Custom Search

Nov 17, 2008

คิดถึงหลวงพ่อปัญญานันทะ (9)


คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศ

เสฐียรพงษ์ วรรณปก


ไปร่วมงานร้อยปีแห่งชาตกาลของ
"พี่ท่าน ของหลวงพ่อปัญญานันทะ"
สัญญาจะเขียนครบสิบตอนก็จะยุติ
เรื่องของหลวงพ่อปัญญานันทะ

บังเอิญว่าวันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม 2550
ผมต้องไปเป็นประธานเปิดงาน
ครบร้อยปีแห่งชาตกาล
ของพระเดชพระคุณพระราชญาณกวี

(บ.ช. เขมาภิรัต)ที่วัดขันเงิน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร
ได้ความประทับใจที่ได้เห็นเหล่าศิษยานุศิษย์

ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อบุญชวน
ได้แสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวที
ต่ออาจารย์ของพวกตน
ก็อดนำมาเล่าให้แฟนๆ ทั้งหลายฟังไม่ได้
งานนี้มีบรรดาศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อบุญชวนมากหน้าหลายตา
เริ่มด้วยฝ่ายบรรพชิตมีพระเดชพระคุณท่าน
เจ้าคุณพระเทพญาณโมลี (ดร.องอาจ ฐิตธมฺโม)

เป็นประธาน พระเดชพระคุณท่านเจ้า
คุณพระวิจิตรธรรมนิเทศ (ดำเนิน อตฺถจารี)

รองเจ้าคณะจังหวัดเป็นรองประธาน
ฝ่ายคฤหัสถ์มีท่านอาจารย์ยุพิน ดุษิยามี เป็นหัวเรือใหญ่
ตลอดถึงท่านนายอำเภอหลังสวน
ซึ่งเพิ่งย้ายมาจากจังหวัดมหาสารคามของผม

ท่านอบจ. รวมทั้งพ่อค้าประชาชนจำนวนมาก
ผมถูกอุปโลกน์ให้ไปเป็นประธานเปิดงาน รู้สึกเหนียมๆ
เพราะงานประเภทนี้ไม่ค่อยถนัด
เวลาเดินขึ้น stand ขามันปัดๆ

ไม่ใช่เพราะประหม่าดอกครับ
เพราะไม่คุ้นกับหน้าที่อย่างนี้มากกว่า

สิ่งที่จะต้องชมก็คือ เขาจัดงานกะทัดรัด
เหมาะเจาะกับเวลาดี ไม่เยิ่นเย้อ

หลวงพ่อ เจ้าคณะจังหวัด
(อ้อ ท่านทักว่าอย่าเรียกหลวงพ่อ เพราะเกิดปีเดียวกัน

ผมเรียนท่านว่าเรียกตามวัฒนธรรมครับ!)
ประธานฝ่ายสงฆ์ ท่านเล่าเรื่องประทับใจ
อันเป็นมุมหนึ่งของหลวงพ่อบุญชวน

ให้พวกเราฟังว่า ท่านเลี้ยงสุนัขตัวหนึ่งชื่อแจ๊ค เป็นสุนัขแสนรู้
มักตามท่านไปบิณฑบาตเสมอๆ
แต่ด้วยอำนาจความรักหมาสาวในตลาด

พอมันเห็นสาวเท่านั้น ก็ผละจากท่านวิ่งไปหา
โดยไม่ทันระมัดระวังรถราที่
วิ่งไปมาขวักไขว่เคราะห์ร้ายถูกรถชนตาย

ท่านนำร่างเจ้าแจ๊คมาบำเพ็ญกุศลตามคตินิยมชาวพุทธ
ด้วยความอาลัยในสุนัขที่ซื่อสัตย์ต่อท่าน
ท่านจึงแต่งกลอนไว้อาลัย ให้คติเตือนใจมนุษย์อื่นๆ
ที่ตกอยู่ในสภาพเดียวกันด้วย ดังนี้ครับ

โอ้อนาถแจ๊คหมาคราวิบัติ เกิดกำหนัดร้อนรักหักไม่ไหว
หลงหมาสาวโศภาชะล่าใจ พิศมัยแรงร้อนนอนไม่ลง
แต่เช้าตรู่ควงสาวเข้าตลาด ด้วยประมาทเที่ยวกระเจิงระเริงหลง
เคยแต่วัดอวดฉลาดทำอาจอง นึกทะนงโฉงเฉงไม่เกรงใคร
ทั้งกฎเกณฑ์จราจรบ่ห่อนรู้ มิได้ดูทางทิศชิดด้านไหน
มัววิ่งเร่าเมาสวาทประมาทใจ จึงสบภัยรถทับดับชีวี
อันความรักหวานจิตพิษร้ายนัก ยากจะหักสู้สละหรือผละหนี
มนต์พอผ่อนรักฤทธิ์ประสิทธี "โอมผี ผี มึง กู ทั้งคู่เอย"

ทำให้นึกถึงหลวงพ่อของตัวเองขึ้นมาทันที
ว่าอาการที่ปฏิบัติต่อสุนัขตัวโปรดที่จากไป

ช่างคล้ายกันจริงๆ
แม้ว่าหลวงพ่อพระธรรมเจดีย์ของผม จะไม่รักสุนัขมาก่อน

หากระยะหลังเพราะผมเป็นต้นเหตุ
ทำให้ท่านกลายเป็นคนรักสุนัขแสนรู้จนเรียกว่า

"หลง" มาตั้งแต่บัดนั้น
เรื่องเกี่ยวกับหมาหมานี้ มันสะเทือนใจผมมานานปี
หลังจากผมสึกหาลาเพศมา
ทำมาหากินตามประสาคฤหัสถ์หัวดำแล้ว

นานทีปีหนจะเข้าสำนักเดิมที
หารู้ไม่ว่า พวกวจีทุจริตต่างพากันละเลงลับหลัง

กลายเป็นคนละเรื่องไปเลย ผมชอบรังแกหมา
โดยเฉพาะหมาที่หลวงพ่อรักที่สุด ผมก็ไล่เตะจน "มันตีน"
(ทานโทษ ไม่ได้ใช้มือตี จึงเรียกว่า "จนมันมือ" ไม่ได้)
จนเมื่อหลวงพ่อพระธรรมเจดีย์
อาจารย์ของผมถึงแก่มรณภาพ

ผมเข้าไปกราบศพท่านด้วยน้ำตานองหน้า
อุบาสกท่านหนึ่งซึ่งเป็นบิดาของเด็กวัดคนหนึ่ง
เขายกมือไหว้ผม
"คุณเสฐียรพงษ์ครับ ผมมากราบขอขมา โปรดยกโทษให้ผมด้วย"
"เอ๊ย เรื่องอะไร" ผมตกใจ
"ผมได้ข่าวหนาหูว่า คุณเสฐียรพงษ์ ไล่เตะหมาของท่านเจ้าคุณ
ทั้งๆ ที่รู้ว่าหลวงพ่อรักหมามาก เท่ากับทำลายน้ำใจผู้มีพระคุณ"
ผมยกสำนวนจีนขึ้นมาทันทีว่า "มีเรื่องอย่างนี้ด้วยหรือ"
แล้วเขาก็เล่าเป็นฉากๆ ว่า มีการ "ทาสี" อย่างไร พร้อมบอกว่า
เขาเพิ่งรู้ว่า หมาตัวนั้นเป็นหมาตัวโปรดของผม
แล้วเรื่องอะไรผมจะบ้าไล่เตะหมาที่เลี้ยงมากับมือ
แค่นี้สามัญสำนึกก็บอกแล้ว เขาบอก
ผมอภัยให้เขา และคนอื่นๆ ด้วยที่รู้ว่าได้ล่วงเกินทางวาจากับผม
นับว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่น่ารักมากในหมู่ชาวพุทธ
ถ้าทุกคนยอมรับผิดต่อการกระทำของตนเมื่อรู้ว่าผิด
โลกนี้จะสุขสันติขึ้นมากเลย
ลูกหมาของผม สีดำสนิท จำได้ว่า
คุณสมภพ หัวหน้าค่ายมวยค่ายหนึ่งให้ผมมา

ผมตั้งชื่อว่า "นิลพัทธ์" เป็นหมาแสนรู้
ผมรู้ว่าหลวงพ่อผมไม่ชอบหมา

จึงแอบเลี้ยง เวลาหลวงพ่อลงมา
ฉันข้าวที่กุฏิคณะ 7 ที่ผมอยู่ทุกเช้า

ผมกลัวหลวงพ่อจะรู้ ก็ขังเจ้านิลพัทธ์ไว้ในห้อง
ขณะฉันข้าวอยู่วันหนึ่ง นิลพัทธ์ก็ดุนมุ้งลวดออกมา
เราคือผมพร้อมพระใหม่อื่นๆ ที่นั่งฉันอยู่ด้วย หน้าถอดสี
ไม่รู้จะทำอย่างไร
"ใครเอาหมามาเลี้ยงบนกุฏิ"
เสียงเข้มออกจากปากหลวงพ่อ

เราต่างคนต่างเงียบ
ในสถานการณ์อย่างนี้ไม่มีอะไรดีเท่าความเงียบ

แต่เจ้านิลพัทธ์มันเป็นหมาแสนรู้ มันคงรู้ว่าใคร "ใหญ่"
ในสถานการณ์อย่างนี้ มันเข้ามาหมอบใกล้ๆ หลวงพ่อ
แถมเอาคางเกยตักท่านอีกต่างหาก
เท่านั้นแหละครับ บรรยากาศก็สดใสขึ้นมาทันที
"เออ เจ้านี่แสนรู้เว้ย มันชื่อไร น่าเอ็นดูจัง"
"นิลพัทธ์ ครับผม" ผมรีบบอกชื่อแซ่มัน
จากวันนั้นมา นิลพัทธ์มันไม่ค่อยสนใจเจ้านายเก่ามันสักเท่าไหร่
วิ่งตามหลวงพ่อของผมไม่ห่าง
ท่านขึ้นไปทำวัตรสวดมนต์ที่บนหอสวดมนต์

มันก็ตามไปด้วย หมอบอยู่ด้านหลังท่าน หน้าพระภิกษุรูปอื่นๆ
บางท่านที่ไม่ค่อยชอบหมาก็บ่น
มาไหว้พระทีไร จะกราบพระพุทธรูป

ก็เจอหมาสมภารนอนขวางทุกที
(ท่านพูดแรงกว่านี้ แต่ถ่ายทอดให้ฟังไม่ได้)

เมื่อผมต้องจากนิลพัทธ์ไปเรียนหนังสือที่ต่างประเทศ
ผมได้ถ่ายทอดความรู้สึกถึงนิลพัทธ์
ในหนังสือเล่มแรกที่ผมพิมพ์ชื่อ

"ฤๅสมัยนี้โลกมันเอียง" ดังนี้
ดำดีสีเหมือนหมึก นึกรักจริงยิ่งลูกหลาน
เลี้ยงเจ้าแต่เยาว์กาล เรียกขานชื่อยิน "นิลพัทธ์"
ปุกปุยดังสำลี รูปร่างอ้วนพีเห็นถนัด
แสนรู้สารพัด หลวงพ่อที่วัดเรียก "อ้ายดำ"
ประหลาดกว่าหมาทั้งหลาย ได้สมญาว่าเป็ดน้ำ
ชอบกระโดดลงน้ำลำ พองเล่นเช่นเป็ดลอย
ลงกุฏิไปสรงน้ำ เช้าค่ำวิ่งตามต้อยต้อย
สาดน้ำซู่ซ่าหมาน้อย เต้นหยอยชอบใจได้น้ำ
มีเจ้าเป็นเพื่อนสอง ให้นอนในห้องทุกคืนค่ำ
ภายนอกคือหมาดำ แต่ใจเจ้าเลิศล้ำกว่าบางคน
จากเจ้ามาอังกฤษ คิดคราใดใจหมองหม่น
หวนภาพเจ้าดิ้นรน จะตามขึ้นรถยนต์ไปดอนเมือง
ไร้ปากจะพูดขาน แต่สัญชาตญาณรู้เรื่อง
กตัญญูเจ้าอนันต์เนือง เนื่องฝังภวังค์ลึกซึ้ง
เคยเขียนบทกลอนไว้ บันทึกจากใจคืนหนึ่ง
บรรยายภาพรำพึง อนุสรณ์ตราตรึงมิเลือน
คิดถึงเจ้าคราวอยู่เป็นคู่สอง
นอนในห้องกินข้าวเจ้าเป็นเพื่อน

มีเพียงภาพของเจ้าคอยเฝ้าเตือน เก้าเดือนเหมือนเก้าปีที่จากมา
จากนั้นจนบัดนี้ จะครบสี่ปีเมษาหน้า
จะรีบเรียนเอาปริญญา เพื่อกลับไปหาเจ้านิลเอย
กลับมาเจ้านิลพัทธ์มันไม่ค่อยสนิทกับเจ้านายเก่าสักเท่าไหร่
แต่ก็ดีใจที่น้ำใจกตัญญู แสนรู้
เอาใจหลวงพ่อทำให้ท่านเมตตาดูแลมันอย่างดี

จนแก่ตาย แล้วก็ได้รับการบังสุกุลให้ตามประเพณี
ในพิธีฝังศพของมันอย่างสมเกียรติ
เกียรติอะไร ?
ก็เกียรติหมากตัญญูนะสิครับ
เกียรติอย่างนี้มนุษย์บางคนไม่มีเสียด้วยซ้ำ