Custom Search

Feb 9, 2008

เสิร์ฟความสุข 'ฟังทีไร ได้สุขทุกที'


มติชน

ปิยะวรรณ ผลเจริญ

วันที่ 04 กุมภาพันธ์ 2551

หนทางแห่งการแก้ไขปัญหาชีวิต
เมื่อรู้สึกว่าได้เดินมาถึงจุดอับ
'จะเป็นใครก็มีความสุขได้ ขอเพียงให้ใช้ชีวิตให้เป็น...'


'ความคิด สติปัญญา'
จะนำพาชีวิตให้เกิดความสุขได้

พระพรหมคุณาภรณ์ ( ป.อ.ปยุตฺโต )
ณ วัดญาณเวศกวัน อ.สามพราน จ.นครปฐม ได้เทศนาธรรม
ตอนที่ว่า

'จะเป็นใครก็มีความสุขได้ ขอเพียงให้ใช้ชีวิตให้เป็น'

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2543

ถาม - แม้จะเป็นฆราวาส เป็นคนธรรมดาที่ทำงานอยู่ก็สามารถจะมีหลักธรรมได้ หากพูดว่ามี 2 ขั้วใหญ่ๆคือ ศีล สมาธิ ปัญญา และอีกอันหนึ่งก็คือ ทาน ศีล และภาวนา คราวนี้สิ่งที่ทำประจำวันคือ ขณะขับรถ เมื่อท่านพูดว่าสามารถปฏิบัติธรรมได้ พอถึงท่านที่ 2 คือ การปฏิบัติด้วยการสมาธิ และขั้นต่อไปก็ถึงปัญญา ผมอยากจะถามว่าจะทำยังไงให้เป็นคำง่ายๆแจ่มแจ้ง สำหรับปุถุชน ฆราวาส หรือ หมอที่จะเกษียณ คือจะทำยังไงกับชีวิต ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องทำสมาธิทุกวัน ให้คนธรรมดาทั่วไปถือเป็นหลักปฏิบัติได้ เราเป็นคนธรรมดาไปทำงานก็ยังทำตามหลักพุทธศาสนาได้ ตามความเป็นจริงไม่ได้เป็นทฤษฎี ให้ท่านได้อธิบายง่ายๆการใช้ชีวิตที่ต้องไปงานสังคม งานศพ งานปาร์ตี้ แต่ดำเนินการเป็นชาวพุทธที่ดีได้อย่างไร ในฐานะคฤหัสที่สนใจทำตัวให้ดี สังคมดี ทำยังไงง่ายๆให้คนอ่านสัก 2-3 หน้า ให้รู้สึกว่าไม่เป็นทฤษฎีมาก

พระพรหมคุณาภรณ์ ( ป.อ.ปยุตฺโต )ตอบว่า - ก่อนจะพูดถึงเรื่องนั้น ขอพูดเรื่องถ้อยคำนิดนึง ที่ผู้ถามพูดถึง 'สมาธิ' สมาธิเป็นตัวอย่างของการที่บางทีเราไปหลง และติดในความหมายแง่ใดแง่หนึ่ง สมาธิโดยรูปแบบกับสมาธิโดยสาระ สมาธิในรูปแบบจะติดในแง่การนั่งอย่างนี้ และไปอยู่ในที่แบบนั้น แล้วนำสมาธิไปผูกในรูปแบบ ความจริงสมาธิมันเป็นธรรมชาติ เป็นสภาวะเป็นคุณสมบัติของจิตใจ เมื่อจิตใจมันอยู่แน่วแน่ มันอยู่กับสิ่งนั้น มันไม่ฟุ้งซ่าน มันไม่วอกแวก มันก็เป็นสมาธิ อันนี้แหละคือสมาธิตัวแท้ คนไปนั่งสมาธิแต่ใจไม่มีสมาธิิเลยก็ได้ มันก็จะงุ่นง่านคิดอยู่คนเดียว

สมาธิ คือ ธรรมชาติ เป็นคุณสมบัติของจิตใจ เมื่อจิตใจมันสงบและอยู่กับสิ่งที่ต้องการได้ ' อาตมาเลยอยากบอกง่ายๆว่าสมาธิก็คือ จิตอยู่ในที่ที่เราต้องการ ใครอยู่กับสิ่งที่ต้องการได้ก็เก่งแล้ว คนที่นั่งสมาธิมีกี่คนที่จิตอยู่กับสิ่งที่ต้องการ พอจิตอยู่กับสิ่งที่ตามต้องการ แล้วแต่ว่าเราจะใช้มันทำอะไร เรียกว่าเป็นจิตที่เหมาะแก่การใช้งาน จิตที่สงบไม่วอกแวก ไม่เหงา ถือว่าเป็นจิตที่พร้อมตื่นตัว มีความหนักแน่นมั่นคง จะใช้ทำงานอะไรก็ได้'

ฉะนั้นธรรมะที่เป็นของจริง จะเรียกธรรมะในชีวิตประจำวันก็ได้ ทุกคนมีโอกาส แต่ทำไมต้องมีรูปแบบอย่างนั้น ก็เพราะคนเรามีคุณสมบัติในจิตใจไม่เหมือนกัน การพัฒนาปัญญา และจิตใจไม่เท่ากัน เมื่อจิตไม่พร้อมสภาพแวดล้อมต่างๆก็มีอิทธิพล คนเราเมื่อจะฝึกควรมีคุณสมบัติที่ดีนั่นคือการฝึก และอาศัยเทคนิคโดยทั่วไป รวมถึงสภาพแวดล้อมและวิธีการที่จะมาช่วย เลยมีการพัฒนาวิธีการและรูปแบบขึ้นมา เป็นการนั่งสมาธิแบบนี้
สาระที่แท้จริงของสมาธิ คือ คุณสมบัติที่เป็นธรรมชาติอยู่ในจิตใจของมนุษย์เอง เมื่อสามารถแยกสาระกับรูปแบบแล้ว เราจะเข้าถึงพุทธศาสนาได้ง่ายขึ้น การดำเนินชีวิตนั้นมี 3 ด้าน

1. 'กายวาจา' โดยสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและทางวัตถุ การฝึกวาจาเพื่อสัมพันธ์กับมนุษย์และการฝึกกายตั้งแต่การบริโภคอาหาร การใช้ปัจจัยสี่ หรือการใช้ตา หู จมูก ลิ้น ไปสัมพันธ์กับโลกภายนอกได้ และการทำอาชีพของตัวเองให้สุจริตเกิดผลดี ไปตามวัตถุประสงค์ของวิชาชีพนั้นๆ

2. 'จิตใจ' ก่อนที่จะออกมาเป็นพฤติกรรม กาย วาจา ทุกครั้งมนุษย์มีเจตนามีความตั้งใจ และจงใจที่จะคิดเอาได้หรือทำ จิตใจมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรม จิตใจจะแสดงอะไรออกมาต้องขึ้นอยู่กับสภาพของจิตใจแล้ว ถ้าจิตใจโลภมากๆ ด้านอื่นก็จะแสดงถึงความโลภด้วย รวมถึงโทษะ และโมหะ ดังนั้นถ้าจะให้พฤติกรรมดีมั่นคง ต้องพัฒนาจิตใจ ข้อสำคัญสุขและทุกข์นั้นต่างก็อยู่ที่ใจ มันไม่ใช่เฉพาะคุณสมบัติที่ดีร้ายเท่านั้น แต่หมายถึงว่าความสุขและความทุกข์นั้นมันอยู่ที่จิตใจ ฉะนั้นต้องขึ้นอยู่กับการฝึก ให้โลภะ โทษะ น้อยลง มีเมตตากรุณา มีจิตใจที่ดีงาม เรื่องจิตใจเป็นแดนใหญ่ลึกลงไปมากกว่าพฤติกรรม

3. 'ความรู้' จะทำพฤติกรรมได้แค่ไหนต้องขึ้นอยู่กับความรู้ คนที่มีความรู้กว้างขวางลึกซึ้งจะมีพฤติกรรมที่ซับซ้อน สามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้ เรื่องจิตใจถ้าไม่มีปัญญามันอึดอัด ทุกข์ แต่เมื่อรู้จะโล่งเลย
ปัญญาเป็นตัวสำคัญ หากพฤติกรรมจะไปได้ จิตใจจะโล่งจะโปร่ง เป็นอิสระด้วยปัญญา ปัญญาเป็นตัวชี้นำบอกทางให้แสงสว่าง เปิดขยายมิติ ในที่สุดจะพัฒนาพฤติกรรมและจิตใจได้ ต้องอาศัยปัญญา ในที่สุดจึงต้องมีแดนปัญญาความรู้

สิ่งที่ชอบใจให้ความรู้และสุขได้ ส่วนสิ่งที่ไม่ชอบใจก็ให้ความรู้และสุขได้เช่นกัน การรับรู้ที่มีอคติเหมือนใส่แว่นสี การรับรู้มีตั้งแต่ รับรู้ที่ความรู้สึกไม่พัฒนา พอเปลี่ยนเป็นการรับความรู้ จะสนองความรับรู้ มนุษย์จะพัฒนาไม่ได้หากไม่ปรับปรุงเรื่องการรับรู้ของตัวเอง เท่านี้แดนความสุขและทุกข์ก็เปลี่ยนไป กลายเป็นแดนปัญญา เมื่อความรู้ที่ได้เป็นความจำก็จะนำมาใช้ประโยชน์ ปรับใช้สถานการณ์ต่างๆ และคิดสร้าง

มนุษย์ที่ไม่ได้อยู่ด้วยปัญญาแต่อยู่ด้วยความอยาก " พอเป็นไปตามอยากก็เป็นสุข พอไม่เป็นไปตามอยากก็เป็นทุกข์" แต่ว่ามนุษย์จะให้ทุกอย่างเป็นไปตามอยากก็เป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน แต่สิ่งทั้งหลายมันไม่ได้เป็นไปตามความอยากของมนุษย์แต่มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อขัดแย้งสามารถตอบได้ว่าความจริงจะชนะ เราต้องศึกษาเหตุปัจจัย ทำได้เท่าไหร่เท่านั้น ชีวิตเราถ้าหากปฏิบัติถูกต้องจะเป็นธรรมะที่เป็นความจริงของสิ่งทั้งหลาย หากปฏิบัติได้จะเป็นความจริงของชีวิตเรา

ถาม -ทำยังไงถึงจะดับความโมโห เช่นถูกรถจักรยานยนต์ปาดหน้า ควรให้ทานเข้าไปเลย หรือทำยังไงให้จิตใจ ถ้าเป็นอดีตจะด่ากลับ เดี๋ยวนี้เฉยๆ แต่จะทำยังไงให้เหนือกว่านั้น ควรแผ่เมตตาไปได้มั้ย

พระพรหมคุณาภรณ์ ( ป.อ.ปยุตฺโต )ตอบว่า - " อาจเป็นคนดีเท่าเดิม " แต่ได้ทำสิ่งที่ดีมากขึ้น รวมถึงด้านศีลเราดีขึ้นมั้ย ด้านจิตใจ เรามีคุณธรรมมากขึ้นมั้ย มีเมตตา หรือความศรัทธาต่างๆมากขึ้นมั้ย รวมถึงปัญญาที่มีมากขึ้น เข้าใจมากขึ้น เจอผู้คนที่อากัปกิริยาต่างกัน เห็นใครแล้วขำไปหมด มันจึงกลายเป็นการวางท่าทีของจิตใจ หากเราศึกษาหลายคนไม่ว่าจะมาดีหรือไม่ดี คนแรกอาจขำอย่างเดียว คนต่อไปอาจได้ความรู้อย่างเดียว ดังนั้นจึงต้องมองอย่างเผื่อแผ่เพื่อนมนุษย์

"การมองแบบบททดสอบตัวเรา" บททดสอบ เช่น การโดนว่า เราจะทนได้มั้ย เราต้องมองบททดสอบเป็นแบบฝึกหัดตัวเอง จะทำให้ชีวิตราบรื่น ส่วนคนที่ไม่มีแบบฝึกหัดจะไม่รู้ว่าปัญหาคืออะไร และเมื่อต้องแก้ปัญหา จะไม่ความราบรื่น อีกทั้งคนที่สุขเกินไป ไม่เคยเจอปัญหาจะต้องอาศัยกัลยาณมิตรเท่านั้น ดังนั้นคนที่เจอแบบฝึกหัดมากเป็นเรื่องดี

วิธีการนำธรรมะมาใช้ในชีวิตประจำวัน บางคนเข้าวัดเพื่อทำสมาธิมากมาย แต่พอเจอชีวิตจริงแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ "วางใจไม่ถูก โกรธอย่างรุนแรง" ถ้าเรานำธรรมะมาปฏิบัติแต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมันจะมีผลอะไร การเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรธรรมชาติ หากเรารู้จะไม่ส่งผลกระทบจิต เพราะปัญญามันรู้ทันหมด จะทำให้จิตผ่องใส

"มุทิตาจิต" แปลว่า " แสดงความเคารพความยินดีด้วย" เมื่อผู้อื่นได้ดี แต่ที่ถูกแสดงมุทิตาต้องมองว่าตัวเองกำลังจะได้รับความสุข ไม่ใช่ว่าการเกษียณแล้วต้องเป็นทุกข์ เพราะถ้ามองว่ากำลังเป็นอิสระจะทำให้ตัวเองมีความสุข

ดังนั้นการเกษียณอายุ ถ้ามองในแง่ดีก็มีเยอะแต่ถ้าผู้เกษียณมองตัวเองในแง่ลบก็จะเป็นทุกข์ มีแต่ความเศร้าสร้อย หว้าเหว่ไปต่างๆกัน และถ้าไม่อยู่เฉยให้มีอะไรทำ อะไรที่เป็นสิ่งที่มีคุณค่า ควรเอาเวลาตอนนี้เริ่มทำได้เลย พอตั้งใจจะทำ สิ่งที่ปรารถนาจะทำให้สำเร็จ ยิ่งมีปัญญามอง เห็นยิ่งดี จะเกิดฉันทะ คืออยากจะทำ เกิดวิริยะความเพียร เกิดกำลัง เมื่ออยากให้สำเร็จ จากนั้นจึงเกิดจิตตะและวิมังสา
คนที่เกษียณมองในแง่ดีจะได้ประโยชน์ รวมถึงนำประสบการณ์มาเผยแพร่
จะทำให้มีประโยชน์อย่างมากแก่คนรุ่นหลัง เช่นอาชีพหมอมีประโยชน์อย่างมาก เพราะถึงเกษียณก็สามารถรักษาผู้ป่วยได้
'เพียงคุณใช้ชีวิตให้เป็น คุณจะเป็นคนคนหนึ่งที่มีความสุขแท้'