Custom Search

Feb 20, 2008

‘ไม่รอด เพื่อ รอด’ ทฤษฎีชีวิตของชัยพร พานิชรุทติวงศ์

mars magazine

เรื่อง > วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์ ภาพ > ปวีณา วะน้ำค้าง

ช่วงสายของวันที่ฟ้าครึ้ม แดดอ่อน ผมมายืนอยู่ในบ้านเล็กๆ หลังหนึ่ง ซึ่งตั้งตัวเองอยู่บนชั้นห้าของสตูดิโอขนาดใหญ่ สมาชิกในบ้านหลังนี้รับทำงานด้านแอนิเมชั่น คอมพิวเตอร์กราฟิก ทั้งในงานภาพยนตร์ และโฆษณา
ด้วยบรรยากาศภายในบ้านหลังนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่านี่คือบ้านจริงๆ ผู้คนที่อยู่บนชั้นห้าแห่งนี้ต่างแต่งตัวสบายๆ บ้างใส่กางเกงขาสั้นพรางเขียวในแบบของทหาร บ้างเดินเท้าเปล่าบนพื้นพรมนุ่ม บ้างนั่งโขกหมากรุก ผมได้ยินจากเจ้าของบ้านมาว่า เร็วๆ นี้จะซื้อโต๊ะบิลเลียดอีกด้วย
บ้านหลังนี้มีชื่อเรียกว่า ‘บ้านอิทธิฤทธิ์’


ผมเดินตามหลังชายที่เดินนำหน้าขึ้นบันไดไปยังห้องทำงานซึ่งถูกยกสูงขึ้นบนชั้นลอย ครั้งหนึ่งเขาเคยมีสีน้ำมันและผืนผ้าใบเป็นเหมือนอาวุธข้างกาย ถึงวันนี้มีบางสิ่งเปลี่ยนไปบ้าง ก็ตรงที่อาวุธข้างกายนั้นได้เปลี่ยนเป็นคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการทำงานแอนิเมชั่น แต่สิ่งที่ยังคงยืนหยัดไม่เปลี่ยนแปลงเห็นจะเป็นจินตนาการซึ่งเขายังคงได้ใช้มันอยู่เสมอ เขาหยุดยืนเมื่อเท้าเหยียบบันไดขั้นสุดท้ายก่อนจะบิดลูกบิด




เขาปิดประตูหลังจากที่ผมก้าวเท้าเข้าไปในห้องทำงาน ภายในห้องดูว่างโล่ง
“พอดีผมเพิ่งย้ายออฟฟิศเข้ามาที่เวิร์คฯ ใหญ่” เขาหมายถึงการย้ายออฟฟิศของ ‘บ้านอิทธิฤทธิ์’ เข้ามาอยู่ชายคาเดียวกับเวิร์คพ้อยท์สตูดิโอ ภายในห้องจึงมีเพียงจอคอมพิวเตอร์วางบนโต๊ะทำงาน หน้ากากโมเดลของฮีโร่ไทยอย่าง ‘มนุษย์เหล็กไหล’
ที่เขาเป็นคนออกแบบคาแร็กเตอร์ให้ยังคงวางซ้อนกับสิ่งของอื่นๆ ในลังกระดาษ ข้าวของบางอย่างยังคงยืนเก้ๆ กังๆ รอคอยเจ้าของจัดระบบเรียบร้อยแก่มัน
ที่ผนังห้องด้านหลังโต๊ะทำงานมีภาพของชายคนหนึ่งในกรอบไม้วางพิงอยู่ ชายในภาพมีหน้าตาออกไปทางตะวันตก

แต่ชายคนนี้กลับถูกเรียกด้วยชื่อไทยๆว่า ‘ศิลป์ พีระศรี’ ชายในภาพมีแววตาครุ่นคิด ซึ่งระดับของสายตามองไปยังเขาซึ่งนั่งหันหลังให้กรอบภาพหันหน้าเข้าหาโต๊ะทำงาน เร็วๆ นี้ ‘เอ็กซ์-ชัยพร พานิชรุทติวงศ์’ เสาหลักของบ้านแห่งนี้-บ้านอิทธิฤทธิ์ กำลังจะได้ทำโปรเจ็กต์ใหญ่กับทาง ‘Cartoon Network Asia’
โดยการร่วมกันพัฒนาภาพยนตร์แอนิเมชั่นเพื่อปรากฏแก่สายตาคนทั่วโลก ซึ่งการ์ตูนตัวนี้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะในการแข่งขันรายการ ‘Snaptoons’ โดยมีเขาเป็นคนออกแบบคาแร็กเตอร์และบท โดยที่ ‘บ้านอิทธิฤทธิ์’ จะทำในส่วนของโปรดักชั่น


“ตอนนี้บทกับคาแร็กเตอร์ของผมผ่านแล้ว”

ชัยพรใส่อุปนิสัยให้ตัวการ์ตูนตัวนี้พูดน้อย นิ่งๆ ไม่ค่อยรู้สึกรู้สากับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว ขณะที่การ์ตูนของชาวตะวันตกส่วนใหญ่จะมีลักษณะกระตือรือร้นจนถึงขั้นโอเวอร์แบบการ์ตูนทั่วๆ ไป

โจทย์ที่ท้าทายสำหรับคนทำแอนิเมชั่นอย่างชัยพรคือการทำการ์ตูนของคนตะวันออกให้คนตะวันตกหัวเราะให้ได้-เพราะนั่นหมายถึงการยอมรับ
ข้อแนะนำจากชาวต่างชาติถึงตัวการ์ตูนของเขา ซึ่งชัยพรถือว่าเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เพราะชาวต่างชาติจะชอบตลกแบบโผงผาง ขณะที่เขาชอบตลกเงียบ

“ตอนนี้กำลังมิกซ์กันอยู่ เขาอยากรู้ว่าตลกเงียบมันเป็นไง เราก็เขียนสตอรี่บอร์ดส่งไปแล้ว ซึ่งความรู้สึกเรามันตลก แต่ยังไม่รู้ผลว่ามันจะตลกหรือเปล่า (หัวเราะ)

“มันจะตลกนิ่งๆ เช่น มีคนมาด่ามัน เอาของมาปาบ้านมันจนบ้านระเบิด แต่ไอ้ตัวนี้ยังยืนงงอยู่เลย แล้วทิ้งเวลาไว้สักพักหนึ่ง มันก็จะบอกว่า ‘มึงทำอะไรกูวะ’”
“คาแร็กเตอร์การ์ตูนตัวนี้มีความเป็นไทยหรือเอเชียมากกว่ากัน”

“ผมให้น้ำหนักไปทางเอเชียก่อน เพราะผมรู้สึกว่าการ์ตูนไทยมันยังไม่ชัด ไม่เหมือนการ์ตูนญี่ปุ่น หรือยุโรป การ์ตูนอย่างเกาหลีก็ยังไม่ชัด มันยังเหมือนการ์ตูนญี่ปุ่นเชยๆ ในสมัยก่อนอยู่ แต่ข้อดีคือการ์ตูนพวกนี้มันมีพัฒนาการต่อเนื่อง ถ้าการ์ตูนไทยหาจุดเริ่มต้นเจอมันก็จะมีลำดับพัฒนาการไปสู่ความชัดเจนเอง เหมือนอย่างการ์ตูนเกาหลีตอนนี้ซึ่งกำลังพัฒนาไปเรื่อยๆ

“คาแร็กเตอร์ของไทยจะติดอยู่ที่ภาพเด็กหัวจุก หรือผ้าสไบ แต่จริงๆ คาแร็กเตอร์เอเชียมีความเป็นสากล เหมือนมิยาซากิ* ทำเรื่อง SPIRITED AWAY คือใส่เสื้อเชิ้ตธรรมดา แต่มันมีบางอย่างที่เราสามารถจะสื่อได้ เช่น ลูกตา โครงหน้า มันไม่ได้อยู่ที่เครื่องแต่งกายอย่างเดียว ผมจะไม่ใช้วัฒนธรรมการแต่งกายเป็นตัวบอก และก็ไม่เอาวัฒนธรรมฝรั่งเข้ามาด้วย จริงๆ คาแร็กเตอร์ไทยกับคาแร็กเตอร์เอเชียมันก็คือตระกูลเดียวกัน มันเป็นเซนส์ของคนเขียน เราเอาวัฒนธรรมข้างในของเราใส่ลงไป”

วัฒนธรรมของสี-ลองย้อนกลับในสมัยภาพยนตร์ไทยยุคสรพงศ์ ชาตรี ภาพจะมีโทนสีเขียวๆ
เหลืองๆ เพราะนั่นเกิดจากสภาพอากาศที่ร้อนและมีแดดจัดๆ ของประเทศไทย ขณะที่หนังฮอลลีวูดหรือยุโรปจะมีโทนสีฟ้าๆ หรือน้ำเงิน เพราะมีสภาพอากาศหนาวเย็น เขาบอกว่าคาแร็กเตอร์ตัวการ์ตูนก็มาจากบรรยากาศหรือวัฒนธรรมที่คนทำเติบโตมา

“Cartoon Network จะได้อะไร และจะได้อะไรจาก Cartoon Network”
“เขาจะได้การ์ตูนของเราในราคาเอเชีย แล้วเราจะได้เผยแพร่งาน
อีกอย่างฝรั่งมันไม่รู้ว่าประเทศไทยมีการทำการ์ตูน (หัวเราะ) สมัยที่ผมเรียนมันถาม เฮ้ ยูขี่ช้างมาหรือเปล่า”
Cartoon Network Asia มีสาขาใหญ่อยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ชัยพรสงสัยว่าเพราะอะไรการ์ตูนของเขาจึงได้รับคัดเลือกจากทาง Cartoon Network ทั้งๆ
ที่การ์ตูนญี่ปุ่นน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า คำตอบที่ได้กลับมาคือ การ์ตูนญี่ปุ่นมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนอยู่แล้ว ตลาดต่างประเทศจึงต้องการวัฒนธรรมที่ใหม่กว่าญี่ปุ่น

“ตอนนี้คาแร็กเตอร์ตัวการ์ตูนของฝรั่งมันอิ่มตัว แล้วการ์ตูนที่ตาโตๆ ใสๆ ฝรั่งมันก็รู้ว่าเป็นญี่ปุ่น แต่เอเชีย หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มันไม่เคยรู้เลย มันไม่เคยรู้ว่าการ์ตูนไทยเป็นไง การ์ตูนลาวเป็นไง ปีหน้ามันอาจจะไปหาการ์ตูนของประเทศที่มันไม่เคยรู้เลยก็ได้”
ประตูแห่งโอกาสเริ่มเปิดกว้างขึ้น โอกาสที่วงการแอนิเมชั่นไทยจะได้รับความสนใจจากตลาดต่างประเทศก็มีมากขึ้น แต่ในฐานะคนทำงานแอนิเมชั่น เขากลับรู้สึกว่าแอนิเมชั่นไทยกำลังนอนอยู่ในห้องไอซียู…

เขามองว่าอุตสาหกรรมของแอนิเมชั่นไทยยังไม่มีความต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยของเรื่องเงินทุนการผลิต ซึ่งการ์ตูนแอนิเมชั่นหนึ่งเรื่องมีค่าใช้จ่ายสูงมาก และคนส่วนใหญ่ยังจำกัดงานแอนิเมชั่นไว้สำหรับเด็ก จึงทำให้เม็ดเงินที่จะลงกับงานด้านนี้ยังถูกตีกรอบให้มีจำนวนที่ไม่มาก ผลที่ตามมาอย่างเห็นได้ชัดคือรอยต่อของระยะเวลาที่ยาวนาน ระหว่างภาพยนตร์แอนิเมชั่นไทยเรื่องหนึ่งกับอีกเรื่องหนึ่ง
“เราได้ดูสุดสาครแต่ต้องรออีกยี่สิบปีกว่าจะได้ดูก้านกล้วย ผมก็ไม่รู้ว่าอีกกี่ปีจะมีเรื่องไหนสร้างออกมาอีก อุตสาหกรรมมันไม่ต่อเนื่อง พออุตสาหกรรมมันไม่ต่อเนื่องก็ตายหมด"
“ค่าใช้จ่ายสูงมากต่อแอนิเมเตอร์หนึ่งคน การทำแอนิเมชั่นมันคิดเป็นวินาที ราคาจึงแพงมาก คนคิดว่าการ์ตูนต้องเป็นของเด็ก เราต้องสลัดไอ้คำว่าการ์ตูนของเด็กออกไปก่อน คือของเด็กมันก็ต้องถูก เด็กดูผ่านอยู่แล้ว Quality มันก็ต้องต่ำ ยิ่ง Quality ต่ำบริษัทไหนใช้เวลาผลิตน้อยก็กำไร คนทำจึงต้องทำให้เต็มที่เลย ตั้งใจทำจริงๆ เคลื่อนไหวไปอย่าทำแล้วคิดว่าต้องให้ประเทศไทยดูอย่างเดียว ต้องออกต่างประเทศด้วย”


ชัยพรเปรียบอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นกับอุตสาหกรรมเสื้อผ้า หากผลิตเสื้อผ้าได้ในปริมาณที่มาก และต่อเนื่อง ตลาดย่อมให้ความสนใจ นอกจากเรื่องเงินทุนในการผลิตแล้วยังมีปัญหาแรงงาน หรือแอนิเมเตอร์ที่ไม่เพียงพอ ซึ่งเชื่อมโยงกับเรื่องเงินทุนอย่างแกะกันไม่ออก
“อย่างของ ‘พิกซาร์’ เนี่ยใช้เวลาทำแต่ละเรื่องสามถึงสี่ปี แต่ในช่วงที่ ‘พิกซาร์’ ทำสามถึงสี่ปีอยู่ก็จะมีบริษัทของ ‘ดรีมเวิร์คส์’ หรือ ‘พีดีไอ’ ออกฉายไง
เพราะมันมีอุตสาหกรรมจริงๆ มันก็เลยต่อเนื่อง ก็มีให้ดูทุก 3 เดือน ค่ายนี้ไม่ทำก็มีอีกค่ายทำ”

ความเงียบเข้ามาทำลายบทสนทนาของเรา ผมเหลือบไปเห็นแมลงวันตัวหนึ่งพร้อมได้ยินเสียงปีกของมันบินหวี่ๆ
“ถ้าเปรียบวงการแอนิเมชั่นไทยเป็นวงจรแมลง ถือว่าอยู่ช่วงไหน”
เสียงใครคนหนึ่งในวงสนทนาดังแทรกขึ้นมากลบเสียงกระพือปีกของแมลงวัน
“ยังไม่ผสมพันธุ์เลย (หัวเราะ) มันมีระดับหนึ่งแต่มันก็ตายไง มันเหมือนแมลง คือมันอยู่

ไม่นาน ตายแล้วก็เกิดใหม่ อยากให้มันเป็นแมลงที่มีชีวิตยืนกว่านี้ มันมีปัจจัยหลายอย่าง เค้กมันก้อนเล็กด้วย”
วงจรชีวิตของแมลงสั้นแสนสั้น!!!

แมลงวันตัวนั้นยังคงบินรอบๆ วงสนทนา เที่ยงกว่าๆ แล้ว ผมเริ่มรู้สึกหิว ขณะที่เขาหยิบแก้วน้ำขึ้นดื่ม
“แต่มันก็มีข้อดีอยู่นะไอ้ที่ว่าแอนิเมชั่นกำลังจะตาย
เพราะมันจะต้องพัฒนางานออกมาให้ได้ให้ดีขึ้น เพื่อให้มันสามารถอยู่รอดให้ได้” เขาวางแก้วน้ำหลังจากพูดจบ

หลังจากเรียนจบที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ชัยพรเข้าทำงานประจำที่อมรินทร์พริ้นติ้ง แต่หลังจากที่เขาเข้าไปดูภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ระหว่างที่ดูหนังตัวอย่างเขาเกิดภาวะตกใจเมื่อได้ดูทีเซอร์ภาพยนตร์เรื่อง ‘Lion King’ รุ่งขึ้นชัยพรไปยื่นใบลาออก แล้วบอกแม่ว่าจะไปเรียนต่อ
“มันเป็น 2D ที่แบนๆ แต่เคลื่อนไหวได้ขนาดนั้น มันเป็นภาพที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน โอ้โห ช้างเดินจะเหยียบนก นกกระโดดหลบ หรือปรับโฟกัสมดอยู่บนต้นไม้แล้วมาปรับม้าลายอยู่บนพื้น เราคิดว่ามันเกินกฎของ 2D ไง ตอนนั้นประสบการณ์ยังน้อยอยู่ด้วยแล้วตกใจมาก ตอนนั้นอยู่ในโรงหนังมันตกใจมากเหมือนจะร้องไห้ มันไม่รู้จะทำไง ไม่รู้จะทำไง”
ชัยพรเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อเรียนต่อในด้านแอนิเมชั่น เขาไปโดยที่ภูมิคุ้มกันทางภาษาไม่แข็งแรง เขาต้องปีนกำแพงภาษาอยู่นานกว่าจะหายใจได้สะดวก ที่นั่นเขาเลือกที่จะตัดทางรอดทั้งหมดของตัวเองออก เพื่อให้ชีวิตสุ่มเสี่ยงกับความไม่รอด เพื่อกระตุ้นให้ตัวเองอยู่รอดให้ได้
“ไปมหา’ลัยก็เลี่ยงที่จะไม่พูดกับคนไทย โชคดีที่ว่าพอเข้ามหา’ลัยก็ลูกมั่วไปได้งานที่บริษัทเกม ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย ถ้างานคุณไม่ผ่าน ภาษาไม่ได้ สองอาทิตย์ยูต้องออก เราก็ต้องรู้เรื่อง ต้องดิ้นรน ก็มันจะตายแล้วไง” (หัวเราะ)
ด้วยความไม่สันทัดทางภาษาของเขาทำให้เกิดเรื่องสนุกๆ ในคลาสเรียนวิชาแอนิเมชั่น เขาเล่าว่าในหนังฝรั่งเวลาพระเอกตกใจมักจะอุทานออกมาว่า “SHIT” เมื่อเข้าไปเรียนคาบแรกศาสตราจารย์ท่านหนึ่งกำลังสอนท่าทางของตัวการ์ตูนอย่างสนุก โดยที่ศาสตราจารย์ท่านนั้นปีนบันไดขึ้นไปเพื่อแสดงอิริยาบถต่างๆ ของตัวการ์ตูน ชัยพรกำลังสเกตช์ภาพในกระดาษอย่างตั้งใจ ขณะที่กำลังสเกตช์ภาพอยู่นั้น กระดาษบนโต๊ะเกิดหล่นลงพื้น เขาอุทานออกมาว่า “SHIT” ความเงียบจึงปกคลุมชั้นเรียนนั้นอย่างกะทันหัน ทุกสายตามองมายังต้นเสียง ศาสตราจารย์ได้แต่ค้างเติ่งบนความสูงของบันไดด้วยท่าทางน่ารักๆ อย่างตัวการ์ตูน
หลังจากเรียนจบปริญญาโทด้าน Digital Art & Design จาก University of Oregon โดยมีเกียรตินิยมอันดับ 1 ตามท้ายมาด้วย เขาเข้าทำงานในด้านแอนิเมชั่น คอมพิวเตอร์ CD (Director and Character Designer) กับบริษัท ANIMATION TV & INTERNET BROADCAST ที่นิวยอร์ก จากนั้นกลับมาเมืองไทยด้วยคำสั่งของพ่อและแม่ ด้วยเหตุผลสุดคลาสสิก ‘คิดถึงลูกชาย’
ปังปอนด์ ดิ แอนิเมชั่น คือผลงานของชัยพรหลังจากกลับมาบ้าน รวมถึงงานด้านคอมพิวเตอร์CG ในภาพยนตร์และในงานโฆษณา และด้วยคำชักชวนของประภาส ชลศรานนท์ และปรัชญา ปิ่นแก้ว ก็ทำให้เขาตัดสินใจสร้างบ้านอิทธิฤทธิ์ ตามด้วยการเป็นหัวหน้าหลักสูตรปริญญาโท สอนด้านแอนิเมชั่นที่สถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่ง

ดูเหมือนว่าเขาจะใช้ปรัชญา 'ไม่รอด เพื่อรอด' มาปรับสอนให้แก่นักศึกษา

“ผมจะบอกนักศึกษาเลยว่าต้องตัดข้อแม้ทั้งหมด คนที่มันจะเก่งขึ้นมาได้มันจะต้องมีหัวข้อจริงกำหนดเอาไว้ไง เด็กที่มหา’ลัยมันก็เหมือนผมช่วงนั้นคือเผางาน คือออกแบบคาแร็กเตอร์มาส่ง มันเพิ่งเขียนมาจากข้างนอก สียังเปียกอยู่เลย มันมาบอกว่านี่ครับมันเป็นคาแร็กเตอร์ที่ผสมกันระหว่างญี่ปุ่นกับฝรั่งครับ คือมันดูออกว่างานมันเผา แต่ถ้าเจ้านายบอกไม่ผ่านต้องทำมาใหม่ส่งวันนี้ด้วย เราก็ต้องทำให้ได้ใช่มั้ย นักศึกษามันมีข้อแม้ เพราะอาจารย์ก็ไม่ได้ล็อกไว้ว่าจะเป็นจะตาย แต่ธุรกิจมันล็อกเราไว้ว่าถ้าเขาไม่จ้าง เราก็ไม่มีกิน มันก็จบ พอคนไม่มีข้อแม้ คนก็ต้องดิ้น ยังไงก็ไม่ตายหรอก”

ชัยพรพาตัวเองและผมกลับไปในสมัยเป็นนักศึกษาผมยาวที่ศิลปากร ผ่านเรื่องราวที่เล่า-เขาก็เหมือนกับนักศึกษาสมัยนี้คือความมีอีโก้ในชิ้นงานของตัวเอง อีโก้ของคนทำงานศิลปะ “พาณิชยศิลป์มันเป็นคำที่ดูไม่ดี คำว่า Sale คำว่าพาณิชย์ แต่จริงๆ มันไม่แย่ขนาดนั้นหรอก มันก็คือการทำศิลปะให้นายทุนซื้อเราไง คือนายทุนเค้าก็รับความเสี่ยง อย่าไปคิดว่าศิลปะของเราดีที่สุดในประเทศ มันไม่ดีหรอก คือเราทำให้นายทุนเชื่อว่าของเราสวยจริงแล้วเค้าก็รับความเสี่ยงด้วยไง ถึงแม้นายทุนจะเป็นคนทำธุรกิจ เป็นอาเสี่ย

“ไม่รอด เพื่อรอด” ผมดื่มน้ำในแก้วเพื่อทำลายความหิว
“ใช่ๆ คือถ้าเราจะตายยังไงมันก็ต้องรอด”
แต่เค้าก็รับความเสี่ยงนะ ศิลปะอย่าง Fine Art มันเป็นศิลปะที่รองรับตัวเอง ขายงานได้หรือไม่ได้ก็รองรับจิตใจตัวเอง แต่นี่มันรับมวลชนรับทั้งสังคม อีโก้ก็มีบ้างแต่ขอให้เป็นอีโก้อีกอย่าง อย่าเป็นอีโก้ที่บอกงานกูดีที่สุด อย่าทะนง ศิลปะที่มวลชนรู้สึกได้เป็นกลุ่มใหญ่มันน่าจะดีนะ เพราะดึงประสบการณ์ที่หลากหลายออกมารวมได้”

Thai Animator is Still Running
“มีนักศึกษามาเรียนเยอะมั้ยครับ”
“เยอะครับ”
“อ้าว แล้วพวกเขาจะทำอะไรต่อ ในเมื่อตลาดแอนิเมชั่นของเรายังไม่โต”
ข้อดีของศาสตร์แอนิเมชั่นก็คือมันเป็นศาสตร์ที่ครอบคลุมทุกศาสตร์ของคอมพิวเตอร์อาร์ต อาจารย์ชัยพรจึงแนะนำนักศึกษาที่เรียนด้านนี้ว่าควรปรับเอาความรู้ไปใช้กับงานในด้านอื่นๆ ก่อน ไม่ว่าจะเป็นงานโปรดักชั่นภาพยนตร์หรือโฆษณา
“ตอนนี้ผมอยากให้สถาบันเป็นตัวที่สร้างแอนิเมเตอร์กันก่อน ตอนนี้คือมันไม่มีช่างที่จะทำ เพราะปัจจัยหลายๆ อย่างรวมกัน เอาศาสตร์คอมพิวเตอร์ไปใช้กับงานโฆษณา ภาพยนตร์ หรือแม้แต่สิ่งพิมพ์ก็ได้หมด แต่ถ้าเกิดมีนายทุนอยากจะทำจริงๆ ยอมลงทุนเยอะมาก ใจถึง ซึ่งไม่ค่อยมี (ยิ้ม) แล้วค่อยมารวมตัวกันใช้ศาสตร์ของการ์ตูนก็ได้”
ผมเหลือบไปมองภาพของชายในกรอบรูปอีกครั้ง รอยยิ้มนั้นหายไปแล้ว ทว่าในดวงหน้านั้นครุ่นคิดถึงบางสิ่ง บางทีสิ่งที่ชายในภาพครุ่นคิดอาจเป็นความแห้งแล้งของการดำรงชีวิตให้อยู่ได้บนเส้นทางแห่งศิลปะชีวิตจึงมีสิ่งที่อยากทำ และต้องทำควบคู่กันอยู่เสมอ!
“นอกจากแอนิเมชั่น ช่วงนี้ยังทำงานศิลปะอยู่บ้างไหม” ผมถามหลังจากสบตากับชายในกรอบรูป
“เราจะมีงานบางอย่างที่อยากทำ และอีกอย่างที่ต้องทำ เพราะต้องเอาเงินตรงนี้ไปซัพพอร์ตงานที่เราอยากทำ ชีวิตส่วนตัวของผมทำคอมพิวเตอร์เสร็จ กลับบ้านก็ต้องเขียนสีน้ำมัน อะคริลิก เขียนบนเฟรม เขียนแอร์บรัช คือเราโตมากับงานผ้าใบ ผมจะมีแกลเลอรี่เป็นห้องเขียน อะไรก็ตามที่เราได้สัมผัสกระดาษ สัมผัสเฟรม ใครเชิญไปแสดงงานผมก็ไป คือขอให้เราได้ทำในสิ่งที่เรารัก
“อย่างตอนนี้ชีวิตผมกับบ้านอิทธิฤทธิ์ก็เหมือนกัน คือขอเก็บตังค์เพื่อสร้างสิ่งที่เราชอบ อย่างชีวิตผมทำคอมพิวเตอร์เพื่อเอาเงินเอาไปซัพพอร์ต เช่น มีเงินระดับหนึ่งเพื่อเขียนงานบนเฟรมผ้าใบซึ่งเราไม่ต้องอิงกับพาณิชย์แล้ว ก็เหมือนบ้านอิทธิฤทธิ์เก็บเงินจากงานบางอย่างเพื่อเอามาซัพพอร์ตกับงานบางอย่างที่อยากทำ ทำตัวเองให้แข็งแรงก่อน ต้องเลี้ยงดูแอนิเมเตอร์หลายคนด้วย” (ยิ้ม)
บ่ายแก่ลงเรื่อยๆ ยังไม่มีอะไรตกถึงท้องของผม แมลงวันตัวนั้นยังคงบินวนอยู่รอบๆ วงสนทนาของเรา ‘อีกไม่นานมันคงหมดแรงบินไปตามเวลา’ ผมคิด วงจรชีวิตของแมลงสั้นแสนสั้น!!! แต่วงจรชีวิตของความฝันมันยาวพอๆ กับลมหายใจของความตั้งมั่น

หมายเหตุ : ฮายาโอะ มิยาซากิ (Miyazaki Hayao) เป็นผู้กำกับภาพยนตร์แอนิเมชั่น ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างดีในหมู่ชาวตะวันตก โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้นิยมดู ‘หนังศิลปะ’ และเมื่อปีพ.ศ.2545 ภาพยนตร์เรื่อง Spirited Away ได้ออกฉายและได้รับรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์แอนิเมชั่นยอดเยี่ยม ชื่อของมิยาซากิกลายเป็นที่จับตามองในวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์แอนิเมชั่นของโลก