Custom Search

Apr 7, 2008

คุยความเชื่อ กับ ว.วชิรเมธี


เชตวัน เตือประโคน
มติชน
คอลัมน์ อาทิตย์เที่ยงวัน
วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2551


ได้รับหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อปก "เชื่อ! เรื่องใหญ่ที่สุดในโลก"
ผลงานของ ว.วชิรเมธี และ ผศ.ธีระศักดิ์ กำบรรณารักษ์ นับว่าน่าสนใจ เพราะนักเขียนทั้งสองคนหนึ่งเป็นบรรพชิต อีกคนเป็นฆารวาส จึงสามารถให้ได้ทั้งมุมมองจากทางธรรม และมุมมองจากทางโลก เกี่ยวกับเรื่อง "ความเชื่อ" ซึ่งเป็นสิ่ง (ที่จับต้องไม่ได้) สำคัญในการดำรงชีวิตอยู่ของผู้คนนับจากอดีตถึงปัจจุบัน และตราบกระทั่งอนาคต ความเชื่อ (ไม่ว่าจะอย่างไร) ก็ยังผูกติดอยู่กับสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคนต่อไปไม่สิ้นสุด

ว.วชิรเมธี ปัจจุบันจำพรรษาอยู่ ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ท่านเป็นพระนักบรรยาย เป็นอาจารย์พิเศษ เป็นคอลัมน์นิสต์เขียนบทความต่างๆมากมาย ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิมุตยาลัย สถาบันเพื่อการศึกษา วิจัย ภาวนา และนำเสนอภูมิปัญญาทางพุทธศาสนาสู่ประชาคมโลก
ส่วน ผศ.ธีระศักดิ์ จากประวัติการศึกษา บอกว่า เรียนจบด้านจิตวิทยามาทั้งในระดับปริญญาตรี (เกียรตินิยมดีมาก) และปริญญาโท (จากต่างประเทศ) นับว่าเป็นนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้าน A.Q. (Adversity Quotient คือ ศักยภาพในการแก้ไขปัญหา) และ E.Q. (Emotional Quotient คือ ความฉลาดทางอารมณ์)บ่ายวันหนึ่ง

ผมมีโอกาสแวะเข้าไปที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ได้สนทนาธรรมกับหนึ่งในผู้เขียนคือ

ท่าน ว.วชิรเมธี บ่ายวันนั้นเราคุยกันเรื่อง "ความเชื่อ" ล้วนๆ ขอคัดเอาบางบท บางตอนมาเป็นวิทยาทาน วิทยาธรรม
ผม : ความเชื่อในนิยามของท่านเป็นอย่างไร?
ว.วชิรเมธี : ความเชื่อตรงกับคำว่า ศรัทธา คือ การที่เรายอมรับนับถือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เรื่องใดเรื่องหนึ่ง คนใดคนหนึ่งว่า เป็นที่พึ่งที่ระลึก หรือเป็นปรัชญาในการดำเนินชีวิตของเราอย่างหมดจิตหมดใจ ซึ่งความเชื่อมี 2 ลักษณะ คือ
1.ความเชื่อที่ไม่มีเหตุผลเลย และ
2.ความเชื่อที่เกิดขึ้นหลังจากได้พิจารณาแล้วว่ามีเหตุมีผลรองรับ มนุษย์โดยมากมีความเชื่อในประเภทแรก
ผม : ความเชื่อให้ทั้งผลดีและผลเสีย? ว.วชิรเมธี : เมื่อมีทั้งความเชื่อที่มีเหตุผล และปราศจากเหตุผล ในแง่ผลลัพธ์จึงให้ทั้งสองลักษณะ คือ ความเชื่อที่เมื่อเชื่อแล้วก่อให้เกิดผลร้าย กับความเชื่อที่เมื่อเชื่อแล้วก่อให้เกิดผลดี ความเชื่อ ที่เมื่อเชื่อแล้วก่อให้เกิดผลร้ายนั้น บางครั้งก็ใช้คำจำเพาะเจาะจงลงไปว่า เป็น มิจฉาทิฐิ เช่น ไม่เชื่อเรื่องบาป-บุญ ส่วนความเชื่อที่ถูกต้อง คือเชื่อแล้วก่อให้เกิดผลดี ใช้คำว่า สัมมาทิฐิ เช่น เชื่อเรื่องบาป-บุญว่ามีจริง

ผม : อยากให้ท่านช่วยยกตัวอย่างผลจากความเชื่อทั้งสองรูปแบบ? ว.วชิรเมธี : ผลดี ผลเสียนั้น มีผลตั้งแต่ระดับบุคคลขึ้นไป จนกระทั่งผลระดับสังคม ระดับประเทศชาติ และระดับโลก ตัวอย่างเช่น หากคนคนหนึ่งเชื่อว่า บุญบาปไม่มีจริง อยากฆ่าใครก็ฆ่า ลอบยิงใครก็ทำ จี้เครื่องบินไปชนเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ก็ทำ โดยไม่คิดหรอกว่า คนที่ตายนั้นเป็นคน เขาคิดแค่ว่าเป็นแค่สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่ตายไปในกองเพลิงเท่านั้นเอง แต่สำหรับคนที่เชื่อว่าบุญ-บาปมีจริง มีความเชื่อที่ดีงาม หนึ่งคนก็สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ เช่น มหาตมะ คานธี ที่เชื่อมั่นว่า สันติวิธี คือวิธีกู้อิสรภาพที่ดีที่สุด และดำเนินตามที่เขาเชื่อ สุดท้ายเขาก็สามารถนำประเทศอินเดียหลุดออกมาจากพันธนาการของอังกฤษได้

ผม : ปัจจุบันคนติดอยู่กับความคิดความเชื่อมากน้อยแค่ไหน? ว.วชิรเมธี : สังคมไทยเป็นสังคมฐานศรัทธา คือ เอาความเชื่อขึ้นมาเป็นปรัชญาในการดำรงชีวิต ไม่ใช่สังคมฐานความรู้ ที่หมายถึงสังคมที่มีวิจารณญาณสูง เมื่อเป็นดังนี้เราจึงได้เห็นว่า คนไทยจึงเป็นกลุ่มบุคคลที่ถูกหลอกได้ง่าย โดยนักการตลาด โดยนักการเมือง ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่เคยรู้จักสรุปบทเรียน ตรงกันข้าม ประเทศซึ่งเป็นสังคมฐานปัญญา คนของเขาส่วนใหญ่ มีการศึกษาดี มีวิจารณญาณเยี่ยม แม้ประเทศจะฟื้นตื่นหลังสังคมไทย แต่ ณ บัดนี้ เขาก็เลยหน้าประเทศไทยไปไกลมากแล้ว เช่นดัง เวียดนาม สิงคโปร์

ผม : ทำไมหมอดูบ้านเราจึงมีอยู่อย่างมากมาย ? ว.วชิรเมธี : ประเทศใดก็ตามที่มีหมอดูมาก แสดงว่าประเทศนั้น เมืองนั้นล้มเหลวในการพัฒนาสติปัญญาของประเทศชาติ ประเทศใดก็ตามที่มีหมอดูน้อย มีพระเกจิอาจารย์น้อย มีพ่อมดหมอผีน้อย แสดงว่าประเทศนั้นมีความเข้มแข็งทางสติปัญญาสูง และประสบความสำเร็จทางด้านการบริหารการศึกษาของชาติ ดรรชนีชี้วัดระบบสติปัญญาของประเทศชาตินั้น เราได้ดูจากว่า ประเทศนั้นมีเครื่องรางของขลังมากหรือน้อย มีหมอดูมากหรือน้อย

ผม : เรามักได้ยินคำว่า "ไม่เชื่อแต่อย่าลบลู่" ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ? ว.วชิรเมธี : คนที่บอกว่าไม่เชื่อแต่อย่าลบหลู่ คือคนที่ยังไม่รู้ว่า ในโลกนี้ นอกจากความเชื่อแล้วยังมีปัญญาอยู่ คำว่าไม่เชื่อแต่อย่าลบหลู่ เป็นแค่คาถาขลังๆ อันหนึ่ง ซึ่งไม่มีผลอะไรเลยกับปัญญาชน แต่มีผลเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนที่ยังด้อยการศึกษา เพราะสังคมไทย สมาทานความเชื่อชุด ไม่เชื่อแต่อย่าลบหลู่นี่แหละ ทำให้เราเป็นสังคมฐานความเชื่อ ก้าวไปไม่ถึงความเป็นสังคมฐานปัญญาอยู่ทุกวันนี้ แทนที่เราจะข่มขู่กันด้วยคำว่า ไม่เชื่อแต่อย่าลบหลู่ เราควรจะเปลี่ยนเสียใหม่เป็น ไม่เชื่อต้องศึกษา

ผม : มีหลักธรรมเกี่ยวกับ "ความเชื่อ" ข้อหนึ่งชื่อ "กาลามะสูตร 10"
ว.วชิรเมธี : เป็นหลักธรรมที่สำคัญมาก เราอาจเรียกหลักธรรมชุดนี้ว่า "ท่าทีทางวิทยาศาสตร์ของพระพุทธศาสนา" ก็ได้ ฉะนั้น ใครก็ตามที่บอกตัวเองว่าเป็นชาวพุทธ จะต้องไม่ลืม เวลาที่คุณเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา จะต้องเลยศรัทธาขึ้นไป นั่นหมายถึงต้องพิสูจน์ด้วยตัวเอง จนมีปัญญาเป็นของตัวเอง เมื่อนั้นแหละ เราจะได้ชื่อว่า เป็นชาวพุทธที่แท้ครบถ้วนกระบวนความ ทั้งปัญหาความเชื่อ สถานการณ์ความเชื่อ และทางแก้ปัญหาความเชื่อ

บ่ายวันนั้น ผมเดินออกจากวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามอย่างอิ่มเอิบใจใบหน้ายังคงเปื้อนยิ้มกับคำแนะนำปนประชดของท่าน ว.วชิรเมธีที่ว่า อยากให้ ส.ส.บ้านเรา นอกจากจะมีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินแล้ว ควรเปิดเผยหมอดูส่วนตัวด้วย เพราะไม่แน่ใจว่า ท้ายที่สุดแล้ว เราเลือกใครเข้าไปบริหารบ้านเมือง
ว. วชิรเมธี อธิบาย กฎแห่งกรรม :