Custom Search

Nov 25, 2009

สร้างบ้านดีกว่าป่วนเมือง




วรากรณ์ สามโกเศศ
มติชน
วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552


เห็นภาพอดีตประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ และภรรยา
ทำงานแบกหามร่วมกับอาสาสมัคร
นับพันคน
สร้างบ้านให้คนไทยที่เชียงใหม่แล้ว
รู้สึกปลาบปลื้มในการเป็นผู้นำ
ให้เกิดมีจิตสาธารณะของอดีตผู้นำ


ใครที่เข้าไปในสนามบินเชียงใหม่

เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานี้
จะเห็นป้ายอันใหญ่ต้อนรับอาสาสมัครจากทั่วโลก
และอดีตประธานาธิบดีและภรรยา

โดยมีนักศึกษาอาสาสมัครจากมหาวิทยาลัยถือป้ายต้อนรับ
เพื่อนอาสาสมัครจาก 25 ประเทศ รวม 3,000 คน

เพื่อลงทะเบียนและพาไปยังสถานที่ก่อสร้างบ้าน

โครงการ ใหญ่นี้มีชื่อว่า Habitat for Humanity
ซึ่งสร้างบ้านให้คนอยู่ทั่วโลก 1 หลังทุก 19 นาที
และภายใต้โครงการใหญ่นี้

อดีตประธานาธิบดีและภรรยาก็ไปร่วมด้วย
โดยมีโครงการเล็กๆ ที่นำโดยตนเอง เรียกว่า

Jimmy and Rosalynn Carter Work Project
ในครั้งนี้มาสร้างบ้านรวม 82 หลัง
ให้คนไทยที่อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่


ทั้งสองสามีภรรยาสละเวลาปีละหนึ่งอาทิตย์เต็มเพื่อ
ลงสนามก่อสร้างบ้าน
และปีนี้เลือกที่จะลงสนามที่เชียงใหม่
ภาพที่เห็นคือทั้งสองซึ่งอยู่ในวัย 80 กว่า

(อดีตประธานาธิบดีมีอายุครบ 86 ปีเต็ม)
แต่งชุดผู้ใช้แรงงานสวมถุงมือและลงมือช่วยเรียงอิฐ
ฉาบปูนเคียงข้างอาสาสมัครเอกอัครราชทูตสหรัฐ
ประจำประเทศไทย (อีริค จอห์น)
และผู้ที่จะเป็นเจ้าของบ้าน ทั้งสองมิได้เพิ่งทำเช่นนี้
หากเริ่มแบ่งเวลาหนึ่งอาทิตย์ต่อปีลงทำงานในสนาม
ตั้งแต่ ค.ศ.1984หรือ 25 ปีมาแล้ว
โดยสร้างบ้านในอินเดีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ แคนาดา
สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก ฮังการี แอฟริกาใต้ ฯลฯ

วิธีการของ Habitat for Humanity
ก็คือผู้สมัครที่อยากได้บ้านทุกคนต้องแสดงความจริงใจ
ก่อนด้วยการเข้าร่วมใน
โครงการก่อสร้างบ้านโดยลงมือทำงานก่อสร้าง
คนละไม่ต่ำกว่า 400 ชั่วโมง
ร่วมกับอาสาสมัครเพื่อให้รู้ว่าใคร "เป็นหมู่หรือจ่า"
ซึ่งในที่สุดก็จะเหลืออยู่แต่ผู้ที่มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าเท่านั้น
โครงการให้ทุกคนร่วมจ่ายเงินเพื่อให้รู้สึกว่าเป็นเจ้าของบ้านและรู้สึกหวง แหน
ไม่ปล่อยให้รกร้างหรือทิ้งไปหลังจากได้บ้านแล้ว


บ้านหลังหนึ่ง พร้อมที่ดินมีราคา 185,000 บาท
ผู้เข้าร่วมโครงการต้องร่วมจ่ายเงินดาวน์ 30,000 บาท
โดยผ่อนเล็กๆ น้อยๆ ไปกับเงินที่เหลือซึ่งผ่อนได้ยาวถึงกว่า 10 ปี
โดยไม่มีดอกเบี้ยเพื่อจะได้เอาเงินไปสร้างบ้านให้คนอื่นต่อไปอีก
โครงการที่เชียงใหม่นี้ตอนเริ่มต้นมีผู้สมัคร 400 คน
หลังจากการ "พิสูจน์หมู่-จ่า" แล้วเหลือ 82 คน


อุบายของการต้องร่วมสร้างก่อนได้ บ้านนี้เรียกว่า "sweat equity"
(เอาเหงื่อมาร่วมทุน) ซึ่งทำให้เจ้าของบ้านมีความภาคภูมิใจ
และรู้สึกว่าตนเองมีศักดิ์ศรี เพราะไม่ได้มาโดยใครให้
หากมีส่วนร่วมในการสร้างด้วย
อดีตประธานาธิบดีบอกว่าจะพยายามกลับไปดูบ้านเก่าที่สร้างเสมอ
และเท่าที่เห็นไม่มีใครละทิ้งบ้านเพราะทุกคนภาคภูมิใจในบ้านของตนเอง


องค์กร Habitat for Humanity International ก่อตั้งใน ค.ศ.1976
โดยตั้งใจจัดหาบ้านให้ผู้ไม่มีเงินจะซื้อบ้านในลักษณะปกติ
ถึงปัจจุบันสร้างไปแล้ว 300,000 หลัง
สำหรับผู้อยู่อาศัย 1.5 ล้านคน ใน 6 ทวีป ในปี 1983
ก็มาเปิดในเอเชียแปซิฟิกและได้ช่วยสร้างหรือ
ซ่อมแซมบ้านไป 86,000 หลัง
ให้ผู้อยู่อาศัย 430,000 คน ใน 5 ปีข้างหน้า
คาดว่าจะสร้างบ้านได้ 50,000 หลัง
ให้แก่ผู้คนในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง


สำหรับองค์กร Habitat for Humanity Thailand
ตั้งขึ้นใน ค.ศ.1998 จวบจนถึงปัจจุบันสร้างบ้านไปแล้ว 5,000 หลัง
ให้ผู้อยู่อาศัย 25,000 คน ใน 23 จังหวัด
ได้มีการวางแผนว่าก่อนถึง ค.ศ.2011 จะสร้างอีก 5,000 หลัง


องค์กร เหล่านี้มิได้มุ่งหวังกำไร และอยู่ได้ด้วยความมี
จิตสาธารณะ (Public-mindedness) หรือ
การตระหนักถึงประโยชน์ของสังคมและ
ความมีจิตอาสาสมัคร (Volunteerism)
ของผู้คนจำนวนมากในโลกที่ไม่คิดถึงแต่ตนเอง
หากมีความสุขจากการทำสิ่งดีๆ ให้คนอื่น
และมีความสุขใจจากความรู้สึกว่าตนเองเป็นคนมีคุณค่า
กระทำสิ่งที่มีความหมายและเกิดความเคารพตนเอง


ประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ ให้สัมภาษณ์
Bangkok Post ว่า
งานที่ทำนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานที่ท่านทำให้สังคม
อีกส่วนที่สำคัญคืองานของ Carter Center ใน 70 ประเทศ
งานสำคัญๆ ก็คือสนับสนุนให้เกิดการเลือกตั้งโดยได้
เกี่ยวพันกับการเลือกตั้งมาทั้งหมด 77 ครั้งในประเทศต่างๆ ทั่วโลก


อีกเรื่องหนึ่งก็คือการพยายามกำจัด
บางโรคที่ประเทศพัฒนาแล้ว
ไม่รู้จักให้สูญไปจากโลกซึ่งโรคที่กำลังจะสามารถ
กำจัดให้หายไปก็คือโรค Guinea Worm (GWD)
(โรคติดเชื้อซึ่งทำให้เจ็บปวดมากโดยเกิดจากตัวหนอน)
ซึ่งเคยมีถึง 3.6 ล้านกรณี ใน 20 ประเทศ
ปัจจุบันเหลือเพียง 3,000 กรณีทั่วโลก
อดีตประธานาธิบดีเชื่อว่าด้วยงานของ Carter center
โรคนี้จะเป็นโรคที่สองที่มนุษย์ปราบได้สำเร็จราบคาบ
ถัดจากโรคฝีดาษที่โลกได้ร่วมกันปราบได้สำเร็จเมื่อ 32 ปีก่อน


อะไร ที่ทำให้คนในวัย 86 ปียังมีไฟ
ทำงานหนักเพื่อมนุษยชาติ
ทั้งๆ ที่สามารถอยู่ได้อย่างสบายๆ
พร้อมกับเกียรติจากรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ
คำตอบก็คือมีความสุขที่ได้ทำสิ่งดีๆ ให้คนอื่น
และสุขใจเมื่อเห็นคนมีบ้านเป็นของตนเองอย่างภาคภูมิใจ
ความรู้สึกเช่นนี้บอกกันไม่ได้ต้องไปทำเองจึงจะรู้


มีเด็กและนัก ศึกษาบ้านเราจำนวนมากมาย
ที่อยากทำงานอาสาสมัคร
และอยากมีความสุขเยี่ยงนี้
เสียดายที่บ้านเราไม่ค่อยได้รับ
ความสนับสนุนจากผู้ใหญ่เพราะไม่สนใจหรือไม่ แคร์
จนไม่มีเวทีให้เล่นจนต้องไปใช้ศูนย์การค้า
ถนนเป็นที่แข่งรถ โรงหนัง ฯลฯ เป็นเวทีแทน
เป็นที่น่าเสียดายที่พืชพันธุ์แห่งความดี
ซึ่งมีอยู่ในใจเด็กทุกคนไม่ได้รับการตอบสนอง

เมื่อเปรียบเทียบ
อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกากับนายกรัฐมนตรีไทยแล้ว
ให้รู้สึกสะท้อนใจ อดีตนายกรัฐมนตรีไทยหลายท่าน
ทำงานเสียสละเพื่อชาติอย่างแท้จริง
แต่มีบางท่านนอกจากจะไม่อยู่เฉยๆ แล้วยังช่วยเหยียบชาติซ้ำ
เพราะเห็นแก่ผลประโยชน์ บ้างก็ต้องการทำให้บ้านเมืองปั่นป่วน
ไม่ได้คำนึงถึงใครนอกจากกระเป๋าและประโยชน์ของตนเองเป็นที่ตั้ง
ถึงแม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าช่วงเวลานี้คนไทยมีความห่วงใย
ไม่สุขใจเพียงใดกับพระพลานามัยขององค์พระประมุขของชาติ


สุขภาวะของร่างกายผูกพันกับความ
รู้สึกทางใจและความแข็งแรงของร่างกาย
ไม่เคยรู้บ้างหรือว่าความปั่นป่วน
ที่กำลังจะทำให้เกิดขึ้นนี้จะเป็นผลเสีย
อย่างไรต่อพระพลานามัย หรือว่ารู้แต่ก็ไม่แคร์


หน้า 6