Custom Search

May 30, 2009

ของใกล้มือ


คอลัมน์ แท็งก์ความคิด

นฤตย์ เสกธีระ

max@matichon.co.th

มติชน

วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2552


มีโอกาสขึ้นเหนืออีกแล้วครับท่าน จังหวัดที่แวะพักยังคงเป็น
จังหวัดแหล่งประวัติศาสตร์เหมือนเดิม
อย่าง
"อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร"
เมืองที่คนโบราณค้นพบศิลาแลงที่แข็งประดุจเพชร

นำมาก่อเป็นกำแพงเมืองเพื่อป้องกันอริราชศัตรู หรือ "ศรีสัชนาลัย"
เมื
องคู่บุญบารมีกับสุโขทัย แม้แลดูจะมีศักดิ์ด้อยกว่า
เพราะเจ้าผู้ปกครองมักเป็น"พระรอง"

จากเจ้าเมืองกรุงสุโขทัย แต่เมื่อเทียบเปรียบในเรื่องความเก๋ากึ๋กแล้ว
ศรีสัชนาลัยน่าเที่ยวน่าชมอยู่ไม่ใช่น้อยเช่นกัน

"การเดินทางครั้งนี้เป้าหมายอยู่ที่วัดศรีโคมคำ เมืองพะเยา"
"ได้ร่วมงานมหามงคลของหลวงพ่อเจ้าอาวาส"

กราบนมัสการ ได้พระศักดิ์สิทธิ์ติดมือมาแบบกำไม่ยอมแบ
โน้มนำไปบูชาที่บ้านเพื่อเป็นสิริมงคล
ขากลับยังคงแวะเวียนวัดวาอารามโบราณอีกหลายแห่ง
ทุกครั้งที่เหยียบย่างเข้าไปในวัด ความรู้สึกเย็นและสงบจะเกิดขึ้นโดยพลัน
ไม่รู้เป็นเพราะอะไร
อาจเป็นเพราะภายในเขตบริเวณวัด
เป็นสถานที่ซึ่งเรารู้สึกปลอดภัย
การเคลื่อนไหวภายในบริเวณวัด
ไม่เร่งรีบ ไม่รวบรัด
อาคารสถานที่ภายในวัด เป็นสิ่งปลูกสร้างถูกต้องตามหลักฮวงจุ้ย
คือดูทิศทางลม ทิศทางแดด เป็นอย่างดี
วัดจึงกลายเป็นสถานที่ให้ความร่มเย็นทั้งกาย และใจ
หลังจากท่องวัดเที่ยวชมพระ
พุทธรูป
และนมัสการหลวงพ่อที่เคารพไปหลายวัน

พวกเราก็กลับมาถึงกรุงเทพ
ระหว่างการเดินทางโดยรถยนต์ที่ใช้เวลานานพอควร
ได้ถือโอกาสอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง
หนังสือเล่มนี้มีคนจะโละทิ้ง
แต่พอสายตามองไปเห็น ก็รีบหยิบฉวยขึ้นมา
บอกเขาว่า
ถ้าจะทิ้งก็ขอเก็บไว้เองเถอะ
เสียดาย ! ครับ
ใครได้เห็นชื่อเรื่องของหนังสือเล่มนี้ก็ต้องเสียดายทั้งนั้นล่ะครับ

""อิทัปปัจจยตา ของท่านพุทธทาสภิกขุ""

ฉบับย่อความโดย "เช่นนั้นเอง" แม้สภาพภายนอกดูยับเยินเล็กน้อย
แต่เนื้อหาภายในยังทรงพลานุภาพ

หนังสือเล่มนี้บอกแต่เพียงว่า
"หลักอิทัปปัจจยตา คือ หัวใจของทุกสรรพสิ่ง"

"เมื่อสิ่งๆ นี้มี สิ่งๆ นี้จึงเกิด"

คำๆ นี้มันเหมือนสุดยอดของเคล็ดวิชาในหนังกำลังภายใน
"เมื่อสิ่งๆ นี้มี สิ่งๆ นี้จึงเกิด"
ฟังแล้วเท่กว่าคำพูดของโกวเล้งเสียอีก
พออ่านหนังสือเล่มนี้จบ

"สัญญา"ก็เตือนให้ระลึกถึงหนังสืออีกเล่ม
ทำให้คิดถึงหนังสือ ""สูตรของท่านเว่ย หล่าง""
ขึ้นมาอีกเล่ม
เล่มนี้ท่านพุทธทาสเป็นผู้แปล
หนังสือเล่มนั้นนอกจากจะเล่มถึงประวัติ
ของพระสังฆปริณายกองค์ที่ 6 แห่งนิกายเซนแล้ว

"ยังอธิบายเรื่อง "ความว่าง" ได้ถึงแก่น"
อ่านจบทำให้เคลิ้ม เผลอคิดแบบเซน
เมื่อใจว่าง อดีตก็จบ ปัจจุบันไม่เกิด
แล้วจะไปพูดถึงอนาคตกันทำไม

ซาโตริ !
แหะ แหะ ไม่ได้เก่งกาจอะไรหรอก
แบบว่า เลียนแบบเขามาน่ะ

แต่เมื่อเปรียบเทียบประสบการณ์
ที่ได้ท่องเหนือ
ผนวกกับหนังสือ 2 เล่มที่ยกตัวอย่างขึ้นมา
รู้สึกเห็นใจคนโบราณที่คร่ำเคร่ง
หลายคนต้องเรียนหนักว่าจะทำความเข้าใจคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ได้
พรหมณ์ต้องสืบทอดความรู้ในวรรณะกว่าจะศึกษาคัมภีร์ไตรเวชได้ครบ
พระสงฆ์ก็ต้องอ่านบาลี-สันสกฤตได้คล่องเพื่อทำความเข้าใจในธรรม
ส่วนชาวบ้านทั่วไป มีโอกาสแต่เพียงฟัง
และปฏิบัติตามเท่านั้น

ชาวบ้านหลายคนขาดโอกาสทำความเข้าใจ"เคล็ดวิชา"ในคัมภีร์
เพราะไม่รู้ภาษาชั้นสูงที่จารึกอยู่ในตำรา

ผิดกับคนสมัยปัจจุบันนี้ครับ นอกจากเราจะมีพระสงฆ์ที่สืบทอดพระธรรมคอยสอนสั่งแล้ว
เรายังมีหนังสือที่อธิบาย "เคล็ดวิชา" ในคัมภีร์พระธรรมต่างๆ ให้ทราบด้วย
"หนังสือเหล่านี้ ได้ทำเรื่องยากให้กลายเป็นเรื่องง่าย"
ทำให้เส้นทางสู่ความสงบในปัจจุบัน มีมากกว่าการฟัง และปฏิบัติตาม
"ทำให้เส้นทางสู่ความสงบ เริ่มต้นที่การศึกษาพระธรรมด้วยตัวเอง"
เมื่อศรัทธาแล้วจึงปฏิบัติ...ก็ได้
แถมวิธีที่จะนำไปสู่ความสุข ความสงบ ก็มิได้มีเพียงวิธีเดียว
ใครจะใช้วิธีแบบที่ท่านพุทธทาสสอนสั่งก็ได้
ใครจะใช้วิธีแบบที่ท่านเว่ย หล่าง ถ่ายทอดออกมาก็ได้
หรือใครจะใช้วิธีอื่นๆ ที่มีอยู่มากมายก็ได้อีกเช่นกัน
วิธีการเหล่านี้ นอกจากจะมีในหนังสือเล่มแล้ว
ยังมีปรากฏอยู่ในสื่อมวลชนแขนงต่างๆ
มีปรากฏในหนังสือพิมพ์
นิตยสาร รายการโทรทัศน์ และวิทยุ

วันนี้เส้นทางสู่ความสงบจึงมิได้อยู่ที่วัดวาอารามเพียงอย่างเดียวเหมือนสมัยโบราณ
"หนทางสู่ความสงบเดี๋ยวนี้ มีอยู่ในทุกๆ ที่รอบๆ ตัวเรา"
หากแต่บางครั้งเรามองไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่อยู่ใกล้ๆ
เหมือนคนที่มองไม่เห็นคุณค่าพ่อ แม่ พี่ น้อง ลูก เมีย สามี
และเพื่อนสนิท ที่อยู่ใกล้ๆ ตัว

เหมือนชุมชนบางชุมชนที่มองไม่เห็นคุณค่าของท้องถิ่นตัวเอง
เหมือนคนไทยบางคนที่มองไม่เห็นคุณค่าของแผ่นดิน
เหมือนมนุษย์ที่มองไม่เห็นคุณค่าของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เมื่อเรามองไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่เรามีอยู่
ก็เท่ากับเราเสียโอกาสที่จะนำคุณค่าเหล่านั้นมาใช้

ดังนั้น ก่อนจะแสวงหาคุณค่าจากที่ไกลๆ
"ลองหันค้นหาคุณค่าจากคน และสิ่งของที่อยู่รอบๆ ตัวเราก่อนก็ไม่เลวนะครับ"

สวัสดี


หน้า 17