Custom Search

Dec 24, 2008

คนเดินดินช่วยแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจอย่างไร



วรากรณ์ สามโกเศศ
มติชน
วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ข้อเสนอแนะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจแก่รัฐบาลของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
มีอยู่มากมายจนอาจเฝือแล้วสำหรับผู้อ่าน
ข้อเขียนวันนี้จึงขอเสนอแนะหนทางร่วมแก้ไข
ปัญหาเศรษฐกิจของประชาชนแต่ละคนดูบ้าง

ซึ่งเมื่อประกอบกันแล้วหวังว่าอาจช่วยทำให้ความพยายาม
ในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้นใน
ประการแรก สมาชิกของเศรษฐกิจไทยทุกคนต้องยอมรับว่าวิกฤตครั้งนี้
มีความรุนแรงและอาจใช้เวลายาวพอควรในการเยียวยา
การแก้ไขต้องการความร่วมมือจากทุกสมาชิก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการอดทนรอผลที่จะเกิดขึ้น
ปัญหาเศรษฐกิจไม่อาจแก้ไขด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจ
เช่น การใช้จ่ายของภาครัฐ อัตราดอกเบี้ย อัตราภาษีอากร
อัตราแลกเปลี่ยน ฯลฯ อย่างเดียวเท่านั้น มาตรการอื่นๆ
เช่น การสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องวิกฤต
การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการดำรงชีวิต
การเปลี่ยนแปลงความเชื่อ ฯลฯ เป็นส่วนประกอบสำคัญเช่นเดียวกัน
ประการที่สอง "โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี" บอกเราว่าจะแก้ไขปัญหาได้
ก็ต้องเอาความเจ็บปวดไปแลก การที่จะ "ได้" โดยไม่ "เสีย"
อะไรเลยนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
ตัวอย่างเช่นการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตลดต่ำลง
จนผู้ผลิตสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นนั้น
ทำให้ผู้ฝากเงินในธนาคารทั้งหลายได้รับผลตอบแทนต่ำลง
ถ้าเราต้องการให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น
บางคนก็ต้องเจ็บปวด และหากผู้เจ็บปวดเข้าใจว่าเป็นไปเพื่อผลดีของทั้งประเทศ
และอานิสงส์ก็จะย้อนกลับมาสู่ตนในอีก
ทางหนึ่ง เช่น ทำให้สมาชิกในครอบครัวมีงานทำ
ถึงแม้จะได้ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยลดลงก็ตามการยอมรับ "โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี"
จะทำให้มีความอดทนสูงขึ้น และเข้าใจว่าในเบื้องต้นคนที่ "เสีย"
นั้นเป็นเรา และคนที่ "ได้" นั้นเป็นคนอื่น
แต่ในที่สุดแล้วเราก็จะ "ได้" เช่นกันแต่ต้องอดทนรอ
ประการที่สาม ต้องไม่เล็งผลเลิศว่าทุกอย่างจะเหมือนถูกเสกคาถา
การจ้างงานของภาคธุรกิจของเราจะกลับมาคึกคักอย่างเดิม
ธุรกิจของเราจะร้อนแรงให้ผลตอบแทนสูงเช่นเดิม
รายได้ของเราจะสูงเหมือนที่เคยเป็นมา
รัฐบาลจะช่วยให้ทุกคนได้ราคายางสูงในระดับ 80-90 บาทต่อกิโลกรัม
ข้าวได้ราคาตันละ 15,000-18,000 บาท
เหมือนที่เคยฝัน ธุรกิจ OTOP และ SME"s
ของเราจะมีคนเข้าคิวมาแย่งซื้อสินค้าเหมือนของแจกรัฐบาลนั้น
ไม่ว่าจะตั้งใจดีและมีประสิทธิภาพอย่างไรก็ช่วยได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น
และไม่สามารถช่วยได้ทุกคนอย่างทั่วถึงในทุกภาคเศรษฐกิจ
ทุกอาชีพ ทุกพื้นที่ ทุกวัย ไม่ว่าจะพยายามอย่างไรก็ตาม
เพราะกลไกราคานั้นเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ยากที่จะฝืนหรือบิดเบือน
ให้เป็นไปในทิศทางที่ต้องการได้อย่างเต็มที่
ตัวอย่างเช่น ราคายางตกต่ำจากกิโลกรัมละเกือบ 100 บาท
เมื่อตอนเกือบกลางปีนี้เหลือกิโลกรัมละ 20 กว่าบาท
ในปัจจุบัน เนื่องจากความต้องการยางธรรมชาติลดลงไปมาก
ยางรถยนต์นั้นใช้ยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์
ซึ่งสกัดมาจากน้ำมันดิบทดแทนกันได้เป็นอย่างดี
เมื่อน้ำมันมีราคาแพงผู้ผลิตก็หันไปใช้สัดส่วนของยางธรรมชาติมากขึ้น
ราคายางธรรมชาติจึงสูง เมื่อราคาน้ำมันตกต่ำยางสังเคราะห์ก็เป็นพระเอก
ดังนั้นจึงทำให้ความต้องการยางธรรมชาติลดลงมาก
ราคายางธรรมชาติจึงตกไม่มีรัฐบาลใดในโลกที่สามารถ
แทรกแซงกลไกตลาดให้ราคายางสูงขึ้นจาก 20 กว่าบาทต่อกิโลกรัม
เป็น 90-100 บาทได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเรา
ซึ่งส่งออกปริมาณยางเป็นอันดับหนึ่งของโลก
ปริมาณยางที่จะต้องแทรกแซงมีมหาศาล
อีกทั้งราคาขาย 20 กว่าบาทเป็นราคาที่ตลาดโลก
(ผู้ซื้อยางนำไปแปรรูปอีกครั้ง) เป็นผู้กำหนดคล้ายกับราคาข้าวซึ่งตลาดโลก
เป็นผู้กำหนด ต่างจากกระเทียม หอม ผักชี ลำไย เงาะ ฯลฯ
ซึ่งตลาดท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดราคา
ประการที่สี่ "ผู้รู้"ทั้งหลายไม่ว่าในซีกวิชาการหรือสื่อ
หรือผู้มีอิทธิพลต่อความเห็นของประชาชน
จำเป็นต้องหลีกจากการ "ติเรือทั้งโกลน"
อย่างน้อยก็สักชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้โอกาสผู้เข้ามาแก้ไขปัญหา
ได้ใช้สติปัญญาและกำลังอย่างเต็มที่เป็นเรื่องเข้าใจได้ว่า
เมื่อเป็น "ผู้รู้" ก็จำเป็นต้องมีความเห็น
วิพากษ์วิจารณ์และถ้าจะให้เป็นที่สังเกต
ก็จำต้องมีความเห็นในด้านลบเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเป็นธรรมดา
ในฐานะที่เป็นสมาชิกคนสำคัญของเศรษฐกิจไทย
หากท่าน "ผู้รู้" ทั้งหลายให้ความร่วมมือด้วยความอดกลั้นสักหน่อย
ก็น่าจะเป็นผลดีต่อการแก้ไขปัญหาเมื่อเวลาผ่านไปพอควร
และปรากฏแน่ชัดว่าการเข้าแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องได้รับการท้วงติง
แก้ไขคราวนี้การวิพากษ์วิจารณ์จะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์
และรัฐบาลต้องรับฟังอย่างใจกว้าง
หากต่างคนต่างทำหน้าที่เช่นนี้สิ่งที่ยากก็จะลดความยากลงไปมาก
และคนที่จะได้รับประโยชน์ในที่สุดก็คือคนไทยทั้งชาติ
ประการที่ห้า ในฐานะผู้ผลิตในยามวิกฤต
การรวมหัวใจมนุษย์จะช่วยบรรเทาปัญหาไปได้ในระดับหนึ่ง
เมื่อความต้องการสินค้าจากต่างประเทศของบริษัทลดต่ำลง
หากไม่แก้ไขปัญหาด้วยการลดการจ้างงานทันที
หรือใช้เป็นโอกาสอ้างในการเลิกจ้างพนักงานเงินเดือนสูง
ก็จะช่วยให้ปัญหาการว่างงานซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ลดความรุนแรงลงไป
หากเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่งและเห็นว่าไปไม่ได้จริงๆ
การลดการจ้างงานโดยกระทำอย่างมีมนุษยธรรม
และอย่างเป็นไปตามกฎหมายแรงงานก็จะทำให้การอยู่ร่วมกัน
ในสังคมราบรื่นและมีความสุข
ประการที่หก ในฐานะผู้ใช้แรงงาน
ภาววิกฤตเช่นนี้จำเป็นต้องลดต้นทุนเพื่อความอยู่รอด
การลดต้นทุนการผลิตโดยไม่ลดการจ้างงานลง
ก็หมายความว่าแรงงานแต่ละคนต้องทำงานอย่างมีผลิตภาพ
(productivity) สูงขึ้น เมื่อผลผลิตของโรงงานสูงขึ้น
โดยค่าใช้จ่ายแรงงานเท่าเดิม ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยก็จะลดลง
พูดง่ายๆ ก็คือผู้ใช้แรงงานต้องขยันขันแข็งยิ่งขึ้นกว่าเดิม
เห็นอะไรที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นโดยไม่จำเป็นก็ต้องช่วยกันแก้ไข
ความร่วมมือเช่นนี้จะทำให้แรงกดดัน
ในการปลดแรงงานของนายจ้างลดลง
ไปสิ่งที่ประชาชนสามารถช่วยรัฐบาลในการแก้ไขวิกฤต
ก็คือการยอมรับการเปลี่ยนแปลง ยอมเปลี่ยนแปลง
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภคและในการผลิต
ตลอดจนปรับเปลี่ยนวิธีคิดและการคาดหวังเมื่อ "การเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์"
การฝืนตนเองไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ไม่ยอม "เสีย" จะเอาแต่ "ได้"
ไม่อดทน และไม่สวมหัวใจมนุษย์
จึงเท่ากับเป็นการร่วมกันฆ่าตัวตายหมู่โดยแท้
หน้า 6