Custom Search

Feb 13, 2010

"รักลูกให้ถูกทาง"

รศ. ดร. สายฤดี วรกิจโภคาทร
เจ้าของรายการ รักลูกให้ถูกทาง

บทสัมภาษณ์พิเศษ "ประเด็นปัญหาลูกติดตามแม่"
หากเอ่ยถึงประชาชนชาวไทยในเยอรมัน
อาจกล่าวได้ว่า หญิงไทยที่แต่งงานมีครอบครัวกับชาวเยอรมันนั้น
เป็นชาวไทยกลุ่มใหญ่ที่สุด ด้วยเหตุนี้
กลุ่มลูกติดตามแม่เข้ามาเป็นเด็กสองวัฒนธรรม
ก็ได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
ซึ่งมีประเด็นที่น่าเป็นห่วง ไม่ว่าจะเป็น
เรื่องของการปรับตัวให้เข้ากับสังคมใหม่ เรื่องภาษาไทย
การรู้จักประเพณีวัฒนธรรมไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ด้านสุขภาพจิตของลูก
เราได้มีโอกาสได้เข้าสัมภาษณ์ รศ. ดร. สายฤดี วรกิจโภคาทร

รองผู้อำนวยการ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว
อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล
และผู้ดำเนินรายการ "รักลูกให้ถูกทาง"

ที่พวกเราชาวยุโรปได้มีโอกาสดูทาง Global Network
อาจารย์ได้กรุณาเล่าถึงความเป็นมาของรายการฯ
และได้พูดคุยถึงประเด็นปัญหา "ลูกติดตามแม่" อย่างเปิดอก
เพื่อเป็นแนวทางแก่แม่ๆ ชาวไทยในต่างแดน
ว่าทำอย่างไรจึงจะได้ขึ้นชื่อว่า "รักลูกให้ถูกทาง"
"เหตุที่ริเริ่มทำในครั้งแรกนั้น เพราะความที่มหาวิทยาลัยฯ
มีทรัพยากร ที่เป็นบุคคลากรทางการแพทย์มาก จึงได้คิดทำ
เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ แต่ปัญหาของสุขภาพเด็กนั้นมันซ้ำ
คือเด็กที่เกิดขึ้นมาใหม่ก็จะมีโรคซ้ำๆ ยกเว้นโรคซาร์ส
ที่มาทีหลัง
พอปีกว่าๆ เราก็รู้สึกว่า
รายการรักลูกให้ถูกทางนั้น

น่าจะเป็นเรื่องสุขภาพจิต เดิม ดร. เทียม โชคพัฒนา
เป็นคนตั้ง
ชื่อว่าผู้ปกครองและลูก
และรายการรักลูกให้ถูกทางก็คือว่า

สุขภาพจิตนะ ฝึกนิสัยที่ดีนะ สร้างทัศนคติต่อชีวิตให้ดี
มีความสุขในการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ ทั้งหมดคือ
รักลูกให้ถูกทาง
จึงได้เปลี่ยนมาเป็น เรื่องสุขภาพจิต ค่อนข้างมาก
คือมันขึ้นอยู่กับสังคม สิ่งแวดล้อม ขึ้นอยู่กับความเปลี่ยนแปลง
กระแสสังคม ประชาชนส่วนใหญ่ที่คิดว่า เลี้ยงลูกสมัยนี้ มันยาก
ถ้ามีรายการช่วยชี้ แนะ เพราะความจริงรายการไม่ได้บอกวิธีเลย
ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ และแต่ละครอบครัว วัยเด็ก แต่เราดึงประเด็นว่า
ลองคิดแบบนั้นดูบ้างไหม ลองทำแบบนี้ดูไหม ครอบครัวของเรา
มีสิ่งประกอบเหล่านั้นด้วยหรือเปล่า ที่จะทำให้เราคิด
และทำแบบนั้นได้ และมันก็มีความแตกต่าง แต่ละปี
แต่ละเดือนด้วย อย่างเช่นเดือนนี้มีวันแม่ วันพ่อ วันปีใหม่
เราก็ต้องทำให้ทันสมัย เช่น วันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพฯ นั้น
เราก็มีรายการที่เกี่ยวข้องด้วย โดยที่เราเอา
บทความของสมเด็จพระเทพฯ

ที่ทรงพระราชนิพนธ์เอาไว้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับแม่
โดยที่พระองค์ท่านนำมาจากพระไตรปิฏก ว่าพระพุทธเจ้า
ได้เคยตรัสถึงแม่ว่าอย่างไรบ้าง ว่าแม่เป็นผู้เสียสละ ผู้เป็นครู
เพราะฉะนั้น เรียกได้ว่า รายการรักลูก ให้ถูกทาง
จนถึงปัจจุบันนี้ ยังไม่ตัน"

"โดยรายการได้ออกอากาศวันจันทร์ - วันศุกร์ ก่อนข่าวภาคค่ำ
ใช้เวลา 5 นาที ในอดีต แต่ปัจจุบันลดลงเหลือ 3 นาที และจนถึงขณะนี้
รายการได้ออกอากาศไปแล้วกว่าสี่พันตอน อาจจะเป็นเพราะว่า
รายการดำเนินมาแล้วกว่า 19 ปี จึงทำให้เป็นรายการที่มีคนดูมากที่สุด
ในประเทศไทย อันนี้จากงานวิจัยของคณะนิเทศศาสตร์จุฬาฯ
เมื่อปีที่แล้ว ความจริงแล้ว รายการนี้อยู่มานาน
อย่างน้อยคนก็ได้ดูครั้งหนึ่งแหละ"
"จากที่มหาวิทยาลัยมีส่วนร่วมในการจัดทำ
ค่าใช้จ่ายต่างๆ จึงมีไม่มาก และเป็นรายการประจำ
เรื่องประเด็นต่างๆ ที่สังคม พ่อแม่ น่าจะสนใจ ได้ประโยชน์ เช่น
เรื่องการอ่านกับเด็ก การอ่านมีประโยชน์กับเด็กอย่างไร
เด็กเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไร พฤติกรรมที่พ่อแม่
กระทำที่จะเพิ่มนิสัยรักการอ่านให้กับเด็กๆ
หนังสือที่น่าจะแนะนำให้เด็กๆ หรือว่าเมื่อลูก
อ่านหนังสือแล้ว กิจกรรมเสริมในครอบครัว
เพื่อให้การอ่านดีขึ้นจะทำอย่างไร"
"เรื่องการเลี้ยงลูก ให้รู้จักถึงความแตกต่างระหว่างเพศ
ส่งเสริมให้เด็กผู้หญิงมีความภูมิใจ ในความเป็นผู้หญิง
ให้รู้ว่าในความเป็นผู้หญิง เป็นความพิเศษอย่างไร
กิจกรรมที่จะทำให้ผู้หญิงเก่ง และแข็งแรง
แข่งขันกับผู้ชายได้ด้วย กิจกรรม
ที่พ่อแม่ควรให้เด็กผู้หญิงทำคืออะไร สำรวจ
ออกไปข้างนอก เล่นกีฬาให้มากๆ เดินป่า แข่งขัน
เรียนวิชาที่ ไม่ใช่อยู่ในกรอบ ที่ผู้หญิงต้องเรียน
เช่น คหกรรมศาสตร์ ผู้หญิง เรียนสาขาวิทยาศาสตร์ให้มากๆ
เรียนคอมพิวเตอร์ให้เก่งๆ รู้จักมีกิจกรรม
กลางแจ้งให้มากๆ รู้จักพูดจา รู้จักตั้งคำถาม
รู้จักเข้าสังคม รู้จักที่จะเลือกว่า ใครควรมาเป็นตัวอย่าง ให้กับเด็ก"
ส่วนการสัมภาษณ์วิทยากรนั้น เราจะไม่สัมภาษณ์พ่อแม่
แต่จะสัมภาษณ์ที่ตัวลูก ถามเค้าว่า พ่อแม่เลี้ยงเค้ามาอย่างไร
และคนๆ นั้นก็เป็นทรัพยากร ที่บอกประเด็นอะไรได้หลายอย่าง เช่น
สัมภาษณ์ คุณโสภณ สุภาพงษ์ (สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร)
ก็จะได้ประเด็นว่า คุณโสภณ จำคุณพ่อว่าอย่างไรบ้าง
สิ่งที่เป็นคุณพ่อชัดเจนที่มีอยู่ในตัวคุณโสภณ นี้
คุณโสภณ ก็พูดถึงคุณพ่อได้จับใจมาก และพูดถึงคุณแม่
ว่าทำไมคุณโสภณ ตอนนี้จึงเป็นอย่างนี้ ที่คิดว่าชีวิตในตอนนี้มันเรียบ
คนเราต้องมีหน้าที่ส่งกลับ ให้กับสังคม เพราะถ้าเราสัมภาษณ์ วิทยากรคนหนึ่ง
เราก็จะได้ทุกประเด็นของเค้า ที่เค้าคิด และเราเองก็คิดด้วยว่า
นั้นคือความเด่นของเค้า เหมือนเพชรก้อนหนึ่ง มีหลายแง่ มีหลายมุม
ในการสัมภาษณ์นั้น เราจะไม่ไปตามกระแสการเมือง ที่เลื่อนไหล
เพราะฉะนั้นสัมภาษณ์ลูกที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว
และถามว่าพ่อแม่ได้ทำอะไรให้บ้าง ชัดเจนมากนะคะ
เพราะคนที่โต มาตอนนี้ รู้อยู่แล้วว่า หน้าที่พ่อแม่ มันยาก
เพราะฉะนั้น การที่พ่อแม่เลี้ยงตัวเค้ามา เค้ารู้ว่าพ่อแม่ เสียสละ
เหนื่อย ให้เค้า แค่ไหน และเค้าเอง แค่พูดถึงท่านเท่านั้น
เท่าที่จำได้ ทำไมจะพูดไม่ได้ คุณอภิสิทธิ์ ยังพูดถึงพ่อแม่ได้เลย
ช่วงนั้นท่านเป็น โฆษกรัฐบาล พี่แอ๊วได้สัมภาษณ์ ท่านรู้ว่า
พ่อแม่รักเค้า พ่อแม่ไม่เคยทะเลาะกัน
แต่มาทะเลาะกันช่วงที่พ่อจะส่งเค้าไป อังกฤษ

ตั้งแต่อายุ 11 ขวบ วันนั้นพ่อกับแม่ทะเลาะกัน และแม่ร้องไห้
จึงได้รู้ว่าพ่อแม่รักเค้า และเค้าจะต้องไม่ให้แม่ผิดหวัง
และไม่ให้พ่อเสียหน้า เค้าไปอังกฤษต้องทำให้ได้ ไม่เหลวไหล
ให้แม่บอกว่าฉันบอกคุณแล้วว่า ลูกยังอายุน้อยเกินไป
และสัมภาษณ์นักเขียนอีกหลายท่าน
และสัมภาษณ์อาจารย์ที่แปลหนังสือดีๆ หนังสือเยอรมัน

อาจารย์ อำภา โอตระกูล น่ารักมาก อาจารย์ให้หนังสือมาเยอะเลย
ท่านเป็นอาจารย์เกินร้อย ยังมีคำถามประจำด้วยนะว่า
ตอนเด็กชอบอ่านหนังสืออะไร คือถามว่า พ่อแม่ เลี้ยงมาอย่างไร
จำได้ไหม พ่อแม่คิดว่า ในครอบครัวของเรา ต้องเลี้ยงเด็กในลักษณะแบบนี้
สังคมปัจจุบัน เราอยากให้พ่อแม่เลี้ยงดูลูกอย่างไร จะได้ปลอดภัย
และลูกประสพผลสำเร็จ และสุดท้ายก็ถามว่า ตอนเด็กชอบอ่านหนังสืออะไร
ที่เปลี่ยนชีวิตของคุณ หรือยังมีความหมาย
และอิทธิพลต่อการที่จะตัดสินใจสำคัญๆ

ใช้หนังสืออะไร
ถาม: ส่วนเรื่องมุมมอง และประเด็นต่างๆ

ที่เกี่ยวกับชุมชนไทย -เยอรมัน นั้น เราได้มองไปที่
กลุ่มลูกติดตามมารดา ที่สมรสกับ ชาวเยอรมัน และนำลูกมาอยู่ด้วย
โดยเด็กๆ กลุ่มนี้ได้ เพิ่มจำนวนมากขึ้น เด็กๆ หลายคนยังเรียนไม่จบป.6 หรือ ม.3
ก็ต้องรีบมากระทันหันด้วยเหตุผลต่างๆ เด็กจะมีปัญหา Culture shock
ในการปรับตัว และการเรียน แต่ถ้าเด็กที่มาตั้งแต่ยังเล็กๆ จะสามารถปรับตัวได้เร็วกว่า
เด็กโต และ โดยเฉพาะเด็กที่กำลังย่างเข้าสู่วัยรุ่น ก็จะมีปัญหาในช่วงหัวเลี้ยว หัวต่อ มาก
เด็กมักจะมองหาต้นแบบ ถ้าเป็นลูกสาวก็ยังสามารถคุยกับแม่ได้ แต่ลูกชายก็ไม่รู้
จะคุยอะไรกับแม่ แม่คงจะไม่เข้าใจ จะคุยกับพ่อเลี้ยง ก็คุยกันยังไม่ค่อยรู้เรื่อง
หรือแม้แต่เรื่องการเรียน เด็กๆ หลายคนเรียนดี แต่ยังมีน้อย
ที่เรียนต่อถึงระดับมหาวิทยาลัย หรือถึงด๊อกเตอร์
และถ้ามองในด้านของความเป็นแม่ แม่รักลูก
ไม่ยอมทิ้งลูกไว้กับตายาย อยากให้ลูกมีอนาคตที่ดี แต่ตัวแม่เอง
ก็ต้องปรับตัวเองมากด้วยเหมือนกัน ต้องไปเรียนภาษา
ปรับตัวกับชีวิตคู่ กับสามีชาวเยอรมัน และแม่เองอาจจะไม่มี
เวลาดูแลลูกเท่าที่ควร และไม่รู้ว่าจะต้องเตรียม ทำอะไรให้ลูกบ้าง
ในการที่พาเค้ามาอยู่ที่นี่ มันหนักนะค่ะ กับหัวอกความเป็นแม่
และถ้าแม่ มีลูกใหม่อีก จิตใจของลูกไทยที่ติดไปนั้น
จะอยู่ในสภาพอย่างไร
ตอบ: คนแรกที่มองก็คือ แม่ ถ้าพูดกันถึงภาพรวมๆ

ยกตัวอย่างเช่น แม่นั้นเคยถูกทอดทิ้งมาก่อน ตั้งแต่ยังเล็ก
อยู่กับปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ไปทำงานในเมืองใหญ่ บางคนก็พ่อแม่เลิกกัน
แม่คนนี้ เคยได้รับความรู้สึกของการถูกทอดทิ้งมาก่อน
จากนั้นแม่คนนี้ ก็ถูกสามีไทยทอดทิ้ง มันบอบช้ำ ซ้ำสองแล้วน่ะ
เค้าต้องเลือกทางเดินของเค้าเอง ตั้งแต่เด็ก เมื่อเค้ามาพบรักกับฝรั่ง
เค้าเริ่มมีความรู้สึกว่าตัวเค้ามีค่า รู้สึกปลอดภัย เมื่อได้มาอยู่ต่างประเทศ
เค้าจะไม่ยอมทิ้งลูก เพราะเค้าเคยได้รับรู้ถึง ความว้าเหว่มาก่อน
อันนี้เราเข้าใจถึงหัวอกความเป็นแม่ แต่ชีวิตคนมันไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้
พอมาแล้ว ต้องเจออะไรบ้าง นี่ซิปัญหา เรามีงานวิจัยอันหนึ่งคือ
ระหว่าง "ลูกติดแม่ ไปอยู่กับพ่อใหม่" กับ "ลูกติดพ่อ ไปอยู่กับแม่ใหม่"
"ลูกติดแม่ ไปอยู่กับพ่อใหม่" นั้นแย่กว่า "ลูกติดพ่อ ไปอยู่กับแม่ใหม่"
เพราะผู้หญิงที่เป็นแม่ใหม่ เกรงใจสามี ถึงแม้เรา จะเคยได้ยินว่า
แม่เลี้ยงใจร้าย แต่อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงจะเกรงใจสามี
ถ้าสามีเป็นคนที่หาเลี้ยงครอบครัว และเข็มแข็ง
แต่ถ้าผู้หญิงที่เอาลูกไปอยู่ด้วยกับครอบครัวใหม่
และอยู่ในสถานะที่ด้อยกว่าผู้ชาย ลูกที่ติดตัวเองไปนั้นมีปัญหาแน่นอน
หรือแม้กระทั่งในเมืองไทย และนี่ไปอยู่โน่นน่ะ เยอรมัน
ที่ซึ่งภาษาเด็กก็ไม่คุ้น ญาติทางด้านแม่ก็ไม่มี
แม่เองก็ต้องพึ่งอยู่ ในเงาของสามี
และก็ต้องพยายามปรับตัวเองให้เข้ากับชีวิตที่โน่นด้วย

และถ้ามีลูกใหม่กับสามี แน่ใจว่า เด็กเหล่านี้ ค่อนข้างจะมีปัญหา
และยิ่งมาเทียบกับงานวิจัย มีปัญหาอยู่แล้ว เพราะว่าแม่ไม่สามารถที่จะให้
หรือทุ่มเทให้กับลูกที่ ติดตัวเองมาได้ เท่าที่ควร ถ้ามองลึกๆ
อีกไปถึงสถานภาพของผู้หญิงแล้ว ผู้หญิงบางคนที่คิดว่า
เราด้อยกว่าสามี ทางด้านการศึกษา พื้นฐานทางสังคม ฐานะยากจน อาชีพ
พวกเค้าก็จะมีวิธีการปรับตัวในลักษณะที่เป็นเบี้ยล่างของผู้ชาย
คือภาษาก็ยังไม่ได้ อาชีพก็ยังไม่มีอะไรชัดเจน
และการที่จะไปมีอาชีพในต่างประเทศ
เพื่อจะเป็นความภาคภูมิใจ ก็ยังเป็นไปไม่ได้
เพราะ ยังไม่มีความพร้อมในการทำงาน ลูกที่ติดแม่ไปนั้น
เค้าขาดจากทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งแม่ด้วย เพราะแม่ตอนนี้
พยายามจะเป็นอีกคนหนึ่ง
เพื่อที่จะต้องการปรับทุกอย่างให้เกิด สันติภาพ

และความสมดุลย์ กับสามีใหม่ เพื่อให้สามีใหม่เกิดความสงสาร
เพื่อที่จะได้ช่วยแม่ และลูก แม่จึงต้องพยายามลืมตัวเอง
แต่เพื่อให้ลูกรอด เมื่อเด็กไปตั้งแต่อายุยังน้อย
ก็จะได้รับ วัฒนธรรมเยอรมันเข้ามา

จนเค้าก็คิดว่าเค้าเป็นเยอรมัน
แต่เด็กที่ไปเมื่ออายุ ประมาณ 12 -13 ปี

จะมีปัญหาแน่นอน เพราะฉะนั้นแม่นี่แหล่ะ
จะต้องมีส่วนช่วยลูกอย่างมาก

ผู้ชายไม่ว่าจะชาติไหน เค้าก็จะวัดความสำเร็จ
จากการที่มีบ้านสวย มีรถ มีทุกอย่าง

แต่ผู้หญิงมีความรู้สึกว่า ถ้าเรามี
ความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น ไม่ถูกโดดเดี่ยว

นึกถึงกันในแง่ที่ดี เป็นเพื่อนกัน
จำเราได้ แต่ผู้หญิงไทยที่ไปอยู่ต่างประเทศ

มีกี่คนที่จะมีความรู้สึกเหล่านี้ได้ คือต้องผ่านทั้ง ภาษา วัฒนธรรม
ทั้งงานอาชีพ กว่าจะได้เพื่อนคนหนึ่งที่ยอมมาเป็นเพื่อน
ด้วยความเสมอภาคด้วยน่ะ ไม่ใช่เพื่อความสงสาร ผู้หญิงอยู่ที่นั่น
ต้องมั่นคงจริงๆ ต้องรักแท้จริงๆ ต้องภาคภูมิใจจริงๆ
และรู้จักจังหวะด้วยว่า เมื่อไหร่ฉันถอย ที่สำคัญก็คือว่า
คนเข้าใจผิดได้กับการสื่อสารที่ไม่ดี เด็กที่เข้าไปอยู่ในสังคม
ที่การสื่อสาร ที่ตัวเองไม่ได้อยู่ในระดับที่เข้าใจ หมดทุกอย่างได้
ก็จะเกิดการเข้าใจผิดมากทีเดียว และวิธีสื่อสารของคนไทยและฝรั่งก็แตกต่างกัน
ถ้าสื่อสารไม่ดี ความเข้าใจผิดเกิดขึ้น ก็จะเกิดปัญหา อันนี้แหล่ะ
เด็กก็จะไม่เข้าใจ สื่อสารไม่ได้ อ่านกันไม่ออก ทั้งพ่อ และเด็กก็อ่านกัน ไม่ออก
และท่าทีของแม่บางครั้งก็ไม่แน่ใจว่าเข้าข้างใคร
โดยปกติแล้วความเป็นธรรมชาติที่คนในครอบครัว
จะทำหน้าที่ ในบทบาทซึ่งกันและกัน ค่อนข้างที่จะเป็นปัญหาอยู่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ปัญหาในบ้าน ผู้หญิงที่ไปอยู่เมืองนอกนั้น
ยังไม่ค่อยได้ ทำให้ลูกเห็นว่าตัวเองมีบทบาทใน การแก้ปัญหาในบ้าน
เพราะผู้หญิงบางคนชอบให้ผู้ชายแก้ปัญหา ลูกไม่ได้เห็นบทบาทของแม่เรื่องนี้
และลูกเองซึ่งเป็น คนที่ติดแม่ไปนั้น ก็ไม่ได้มีบทบาท
กับการแก้ปัญหาซึ่งกันและกันในครอบครัวด้วย คือแก้ปัญหาแบบเด็ก
เรื่องสื่อสารที่ ครอบครัวจะต้องสื่อสารเข้าใจกันและกัน
หรือคนมาจากครอบครัวเดียวกัน มองหน้าก็รู้ว่าต้องการอะไร
แต่ว่าครอบครัว ที่มีความแตกต่างกันเยอะ เรื่องสื่อสาร
แม้กระทั่งภาษาเดียวกันก็ยังมีปัญหา บทบาทตรงนี้มีปัญหา
เรื่องของความตอบสนองความต้องการทางอารมณ์
ก็ค่อนข้างที่จะยากเหมือนกัน

เพราะผู้ชายกับภรรยา ไม่ได้มี
ความคาดหมายในทางอารมณ์ที่เกี่ยวกับเพศอย่างเดียว

แต่ในหลายครั้ง ที่ภรรยา คิดว่าตัวเองอยู่ในฐานะที่ด้อยกว่า
จะตอบสนองในทางอารมณ์เศร้า เครียด มีปัญหา
กับการเป็นคนในสังคมเค้าไม่ได้

เพราะฉะนั้น ผู้หญิงไม่ได้ทำบทบาท
ตรงนี้กับสามีต่างชาติมากนัก

รวมทั้ง ผู้ชายเองก็ไม่ได้ทำบทบาทนี้ให้กับภรรยา
เพราะส่วนใหญ่ของชีวิตภรรยา

เค้าไม่ได้ รับรู้มาก่อน จึงเรียกได้ว่า
สัมพันธภาพของคนในครอบครัวผสม

จะมีปัญหาในเรื่องของพันธกิจที่จะต้องทำอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้นเรื่องของลูกวัยรุ่น

ซึ่งมักเป็นวัยที่ปัญหาต่างๆ มันแสดงออกมาชัดเจน
เพราะสมัยก่อนเด็กเล็กๆ ยังสื่อสาร

ไม่ค่อยได้ เรี่ยวแรงยังไม่ค่อยมี
กิจกรรมพิเศษยังไม่ได้ทำ

ไม่ได้มีเพื่อนที่ทำอะไรให้ตัวเองได้หลายอย่าง
พฤติกรรมของ
เด็กวัยรุ่นที่ต้องการหนีให้ไกลจากพ่อแม่
การต่อต้านพ่อแม่ยังไม่ชัดเจน

เพราะฉะนั้น มาชัดเจนตอนวัยรุ่น
อย่างที่บอกคือพันธกิจที่ครอบครัวต้องทำต่อกัน

โดยเฉพาะเรื่องสื่อสาร มันสะสมมาและมีปัญหาอยู่
การจะป้องกันความรุนแรงของปัญหาให้ลดลงก็คือ
เพิ่มช่องการสื่อสาร

ให้เวลาแก่กันและกัน ให้เวลาอยู่ที่บ้าน และได้เห็น
บทบาทของแม่
ในการที่จะเป็นผู้นำ
เป็นตัวอย่าง ทำในสิ่งที่คนที่เป็นสามี
ให้การยอมรับ
ผู้ชายที่แต่งงานกับผู้หญิงต่างชาติ
บางคนเค้าก็อยากให้ผู้หญิงมีความรู้สึกว่า

เพราะเค้าน่ะที่รักคุณ เค้าน่ะสำคัญกับ
ชีวิตคุณ เค้าน่ะที่แก้ปัญหาให้คุณ

เค้าเก่ง เป็นผู้นำ อดทนและเสียสละ
เพื่อเป็นการเพิ่มคุณค่าของตัวเอง

ถ้าเราพูดว่า Everybody is equal (ทุกคนเท่าเทียมกัน)
ถ้าผู้หญิง อยู่ในฐานะที่ผู้หญิงทำตัวให้เสมือนผู้ชายที่เป็นสามี
ก็คงพอจะมีหวังที่จะคุยกับลูกวัยรุ่นผู้ชายได้ แต่ว่าในสังคมผสม
การที่จะให้ผู้หญิงคนหนึ่ง จะมีความรู้สึกสมดุลย์ มั่นใจขนาดนั้น
ไม่ใช่เรื่องง่าย ก็อย่างที่พูดไปแล้วว่า
ผู้หญิงจะรู้สึกว่าชีวิตตัวเองประสบความสำเร็จ

ถ้ามี ความสัมพันธ์ที่ดีกับคนที่ตัวเองรู้จัก
แต่ผู้หญิงที่ไปทำงานอยู่ต่างประเทศ

คงไม่มีเปอร์เซ็นต์มาก ที่ทำงาน แล้วมีความรู้สึกว่า
มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนที่ทำงานด้วย
เค้ายอมรับ เค้าให้โอกาส เรื่องนี้

พวกเค้าอาจจะขาด และการที่ผู้หญิงไทย เป็นคนถ่อมตัวด้วย
เป็นคนที่พยายามที่จะอยู่อย่างสงบ ไม่สร้างปัญหา ไม่หาประเด็น
ในเรื่องที่ตัวเองไม่รู้มากพอ ไม่มั่นใจที่จะพูด ผู้หญิงไทยส่วนใหญ่
เลือกที่จะไม่พูด จะเป็นคนสงบเสงี่ยม และมันไม่ตรง
กับสภาพของวัยรุ่นผู้ชาย ที่ต้องการตัวอย่าง
เด็กผู้ชายต้องการสีสันจากคนที่เค้ารัก ชัดเจนกว่านั้น
เค้าก็จะบอกว่า แม่ก็ไม่ฟังอะไร และกับพ่อ ซึ่งไม่ใช่พ่อแท้ๆ
ก็จะเป็นคนอื่นไป จึงเป็นว่าเด็กอาจจะไม่ค่อยนับถือแม่
แต่รักแม่น่ะ คำแนะนำก็คือว่า ในบางเรื่อง
แม่ต้องยกตัวเองให้เหนือลูก ต้องบอกตัวเองอยู่เสมอว่า
ฉันคือแม่ ฉันมาอยู่ที่นี่ ฉันเข้าใจความยุ่งยากของชีวิตที่นี่
ฉันเสียสละเพื่อลูก ฉันมีความระวังให้กับลูก
และมีแต่ความปรารถนาดี เพราะฉะนั้น
ในความเป็นแม่ที่เสียสละขนาดนี้

ถือเป็นอำนาจที่จะเรียกร้องความนับถือจากลูกได้
แต่เราไม่ทำกับลูกผู้ชาย เพราะแม่บางคนคิดว่า
โถ...อย่าไปว่าอะไรลูกเลย อาจจะเป็นความผิดของเราก็ได้
ที่ทำให้เค้าต้องระหกระเหินมาอยู่นี่ เค้าอยู่ที่โน่น
เค้ามีญาติพี่น้อง ถ้าเราเลือกคนที่ไปแต่งงานด้วยถูก
ลูกก็อาจจะยังมีพ่ออยู่ก็ได้ ผู้หญิงที่หย่าร้าง
ก็จะคิดอย่างนั้น คิดว่าตัวเองไม่ดีพอ ที่จะไปสั่งสอนอะไรลูก
ซึ่งได้บอกไปแล้วว่า ผู้หญิงต้องรู้ว่าสิ่งที่เราทำให้ลูก นั้น มากแค่ไหน
เพราะฉะนั้นการเรียกร้อง การยอมรับ การรับฟัง จากลูก ก็ไม่เห็นผิดอะไร
และควรทำ เพราะไม่เช่นนั้น ลูกจะเหลือใคร ที่ลูกจะยึดเอาไว้ได้
เพราะฉะนั้นแม่จะต้องทำ และเพิ่มพูนตัวเองให้มากๆ
พูดเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับลูกต้องพูดได้ โรงเรียนของลูก เพื่อน
หนังสือของลูก เพื่อนมาบ้านได้ไหม
ทำให้เรามีความหมาย กับเพื่อนของลูก
พยายามรักษาความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก
แม่จะต้องทำงานหนักหน่อย ที่จะซื้อใจเพื่อนลูก
ถ้าลูก มีเพื่อนดี พ่อแม่ก็สบายใจ เปิดโอกาสให้ลูกสร้างเพื่อนของตัวเอง
แต่ถ้าลูกไม่มีเพื่อน มันทุกข์ใจนะ ช่วยลูกเรื่องภาษา
และการที่เด็กเรียนหนังสือดี ก็จะได้รับการยอมรับจากเพื่อนด้วย
พูดถึงความเป็นครอบครัวไทย ความเด่นของเรา
คือแม่ต้องภูมิใจในความเป็นไทยของตัวเอง เมื่อยามที่พ่อแม่เลิกกันนั้น
จิตใจลูกเค้าก็บอบช้ำพออยู่แล้ว ที่นี้การที่แม่มีสามีใหม่
เด็กเค้าก็มีปัญหาเก็บกด เค้าจะดูนะค่ะว่า แม่จะรักใครมากกว่ากัน
ส่วนเด็กลูกติดที่ไม่ค่อยเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยนั้น
ก็เพราะเด็กต้องการออกไปพึ่งตัวเองให้เร็วที่สุด รู้สึกอึดอัด
ว่าอยู่ในที่ๆ ไม่ได้เป็นบ้านของเค้าอย่างแท้จริง
เค้าอยากออกไปข้างนอกเพื่อจะไปพึ่งตัวเอง
ไม่ต้องอยู่ในความพึ่งพา อุปถัมภ์เลี้ยงดูกำหนดควบคุมของใคร
เพราะฉะนั้นเด็กก็จะเรียนน้อยอยู่แล้ว และอีกอย่างแรงสนับสนุน
ครึ่งหนึ่งจาก พ่อแท้ๆ ของเค้านั้น ก็ไม่มีแล้ว คือเด็กเนี่ยะ
จะทำอะไรตามที่ผู้ใหญ่ต้องการ เค้ายังมองไม่เห็นว่า
ถ้าเรียนอย่างนี้นะ อนาคตจะเป็นอย่างนั้น
คือเด็กยังไม่เคยอยู่ในอนาคต มันเป็นภาพที่ผู้ใหญ่ต้องวาดให้
ในเมื่อเด็กขาดพ่อ ก็เหมือน ขาดแรงสนับสนุนไปครึ่งหนึ่งแล้ว
หรืออาจจะเป็นไปได้ว่า เค้าก็ไม่ได้รู้สึกว่า
ชีวิตเค้าจะดีไปกว่านี้เท่าไหร่ เพราะคนที่จะสนับสนุน
เค้าให้มีความรู้สึกอย่างนี้ หายไปแล้ว 50 เปอร์เซ็นต์
คือพ่อที่แท้จริงของเค้า เหลืออีกครึ่งหนึ่ง คือแม่
และถ้าแม่ไปมีลูกใหม่ ถึงแม้ว่าจะไม่เสียค่าเล่าเรียน
แต่แรงสนับสนุนมันไม่มี เพราะฉะนั้น เด็กที่พ่อแม่เลิกกัน
ไม่ต้องทำวิจัย ก็พอจะมองเห็นว่าอนาคตทางการศึกษานั้นไม่ค่อยสูงเท่าไหร่
และยิ่งถ้าเป็นช่วงที่แม่ท้อง แล้วอยู่ในสภาพจิตใจที่ไม่ปกติ
มีความเครียด กังวัล กลัว ไม่เห็นคุณค่าตัวเอง
เด็กก็เติบใตมาในสภาพสิ่งแวดล้อมทางด้านร่างกาย
ทางด้านฮอร์โมนของแม่ ในขณะนั้น มันไม่ปกติหรอกนะ
เด็กจะมีปัญหาเรื่องอารมภ์ คือแม่ต้องมีความมั่นใจ ในตัวเอง
ที่จะส่งเสริมการเรียนของลูก แม่ก็อยากให้ลูกเรียนสูงๆ
เพราะรู้ว่าการเรียนนั้นเป็นทางรอดของลูก แต่ถ้าแม่ไม่รู้ถึงวิธี
ที่จะช่วยลูกเรียน ที่จะแนะแนวลูก สร้างแรงจูงใจ ให้กำลังใจ
ที่จะส่งเสริมลูก และหาตัวอย่างดีๆให้ลูก สร้างภาพที่ดีให้ลูก
พาเพื่อนดีๆ มานั่งคุยกัน ให้ลูกได้เห็น ได้รู้ถึงอาชีพต่างๆ
ให้ลูกเห็นว่าอยากเป็นเหมือนเพื่อนแม่คนนี้
อยากเป็นเหมือนเพื่อนพ่อคนนั้น
ตัวแม่ต้องยอมเสียสละอย่างมาก ซึ่งอย่างน้อยก็จะเป็นการช่วยได้อีกทางหนึ่ง
รายการรักลูกให้ถูกทางนั้น มีคนแนะนำให้ ไปสัมภาษณ์เด็กที่สอบเข้าแพทย์ได้
แต่เราไม่สัมภาษณ์ เพราะรู้ว่า พ่อแม่กลุ่มนี้จะทำให้ลูกเยอะมาก
และรู้ว่าพ่อแม่ที่มีลูกเก่ง จะให้กำลังใจ แนวทาง กำหนดกิจกรรมให้ลูก
แต่เด็กก็ จะจัดเวลาเองด้วย เพราะเด็กเค้ามีกำลังใจเต็มที่ มีแรงจูงใจที่ดี
ถาม: อีกประเด็นหนึ่งก็คือ เด็กลูกติดแม่ และเด็กลูกครึ่งเอง
เมื่อย่างเข้าสู่วัยเรียน (5 ขวบขึ้นไป) จะไม่ค่อยยอมพูด
ภาษาไทยแล้ว เด็กบางคนบอกว่า เพื่อนที่โรงเรียนล้อว่าพูดภาษาที่ไม่รู้เรื่อง
ทำให้เด็กอาย ไม่กล้าที่จะพูดภาษาไทยอีก เป็นปัญหาหนักใจ
ให้กับหลายครอบครัว เพราะแม่อยากให้ลูกพูดภาษาไทย
เพื่อที่จะสื่อสาร กับญาติพี่น้องที่เมืองไทยได้ พ่อ-แม่จะให้ กำลังใจ
หรือมีวิธีการอย่างไร ให้เด็กใช้ภาษาไทย ได้เหมือนๆ กับภาษาเยอรมัน"
ตอบ: เวลาที่เราอยู่เมืองนอกการสื่อสารของภาษานั้น
เวลาเราฟังภาษานั้นมากๆ ทำให้เราคิดได้ว่าความคิด ที่มาจาก
ภาษานั้น เป็นความคิดที่ถูก เหมือนกับถูกล้างสมอง
เพราะในสังคมของเรา อยู่ที่โน่นไม่มีคนไทย
สามีก็พูดเยอรมันกับเรา และ ต้องการ พูดเยอรมันกับลูก
เมื่อเราใช้และฟังภาษาอะไรมากๆ เมื่อภาษานั้นถูกพูดมา
โดยที่มีสถานภาพเหนือกว่าเรา
เราจะคิดว่า ความคิด หรือความรู้ที่ผ่านมาจากภาษานั้นถูก
เหนือความคิดของเรา เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่า
คนจะเชื่อ และเห็นว่า คนที่พูดมากฉลาด
คนที่ไม่ค่อยพูดนั้น ไม่คิดว่าฉลาด
เพราะไม่ได้อยู่ภายใต้อิทธิพลของการใช้ภาษา
และการ ที่เราอยู่เมืองนอก พูด เขียน
เยอรมันหมด ผู้หญิงที่มีลูกติดไปนั้น
ต้องเตรียมตัวเตรียมใจ และคุยกับสามีก่อน ด้วย
เพราะไม่งั้นลูกจะรับไม่ได้ และถ้าเรามีลูกใหม่กับสามี
ก็ต้องบอกว่าวันนี้ฉันจะพูดไทยกับลูกน่ะ บางวันก็ต้องเข้มกับลูก
และยิ่งเป็นลูกติดแม่ ด้วยแล้ว ก็รู้อยู่ว่าเค้าจะมีปัญหา
แม่จะต้องเป็นสื่อกลางที่ดี ระหว่างสามีกับลูก
แม่จะต้องมี ความภูมิใจในตัวเอง แม่ต้องติดต่อสื่อสารกับคนไทย
แม่จะต้องไม่ลืมความเป็นไทย เพราะนั้นคือ จิตวิญญาณของลูก
และนั้นคือครึ่งตัวของลูก จะเป็นครึ่งหนึ่งของพ่อก็ไม่ได้แล้ว
แม่ก็ไปแต่งงานกับสามีใหม่ เพราะฉะนั้นในตัวเด็กเค้าไม่เหลืออะไรเลย
อาจารย์รู้จักพ่อแม่ ที่จบหมอ ส่งลูกเรียน ที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวริด
เค้าก็พูดภาษาอังกฤษกับลูก ไม่ได้ดูถูกภาษาไทย
เพียงแต่เค้าคิดว่าการใช้ภาษาอังกฤษ เค้าจะสื่อสารกับลูกง่ายขึ้น
เพราะลูกเรียนต่างประเทศ และพูดภาษาอังกฤษ คล่องกว่าพูดภาษาไทย
ถ้าพูดภาษาไทย ก็พูดกับพ่อแม่เท่านั้น แต่ในต่างประเทศ
เค้าก็จะมีมารยาทอยู่ว่า หากอยู่ใน กลุ่มชาวต่างชาติ
ถึงแม้ว่าเราจะพูดภาษาไทยด้วยกันได้ แต่ด้วยมารยาทเราต้องพูด
ภาษาที่คนอื่นเข้าใจด้วย จึงกลาย เป็นว่าสะดวกใจที่จะพูดภาษาอังกฤษกับลูก
และก็รู้สึกว่าเด็กก็ไม่ได้เสียอะไร เพียงแต่ เหมือนกับว่าความเป็นวัฒนธรรม
ที่เป็นจิตวิญญาณ และความสามารถ ในการใช้ภาษาที่ดี
อีกภาษาหนึ่งนั้นเสียไปโดยน่าเสียดาย แต่ก็ต้องเข้าใจว่า
การที่ จะให้ลูกใช้ภาษาไทยนั้น ไม่ใช่เพียงแต่บอกลูก
ให้ใช้ภาษาไทย แต่การที่ใช้ภาษาไทย มันเป็นประโยชน์อะไรกับแม่ล่ะ
ใช้ในการอ่านตำราอาหารภาษาไทย ที่กำลังเป็นที่นิยมของทั่วโลก
บทบาทนี้ก็ของแม่อีกเต็มๆ แต่ถ้าเด็กเค้าไม่รับ ก็คิดซะว่า
อย่าทำชีวิตให้มันลำบากนักเลย ขอให้เค้าเป็นคนดีก็พอแล้ว
ถาม: ทราบมาว่าอาจารย์เป็น ที่ปรึกษาของ มูลนิธิ เทียม โชคพัฒนา
ในโครงการทุนการศึกษาช่วยเหลือเด็กภาคอีสานนั้น
โครงการนี้มีความเป็นมาอย่างไรค่ะ ตอบ: ดร.เทียม โชคพัฒนา
ท่านเสียไปนานแล้ว พอท่านเสียลูกหลานก็ทำต่อกันมา
ซึ่งมูลนิธินี้เริ่มมาเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว โดยในส่วนของทุนการศึกษานั้น
เป็นทุนการศึกษาให้ครั้งเดียว โดยครูส่งชื่อเข้ามา หรือส่งรูป
ข้อมูลเข้ามา นั้นเป็นทุนครั้งเดียว ส่วนทุนสามปี คือให้ ม.1 ถึง ม.3
พี่แอ๋วคิดรูปแบบนี้มาเอง เพราะคิดว่า
พอการศึกษาเพิ่มระยะเวลาออกไปเป็นเก้าปีนั้น

ไม่ได้มีคนไปดู หรือประเมินจริงๆว่า เด็กที่จบ ป.6 แล้วนั้น
จะได้เรียนต่อ ถึง ม.3 หรือไม่

เพราะฉะนั้นเด็กที่ยากจนก็จะเรียนไม่จบ ม.3 หรอก
เพราะว่าพอจบ ป.6 แล้ว

อายุประมาณ 13 ปี ก็พอมีเรี่ยวแรงทำงานได้
มีลักษณะรูปแบบของการใช้แรงงานในเมืองไทย

ที่ทำให้เด็กอายุเท่านี้ ก็ยังได้รับการจ้างงาน เด็กป.6
ส่วนใหญ่ก็คิดว่าจะไปตายเอาดาบหน้า
น้า ป้าเค้า ก็ดูลูกเค้า ปู่ย่า ตายายก็แก่ สุขภาพไม่ดี
กลายเป็นภาระของเด็ก ก็เลยทำให้ชีวิตของการอยู่ บ้านนั้น
เป็นชีวิตของทาส เด็กคือทาส ทาสด้วยความรักต่อญาติ
ทาสที่ตัวเองไม่มีอะไร ไม่มีใครที่จะมาบอกว่า
นี่ลูกฉันน่ะ เพราะทุกคนไม่อยู่ เด็กจะไม่เห็นว่า
การที่อยู่ต่างจังหวัดเป็นเรื่องที่น่าปรารถนาเลย
เพราะอยู่ต่างจังหวัดงานเยอะมากทั้งเรียนหนังสือ ตักน้ำ เลี้ยงควาย
เลี้ยงน้อง เป็นคนใช้ให้น้า หาข้าวให้ทวด ให้ย่า เป็นบริวารให้ครู
ข้าวไม่มีกิน หิว สกปรกไม่มีคนดูแลทางจิตใจเลย
ผลก็คือว่าเด็กจะไม่ได้เรียนต่อเนื่อง
และเนื่องจากว่าเด็กเป็นอย่างนี้แล้ว
ผู้ใหญ่ที่มีการศึกษาดี ผู้ใหญ่ที่พอที่จะเป็นแรงจูงใจให้ได้ก็ไม่มี
เด็กไม่เหลือใคร เพราะฉะนั้นก็คือว่าการให้ทุนแบบนี้
ในโครงสร้างก็ต้องหาคน ประคบตัวเด็ก คือครูแนะแนว
ถูกดึงเข้ามา เพราะครูจะต้องเบิกเงินร่วมกับเด็ก
เนื่องจากเบิกเงินร่วมกับเด็ก ก็เท่ากับมีธุระต้องเจอหน้าเจอตากัน
กลายเป็นว่าเด็กคนนั้นได้ผู้ใหญ่ ประกบตัวเค้าอยู่หนึ่งคน
ตลอดระยะเวลาสามปี เพราะฉะนั้น แล้วทุนนี้
ทำให้เด็กได้เรียนต่อจนจบอีกสามปี และมีผู้ใหญ่ดูแลเค้าด้วย
ทำให้เค้ามีทักษะ หรือมีความมั่นใจ พอที่จะทำงานอาชีพได้ไม่ถูกเอาเปรียบ
รักษาสิทธิของเค้าเองได้ รูปแบบนี้เราเริ่มต้นมาเข้าปีที่เจ็ดแล้ว
จบไปแล้วรุ่นหนึ่ง อาจจะสงสัยว่าทำไมจบไปรุ่นหนึ่ง
เพราะตอนแรกที่เริ่มทำนั้น มูลนิธิเค้าให้ลองดูก่อนว่า
สามปีแล้วจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นในสามปีนั้นถึงเด็กจะขึ้นม.2 ไป
เราก็ไม่ได้หาเด็ก ม.1 ขึ้นมาแทน เราดูกระทั่งจบ
แล้วเราประเมินผลปรากฏว่าเด็กเรียนจบ 98 เปอร์เซ็นต์
มีตกหล่นหายไปแค่ สอง เปอร์เซ็นต์ ในจำนวน 150 คน
มูลนิธิก็จึงให้ทำต่อไป คือปีละสองร้อยคน และพออีกปีหนึ่งเราก็คัด ป.6 มาขึ้นม.1
สวมแทน เพราะฉะนั้นในปีที่สอง จะมีเด็กในส่วนของเรา 400 คน
พอสามปีก็เป็น 600 คน สวมไปเรื่อยๆ ปีนี้เป็นปีที่เจ็ด สามปีแรกก็จบไปใช่ไหม
เท่ากับว่า ตอนนี้เรามีเด็กที่กำลังจะจบ ม.3 รุ่นแรกกำลังจะออกไป
เพราะเราไปคัดเด็กที่กำลังจะขึ้นมาแทน ม.1 เป็นรุ่นที่สี่ คือเด็กเค้าแร้นแค้น
มากกว่ายากจน เด็กบางคนพิการด้วย ปู่ย่า ตายายพิการ
บางคนพ่อแม่ตายทั้งคู่ก็มี เป็น ทุนละสองพันบาท ต่อหนึ่งปี
แต่ตอนนี้เรามีโครงการใหม่ ด้วยคือ ทุนละ หนึ่งพันบาท
คือเด็กบางคนก็มีอาชีพเสริมด้วย โดยปกติมูลนิธิฯ ให้งบปีละ
แค่สองร้อยคน แต่พี่แอ๋วคัดเด็กมาได้ถึง 350 คน มูลนิธิฯจึ
ขอมาว่าเค้าจะยังไม่ช่วยในจำนวนที่เกินงบมา 150 คน
ให้พี่แอ๋วจัดการเอง เพราะฉะนั้นจึงได้มี หลายๆ ท่าน
ช่วยกันบริจาค และก็ยังมีกลุ่มนักศึกษาไทยเยอรมัน
ที่เมืองไฮเดลแบร์ก โดยคุณเม้ง ซึ่งกำลังศึกษาปริญญาเอกที่นั่น
ร่วมช่วยหาทุนจากคนไทยที่โน่น และนำมามอบให้กับพี่แอ๋วด้วยตนเอง
และโชคดีที่ในช่วงนี้เริ่มมีคนในหมู่บ้านที่เรียนจบครู
แล้วกลับไปสอนที่หมู่บ้านตัวเอง ซึ่งครูเค้าเป็นคนในพื้นที่
และรู้ถึงสภาพของเด็กแต่ละครอบครัว จึงทำให้เรามีตัวแทนที่แท้จริงๆ
ดูแลและรู้สภาพเด็กว่า เด็กคนไหนครอบครัวยากจนแร้นแค้น
จริงๆ เด็กคนไหนที่พ่อแม่ตาย แต่พี่แอ๋วก็ต้องลงไปดูพื้นที่เองด้วย
ไม่งั้นเราจะไม่รู้จริง ถึงแม้ว่าทางมูลนิธิฯ อาจจะมีงบเพิ่มให้ในปีต่อๆ ไป
แต่โดยสภาพความเป็นจริงแล้วนั้น
ยังมีเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือมากกว่างบของมูลนิธิฯ อีกมาก
ก็จะพยายามช่วยให้เด็กๆ เค้ามีการศึกษากันให้มากที่สุดค่ะ

ติดต่อสอบถามรายละเอียดทุนการศึกษาได้ที่ ไทยไลฟ์ เยอรมนี