Custom Search

Feb 26, 2009

เปิดตำนาน'สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์'ผู้สร้าง"โอสถสภา" ดันแบรนด์ไทยผงาดในตลาดโลก

นันทนา แสงมิตร
มติชน
วันที่ 10 พฤษภาคม 2551 "... ชีวิตคนไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีใครหลีกหนีความตายได้พ้น คือสัจธรรมดำรงอยู่คู่กับโลกมาตั้งแต่เริ่มแรก " เรื่องนี้เกิดขึ้นกับ "สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์" ประธานกรรมการ บริษัทโอสถสภา เจ้าของเครื่องดื่มชูกำลังเอ็ม 150 และอดีตรองหัวหน้าพรรคกิจสังคม ในยุค ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช หลังจากเข้ารับการรักษาอาการปวดขา ขาบวม ที่โรงพยาบาลสมิติเวช เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา และอีก 3 วันถัดมา สุรัตน์เสียชีวิตอย่างสงบด้วยการติดเชื้อในกระแสเลือด เวลา 15.20 น. ของวันที่ 8 พฤษภาคม รวมอายุได้ 79 ปีเต็ม ไม่ใช่เรื่องของการปิดตำนาน แต่การจากไปของ สุรัตน์ ยิ่งจะทำให้ เรื่องราวตำนานผู้สร้าง โอสถสภา และปั้นแบรนด์ ลิโพวิตัน ดี และแบรนด์ชูกำลังเอ็ม 150 จนกลายเป็นแบรนด์แข็งแกร่ง ในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังของเมืองไทย ชนิดที่เรียกว่า ยากจะหาคู่แข่งรายใดทัดเทียมได้ ถูกนำมาพูดถึงกันอีกครั้งย้อนตำนานก่อตั้งโอสถสภา โอสถสภาซึ่งมียอดขายรวมถึง 20,000 ล้านบาทต่อปี มีการจัดแบ่งโครงสร้างออกเป็น 3 กลุ่มหลักในปัจจุบัน คือ 1.คอนซูเมอร์ โปรดักส์ หรือสินค้าของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน มีผลิตภัณฑ์หลักประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์โคโลญจ์ระงับกลิ่นกาย ทเวลฟ์พลัส, แอ็กซิส แป้ง และผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กตราเบบี้ มายด์ 2.กลุ่มยา ประกอบด้วยยาทัมใจ ยากฤษณากลั่นตรากิเลน และ 3.กลุ่มเครื่องดื่มประกอบด้วย เครื่องดื่มลิโพวิตัน ดี, ฉลาม, SHARK, และ .357 เริ่มต้นขึ้นในยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อนาย แป๊ะ โอสถานุเคราะห์ พ่อค้ายา ได้ริเริ่มนำยากฤษณากลั่น แก้ปวดท้อง เข้ามาในประเทศไทย และเลือกใช้กิเลน สัตว์ซึ่งมาจากสวรรค์ตามความเชื่อของคนจีน เป็นเครื่องหมายทางการค้า ครั้นเมื่อนายแป๊ะถึงแก่กรรม บุตรชายคือนายสวัสดิ์ โอสถานุเคราะห์ ได้รับช่วงบริหารงานต่อ โดยอาศัยความรู้พื้นฐานทางด้านแพทย์ ซึ่งสำเร็จจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาใช้ในการบริหารงานกิจการมีความเจริญก้าวหน้าตามลำดับ ได้ตั้งเป็นบริษัทขึ้นมาภายใต้ชื่อ บริษัทโอสถสภา เต๊กเฮงหยู ในปี พ.ศ. 2475 พร้อมทั้งขยายไลน์ เพิ่มตัวสินค้า อาทิ ยาธาตุ 4 ยาแก้ไอ ยาระบาย ยาอมโบตัน ยาทันใจ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นทัมใจ) ยาหอมชนะลม และสินค้าแต่ละชนิดได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี หลังจากนั้น มีทายาทของนายสวัสดิ์
ในฐานะผู้บริหารรุ่นสอง
ซึ่งประกอบด้วยนายสุวิทย์, สุรินท์,
และสุรัตน์เข้ามีบทบาทใน
การบริหารจัดการกิจการจึง
ขยายตัวต่อเนื่อง
เข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
การศึกษา (มหาวิทยาลัยกรุงเทพ)
รวมทั้งธุรกิจกลุ่มเครื่องดื่มสุรัตน์
ได้นำผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มตราลิโพวิตัน ดี เครื่องดื่มโด่งดังสุดจากญี่ปุ่นเข้ามาทำตลาดในเมืองไทย ในปี พ.ศ. 2508 และได้รับลิขสิทธิ์จากบริษัทไทโช เจ้าของลิขสิทธิ์ ให้ทางบริษัทโอสถสภาเป็นผู้ผลิตสินค้าในประเทศในอีก 7 ปีถัดมา ด้วยกลยุทธ์การตลาดผ่านกลยุทธ์ สปอต และมิวสิคมาร์เก็ตติ้ง บวกกับความแข็งแกร่งของช่องทางจำหน่ายผลักดันให้เอ็ม 150 กลายเป็นเครื่องดื่มชูกำลังที่มียอดจำหน่ายสูงสุดด้วยส่วนแบ่งมากกว่า 50% และหากรวมแบรนด์อื่นภายใต้ร่มของโอสถสภา ฉลาม, .357, เอ็ม-แม็กซ์ และลิโพวิตัน ดี โอสถสภามีส่วนแบ่งในตลาดชูกำลังสูงถึง 65% ของตลาดชูกำลังรวม มูลค่า 14,000 ล้านบาท ไม่เพียงแต่เฉพาะในประเทศ ยังได้ผลักดันสินค้าเอ็ม 150 ออกสู่ตลาดโลก หวังผลักดันให้กลายเป็นเครื่องดื่มเทียบชั้นกับเครื่องดื่มระดับโลก "เรดบลู" โดยเริ่มสยายปีกเข้าไปทำตลาดในประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา ภายใต้การกุมบังเหียนของ "รัตน์ โอสถานุเคราะห์" บุตรชายคนที่สอง ในฐานะประธานกรรมการบริหาร บริษัทโอสถสภา จำกัด (OSI) และสุนทร เก่งวิบูลย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท โอสถสภา อินเตอร์เนชั่นแนล มาอย่างจริงจัง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ที่ผ่านมา ช่วง 3 ปีที่เข้าไปทำตลาด มีรายได้จากตลาดต่างประเทศแล้วราว 3,000 ล้านบาท และตั้งเป้าขยายตลาดเข้าไปยังตลาดใหม่ๆ เช่น อินโดนีเซีย ประเทศซึ่งมีประชากร จำนวนมากพร้อมปรับดันยอดขายให้เพิ่มขึ้นเป็น 5,000 ล้านบาท ภายในปี พ.ศ. 2553 บทบาททางการเมือง-สังคม นอกเหนือจากความสำเร็จในฐานะผู้ปลุกปั้นแบรนด์ ลิโพวิตัน ดี เอ็ม 150 และต่อยอดไปทำตลาดต่างประเทศโดยเจเนอเรชั่นที่ 3 บุตรชาย สุรัตน์ ยังมีบทบาททางด้านคุณูปการ ทางด้านสังคมให้พูดถึงหลายด้าน ไล่เรียงมาตั้งแต่ อดีตรองหัวหน้าพรรคกิจสังคม สมัย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคในปี พ.ศ. 2518
และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในปีเดียวกัน ถัดมาได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในปี พ.ศ. 2526 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในปี พ.ศ. 2528 และตำแหน่งการเมืองล่าสุด ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในปี พ.ศ. 2539-2540 ก่อนจะหันมาทุ่มเทใหักับงานสังคมในฐานะผู้ก่อตั้ง และประธานมูลนิธิมหาวิทยาลัยกรุงเทพ มูลนิธิโอสถสภา และมูลนิธิสวัสดี พร้อมกับทุ่มเทให้กับงานถ่ายภาพความสนใจพื้นฐานอย่างจริงจัง จนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ผลงานถ่ายรูปเกี่ยวกับมุมมองเรื่องกรุงเทพฯของเขา ยังได้เปิดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายขาว-ดำในชื่อ กรุงเทพฯเลือนหาย (Vanishing Bangkok) โดยแสดงที่หอศิลป์แห่งชาติ การจากไปของ สุรัตน์ แม้ สุรัตน์ จะจากไปแล้ว แต่ไม่มีผลกระทบกับธุรกิจ เพราะมีคนรุ่น 4 อย่าง รัตน์ โอสถานุเคราะห์ เข้ามาสานต่อธุรกิจมาหลายปีแล้ว ส่วน สุรัตน์ อยู่ในฐานะของประธานกรรมการ สำหรับงานในบทบาททางสังคม เรื่องถ่ายรูป และกล้องถ่ายรูป ล้ำค่า ซึ่ง สุรัตน์สะสมเอาไว้เป็นจำนวนมาก ทางทายาทจะมีการหารือกันอีกครั้งว่า จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร ประวัติ สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ เกิด : 11 พฤษภาคม 2473 การศึกษา: -มัธยมศึกษา WILBRAHAM & MONSON ACADEMY ที่
MASSACHUSETTS, U.S.A. - ปริญญาตรี สาขา BUSINESS ADMINISTRATION จาก UNIVERSITY OF COLORADO, U.S.A. รางวัลอันเป็นเกียรติประวัติ - กรกฎาคม 2538 ปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (การจัดการ) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ - มกราคม 2539 ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง - เมษายน 2544 รางวัลเกียรติคุณนักการตลาดไทย (Marketing Hall of Fame) ผลงานภาพถ่ายได้รับรางวัล - ธันวาคม 2545 ศิลปินนักถ่ายภาพไทยประจำปี 2545 (รับจากสมาพันธ์การถ่ายภาพไทย) - กุมภาพันธ์ 2548 The XI Triennale จัดโดย Lalit Kala Akademi, New Delhi - ตุลาคม 2549 รางวัล โฟโต้ ซิตี้ ซากามิฮาร่า สาขา เอเชียจากเมืองซากามิฮาร่า ประเทศญี่ปุ่น มอบให้ในงานเทศกาลภาพถ่าย ครั้งที่ 6 ตำแหน่งก่อนเสียชีวิต : ประธานกรรมการ บริษัท โอสถสภา จำกัด กลุ่มบริษัทในเครือโอสถสภาบริษัท โอสถสภา ไทโช จำกัด กรรมการ บริษัท โอสถสภา ประกันภัย จำกัด บริษัท ชิเซโด้ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท อิเซตัน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไท ฮาคูโฮโด จำกัด บริษัท ฮาคูโฮโด (กรุงเทพฯ) จำกัด กิจกรรมทางการเมือง: 2518 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 2526 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 2528 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 2530 - 2531 ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจ กระทรวงการต่างประเทศ 2535 - 2539 รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา 2539 - 2540 ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กิจกรรมทางการศึกษาและสังคม: - นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ - ผู้ก่อตั้งและอุปนายกสภามหาวิทยาลัยกรุงเทพ - ผู้ก่อตั้ง และประธานมูลนิธิมหาวิทยาลัยกรุงเทพ มูลนิธิโอสถสภา และมูลนิธิสวัสดี - กรรมการสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง - กรรมการสภาธุรกิจไทย-ฝรั่งเศส (ฝ่ายไทย) เครื่องราชอิสริยาภรณ์ (ตามลำดับสูงไปต่ำ) มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.) ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.) ตติยจุลจอมเกล้า (สืบตระกูลจากบิดา) (ต.จ.)