Custom Search

Feb 29, 2020

Happy Leap Day! 29 กุมภาพันธ์ กูเกิลร่วมกระแส "วันอธิกวาร"




https://www.thairath.co.th/news/tech/1783373
และวันนี้ก็มาถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ วันอธิกวาร (Leap Day 2020) ที่ปกติ 4 ปีจึงจะวนมาถึง ปีนี้จึงมีวันรวม 366 วัน เป็นปีอธิกสุรทิน และแน่นอนกูเกิลไม่พลาด ปล่อย Doodle เพื่อบอกว่า Happy Leap Day! พร้อมรวมลิงก์เรื่องราวเกี่ยวกับ 29 กุมภาพันธ์ให้ได้อ่าน ดู กัน
ส่วนหนึ่งยังมีบอกเหตุการณ์สำคัญในอดีตที่เกิดขึ้นในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ และเคยมี Doodle ในอดีต เช่น วันนักบุญเดวิด วันประกาศอิสรภาพของเกาหลี
สำหรับคำที่เกี่ยวกับวันนี้ ครูลิลลี่ เคยอธิบายไว้ในคอลัมน์ “คนดังนั่งเขียน” ในไทยรัฐออนไลน์ ว่า คำว่า "อธิกวาร" ประกอบด้วยคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤตทั้งหมด หน่วยหน้าศัพท์ อธิก หมายถึง เกิน หรือ เพิ่ม ส่วนคำว่า วาร แปลว่า "วัน" จึงหมายถึงวันที่เพิ่มขึ้น

ส่วนคำว่า ปีอธิกสุรทิน ตามพจนานุกรม คำว่า อธิก- อ่านว่า อะ-ทิ-กะ หรือ อะ-ทิก-กะ เป็นคำวิเศษณ์แปลว่า ยิ่ง เกิน มาก เพิ่ม เป็นคำนาม

คำว่าสุรทิน มาจาก สุร + ทิน ทิน แปลว่า "วัน" สุร จะแปลว่า “ผู้กล้าหาญ นักรบ หรือ พระอาทิตย์” ในที่นี้น่าจะหมายถึงพระอาทิตย์ สุรทิน จึงหมายถึง “วันทางสุริยคติ” ซึ่งตามปกติเดือนกุมภาพันธ์ทั่วไปที่มี 28 วัน จะเรียกว่า "ปีปกติสุรทิน" และเรียกปีที่เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วันว่า “ปีอธิกสุรทิน”

สำหรับที่มาของ 1 วันที่เกินมานั้น มีสูตรคำนวณที่เว็บไซต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อ้างอิงที่มา จาก รศ. ยืน ภู่วรวรรณ สำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไว้ว่า การแบ่งปีตามหลักปฏิทินสากลแบ่งได้เป็นปีปกติมี 365 วัน และปีอธิกสุรทินมี 366 วัน โดยเพิ่มวันที่ 29 กุมภาพันธ์  ขึ้นมาอีกหนึ่งวัน การให้มีปีอธิกสุรทินเพราะโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบใช้เวลา 365.24218 จึงต้องปรับให้จำนวนวันต่อปีไม่คลาดเคลื่อนกับวิถีการโคจร

การคำนวณเพื่อกำหนดว่าปีใดมี 29 กุมภาพันธ์หรือไม่ ให้มีหลักการของปีอธิกสุรทินที่มีความชัดเจน โดยกำหนดเป็นสูตรไว้ดังนี้ คือ 1. เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วันทุก 4 ปี โดยนำปี ค.ศ.หาร 4 ลงตัว ถือเป็นปีอธิกสุรทิน 2. ให้ปรับโดยถ้าปีนั้นหาร 100 ลงตัวให้เป็นปีปกติ และ 3. ถ้าหารปีด้วย 400 ลงตัวให้ปรับเป็นปีอธิกสุรทินอีก

หลักการของปฏิทินกรีกอเรียนทุก ๆ 400 ปี จะมีการปรับตามเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว ในรอบ 400 ปี จะมีจำนวนวันทั้งสิ้น 146,097 วัน ตัวเลข 146097 หารด้วย 7 ลงตัว ดังนั้นปฏิทินระบบนี้จึงลงตัวที่ 400 ปี พอดี และจะซ้ำเดิมอีกครั้งและหากนำ 146097 หาร 400 จะได้ 365.2425 หรือกล่าวได้ว่า ความยาวเฉลี่ยของปีหนึ่งมีค่าเท่ากับ 65.2425

หากนำมาเปรียบเทียบกับเวลาการโคจรจริงของโลกพบว่าตามหลักการนี้จะทำให้มีข้อผิดพลาดไปหนึ่งวันในช่วงเวลาประมาณ 2,500 ปี นั่นหมายถึง ก่อนรอบ 2,500 ปี จะต้องมีการปรับวันที่กันอีกหนึ่งครั้ง ซึ่งหลายต่อหลายคนได้นำเสนอให้ปรับให้ปีที่หารด้วย 1600 ลงตัว ให้มี 365 วันอีกครั้ง