Custom Search

Feb 28, 2009

การอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม


หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน : หนังสือพิมพ์คุณภาพ เพื่อคุณภาพของประเทศ


หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน : หนังสือพิมพ์คุณภาพ เพื่อคุณภาพของประเทศ

คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
มติชน
วันที่ 01 มีนาคม พ.ศ. 2552

สูตรแห่งความสำเร็จในชีวิตข้อต่อไปนี้คือ การอยู่ในปฏิรูปเทส
ปฏิรูปเทส ไม่ได้แปลว่า ประเทศที่มีการปฏิรูปปฏิวัติเลื่อนรถถังออกมายิงกันเปรี้ยงปร้างๆ

นะครับ หมายถึง ถิ่นหรือทำเลที่เหมาะ
อาแปะลิ้มแกคิดจะตั้งร้านขายก๋วยเตี๋ยว บังเอิญแกไปตั้งร้านอยู่ใน

หมู่บ้านโคกขี้แร้งห่างไกลปืนเที่ยง ชาวบ้านโคกขี้แร้งเขากินปลาร้าปลาเจ่ากัน
ร้านก๋วยเตี๋ยวของอาแปะตั้งได้ไม่ถึงเดือนก็เจ๊ง ถามว่าทำไมถึงเจ๊ง ตอบว่า
เพราะบ้านโคกขี้แร้งมิใช่ "ปฏิรูปเทส" หรือทำเลที่เหมาะแก่การขายก๋วยเตี๋ยว
เหมาะสำหรับขายไก่ย่าง ส้มตำหรือลาบน้ำตกมากกว่า
ถ้าแปะลิ้มอยากทำมาค้าขึ้น แกต้องไปตั้งร้านในเมืองที่คนเขากินก๋วยเตี๋ยวกัน
แม้ในเมืองก็ต้องดูด้วยว่า จะตั้งย่านไหน มิใช่ตั้งส่งเดชที่ไหนก็ได้
จะเห็นว่าสถานที่อยู่เหมาะหรือไม่เหมาะ
เป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คนประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวในชีวิต
ต้นไม้ใหญ่ๆ เช่น ต้นสัก ต้นตะเคียน ถ้าเอามาปลูกใส่กระถาง มันก็โตไม่ได้ฉันใด
คนที่แม้มี "แวว" ดี ถ้าไปอยู่ในถิ่นที่มิใช่ปฏิรูปเทสก็เจริญไม่ได้ฉันนั้น
พระพุทธเจ้าตรัสให้เลือกอยู่ในถิ่นที่เหมาะสมกับตนวิธีเลือกก็ต้องดูทั้ง 3 ด้าน
คือ ถิ่นที่จะไปอยู่นั้น -ทรัพย์จะเจริญหรือไม่
คือ ทำมาหากินตั้งเนื้อตั้งตัวได้ไหม -ชีวิตจะเจริญหรือไม่
คือ ปลอดภัยต่อทรัพย์สิน สุขภาพ ร่างกายและชีวิตไหม -คุณความดีจะเจริญหรือไม่
คือ ห่างไกลสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ชักพาให้เสียหายไหม
ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องเลือกให้เหมาะทั้งนั้นแหละครับ จะเข้าโรงเรียนที่ไหน
จะบวชที่วัดไหน จะทำงานที่ไหน จะซื้อบ้านจัดสรรหมู่บ้านไหน
ที่สุดแม้จะสมัครรับเลือกตั้งพรรคไหน ฯลฯ ถ้าเลือกผิดชีวิตก็ไม่เจริญก้าวหน้า
ที่พูดมาเรื่องพื้นๆ แต่ความหมายจริงๆ ของปฏิรูปเทส
พระอรรถกถาจารย์ (อาจารย์ผู้แต่งหนังสืออธิบายพระไตรปิฎก)
ท่านให้คำจำกัดความไว้ว่า
"ปฏิรูปเทส หมายถึง ถิ่นที่มีพุทธบริษัท 4 ถิ่นที่มีบุญกิริยาวัตถุมีทาน เป็นต้น
(หมายถึง ถิ่นที่มีคนดีเขาทำดีกัน ไม่ใช่ถิ่นที่มีแต่คนชั่วก่อกรรมทำเข็ญ)
ถิ่นที่มีคำสอนของพระพุทธเจ้ารุ่งเรือง" ใครได้อยู่ในถิ่นที่มีสิ่งเหล่านี้
ย่อมมีโอกาสประสบความเจริญในชีวิต
เพราะจะได้ "สิ่งดีเยี่ยม" 6 ประการ คือ
ได้พบเห็นสิ่งดีเยี่ยม
ได้ยินได้ฟังสิ่งดีเยี่ยม
ได้ลาภอันดีเยี่ยม
ได้การศึกษาที่ดีเยี่ยม
ได้อุปถัมภ์บำรุงที่ดีเยี่ยม
และได้รำลึกถึงสิ่งที่ดีเยี่ยม
สิ่งที่ดีเยี่ยมที่ว่านี้คือ พระรัตนตรัย แก้วประเสริฐทั้งสามประการนั้นแล
สรุปแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ตราบใดยังมีพระรัตนตรัยให้กราบไหว้อยู่
ก็การันตีได้ว่าชีวิตประสบความเจริญก้าวหน้าแน่นอน
เมืองไทยเราก็เป็น "ปฏิรูปเทส" มาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตาทวด
ช่วยกันรักษาไว้ก็แล้วกัน อย่าปล่อยให้เดียรถีย์มิจฉาทิฐิมันย่ำยีไปมากกว่านี้จนกลายเป็น
"อปฏิรูปเทส" เสียละครับ เดี๋ยวปู่ย่าตาทวดท่านจะลุกขึ้นมาชี้หน้าว่า
ไอ้ลูกหลานจัญไร

สูตรความสำเร็จในชีวิตอีกข้อหนึ่งคือ
อัตตสัมมาปณิธิ แปลกันว่า การตั้งตนไว้ชอบ
ถ้าแปลไทยเป็นไทยอีกทีก็คือ การตั้งตัวถูกนั่นเอง ตัว หรือตน
ในที่นี้หมายถึง ตัวหรือตนโดยสมมุติตามที่เรารับรู้กัน
มิใช่ตัวหรือตนในแง่ปรมัตถ์ เพราะถ้าว่าโดยปรมัตถ์ (ความจริงสูงสุด) แล้ว
ไม่มี "ตัวตน" ทุกอย่างเป็นอนัตตาหมด เดี๋ยวจะสงสัยว่า
เมื่อหาตัวตนไม่ได้ แล้วจะมาสอนให้ตั้งตัวทำไมกัน
ที่เขาสอนให้ตั้งตัว หมายเอาตั้งตัวที่เราเห็นๆ อยู่นี่แหละครับ
ตัวตนที่เดินได้ พูดได้ กินได้ ทะเลาะกันได้มาหลายสิบปีแล้ว
และจะทะเลาะต่อไปอีกนี่แหละ พอพูดถึงการตั้งตัว
หลายคนอาจนึกออกไปข้างนอกตัว
เช่นนึกไปถึงการสร้างฐานะทางเศรษฐกิจ นึกถึงหน้าที่การงานมั่นคง
ดังพูดว่า ขอตั้งเนื้อตั้งตัวให้ได้เสียก่อนจึงจะขอแต่งงานอะไรทำนองนี้
แต่การตั้งตัวที่ถูกต้องหมายถึงการตั้ง "จิต" ไว้ชอบดังพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า
จิตที่ตั้งไว้ผิด ย่อมก่อความเสียหายให้ ยิ่งกว่าศัตรูทำกับศัตรู
คนจองเวรต่อคนจองเวรเสียอีก จิตที่ตั้งไว้ชอบ
ย่อมทำสิ่งที่พ่อ แม่ พี่ น้อง ทำให้ไม่ได้ และทำให้ได้อย่างดีด้วย
จะเห็นว่าจุดเริ่มอยู่ที่จิต ถ้าตั้งจิตถูก ชีวิตก็จะเจริญก้าวหน้า
ถ้าตั้งจิตผิดก็จะประสบความเสื่อม ถ้าถามว่าตั้งจิตไว้ถูกนั้นตั้งอย่างไร
คำตอบก็คือตั้งไว้ให้ดีนั่นแหละ เช่นแต่ก่อนเป็นคนงกเห็นแก่ได้
กอบโกยเอาไว้มากมายยังกับไม่คิดตาย
ก็กลับเนื้อกลับตัวกลายเป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ
แต่ก่อนเป็นคนไม่มีศรัทธาในพระรัตนตรัย ก็กลับเป็นคนมีศรัทธามั่นคง
นับถือพระนับถือเจ้า แต่ก่อนเป็นคนหูเบาเชื่อคนง่าย
ใครจะมาเบาหูก็รีบเชื่อทันที ต่อมากลับเป็นคนหนักแน่นมีเหตุมีผล
ไม่โดนล้างสมองง่ายๆ เหล่านี้เป็นต้น เรียกว่า
ตั้งจิตไว้ถูกตั้งจิตไว้ดี ถ้าคนเราตั้งจิตไว้ถูกและดีไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว
จะทำอะไรก็เจริญก้าวหน้า แต่ตรงกันข้ามก็จะได้ผลตรงกันข้าม
ขอยกตัวอย่างคนตั้งจิตไว้ผิดทางว่ามีผลลัพธ์อย่างไรสักเรื่อง
สองคนพ่อกับลูกไปทอดแห ขณะพ่อทอดแหลงไป
แหไปติดตอไม้ใต้น้ำดึงไม่ขึ้น
พ่อนึกว่าปลาตัวใหญ่ติดแห ความเห็นแก่ตัวเกิดขึ้นทันที
นึกไปไกลถึงว่า
ถ้าบ้านข้างเรือนเคียงรู้ว่าเราได้ปลาตัวใหญ่จะแห่มาขอแบ่งปันไปกิน
จึงสั่งลูกให้กลับบ้าน ไปบอกให้ภรรยา คือ
แม่ของลูกหาเรื่องทะเลาะกับชาวบ้าน ข้างฝ่ายภรรยาก็ดีใจหาย
ทำตามสามีบอกทุกอย่าง ไปด่าทอชาวบ้านทุกหลังคาเรือนโดยไม่มีปี่มีขลุ่ย
ชาวบ้านชักยัวะพากันรุมสกรัมสะบักสะบอม
สามีกระโดดน้ำลงไปหมายจับปลาตัวใหญ่
ตาข้างหนึ่งไปกระทบกับตอไม้ใต้น้ำ เลือดแดงฉาน
ได้รับความเจ็บปวดมาก เอามือกุมตา อีกมือหนึ่งถือแหกลับบ้าน
มาถึงบ้านก็เห็นภรรยาถูกชาวบ้านทำร้ายบาดเจ็บอีกคน ตาก็บอด ปลาก็ไม่ได้กิน
แถมยังผิดพ้องหมองใจกับเพื่อนบ้านอีก สมน้ำหน้า
นี่คือผลของการตั้งจิตไว้ผิดคิดผิดตั้งแต่แรก
จึงต้องประสบหายนะปานฉะนี้

หน้า 6