นเรียนตั้งแต่ประถม
“บ้านเราหมอเคยเจอสิ่งดีงามเช่นนี้เหมือนกัน วิชาขนมจาก วิชาส้มตำ โรงเรียนวัด ระดับประถมศึกษา ที่ จ.สมุทรปราการ มีพื้นที่ 10 ไร่แต่สามารถทำให้เป็นตำบลแห่งการเรียนรู้ ครูมีเพียงหลักสิบ แต่ผู้อำนวยการมีวิสัยทัศน์ที่เปิดมาก สามารถดึงปราชญ์ชาวบ้านเข้ามาร่วมเป็นครูได้ถึงหลักร้อย
“วิชาขนมจากเกิดขึ้นจากการลงพื้นที่ ให้เด็กลงไปสำรวจในชุมชน ดูต้นตาล ต้นมะพร้าว ที่ชาวบ้านแปรรูปมาเป็นขนมจาก ไปดึงปราชญ์ชาวบ้าน คือแม่ค้าที่ทำขนมจากเก่งที่สุด ติดป้ายผู้เชี่ยวชาญให้ ชาวบ้านก็ยกย่องเชิดชู เขาเปรมปรีดิ์ ดีใจ ได้สอนวิธีทำขนมจาก เด็กก็จดสูตร ครูชาวบ้านถามต่อไปอีก ‘ลูกๆ ถ้าขนมจากในบ้านเราไม่มี เราจะสามารถทำขนมจากไส้อื่นได้ไหม?’ เกิดจินตนาการ ในที่สุดก็มีขนมจากไส้เผือกด้วยฝีมือเด็กประถม ใครคือเชลล์ชวนชิม? ก็แม่ค้าที่ได้รับการติดป้ายยกย่อง แล้วเด็กก็ไปขายกันเอง เปิดตลาดที่อื่น กลายเป็นแฟรนไชส์ เงินที่ได้มาบริหารด้วยเด็กที่เก่งเลข คนที่เก่งศิลปะก็ไปทำโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ คนไหนเก่งพูดก็ออกไปเป็นเซลส์เมเนเจอร์ สรุป ทั้งชั้น ป.2 ได้เกรด A ทั้งหมด”
ถามว่าเด็กได้ประโยชน์ต่างจากระบบท่องจำตรงไหน “เด็กได้วิธีคิด เด็กได้มีการทำงานเป็นทีม เด็กได้การบริหารจัดการ และยังได้รู้ด้วยว่า ฉันมีค่า ไม่ใช่คนที่ไม่เก่งอะไรเลย” เกิดการแชร์ Respect เคารพซึ่งกันและกัน คุณสมบัติแบบนี้ฝึกกันตั้งแต่ประถม
เพราะ “เรียนที่ไหนก็ไม่เหมือนกัน” จำเลยที่ 1 คือ ระบบแพ้คัดออก คนกำลังจะป่วยด้วยตัวระบบที่ป่วย
“เห็นแก่หัวใจเด็กบ้างเถอะ เพราะตอนนี้เด็กเครียดเกินตั้งแต่ชั้นอนุบาล โหดไปไหม ?”
รศ.นพ.สุริยเดวกล่าวทิ้งท้าย
รศ.นพ.สุริยเดวกล่าวทิ้งท้าย