Custom Search

May 11, 2009

การงดเว้นจากบาป


คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ

เสฐียรพงษ์ วรรณปก

มติชน

วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2552



คงต้องเสียเวลาทำความเข้าใจให้ตรงกันเสียก่อนว่า
บาป คืออะไร ผู้รู้ท่านหนึ่งอธิบายง่ายๆ แบบชาวบ้านฟังแล้วมองเห็นภาพ ว่าบาปก็คือ "อาการเสียของใจ" หรือพูดสั้นๆ ว่า "ใจเสีย"

ธรรมดาของใช้ไม้สอยที่มันใช้การไม่ได้ เราเรียกต่างๆ กัน
ถ้าบ้านเสียเราเรียกว่า บ้านชำรุด แก้วเสีย เราเรียกว่า แตก อาหารเสีย
เราเรียกว่า อาหารบูด คำว่า ชำรุด แตก บูด (หรือคำอื่นคล้ายกันนี้)
เราเรียกรวมๆ ว่า มันเสีย มันไม่ดี
จิตใจเรานี้ก็เช่นเดียวกัน
ถ้ามันเสียแล้วเราเรียกอาการมันต่างๆ กัน เช่น จิตใจเศร้าหมอง จิตเหลวไหล ใจต่ำ
ใจทราม ใจร้าย ใจดำ คำเหล่านี้บ่งบอกอาการว่า จิตหรือใจนั้นเสีย

อาการเสียของใจนี่แหละ พระท่านเรียกว่า บาป ทำอะไรลงไปแล้วถ้าจิตใจเราเสีย
เรียกว่าทำบาป
อาการ "ใจเสีย" นี้ ต้องดูลึกๆ จึงจะเห็น
แล้วอย่าเอาไปปนกับคำว่า"เสียใจ" นะครับ ประเดี๋ยวจะเข้าใจผิดไปกันใหญ่
เช่น ทำอะไรไปแล้วดีอกดีใจ เรียกว่า ทำบุญ ทำอะไรแล้วรู้สึกเสียใจ
เรียกว่า ทำบาป นั่นเข้าใจผิดแล้วครับ
ถ้าตัดสินแค่นี้
ไอ้ผู้ร้ายใจอำมหิตที่ฆ่าคนอย่างเลือดเย็นก็มีสิทธิทำบุญได้
เพราะแกฆ่าคนตายแล้วแกดีอกดีใจยังกับได้แก้ว
สรุปว่า บาปคือใจเสีย
ส่วนความเสียใจเป็นเพียงอาการของจิต การหัวเราะร้องไห้จะถือเป็นเกณฑ์ว่า
บาปหรือไม่บาปก็ไม่ได้
พูดถึงเรื่องบาป
ศาสนาอื่นๆ กับศาสนาพุทธเราเห็นไม่เหมือนกัน อย่างศาสนาคริสต์สอนว่า
พอเกิดว่าทุกคนมีบาปติดตัวมาแล้วสืบมาตั้งแต่บรรพบุรุษ
คือ อาดัมกับอีวา แกขโมยกินแอปเปิ้ลของพระเจ้าถูกพระเจ้าสาปให้มีบาปติดตัวมา
ลูกหลานอาดัมอีวาทุกคน พอร้องอุแวออกมาก็มีบาปติดตัวมาด้วยเรียกว่า
"บาปกำเนิด"และบาปนี้มนุษย์เราจะขจัดออกเองไม่ได้
ต้องอาศัยพระกรุณาของพระเจ้า
พระเจ้าไม่ให้หมดบาปก็ไม่มีสิทธิหมดว่างั้นเถอะ

ส่วนพุทธศาสนาบอกว่า บาปหรือบุญ มนุษย์ทำเอง
สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺต นาญโญ อญฺญํ วิโสธเย
ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ เป็นเรื่องเฉพาะแต่ละบุคคล
ใครจะทำให้ใครบริสุทธิ์ (หรือจะพูดแบบศาสนาอื่นก็คือ "ไถ่บาป") ไม่ได้
นตฺถิ ปาปํ อกุพฺพโต
บาปย่อมไม่มีแก่คนไม่ทำบาป ในทรรศนะพุทธ
บาปมิได้มาจากใครสาปแช่ง ใครให้มา บาปจะมีก็เพราะคนทำเอาเอง
และจะหมดบาปไปด้วยการกระทำของมนุษย์แต่ละเอง
ไม่ต้องรอให้ใครมาไถ่ให้
บางคนอาจสงสัยว่า พุทธศาสนาก็มีการไถ่บาป
เช่น การปลงอาบัติของพระนั่นไง พระทำผิดวินัยบัญญัติแล้วก็สารภาพบาปกับพระอีกรูป
และบาปที่ทำก็หมดไป มันก็อันเดียวกันกับการสารภาพบาปของคริสต์นั่นเอง

เจตนารมณ์ของการปลงอาบัติคือ ถ้ารู้ว่าตนทำผิดพระวินัยบัญญัติ
(เรียกภาษาพระว่า "ต้องอาบัติ") ให้มาสารภาพกับสักขีพยานคือ
พระอีกรูปหนึ่งว่าตนได้ผิดอะไร และให้คำมั่นว่าต่อไป
จะระมัดระวังไม่ให้เกิดความผิดพลาดเช่นนั้น คือ
หาใช่การขอให้ใครมายกความผิดนั้นออกไปได้ หรือมาไถ่ถอนให้แต่อย่างใดไม่

บาปในแง่พุทธกับแง่คริสต์ศาสนาไม่เหมือนกัน
คริสต์ถือว่ามนุษย์มีบาปที่พระเจ้าสาปให้ติดตัวมาตั้งแต่เกิด
และไม่สามารถขจัดบาปนั้นออกด้วยตนเองได้
นอกจากพระเจ้าจะกรุณานำออกให้
พุทธศาสนาถือว่าบุญหรือบาปมนุษย์ทำด้วยตัวเอง
คนทำบาปเองก็เศร้าหมองเอง ตนทำดีเองก็ผ่องแผ้วเอง
ตัวเราเป็นที่พึ่งของตัวเราเอง พูดอีกนัยหนึ่งก็ว่ามนุษย์เป็นพระเจ้าของตัวเองนั่นแล

มีผู้ถามว่าคนเราทำดีลบล้างความชั่วได้หรือไม่
หลายท่านคงตอบว่า ไม่ได้
ทำดีก็ต้องดี ทำชั่วก็ต้องชั่ว ทำดีแล้วจะกลายเป็นชั่ว
หรือทำชั่วแล้วจะกลายเป็นดีได้อย่างไร
ดูเผินๆ ก็น่าจะอย่างนั้น
แต่ถ้าคิดอีกที ทุกอย่างเป็นอนิจจัง ไม่คงที่
กฎแห่งกรรมก็เป็นอนิจจัง
กรรมก็เป็นอนิจจังเช่นเดียวกับสิ่งอื่น
นั่นคือกรรมดีย่อมกลายเป็นกรรมชั่วได้
กรรมชั่วย่อมเปลี่ยนแปงเป็นกรรมดีได้

หากทุกอย่างเที่ยงแท้
ไม่เปลี่ยนแปลงแล้วไซร้
คนเราไม่มีโอกาสพัฒนาให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
จนบรรลุมรรคผลนิพพานน่ะสิ
นี่เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้
คนจึงเปลี่ยนพฤติกรรมของตนให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ได้

สมมุติว่าน้ำในสระสกปรก วิธีจะทำให้น้ำในสระให้สะอาด
อาจทำได้โดยไขน้ำสะอาดเข้าไปเป็นจำนวนมาก
ปริมาณน้ำที่สะอาดเข้าไปมากเข้า
ก็จะทำให้น้ำเดิมที่สกปรกจางหายไป น้ำในสระก็จะใสสะอาดขึ้น
ถ้าถามว่าความสกปรกที่เหลืออยู่ในสระเดิมหายไปไหน
ตอบว่าไม่ได้หายไปไหน
ก็อยู่ในนั้นแหละ แต่ได้จางหายไปรวมเป็นเนื้อเดียวกับน้ำที่เข้ามาใหม่นั้นเอง

บาปหรือความชั่วที่คนทำก็อยู่ในตัวคนนั่นแหละ
ถ้าคนนั้นทำดีอย่างอื่นเพิ่มมากเข้าๆ
ความดีนั่นจะไปละลายบาปหรือความชั่วนั้น
ให้จางลงจนลบหายไปในที่สุด
อย่างนี้ไม่เรียกว่า
ทำดีล้างความชั่วแล้วจะเรียกอะไรเล่าครับ
พระพุทธองค์ยังตรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

ยสฺส ปาปํ กตํ กมฺมํ กุสเลน ปหียติ โสมํ โลกํปภาเสติ อพฺภา มุตฺโตวจนฺทิมา
คนใดทำความชั่วไว้ ละได้ด้วยการทำดี คนนั้นย่อมทำโลกใบนี้ให้สว่างไสว
ดุจพระจันทร์พ้นจากเมฆหมอกฉันนั้น

พระองคุลีมาลเป็นตัวอย่างของคนที่ทำชั่วมามาก
แต่ในที่สุดละได้ด้วยการทำความดี คนเช่นนี้เข้าตำรา
"ต้นคดปลายตรง" คือ
อดีตเหลวแหลก แต่ปัจจุบันทำแต่สิ่งที่ดีงามน่าสรรเสริญ
องคุลีมาลหลังจากบวชแล้วได้รำพึงความในใจออกมาเป็นบทกวีว่า

เมื่อก่อนฉันคือองคุลีมาลผู้ดุร้าย เวียนว่ายลอยคอกลางกระแสตัณหาใหญ่
ได้อาศัยพระพุทธองค์เป็นที่ยึดเกาะมั่นคงและปลอดภัย
บัดนี้ ฉันนั่งเป็นสุข นอนเป็นสุข พ้นเงื้อมมือมารร้าย อโห น่าอัศจรรย์ใจ !
พระกรุณาอันยิ่งใหญ่ของพระศาสดา ครับ งดเว้นบาปได้ไม่ว่าบาปใหญ่บาปน้อย
ดำเนินชีวิตในทางแห่งความดีแล้วชีวิตจะประสบกับความสุข

หน้า 6