Custom Search

Nov 23, 2008

คำถามแห่งชีวิต

หนุ่มเมืองจันท์ 2550
ฟาสต์ฟู้ด ธุรกิจ
มติชนสุดสัปดาห์ 1402 (ปีที่ 27): 24.

"ถ้าคุณมีเวลา 2-3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และมีเงิน 2-3 ดอลลาร์ต่อเดือน
สำหรับอุทิศให้กับอะไรสักอย่างที่มีผลสูงสุดต่อการช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
หรือทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้น ถามว่าคุณจะใช้เวลาและเงินนั้นอย่างไร"

เป็นคำถามที่บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้รับ
ในวันรับปริญญาจาก"บัณฑิตใหม่"คนหนึ่งที่ชื่อ "บิล เกตส์"
"บิล เกตส์" เคยเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
แต่เรียนไม่จบ เขาเลิกเรียนเพื่อไปสร้างตำนานบทใหม่กับอาณาจักรธุรกิจ
ที่กลายเป็นความใฝ่ฝันของหนุ่มสาว "ไมโครซอฟท์" หลังจากลาออกไป 30 ปี

วันนี้มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตให้กับ "บิล เกตส์"
พร้อมกับเชิญเขาเป็นผู้กล่าว "ปัจฉิมนิเทศ" ให้กับบัณฑิตใหม่
ใครๆ ก็นึกว่า "บิล เกตส์" มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก
จะพูดถึงเรื่องวิธีคิดทางธุรกิจ หรือเส้นทางสู่ความสำเร็จแบบ "กบฏ"
แต่ใครจะไปนึกถึงว่าสิ่งที่เขาตั้งใจที่จะบอก กับ "บัณฑิต"
และคณาจารย์ของ "ฮาร์วาร์ด" กลับเป็น "มุมมองใหม่" และ "คำถามแห่งชีวิต"
เขาเริ่มต้นปาฐกถาด้วยการยิงมุขเรียกเสียงฮาจากคนฟัง "บิล เกตส์"
บอกว่า เขาคอยมา 30 ปี เพื่อที่จะพูดว่า

"คุณพ่อครับ ผมบอกคุณพ่อเสมอมาใช่ไหมว่าวันหนึ่ง ผมจะกลับมาเอาปริญญาให้ได้"
และ "ผมมักชักนำคนไปในทางเสีย
นั่นคือเหตุผลที่ผมได้รับเชิญให้มาพูด
ในวันรับปริญญาของคุณเพราะถ้าผมมาพูดในวันปฐมนิเทศของคุณ
คุณบางคนอาจเรียนไม่จบในวันนี้ก็ได้"

จากนั้น "บิล เกตส์" ก็เริ่มเล่าเรื่องราวของเขา กับ "ฮาร์วาร์ด"
"สิ่งที่ผมจำได้เกี่ยวกับฮาร์วาร์ด ได้แก่ การอยู่ท่ามกลางพลังงานและปัญญา"
ก่อนจะ "ตีแสกหน้า" คณาจารย์และบัณฑิตของสุดยอดมหาวิทยาลัยของโลก
เขาบอกว่าเมื่อมองย้อนกลับไป มีความสลดใจเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นในใจของเขา

"ผมออกจากฮาร์วาร์ดไปโดยไม่มีความตระหนักอย่างแท้จริงเลยถึงความไม่เสมอภาค
อันแสนโหดร้ายในโลก ความเหลื่อมล้ำอันน่าขนหัวลุกในด้านสุขภาพ
ทรัพย์สิน และโอกาส ผมได้เรียนรู้แนวคิดใหม่ๆ
ด้านเศรษฐศาสตร์และการเมืองอย่างมากมายในฮาร์วาร์ด
ผมได้สัมผัสใกล้ชิดถึงความก้าวหน้าซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในด้านวิทยาศาสตร์
แต่ในความก้าวหน้า ของมนุษยชาติไม่ได้ขึ้นอยู่กับการค้นพบ
หากอยู่ที่การค้นพบนั้น สามารถนำไปประยุกต์ใช้
เพื่อลดความไม่เสมอภาคได้อย่างไรต่างหาก
ผมออกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดไป
โดยแทบไม่รู้เลยว่าเยาวชนนับล้านคนถูกโกงโอกาสด้านการศึกษาในประเทศของเรานี่เอง
และผมไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับคนเป็นล้านๆ
ที่ต้องมีชีวิตอยู่กับความยากจนแสนสาหัส
และโรคร้ายในประเทศกำลังพัฒนา
เป็นเวลาหลายทศวรรษกว่าผมจะค้นพบ"

จากนั้นเขาก็เริ่มตั้งคำถาม
"ถ้าคุณมีเวลา 2-3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และมีเงิน 2-3 ดอลล่าร์ ต่อเดือน
สำหรับอุทิศให้กับอะไรสักอย่างที่มีผลสูงสุดต่อการช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
หรือทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้น ถามว่าคุณจะใช้เวลาและเงินนั้นอย่างไร"

"2-3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์" หรือ "2-3 ดอลลาร์ต่อเดือน"
เป็นการสร้างเงื่อนไข ที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า
"ไม่มีเวลา-ไม่มีเงิน" สำหรับ "บิล เกตส์" และภรรยา
ความท้าทายของเขาในมุมเดียวกันก็คือ...

"เราจะทำอย่างไรให้เกิดผลดีที่สุด ต่อคนจำนวนมากที่สุดจากทรัพยากรที่เรามีอยู่"
"บิล เกตส์" ตอนนี้อายุ 52 ปี อีก 1 ปี เขาจะเกษียณจากบริษัทไมโครซอฟท์
เพื่อไปบริหารมูลนิธิของเขา มูลนิธินี้มีเงินทุนประมาณ 30,000 ล้านเหรียญ
และ "วอร์เรน บัฟเฟ็ตต์" มหาเศรษฐีอันดับ 2 ของโลก "สหายต่างวัย" ของเขา
สมทบให้อีก 37,000 ล้านเหรียญ
ทรัพยากรที่เขามีอยู่คือ 67,000 ล้านเหรียญหรือ 2.4 ล้านล้านบาท

เขากำลังจะเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อ "ตัวเอง"
แต่เพื่อ "ผู้อื่น" ผมชอบ "บิล เกตส์"
ที่ตั้งคำถามนี้กับคณาจารย์และบัณฑิตของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
แต่ที่ชอบมากกว่าคือไม่ใช่เป้นการตั้งคำถามแบบ "อุดมคติ"
ที่ไม่มี "แนวทาง" อาจจะเป็นเพราะเขาผ่านโลกธุรกิจและการบริหารจัดการมาก่อน
ทำให้ "จินตนาการ" ของเขามีระบบคิดที่น่าสนใจและมีภาพในเชิงปฏิบัติ
เขาไม่เชื่อว่าคนเราไร้ "น้ำใจ"
"ผมเชื่อว่าเรามีน้ำใจมากจนไม่รู้ว่าจะใช้ทำอะไรหมด"
แต่ที่ไม่แสดงออกมา เพราะไม่รู้ว่า จะทำอะไร ถ้าทุกคนเข้าใจปัญหา
มองเห็นทางแก้ปัญหา และเห็นผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น
ทุกคนคงแสดงน้ำใจกันแล้ว แต่เพราะ "ความสลับซับซ้อน"
ปิดกันทำให้ทุกคนไม่เห็นปัญหา- ทางแก้และผลลัพธ์
ทุกคนจึงไม่รู้ว่าจะแสดงน้ำใจอย่างไรดี "บิล เกตส์"
เสนอแนวทางทะลุทะลวง "ความสลับซับซ้อน" 4 ขั้นตอนด้วยกัน
1. พิจารณาจุดหมายหรือกำหนดเป้าหมาย
2. ค้นหากลวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
3. หาเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่สุด
4. ระหว่างที่กำลังค้นหา ให้นำเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วมาใช้อย่างชาญฉลาด
นอกจากนั้น เขายังให้ความสำคัญกับ "การนำเสนอ"
มากประสบการณ์ในการเปิดตัวซอฟแวร์รุ่นที่ 1 ของ "ไมโครซอฟท์"
ที่ทำให้คนกระโดดขึ้นลง และส่งเสียงลั่นด้วยความตื่นเต้น
ทำให้เขาเสนอมุมมองใหม่

"ทำไมเราจะสร้างความตื่นเต้นให้เกิดขึ้นไม่ได้
สำหรับการช่วยชีวิตคน"
เขาเชื่อว่าการนำเสนอที่ดีจะนำมาซึ่งการร่วมมือร่วมใจ
ทั้งภาครัฐและเอกชน

ผมนึกถึงเรื่อง "โลกร้อน"ที่ผ่านการนำเสนอแบบตื่นตาตื่นใจ
ของ"อัล กอร์" วิธีการนำเสนอของเขาทำให้คน
ในโลกตระหนักถึงมหันตภัยของโลกร้อนมากขึ้น
ในตอนท้ายของปาฐกถา "บิล เกตส์"
ย้อนกลับไปถามคนใน "ฮาร์วาร์ด" อีกครั้งหนึ่ง

"ฮาร์วาร์ดสามารถจะอุทิศพลังงานทางปัญญาของตน
เพื่อช่วยปรับปรุงชีวิตของผู้คน
ที่ไม่เคยแม้แต่จะได้ยินชื่อฮาร์วาร์ดได้ไหม"

"สติปัญญาชั้นยอดเยี่ยมของเราควรจะอุทิศ
ให้แก่การแก้ปัญหาที่หนักหนาสาหัสที่สุดของเราหรือไม่"

"ผู้มีอภิสิทธิ์มากที่สุดในโลก ควรจะเรียนรู้เกี่ยวกับ
ชีวิตของผู้ที่มีอภิสิทธิ์ต่ำที่สุดในโลกหรือไม่"

ก่อนจะทิ้งความหวัง ให้กับ "บัณฑิตใหม่" ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้

"ผมหวังว่าคุณจะกลับมาที่ฮาร์วาร์ดในอีก 30 ปีจากนี้ไป
และมาไตร่ตรองถึงการใช้พรสวรรค์ และพลังงานของคุณ
ผมหวังว่าคุณจะวินิจฉัยตัวคุณเอง ไม่เฉพาะด้านของความสำเร็จ
ในอาชีพเท่านั้น แต่ในด้านผลงานของคุณเกี่ยวกับความไม่เสมอภาคกันอันล้ำลึกที่สุดด้วย
คุณได้ปฏิบัติต่อคนที่อยู่คนละฟากโลกได้ดีแค่ไหน
เมื่อคนเหล่านั้นไม่มีอะไรร่วมกับคุณเลย ยกเว้นแต่ความเป็นมนุษย์ของเขาเท่านั้น"

ผมอ่านปาฐกถาชิ้นนี้จบลงด้วยความอึ้งในหัวใจ
"บิล เกตส์" ค้นพบคำถามแห่งชีวิตนี้หลังเดินออกจากมหาวิทยาลัยนี้ได้ 30 ปี
แวบหนึ่งของความอึ้ง ผมนึกถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ที่ผมเรียนจบมาด้วยเกรด 2.06
ผมยังจำคำขวัญของ "ธรรมศาสตร์" ได้ดี
"ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน"
คิดถึงคนอื่น มากกว่าตัวเอง "ธรรมศาสตร์"
สอนวิธีคิดแบบนี้มานานแล้ว แต่ "ฮาร์วาร์ด" ไม่ได้สอน ครับ
นี่คือเหตุผลที่ผมไม่ยอมไปเรียน "ฮาร์วาร์ด"

ที่มา: http://nongkoro.spaces.live.com/blog/cns!49D3C03202F8ED79!2224.entry