Custom Search

Jan 22, 2010

"หมอประเวศ" ชี้คำตอบของการพัฒนาประเทศดีที่สุด เริ่มที่"ชุมชน"


มติชน
วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2553

หลังพบความล้มเหลวของประเทศไทยในทุกด้าน
เกิดจากการสร้างพระเจดีย์จากยอด
ราษฏรอาวุโสแนะเปลี่ยนแนวคิดใหม่
เริ่มที่ชุมชน ให้อปท.มีบทบาทแก้ไขปัญหา
ร่วมสร้างกรอบการทำงานเพื่อท้องถิ่นร่วมกัน...

ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส
กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนาวิชาการ เรื่อง

“การขับเคลื่อนท้องถิ่นสู่การพัฒนาประเทศ”

จัดโดยภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์

คณะเศรษฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยเห็นว่า

การพัฒนาท้องถิ่นคือจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาประเทศ

ประเทศจะเข้มแข็งได้ต้องเริ่มจากการพัฒนาระบบรากหญ้า

นั่นคือ
ท้องถิ่น นำโดยผู้นำท้องถิ่นและคนในท้องถิ่น

ที่มองเห็นปัญหาได้ครอบคลุม

ช่วยให้ท้องถิ่นสามารถปกครองตัวเอง

สร้างนโยบายการพัฒนาและ

ดูแลทุกข์สุขโดยคนในชุมชนเพื่อชุมชน


ศ.นพ. ประเวศ กล่าวถึงการสร้างการพัฒนาแบบสร้างพระเจดีย์ว่า
ราษฎรอาวุโส กล่าวว่า ประเทศไทยมีทรัพยากรหลากหลาย
ที่พร้อมจะนำมาพัฒนาประเทศ
ปัจจุบันยังพัฒนาไม่ตรงจุด
เนื่องจากการปกครองส่วนกลางสร้างนโยบายออกมา
รองรับการพัฒนาในด้านต่าง ๆ
แต่ระบบวัฒนธรรม ความเชื่อที่แตกต่างกันในระดับภูมิภาค
ไม่สามารถทำให้นโยบายดังกล่าว
นำไปใช้พัฒนาครอบคลุมทุกภาคส่วนได้
ดังนั้น สิ่งที่ควรรีบแก้ไข คือ
การช่วยกันพัฒนาท้องถิ่นแบบบูรณาการ
สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนมีส่วนร่วมใน
การสร้างวิธีการแก้ไขและช่วยพัฒนาประเทศร่วมกัน

“เราควรสร้างรากฐานให้มั่นคงก่อนที่จะพัฒนาระบบส่วนอื่น

เหมือนการสร้างฐานพระเจดีย์

นั่นคือ เริ่มจากฐานที่อยู่ส่วนล่าง

ที่มีอยู่มากในชุมชนท้องถิ่น

ต้องมั่นคงแล้วจึงไปพัฒนาส่วนบนฐานพระเจดีย์ต่อไป

ดังนั้นควรเปลี่ยนแนวคิดใหม่

จากการคิดเชิงเทคนิคมาเป็นการคิดเชิงโครงสร้าง

ให้จุดสำคัญเริ่มที่ชุมชน

ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทแก้ไขปัญหา

ผ่านตัวแทนผู้นำท้องถิ่นที่ประชาชนไว้ใจ

ร่วมสร้างกรอบการทำงานเพื่อท้องถิ่น

นำมาพัฒนาและสร้างให้มี

การจัดการและพัฒนาชุมชนด้วยกันเองอย่างเข้มแข็ง

ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม การศึกษา

รวมถึงเรื่องโลกร้อน

ที่กำลังคุกคามกับสรรพสิ่งต่าง ๆ บนโลก”


หากฐานพระเจดีย์ของสังคม คือชุมชน ท้องถิ่นเข้มแข็งทุกๆ ด้าน
เมื่อระบบฐานมั่นคงแล้วจึงนำไปบูรณาการด้านอื่นเพื่อสร้างความเข้มแข็ง
ให้ปกครองตัวเองได้ ครอบคลุม 8 ด้าน คือ
1. เศรษฐกิจ
2. จิตใจ
3. สังคม การมีส่วนร่วม
4. วัฒนธรรม
5. สิ่งแวดล้อม
6. สุขภาพ
7. การศึกษา
8.การเรียนรู้ประชาธิปไตย

เมื่อนำทุกอย่างมาบูรณาการและพัฒนาไปด้วยกัน
จะเป็นคำตอบของการพัฒนาประเทศอย่างดีที่สุด
“ในประเทศไทย มีองค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่นมากกว่า 7 พันแห่ง
หากให้ท้องถิ่นเข้ามาช่วยจัดการสร้างชุมชนเข้มแข็ง
จะสามารถช่วยให้การพัฒนาขับเคลื่อนไปได้โดยเร็ว
ดีกว่าการรอรับนโยบายมาจากส่วนกลาง และทำตาม
หลังจากนั้นก็หายไป ไม่มีการพัฒนาเพิ่มเติม
สิ่งที่ถูกต้อง คือ เราควรจะปล่อยให้ท้องถิ่น
สร้างพลังความเข้มแข็งได้ด้วยตนเอง
เอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง เอากรมเป็นตัวสนับสนุน
เกิดการอยู่ได้ด้วยตนเอง ช่วยรักษา ช่วยกันดูแล
ให้ความสำคัญของชุมชน ช่วยหาสาเหตุปัญหา
สิ่งที่ต้องการของแต่ละท้องถิ่น
ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งและมั่นคงภายในประเทศ”

แม้ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะสามารถพึ่งพาตนเองได้
และทราบปัญหาที่เกิดขึ้น ราษฎรอาวุโส กล่าวว่า
ส่วนกลางก็ควรเข้าไปช่วยดูแล
ในเรื่องของการเพิ่มพูนความรู้
ในการสร้างแนวความคิดใหม่ๆให้เกิดขึ้นในชุมชน
โดยให้ส่วนของมหาวิทยาลัยที่มีแล้วอยู่ในส่วนท้องถิ่น
เข้าไปร่วมจัดการศึกษา ร่วมมือช่วยแก้ไข
และเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมมือพัฒนา
เพื่อให้ท้องถิ่นเข้มแข็งและส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ


ด้านพล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ กล่าวถึง
การปกครองส่วนท้องถิ่นว่า
เป็นรากฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
เป็นสถาบันที่ทำหน้าที่ฝึกฝนในการฝึกสอน
เรื่องการเมืองการปกครองให้มีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง
ให้คนในท้องถิ่นคุ้นเคยในการใช้การเมือง
และความมีศรัทธาในการเลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตย
ถือเป็นองค์กรที่ปกครองโดยประชาชนและเพื่อประชาชน
นอกจากนี้ ยังเป็นเวทีให้ประชาชน
มีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อการพัฒนาประเทศ
ซึ่งเป็นกฎไกหลักในการสร้างความเข้มแข็งในท้องถิ่น
สร้างภาวะการอยู่ดีกินดี แก่พลเมือง ในระดับประเทศต่อไป
ขณะที่ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ 1 ใน
สมาชิกเครือข่ายสถาบันทางปัญญา เวทีปฏิรูปประเทศไทย กล่าวว่า
ประชาชนทั่วไปชอบคิดว่าส่วนกลางจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง
และรอให้ส่วนกลางช่วยเหลือ โดยที่ไม่ทำอะไร
แต่ความจริงแล้วต้องเริ่มจากท้องถิ่นเอง
เริ่มจากชุมชน รักชุมชน มองทุกปัญหาเป็นปัญหาของส่วนร่วม
และช่วยกันพัฒนาอย่างจริงจัง เมื่อท้องถิ่น
เกิดการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง
การพัฒนาประเทศก็จะนำไปสู่ทิศทางที่เข้มแข็งต่อไป