Custom Search

Dec 18, 2008

กรณ์ จาติกวณิช มุมใหม่ประชาธิปัตย์

สมคิด เอนกทวีผล
Positioning Magazine 
http://www.positioningmag.com/magazine/Details.aspx?id=59547 
พฤษภาคม 2550

หากเปรียบ “กรณ์ จาติกวณิช” เจ้าของ ฉายา “หล่อโย่ง”
จัดเป็นProduct ชั้นดีของพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ที่มีความโดดเด่นในเรื่อง
ความรู้ทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งการศึกษาจากสถาบันการศึกษาชั้นดี
และประสบการณ์ด้านการทำงาน เขาเคยได้ชื่อว่า มนุษย์ทองคำที่รุ่งเรืองที่สุด
เคยเป็นผู้ก่อตั้งไฟแนนซ์ ที่ประสบความสำเร็จที่สุด
และเมื่อก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมือง
กรณ์ก็สามารถใช้ประสบการณ์เหล่านี้
สร้างให้ส่วนผสมที่ลงตัวบนเส้นทาง เปิดใจ พลิกมุมใหม่ให้พรรค
เจ้าของความสูง ความสูง 190 เซนติเมตร
มาพบกับทีม POSITIONING ในชุดลำลอง
แต่ดูเนี๊ยบ ด้วยเสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีชมพู และกางเกงสแล็ค
ในร้านกาแฟ ที่ใช้ชื่อว่า “สภากาแฟ”
ด้านล่าง สำนักงาน ส.ส. ย่านเย็นอากาศ
ซึ่งเป็นต้นแบบที่ “กรณ์” ริเริ่มขึ้นให้กับพรรคประชาธิปัตย์
เพื่อเป็นที่พบปะของประชาชน และจัดกิจกรรมเสวนา
ติดต่องานและรับเรื่องราวจากประชาชนในเขตสาทรยานนาวาของเขา
ทุกวันนี้ กรณ์ยังคงอ่านหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจระดับโลกอย่าง
Financial Times ที่เขายกให้เป็น "หนังสือพิมพ์ที่ดีที่สุดในโลก"
ด้วยประเด็นเชิงลึกหลากหลายที่
กรณ์มองว่านำมาปรับใช้มองสังคมไทยได้เสมอ
"คุณดูสิ ที่อังกฤษเขากำลังเถียงกันเรื่องเดียวกับเรา"
กรณ์กาง Financial Timesให้เราดูกรอบข่าว
การถกกันในประเด็นที่มาของวุฒิสมาชิกในอังกฤษ
คล้ายกับที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญกันในไทย
ตลอดการพูดคุย กรณ์ใช้สำนวนและเนื้อหาที่กระชับตรงไปตรงมา
เว้นระยะคิดไตร่ตรองให้ทุกคำตอบ
ต่างจากลีลานักการเมืองแบบที่คุ้นหูคุ้นตาตามสื่ออย่างชัดเจน
ในมุมมองของกรณ์ หน้าที่สำคัญที่สุดอย่างแรกๆ
ของผู้บริหารพรรคคือต้องให้ทั้งองค์กรมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน
"การทำงานการเมืองต่างจากงานธุรกิจก็จริง
แต่ก็มีทักษะหลายอย่างที่เอามาใช้ได้
เช่น รูปแบบการกำหนดยุทธศาสตร์
รูปแบบการสื่อสารภายนอกและภายในองค์กร"
กรณ์เริ่มต้นด้วยภาพรวมของการทำงานสายใหม่ใน 2 ปีที่ผ่านมา
"สมัยที่เป็นCEO ผมใช้เวลากว่า 50% ไปกับเรื่องคน
ทั้งพบปะกินข้าวกับผู้คนต่างๆ ภายนอก
และที่สำคัญที่สุดคือพูดคุยกับบุคลากรภายในองค์กรเราเองให้มากที่สุด
ภายในองค์กรทุกที่ควรจะมีความเข้าใจตรงกัน
ทุกคนรู้ว่าองค์กรต้องการอะไรจากเขา
เป็นหน้าที่หลักของCEO ที่จะต้องสื่อสารภายใน"

ตัวอย่างภารกิจ "สื่อสารภายใน" งานแรกๆ ของกรณ์และทีมบริหารประชาธิปัตย์
คือการแก้ภาพลักษณ์เดิมๆ ของพรรคที่มีภาพเป็นพรรคฝ่ายค้าน
เป็นนักอภิปรายอย่างเดียว "
จากนี้ไป แนวทางการให้สัมภาษณ์ของทุกคนในพรรคเรา
จะต้องเลือกเรื่องพูด การติคนอื่นพรรคอื่นต้องน้อยลง
ต้องพูดเรื่องวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศให้มากขึ้น
จะต้องไปทางเดียวกัน ทุกคนในองค์กรต้องตกผลึกร่วมกัน"
กรณ์เล่าตัวอย่างเคสการแก้ภาพลักษณ์นักอภิปรายของประชาธิปัตย์ให้ลดลง
แล้วใส่ความเป็นนักบริหารมาแทน
"คุณสุเทพ (เทือกสุบรรณ) เคยเตือนผมว่า อย่าเป็นเลขาธิการพรรค
เพราะมีโอกาสจะต้องขัดแย้งกับสมาชิกพรรคทุกคนอยู่บ่อยๆ"
กรณ์ออกตัวยอมรับถึงอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นกับการ "สื่อสารภายใน"
เพื่อปรับองค์กรตามแบบการบริหารอย่างมืออาชีพนี้
นอกจากการจัดทิศทางของหน่วยงาน
นักธุรกิจเก่าอย่างกรณ์ย่อมต้องรู้จักการสร้างแบรนด์มาไม่น้อย
แต่ในวงการเมืองที่ต่างออกไป เขาก็ใช้ความต่างนั้นมาร่วมคิดด้วย
"ผมมาจากธุรกิจการเงิน แบรนด์ต้องน่าเชื่อถือ ตัวสินค้าจริงๆ ไม่ต่างกันนัก
ต้องใช้ความรู้สึกมาเสริมแบรนด์ และไม่สามารถสร้างกันข้ามคืนได้
ต้องเสมอต้นเสมอปลาย"

กรณ์เน้นความเชื่อที่นำมาสู่แคมเปญ "ซึมซับอย่างต่อเนื่อง"
จัดเสวนากับประชาชนทุกวงการอาชีพเพื่อปูพื้นร่างเป็นนโยบาย
"การสร้างแบรนด์สินค้านั้นมักจะมี Target เฉพาะเจาะจง
แคบกว่าพรรคการเมือง สร้างแบรนด์ง่ายกว่า ตรงไปตรงมากว่า
ส่วนการสร้างแบรนด์การเงินนั้นยากกว่า เพราะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 30 กว่าล้านคน
หลากหลายทุกกลุ่มคน ทุกคนมีสิทธิเลือกตั้ง 1 คน 1 เสียงเท่ากันหมด"

กรณ์เสริมมุมมองเรื่องการเมืองกับธุรกิจ
โดยไม่ลืมตวัดปลายความคิดไปถึงพรรคคู่แข่งว่า
"สินค้าเราอาจจะเลือกกลุ่มเป้าหมาย แล้วให้ความสนใจเฉพาะกลุ่มนั้นได้
แต่พรรคการเมืองเราต้องไม่แยกคนเป็นกลุ่มๆ
แล้วไปมุ่งเฉพาะกลุ่มแบบนั้นโดยไม่คำนึงถึงส่วนรวม
สินค้าออกมาเพื่อขาย แต่พรรคการเมืองไม่ควรจะถูกตั้งมาเพื่อชนะเลือกตั้งเท่านั้น
ควรต้องมีสิ่งที่เป็นอุดมการณ์เพื่อส่วนรวมที่ต้องรักษา"

ส่วนความเห็นของกรณ์ที่มีต่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
เพื่อนนักศึกษาสมัยเรียนที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด
อังกฤษและในฐานะผู้บริหารพรรคกับหัวหน้าพรรค
ในยุคที่ต้องร่วมกันคิดร่วมกันทำงานหนัก
เป็นไปอย่างตรงไปตรงมา
"คุณอภิสิทธิ์ เขาคิดทะลุกว่าผม ไกลกว่าผม
เขามีจุดเด่นจากที่ผมรู้จัก คือมีความเป็นผู้นำที่ดี
ในแง่ของการเป็นนักคิดนักตัดสินใจที่เด็ดขาด เป็นนักฟังที่ดี
รู้จักเลือกว่าฟังใครแล้วจะนำความคิดนั้นมาใช้หรือไม่ อย่างไร
มองการณ์ไกลโดยไม่สนใจกระแสจนเกินไป
ผมเองยังเอียงตามกระแสมากกว่าเขา"
"อย่างเช่นตอนที่พวกเราเสนอมาตรา 7 ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์
คุณอภิสิทธิ์เขามองว่าจำเป็นต้องทำขณะนั้นๆ
เพื่อป้องกันไม่ให้มีการรัฐประหาร
และมีอีกหลายครั้งที่เขามองเหตุการณ์ล่วงหน้า
บอกกับผมและพวกเรา และมันก็เป็นตามนั้นจริงๆ"
"ส่วนจุดอ่อนที่มีภาพของ 'คนที่ไม่เคยทำงาน' เป็นภาพลบที่ไม่อาจแก้เป็นบวกได้
แต่แก้ให้ลบน้อยลงได้
เพราะความจริงก็คือคุณอภิสิทธิ์ได้พิสูจน์ผลงานหลายๆ อย่างในพรรคมาแล้ว
ผมเชื่อว่าถ้าเขาได้เป็นนายกฯ การทำงานเป็นทีมอย่างแท้จริงจะเกิดขึ้น
ครม.จะสำคัญมากขึ้น ซึ่งผมว่าเป็นสิ่งที่ดี
เพราะผมไม่เชื่อเลยว่านายกฯ ที่ดีจะต้องเก่งคนเดียว ทำคนเดียว"

กรณ์สนใจความเป็นไปทางการเมืองมานานตั้งแต่ยังไม่เข้าวงการ
การเกิดขึ้นและการเติบโตของไทยรักไทยอยู่ในสายตาเขาเสมอ
จากความชื่นชมในระยะแรกๆ
กลับกลายเป็นความผิดหวังในไทยรักไทยและ "เสียดาย"
ต่อมา "ไทยรักไทยก่อตั้งแรกๆ มีภาพลักษณ์การกล้าตัดสินใจ
ความเป็นนักธุรกิจ แต่นานไปภาพคุณทักษิณครอบงำภาพพรรคทั้งหมด
คุณทักษิณมีข้อเด่นตรงที่ความชัดเจนมาก ใช้คนเก่ง
แต่มีภาพ 'ความเป็นคนไม่ดี' อยู่สูง เลยไปไม่ตลอดรอดฝั่ง"

กรณ์คอมเมนต์ถึงคู่แข่งที่ทำให้ประชาธิปัตย์ต้องเหนื่อยสุดๆ
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา
"น่าเสียดายเพราะโดยวิถีของไทยรักไทยช่วงแรกแล้ว
ถ้าเป็นคนดีๆ มาทำ โอกาสสำเร็จระยะยาวมีสูง
วิถีที่ว่านี่ก็คือรูปแบบการบริหารโดยกำหนดเป้าหมายชัดเจน
ไม่ยึดติดกับระบบขั้นตอนทางราชการนัก เป็นวิถีที่น่าสนใจ
ผมยังนึกเสียดายแทนว่าน่าจะเป็นอื่นมาทำ"
แต่สำหรับพรรคชาติไทยเพียงสั้นๆ ว่า
"ชาติไทยก็คือบรรหาร บรรหารก็คือชาติไทย
และนี่ก็เป็นความท้าทายของพรรคชาติไทย"
นอกจากหนังสือพิมพ์กับการพบปะประชาชนแล้ว
อินเทอร์เน็ตเป็นอีกสื่อที่กรณ์ใช้อัพเดตข่าวสารและสำรวจ
หยั่งกระแสทางการเมืองและความนิยมในตัวพรรค
รวมไปถึงตัวเขาเอง โดยมีมีผู้ช่วยสำคัญอย่าง วรกร จาติกวณิช ภรรยา
ที่มักจะตัดข่าวรวบรวมกระทู้ที่น่าสนใจมาให้กรณ์อ่านอยู่เสมอๆ
ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีพรรคไปถึงการโจมตีกรณ์เอง
ซึ่งเขากล่าวด้วยรอยยิ้มว่า
“ผมก็ไม่ห้ามหากภรรยาผมจะไปโต้แทนในกระทู้พวกนั้น”
เป็นที่รู้กันจากหลายสื่อตั้งแต่ทีวีไปถึงหนังสือพิมพ์แล้วว่า
กรณ์ให้ความสำคัญกับครอบครัว ทุกครั้งที่พูดถึงภรรยา
เขาจะดูสดชื่นขึ้นทันที ทั้งในแง่ความเป็นครอบครัว และการเป็นผู้ช่วย ที่ปรึกษา
เป็นเพื่อนพากันไปพบประชาชนและงานต่างๆ เสมอ
"ผมเคยคิดถึงหลายคนในประวัติศาสตร์โลก
ที่อุทิศทั้งชีวิตให้การเมือง ไม่มีเวลาให้ครอบครัว
เหมือนเสียสละครอบครัวไปแล้ว ผมต้องยอมรับว่าผมคงทำอย่างนั้นไม่ได้
เพราะสำหรับผมแล้ว ครอบครัวสำคัญเสมอ"

จากความสำเร็จทางธุรกิจ มาถึงชีวิตการเมืองที่คิวงานแน่นตลอด
กรณ์มีคู่ชีวิต วรกร จาติกวณิช หรือ "คุณเจ"
เป็นแรงหนุนสำคัญ แล้วยังมีลูกๆ ทั้งลูกติดจากภรรยาคือ
แต๊ง-พงศกร นักแสดงหนุ่มจากละคร “กลิ้งไว้ก่อน พ่อสอนไว้”
และ ติ๊ง-พันธิตร มหาเปารยะ
และลูกของทั้งสองสามีภรรยาเอง คือ น้องแจม-กานต์ และน้องจอม-ไกรสิริ
สำหรับลูกน้อยทั้งสอง กรณ์พาเข้านอนแล้วกล่อมให้หลับทุกคืน
เป็นหนึ่งในตารางการทำงานประจำวัน
ตั้งแต่ทั้งสองเกิดมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้ง 6 คนเป็นครอบครัวเดียวอย่างอบอุ่นแนบแน่น
กรณ์เคยเล่าออกหลายสื่อว่า ภรรยาและลูกๆ
เป็นบทเรียนแรกของการเสียสละตัวเองเพื่อคนอื่นๆ
หากไม่มีพวกเขา กรณ์จะคงจะเป็นนักการเมืองที่ดีไม่ได้
ลูกๆ ทำให้เขาได้เรียนรู้การอะลุ้มอล่วย รู้จักดูแลคนอื่นก่อนดูแลตัวเอง
และทำให้มองสังคมที่ลูกๆ จะต้องใช้ชีวิตอยู่ในอนาคตมากขึ้น
วรกร ภรรยาของกรณ์ เป็นญาติของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นามสกุลเดิมของเธอคือ สูตะบุตร
เช่นเดียวกับแม่ของอภิสิทธิ์ และวรกรยังสนิทสนมกับงามพรรณ เวชชาชีวะ
นักเขียนซีไรต์ พี่สาวของอภิสิทธิ์ด้วย
แต่เธอกับกรณ์ก็รู้จักและพบรักกันจากการที่วรกรทำงานเป็นเลขาฯ
หัวหน้าแผนกในบริษัทของกรณ์ในปี 2538
โดยที่ทั้งคู่ไม่รู้จักกันมาก่อนแต่อย่างใด
ในรายการ "สุริวิภา" เมื่อไม่นานมานี้
กรณ์เปิดตัวครอบครัวและเรื่องราวในโทนอบอุ่นประทับใจ
ซึ่งเขาเทียบว่าจากการสำรวจสอบถามหลายๆ คนแล้ว
มีคนดูรายการนั้นเป็นสิบเท่าของคนที่ดูเขาในรายการ "ถึงลูกถึงคน"
เลยทีเดียว "ใน ถึงลูกถึงคน คืนที่ผมไปออกเป็นครั้งแรก
ช่วงเบรกคุณสรยุทธหันมาบอกว่า รู้ไหม คุณแจ้งเกิดแล้วนะ"
กรณ์เล่าต่อไปว่า "แต่พอผมไปออกรายการ สุริวิภา คุยเรื่องส่วนตัว
ครอบครัว ห่างกันไม่กี่วัน มีแต่คนพูดถึง
ใครเจอผมก็เข้ามาทักเรื่องที่ผมไปออกรายการนี้"
และนี่ก็เป็นตัวอย่างที่ย้ำคำของกรณ์ที่ว่า
"คุณทำงานหนักอย่างไร ถ้าคุณไม่ออกสื่อ คนก็ไม่เลือกคุณ"
_________________________________________

Profile Name : กรณ์ จาติกวณิช
Age 43 ปี :
Birthdate : เกิดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2507 ที่ลอนดอน อังกฤษ
แต่ถือสัญชาติไทย
Education : ปี 2511 กลับไทยมาเรียนประถมที่ ร.ร. สมถวิล ราชดำริ
แล้วเรียนต่อระดับมัธยมศึกษา ที่ ร.ร. สาธิตปทุมวัน
ปี 2518 กลับอังกฤษเพื่อศึกษาใน The Old Malhouse Preparatory
ปี 2521 เข้าศึกษาต่อ ที่ Winchester College แล้วต่อด้วยปริญญาตรี
สาขาปรัชญา รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์
ที่ St.John's, Oxford University
Career Highlights :
ปี 2525 เริ่มงานด้วยตำแหน่งผู้จัดการกองทุน S.G.Warburg & Co.
อยู่ 3 ปีจึงกลับไทย
ปี 2531 ร่วมก่อตั้งและเป็นประธาน บล.เจ.เอฟ.ธนาคม
ในวัยเพียงแค่ 24 ปี
ปี 2544 ขายหุ้นในมือทั้งหมดให้ JP Morgan Chase
แต่ยังทำงานต่อให้ในฐานะผู้บริหารมืออาชีพ
ปี 2548 ลาออกจาก JP Morgan เข้าสู่วงการเมืองลงสมัคร ส.ส.
Family :เป็นทายาทคนที่สองของ ไกรศรี จาติกวณิช
อดีตอธิบดีกรมศุลกากร และกรมสรรพากร