Custom Search

Jan 21, 2010

CEO สอนน้อง



วรากรณ์ สามโกเศศ
มติชน
วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551



ถ้าคิดจะอ่านหนังสือที่ไม่เคร่งเครียดและมีคุณค่า
เกี่ยวกับการบริหารสักเล่มก่อนสิ้นปีนี้
ผมขอแนะนำหนังสือชื่อ "CEO สอนน้อง"
โดย ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์
พิมพ์โดยสำนักพิมพ์สยามอินเตอร์บุ๊คส์

คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ เป็น CEO ของบริษัท CP-ALL (บริษัทแม่ของ 7-11)
เป็นผู้สร้าง 7-11 ร่วมกับพรรคพวกจนเติบใหญ่ในปัจจุบัน
หนังสือเล่มนี้น่าสนใจเพราะเป็น wisdom (ข้อคิดอันทรงคุณค่า)
จากประสบการณ์การทำงานของ CEO
องค์กรใหญ่ที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่งของเมืองไทย

หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มที่หกของผู้เขียนห้าเล่มก่อนหน้านี
เกี่ยวพันกับการบริหารในบริบทของโลกตะวันออกและความรู้
เกี่ยวกับประวัติศาสตร์จีน "CEO สอนน้อง"
เล่มนี้รวบรวมมาจากข้อเขียนที่แต่แรกตั้งใจให้พนักงาน 7-11 อ่านกัน
เมื่อมีการตีพิมพ์เล่มนี้ขึ้นจึงปรับปรุงใหม่ให้เป็น wisdom สำหรับผู้เริ่มทำงานใหม่

โดยพื้นฐานผู้เขียนเป็นนักเศรษฐศาสตร์
(จบจากธรรมศาสตร์ในยุคสมัยท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นอธิการบดี)
ไม่ได้เล่าเรียนด้านการบริหารมาโดยตรง
จึงมีมุมมองที่ค่อนข้างแตกต่างจาก CEO นักธุรกิจโดยทั่วไป

ถึงแม้จะเป็นนักบริหารธุรกิจเต็มตัวแต่ผู้เขียนไม่เชื่อใน maximized profit หรือ
"ทำกำไรให้สูงสุด" แต่เชื่อในการหากำไรในระดับที่เหมาะสม (optimized profit)
ขององค์กร ผู้เขียนบอกว่า
".......แนวคิดนี้แพร่เชื้อร้ายไปทั่วจนกระทั่ง
ทำให้เกิดเรื่องที่น่าแปลกประหลาดขึ้นคือสามารถเปลี่ยนแปลง
คนที่จิตใจอ่อนโยนมีเมตตายึดมั่นในศาสนาให้กลายเป็นคนที่แล้งน้ำใจ
บูชาแต่ผลประโยชน์เป็นที่ตั้งเหมือนคนไม่มีศาสนา
เพียงแค่คนดีๆ เหล่านั้นไปรวมตัวกันอยู่ในองค์กรธุรกิจที่เรียกกันว่า "บริษัท"

ทุกคนเชื่อเหมือนๆ กันหมดว่ามันคือหน้าที่และถือเป็นความชอบธรรม
ที่จะเอาเปรียบผู้อื่นและบีบคั้นลูกน้องในสังกัด
ภายใต้วลีสวยหรูที่ว่า "เราทำเพื่อบริษัท"

อันที่จริงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าการดำเนินกิจการ
ต้องมีกำไรเพื่อหล่อเลี้ยงสมาชิกในองค์กร
แต่เหตุการณ์ก็ผันแปรเป็นว่าแม้จะมีผลประกอบการที่กำไรมหาศาล
ก็ยังทำทุกวิถีทางเพื่อจะให้ได้กำไรเพิ่มขึ้นอีกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

......วิชาเศรษฐศาสตร์สอนผมว่าทรัพยากรมีอยู่จำกัด
ต้องใช้สอยอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมเพื่อให้เกิดความสงบสุขในสังคม
เศรษฐศาสตร์สำนักที่ผมเชื่อถือสอนถึงเรื่อง maximized utility
คือประโยชน์สูงสุดโดยองค์รวม ไม่ได้เน้นแต่วัตถุหรือเม็ดเงินเท่านั้น
แต่มองกว้างไปถึงคุณค่าเชิงสังคมและคุณค่าต่อจิตใจ

ปรัชญาตะวันออกก็บอกว่าไม่มีสิ่งใดที่จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
โดยไม่มีวันตกลงมา จึงแสวงหาแนวทางที่สมดุล
เพื่อประโยชน์ระยะยาวของมวลมนุษย์

ผมจึงย้ำอยู่เสมอว่าองค์กรของเราต้องการกำไรที่เหมาะสม (optimized profit)
ผมจึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับคนที่คาดหวังผล 100 เปอร์เซ็นต์
หรือ 110 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็นไปได้

วิชาเศรษฐศาสตร์สอนผมอีกว่าโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี
ทุกอย่างมีต้นทุนที่เราต้องจ่ายออกไปเสมอเผลอๆ
จะจ่ายต้นทุนไปสูงกว่ากำไรที่ได้รับโดยเราไม่รู้ตัว

การเร่งเครื่ององค์กรเพื่อบรรลุเป้า 100 เปอร์เซ็นต์
จึงอาจเกิดอาการโอเวอร์ฮีท (overheated)
ทำให้เครื่องยนต์น็อคลูกสูบไหม้ ไปไม่ถึงจุดหมายตามต้องการ
แถมยังต้องเสียเงินซ่อมหรือซื้อใหม่โดยไม่จำเป็น........"

ในเรื่องอำนาจ คุณก่อศักดิ์เขียนได้กินใจและทันสมัย
".......อำนาจกัดกร่อนคน ร้ายกาจกว่าสนิมกัดกินเนื้อเหล็
ผู้นำทั้งหลายจึงต้องมีสติอย่าหวั่นไหว
หลงใหลในอำนาจจนถอนตัวไม่ขึ้น ต้องคอยชำระจิตใจให้สะอาดใส
ห่างไกลจากตะกอนกิเลส อย่าคิดว่าตนสำคัญหรือยิ่งใหญ่เสียเต็มประดา
เพราะถ้าเทียบกับโลกทั้งใบแล้วเราก็เป็นเหมือนมดปลวกตัวนิดเดียว
ยิ่งถ้าเทียบกับจักรวาลเราก็เป็นเพียงแต่ละอองธุลีเท่านั้น

ชีวิตนั้นแสนสั้น ชีวิตการทำงานยิ่งสั้นเข้าไปใหญ่
หากนับจากสำเร็จปริญญาจนเกษียณอายุ
เรามีช่วงเวลาของการทำงานเพียงไม่เกิน 40 ปี

กว่าจะไต่เต้าถึงตำแหน่งผู้นำก็ไม่ใช่แค่วันสองวัน
ดังนั้นช่วงเวลาที่มีอำนาจก็ยิ่งสั้นลงไปอีก

ช่วงเวลาสั้นๆ นี้จะเป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่า
มีความหมายถ้าเรารู้จักใช้อย่างสร้างสรรค์
แทนที่จะใช้สถานะผู้นำแสวงหาประโยชน์ส่วนตน
แต่เป็นผู้นำเพื่อคนส่วนใหญ่ เป็นผู้นำที่เป็นผู้ให้อย่างแท้จริง

.......ถ้าเราดูแลลูกน้องอย่างดี หัวหน้าเราดูแลเราอย่างดี
หัวหน้าของหัวหน้าก็ดูแลหัวหน้าของเราอย่างดีเช่นเดียวกัน
เหมือนครอบครัวใหญ่ที่ทวดห่วงใยปู่ ปู่ห่วงใยพ่อ และพ่อห่วงใยลูก
ย่อมเกิดความอบอุ่นกลมเกลียวก่อให้เกิดพลังอันยิ่งใหญ่

ตรงกันข้ามในองค์กรที่ขาดแคลนภาวะผู้นำ
หัวหน้าก็หลอกลูกน้อง ลูกน้องก็เกลียดชังหัวหน้า
แม้องค์กรนี้จะมีคนเก่งอยู่มากเพียงใดก็ตามแต่
เมื่อขาดความปรารถนาดีต่อกันย่อมบั่นทอนขวัญ
และกำลังใจในการทำงาน
และนั่นคือจุดเริ่มต้นของสัญญาณมรณะ

เราเองยังต้องการหัวหน้าที่ดีและเก่ง ลูกน้องก็ย่อมเป็นเช่นเดียวกัน
วันนี้เมื่อเราอยู่ในสถานะผู้นำ เป็นหัวหน้าคนอื่น
อย่าหลงลืมวันคืนที่เราเคยเป็นลูกน้องมาก่อน
เอาใจเขามาใส่ใจเรา ดังคำที่ขงจื้อกล่าวไว้เมื่อสองพันกว่าปีมาแล้วว่า
"สิ่งที่ตนไม่ต้องการ อย่ากระทำต่อผู้อื่น"
เรียบง่ายได้ "ใจความ" และได้ "ใจคน"
เพราะให้ความเคารพในตัวผู้อื่นว่า
มีคุณค่าความเป็นมนุษย์เสมอเหมือนกับเรา

การเคารพในคุณค่าของผู้อื่น ทำให้เราไม่หลงลำพองโดยลำพัง
เราจะตระหนักว่าความสำเร็จต่างๆ
ได้มาจากความร่วมมือร่วมใจของผู้ใต้บังคับบัญชา
ไม่ใช่มาจากความเก่งกาจของตนเพียงผู้เดียว

ผู้นำที่ชอบชูคอทระนงก็เป็นเช่นเดียวกับ
รวงข้าวที่ไร้เมล็ดข้าวมีค่าไม่ต่างจาก
ยอดหญ้าที่อวดตนตระหง่านอยู่ในท้องทุ่ง
ตรงกันข้ามกับรวงข้าวที่มีเมล็ดเต็มรวงจะค้อมอ่อนลง
เช่นเดียวกับผู้ที่มี "ภาวะผู้นำ" เต็มเปี่ยม
จะมีความอ่อนน้อมน่าชื่นชม......."

ในเรื่องการทำงานของคนในองค์กร
ผู้เขียนมีคำถามว่าความสุขของคนทำงานคืออะไร?

".......ในทรรศนะของผม ความสุขต้องมีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ

(1) มีชีวิตที่ภูมิใจในคุณค่าของตัวเอง
ที่มีให้กับงานขององค์กรและสร้างประโยชน์ต่อสังคม
รู้อยู่ตลอดเวลาว่าเราให้มากกว่ารับจากสังคม
ไม่ใช่ทำตัวเอาเปรียบสังคมอยู่ตลอดเวลา

(2) มีความสงบในจิตใจ ซึ่งความสงบนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ

(2.1) ไม่เป็นหนี้ทั้งวัตถุและบุญคุณที่จะทำให้กระสับกระส่ายไม่เป็นสุข

(2.2) ไม่ขัดแย้งกับคนจนกลายเป็นศัตรูคู่แค้นกันเพราะ
จะเกิดความหวาดระแวงจนไม่เป็นอันทำ อะไร
มีภาษิตจีนเตือนใจอยู่ว่า "อดทนอารมณ์ชั่วขณะ
ระยะยาวจะปราศจากความทุกข์ใจ"
หรือ "ยอมถอยหนึ่งก้าว ฟ้ากว้างทางไกล"
หากปฏิบัติตามได้เราจะพบว่าอยู่ในโลกแห่งความสดใสและรอยยิ้ม

(2.3) ไม่เป็นทาสของกิเลสตัณหา คือ
ไม่เป็นทาสของอารมณ์ตัวเอง เช่น
อารมณ์โลภ โกรธ หลง อิจฉาริษยา ฯลฯ

(2.4) ไม่ถูกรังแกน้ำใจจากผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน

(2.5) ไม่ลุ่มหลงในอบายมุขจนถอนตัวไม่ขึ้น เช่น การพนัน ยาเสพติด ฯลฯ

(3) มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนทุกกลุ่มทั้งส่วนตัวและงาน
ทำอย่างไรเราจึงจะเข้าใจคนอื่นในแง่ดี
จะสื่อสารอย่างไรให้คนอื่นเข้าใจเรา
บวกกับความรักที่อยากให้ผู้อื่นได้รับสิ่งดีๆ จากใจจริง
เพราะถ้าคุณขาดความจริงใจ ไม่ช้าไม่นานก็จะถูกกระชากหน้ากากออก
และสุดท้ายจะไม่มีใครคบหาด้วย
อย่าหลงเข้าใจผิดว่าความดีใจเป็นความสุข
ถ้าคุณอยู่ในที่ทำงานที่มีสิ่งแวดล้อมไม่ดี
ต้องทนอยู่อย่างอึดอัดคับข้องใจ
แต่วันไหนเกิดผลงานเข้าตาผู้บริหารระดับสูง
ทำให้ได้ปรับเงินเดือนสูงขึ้นอย่างจุใจ
คุณอาจจะดีอกดีใจ แต่นั่นไม่ใช่ความสุขที่จีรังยั่งยืน

เพราะคุณจะดีใจได้ไม่นาน
เนื่องจากมันไม่สามารถกลบเกลื่อนความทุกข์ใจ
จากปัญหาที่คงอยู่ไปได้ตลอด......."

ที่น่าคิดที่สุดก็คือบทที่ว่าด้วยศักดิ์ศรีแหงชีวิต
".......ตำแหน่งสูง รายได้ดี ที่ต้องแลกมาด้วยการขายชีวิตและจิตวิญญาณ
ไม่ได้ทำให้คนเรามีความสุขอย่างแท้จริงเพราะ
เราจะรู้สึกอยู่ลึกๆ ตลอดเวลาว่าตัวเองนั้นไร้ความหมาย
เบื้องต้นอาจจะเกิดอาการซึมเซา เหงาหงอย
อาการหนักหน่อยก็จะดิ้นรนกระวนกระวาย
กระฟัดกระเฟียดเรียกร้องความสนใจ
หรือบางรายก็พยายามแสดงอาการที่ยิ่งใหญ่อย่างไม่ถูก
ไม่ควรเพื่อกลบเกลื่อนเนื้อแท้ที่กลวงโบ๋อยู่ภายใน

.......มนุษย์ที่ไร้ศักดิ์ศรี ยอมทำทุกอย่างเพียงเพื่อจะได้ตำแหน่งดีๆ
มีรายได้สูงๆ ประจบเอาใจนายจนออกนอกหน้า
ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นที่เป็นตัวของตัวเอง
มีแต่ "ดีครับนาย-ใช่ครับผม"
ชื่นชมป้อยอจนนายเสียผู้เสียคน
จะส่งผลเสียหายให้แก่องค์กร......

ผู้บริหารก็ควรมีสติตระหนักรู้ว่าบรรดาลูกน้อง
ที่คอยเข้ามาประจบประแจงย่อมแสดงให้เห็นถึง
ความสามารถที่มีอยู่อย่างจำกัด
และไม่อาจสำแดงศักยภาพในการงานให้ปรากฏเด่นชัด
มีแต่วิทยายุทธ์สอพลอเป็นกระบวนท่าไม้ตายประจำตัว

.......เมธีเม่งจื๊อเคยกล่าวคำสอนไว้ว่า
"ยามร่ำรวยไม่ฟุ้งเฟ้อเสเพล
ยามยากจนไม่แปรเปลี่ยนปณิธาน
ยามเผชิญหน้ากับอำนาจก็ไม่หวาดหวั่นครั่นคร้าน"

หากเรามีจุดยืนที่มั่นคง แหงนหน้าไม่อายฟ้า
ก้มหน้าไม่อายดิน
ก็ไม่จำเป็นต้องพรั่นพรึงกับอำนาจที่ไม่ชอบธรรม

มนุษย์ที่ดีควรรักศักดิ์ศรีของตน และเคารพศักดิ์ศรีของผู้อื่น
เราจึงไม่ควร หยามหมิ่นหรือกัดกินศักดิ์ศรีของเพื่อนร่วมงาน
องค์กรจึงจะน่าอยู่และควรแก่การภาคภูมิใจ
เพราะเป็นศูนย์รวมของผู้ที่มีศักดิ์ศรีอย่างแท้จริง......."

7-11 ปัจจุบันมี 4,700 สาขา
มีคนทำงานรวมประมาณ 42,000 คน
(ถ้านับทั้งบริษัท CP-ALL ที่ทำธุรกิจอื่นๆ
นอกจาก 7-11 ก็ประมาณ 72,000 คน)
แต่มีผู้บริหารระดับสูงของบริษัทประมาณ 30 คน
และมีผู้ใต้บังคับบัญชาโดยรวมประมาณ 600 คน

คุณก่อศักดิ์ได้ให้แง่คิดในเรื่องการทำงานแก่ลูกน้อง
เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง 7 วันต่ออาทิตย์ ดังนี้
"ต้องมองให้เห็นแง่มุมที่ดีของงานที่เราต้องรับผิดชอบ
เพื่อจะได้เกิดความรักและภาคภูมิใจต่องานนั้นๆ
....... ต้องมองให้เห็นส่วนที่น่ารักของเพื่อนร่วมงาน
.......ต้องมองว่าการทำงานเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิต
แบ่งแยกงานกับชีวิตให้ออกเป็นโลก 2 ใบ
ที่เราต้องคอยกระโดดไปมาสลับกัน

เราสามารถทำงานไปได้โดยไม่สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง
สามารถรื่นรมย์กับชีวิตได้ในขณะที่ทำงาน
เราจึงสามารถมีความสุขได้ในทุกขณะ
ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงวันหยุดราชการ
จึงจะอนุญาตให้ตัวเองมีความสุข

.......มองว่าการทำงานไม่ใช่การขายแรงงาน
แต่เป็นการสร้างคุณค่าให้แก่ชีวิต
ในอีกมิติหนึ่งที่สูงขึ้น การทำงานก็คือการปฏิบัติธรรม
การขัดเกลากิเลสตัวเอง ฝึกให้รู้จักเอาชนะความโลภ
ความโกรธ ความหลง บ่มเพาะความเสียสละ
เมตตากรุณา และสติปัญญาให้เพิ่มพูนขึ้นอยู่ตลอดเวลา......."

ถ้าใครได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วไม่เห็นตัวเอง
ปรากฏอยู่ในบางตอนของเนื้อหาและไม่รู้สึกเจ็บๆ คันๆ
ก็แสดงว่ายังไม่ได้เปิดใจตนเองให้กว้างพอ
ต้องอ่านและไตร่ตรองอีกครั้ง
จึงจะได้ประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้อย่างเต็มที่

หน้า 6