Custom Search

Jan 2, 2010

นักวิชาการชี้การศึกษาไทยโคม่าแนะปฏิรูปด่วน

อาร์เอสยูนิวส์

อดีต รมช.ศึกษาฯ วอนรัฐปฏิรูปการศึกษาด่วน

เหตุคุณภาพการศึกษากระจุกตัวแค่ในเมือง

สังคม-รัฐไม่ใส่ใจแก้จริงจัง ตะลึง10 ปีเปลี่ยน รมต. 12 คน

เผยแม่พิมพ์นับหมื่นจ่อคิวเออรี่รีไทร์เหตุเบื่ออาชีพครู

จากงานสัมมนาเศรษฐศาสตร์ประจำปี เรื่อง

“แนวโน้มเศรษฐกิจไทย 2553: ปฏิรูปก่อนวิกฤติย้อนรอย”

ของคณะเศรษฐศาสตร์ และศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ

และธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต

รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ
อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กล่าวถึงการปฏิรูปที่ควรจะเกิดขึ้นในประเทศไทยว่า

การที่คนจะมีคุณภาพดีขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 อย่างได้แก่

1.สังคม โครงสร้างทางกฎหมายและสังคมต้อง

เอื้ออำนวยต่อการทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ

และที่สำคัญเด็กในสังคมต้องเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์

2.ครอบครัว เด็กต้องอยู่ในครอบครัวที่อบอุ่น

พ่อแม่ต้องใส่ใจ และหาแนวทางให้ลูกเติบโตมาเป็นคนดี

3.สถานศึกษา ถือว่ามีบทบาทที่สำคัญที่สุดในการดูแลเด็ก

แม้จะมีสัดส่วนในการดูแลเด็กเพียง 15 เปอร์เซ็นต์ต่อปีก็ตาม

ปัจจัยทั้ง 3 ข้อนี้ ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะกำหนดแนวทางชีวิตของเด็กในอนาคต

อย่างไรก็ตามการปฏิรูปการศึกษาที่เกิดขึ้น

ยังไม่สามารถผลิตเด็กให้คุณภาพตามที่ต้องการได้

ซึ่งจะเห็นได้จากการสอบวัดผลต่างๆ เช่น O-Net หรือ A-Net

ที่คะแนนนักเรียนยังอยู่ในระดับต่ำมาโดยตลอด ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

ทั้งนี้ตนเห็นว่าปัญหาของระบบการศึกษาไทยได้แก่

ปัญหาที่
1.
ประเทศไทยไม่เคยมีเรียกร้องให้ภาครัฐ

หรือภาคสังคมสนใจเรื่องการศึกษาอย่างจริงจัง

วงการการศึกษาของประเทศจึง

ไม่มีความมุ่งมั่นระดับชาติ (National Will)

นอกจากนี้การบริหารด้านการศึกษา

ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาภาคการเมือง

เพราะในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา

ประเทศไทยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกาธิการทั้งหมด 12 คน

เฉพาะปี 2551 เรามีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมากถึง 4 คน

รัฐมนตรีแต่ละคนก็มีนโยบายและการทำงานที่แตกต่างกัน

การบริหารงานจึงไม่มีความต่อเนื่อง

ในขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการส่วนใหญ่

ก็ได้รับตำแหน่งด้วยความไม่ตั้งใจ

ปัญหาดังกล่าวจึงกลายเป็นปัญหาระดับพื้นฐานที่ขัดขวาง

การยกมาตรฐานและความต่อเนื่อง

ในการดำเนินนโยบายการศึกษาของไทย

รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวต่อไปว่า

ปัญหาที่ 2
ของระบบการศึกษา คือ

การปฏิรูปการศึกษา เพราะการปฏิรูป

ครั้งที่ผ่านมามีการออกกฎหมายหลายฉบับ

เพื่อวางโครงสร้างของประเทศให้เอื้อต่อการพัฒนาการศึกษาพร้อมกับ

มีการแบ่งกรมหรือสำนักงานด้านการศึกษาให้แยกย่อยมากขึ้น

โดยมีการแบ่งเขตการศึกษาเป็น 185 เขต

ซึ่งแต่ละเขตจะมีการวางโครงสร้างแบบประชาธิปไตย คือ

ให้มีการเลือกตั้งตัวแทนขึ้นมาบริหาร

เป็นผลให้การเมืองเข้าไปอยู่ในระบบการศึกษา

เนื่องจากเครือข่ายของระบบการศึกษาถือเป็น

ฐานคะแนนเสียงของการเมืองในระดับชาติเช่นกัน

ปัญหาที่ 3
คือ ครูจำนวนหนึ่งในระบบการศึกษา
ไม่ได้ตั้งใจที่จะประกอบอาชีพครู

เพราะเมื่อภาครัฐเปิดโอกาสให้ครูเกษียณก่อนกำหนด

หรือ เออรี่รีไทร์ (Early Retirement)

พบว่ามีครูจำนวนมากถึง 2 หมื่นคน ต้องการออกจากระบบการศึกษา

ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีครูจำนวนมากไม่มีความสุขจากการประกอบอาชีพ

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าคุณภาพของครูเป็นเช่นไรคุณภาพของนักเรียนย่อมเป็นเช่นนั้น

ปัญหาที่ 4 เกิดจากการดูแล กำกับ และการปกครอง คือ

ครูไม่มีโอกาสทำหน้าที่สอนได้อย่างเต็มที่

เนื่องจากครูต้องทำหน้าที่ทุกอย่าง ตั้งแต่การจัดสอบ การประเมินคุณภาพ

หรือแม้แต่การทำตัวชี้วัด จนมีคำพูดออกมาว่า ครูทำได้ทุกอย่างยกเว้นการสอน

จุดนี้จึงกลายเป็นปัญหาสำคัญของการศึกษา

นอกจากนี้ปัญหาสำคัญในระบบการปกครองดูแลครูอีกประการหนึ่ง คือ

กฎระเบียบของวงการศึกษาไทยที่กำหนดให้ผู้อำนวยการโรงเรียน

ไม่สามารถสั่งย้ายครูได้ หากครูไม่แสดงความจำนงขอย้ายเอง

ครูส่วนใหญ่จึงกระจุกตัวอยู่ใน

เขตการศึกษาที่มีความเจริญหรือโรงเรียนที่มีชื่อเสียง

จนทำให้เกิดปัญหาครูล้นเกิน

แต่โรงเรียนในพื้นที่ทุรกันดารกลับประสบปัญหาขาดแคลนครู

เพราะไม่มีครูขอย้ายไปช่วยสอน

นี่คือปัญหาการดูแลกำกับบุคลากรครูของประเทศไทย

ที่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาของประเทศ

จนถูกประเมินคะแนนในระดับต่ำ ทั้งที่ในความเป็นจริง

พบว่าคะแนนส่วนใหญ่ของนักเรียนจาก

โรงเรียนชื่อดังในเขตภาคกลางมีเกณฑ์ที่สูงมาก

แต่เพราะ 4 ปัญหาใหญ่ๆ ที่กล่าวมา

เป็นอุปสรรคที่ทำให้ระบบการศึกษาไทยไม่ให้มีการพัฒนาเท่าที่ควร”

อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว


Words / วรากรณ์ สามโกเศศ
คอลัมน์ “อาหารสมอง” ในมติชนสุดสัปดาห์มี
“เครื่องเคียงอาหารสมอง” (เรื่องเล่าแปลกๆ สนุกๆ และให้ความรู้)
และ “น้ำจิ้มอาหารสมอง” ซึ่งเป็นคำคมหรือสุภาษิต
เป็นองค์ประกอบตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีของคอลัมน์นี้
ซึ่งพยายามสร้างนวัตกรรมที่ในหนึ่งข้อเขียนมีถึง 3 รสชาติ
คำคมหรือสุภาษิตโดยแท้จริงแล้วก็คือ
ข้อความรวบยอดสรุปบทเรียนจากประสบการณ์ชีวิต
และความจริงของชีวิตและโลก
ท่านจะพบว่าบางข้อความกินใจอย่างลึกซึ้ง
เพราะตรงกับสิ่งที่ตนเองได้เรียนรู้มาจากชีวิต
จนต้องร้องอยู่ในใจว่า “ใช่เลยๆ”
การอ่านคำคมจึงเท่ากับเป็นการเดินทางลัดแสวงหาปัญญา (wisdom)
จากคนอื่นด้วยต้นทุนที่ต่ำยิ่ง ไม่เสียเงินทองและเวลามากมาย
สำคัญที่สุดก็คือไม่ต้องเสียน้ำตาและปวดใจสำหรับบทเรียนชีวิตบางบท
บางคำคมบางสุภาษิตอาจเปลี่ยนแง่มุมของการมองชีวิตและการดำรงชีวิตของผู้อ่าน ได้
“น้ำจิ้มอาหารสมอง” ที่ปรากฏในเล่มนี้ คัดสรรมาจากบรรดาน้ำจิ้มใน “อาหารสมอง”
โดยแบ่งออกเป็นหัวข้อต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับชีวิตในลักษณะต่างๆ
เพื่อความสะดวกในการเดินทางค้นหาปัญญา
- วรากรณ์ สามโกเศศ -

Tips / วรากรณ์ สามโกเศศ
หนังสือเล่มนี้ชื่อ TIPS เพราะต้องการ “ให้”
เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้แก่ท่านผู้อ่าน
โดย TIPS มีความหมายได้ทั้ง “คําชี้แนะที่เป็นพิเศษ”
และ “รางวัลสําหรับการบริการ”

ผู้เขียนหวังอย่างยิ่งว่าท่านผู้อ่านจะพอใจกับ “การให้” ครั้งนี้
เพราะได้พยายามคัดสรรเรื่องแปลก
ที่ไม่ค่อยมีใครเขียนถึงมาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟัง
เพื่อให้เป็นทั้งความรู้และความบันเทิงโดย “ไม่ต้องแบกบันได” มาอ่าน
เหมือนในสมัยก่อนที่มักพูดกันว่า
เมื่อจะฟังเพลงคลาสสิก ต้อง “แบกบันไดมาฟัง”
ข้อเขียนเหล่านี้รวบรวมมาจากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
และ มติชนสุดสัปดาห์ (คอลัมน์อาหารสมอง)
โดยผู้เขียนได้แฝงข้อคิดของความเป็นมนุษย์ที่ดีไว้ในนั้น
และแอบเสนอแนะให้ทุกคนรักกัน 
ให้เกียรติซึ่งกันและกัน
ให้ความเท่าเทียมกับเพศหญิง หลีกเลี่ยงการเอาเปรียบผู้อ่อนแอกว่า
เห็นอกเห็นใจคนอื่นโดยเฉพาะคนที่มีฐานะแตกต่างกว่า
และกระทําทุกสิ่งโดยถือว่าตนเองเป็นสิ่งมีค่ายิ่ง เป็นอาทิ

เหนือสิ่งอื่นใด ผู้เขียนตั้งใจให้ผู้อ่านสามารถใช้เนื้อหาของ TIPS
เป็นข้อมูลในการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนอย่างสนุกสนานและมีสาระ
มนุษย์ทุกคนเป็น “สัตว์สังคม” มีการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอยู่แล้วโดยธรรมชาติ
อย่างไรก็ดี ถ้าเป็น “สัตว์สังคม” ที่น่าเบื่อหน่าย
เพราะไม่มีวัตถุดิบในการพูดคุยกับผู้อื่น ก็จะลดเสน่ห์ของตนเองลงไปเป็นอันมาก
ผู้เขียนขอขอบคุณ คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา แห่งสํานักพิมพ์ OPENBOOKS
ผู้เป็นธุระในการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ คุณวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง
และอาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้กรุณาคัดเลือกข้อเขียนและดําเนินงานด้านบรรณาธิการให้อย่างดียิ่ง
และคุณบุญชัย แซ่เงี้ยว สําหรับการตรวจทานคําผิดและถอดเสียงภาษาต่างประเทศ

ขอขอบคุณท่านผู้อ่านที่ได้ให้เกียรติแก่ผู้เขียนมาโดยตลอด
หากมีข้อมูลใดผิดพลาด ผู้เขียนขอน้อมรับไว้ด้วยความคารวะแต่ผู้เดียว
ด้วยความสํานึกในไมตรีจิตเสมอ
(21/10/2552)


Trend / วรากรณ์ สามโกเศศ
ฌอง-ปอล ซาร์ตร์ (JEAN-PAUL SARTRE) นักปรัชญาคนสําคัญของโลก
เคยกล่าวว่า “IF YOU'RE LONELY WHEN YOU'RE ALONE,
YOU'RE IN BAD COMPANY.”
(ถ้าคุณเหงาในขณะที่อยู่คนเดียว นั่นแสดงว่าคุณมีเพื่อนที่ไม่เอาไหน)
คําพูดนี้น่าคิด เพราะหมายถึงว่า
ตัวเรานั้นคงแย่มากถึงไม่สามารถทําให้ตัวเองหายเหงาได้
ผู้เขียนขอเสนอแนะว่าหนังสือ TREND เล่มนี้
อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ท่านผู้อ่านหายเหงา
จนเป็นเพิ่อนที่ดีของตัวเองได้ในยามเมื่ออยู่คนเดียว
TREND บรรจุเรื่องราวที่คัดสรรมาจาก
คอลัมน์ประจำของผู้เขียนในหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน
และ มติชนสุดสัปดาห์ (คอลัมน์อาหารสมอง)
โดยตั้งใจให้ทั้งความบันเทิงและสาระแก่ท่านผู้อ่าน
ผู้เขียนมี “ช่องเฉพาะของตนเอง” หรือ NICHE
ตรงที่เลือกเรื่องแปลกใหม่ที่อาจยังไม่มีใครเขียนถึง
พร้อมข้อมูลที่ค้นคว้ามา ผ่านการเขียนด้วยภาษาง่ายๆ ผู้เขียนหวังว่า NICH
ที่อ้างถึงนี้จะเป็นจริงจากมุมมองของท่านผู้อ่าน
การรู้ทันโลก โดยรู้ทั้งข้อเท็จจริงและแนวโน้มของสิ่งที่กําลังเกิดขึ้น
เป็นสิ่งสําคัญอย่างยิ่งสําหรับการอยู่ในโลกที่มีความซับซ้อน
และมืดดําได้อย่างมีความสุข เพราะ ความเท่าทันจะนําไปสู่การปรับตัวและการอยู่รอด
ผู้เขียนหวังอย่างยิ่งว่า TREND จะมีส่วนช่วยให้ท่านผู้อ่านมีความสุข
และสนุกกับเรื่องราวแปลกใหม่ที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้
ผู้เขียนขอขอบคุณ คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา แห่งสํานักพิมพ์ OPENBOOKS
ผู้เป็นธุระในการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ คุณวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง
และอาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้กรุณาคัดเลือกข้อเขียน
และดําเนินงานด้านบรรณาธิการให้อย่างดียิ่ง
และคุณบุญชัย แซ่เงี้ยว สําหรับการตรวจทานคําผิดและถอดเสียงภาษาต่างประเทศ
ขอขอบคุณท่านผู้อ่านที่ได้ให้เกียรติแก่ผู้เขียนมาโดยตลอด
หากมีข้อมูลใดผิดพลาด ผู้เขียนขอน้อมรับไว้ด้วยความคารวะแต่ผู้เดียว

ด้วยความสํานึกในไมตรีจิตเสมอ
(21/10/2552)