Custom Search

Nov 18, 2008

ดี้ นิติพงษ์ ห่อนาค แบรนด์คนดัง หวังโกย 26 ล้าน

ยุทธการแปลงชื่อเสียงให้เป็นเงิน ผ่าน "ยังดี" ธุรกิจ Personal Branding ของบริษัทอีเวนท์แถวหน้าของเมืองไทยอย่าง "อินเด็กซ์ อีเว้นท์ เอเจนซี่" ซึ่งเพิ่งจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยอวดสรรพคุณว่าธุรกิจนี้อินเด็กซ์ประเดิมเป็นเจ้าแรกในตลาด
ในฐานะบริษัทในเครือของยักษ์ใหญ่ของแกรมมี่ทั้งที

ให้ธรรมดาๆ คงจะไม่ได้ เพราะแบรนด์คนดังที่ซีอีโอคู่แฝด "เมฆ-หมอก"
เกรียงไกร- เกรียงกานต์ กาญจนะโภคิน
เลือกขึ้นมาเป็นเคสต้นแบบนั้น เป็นถึง “ดี้” นิติพงษ์ ห่อนาค
หนึ่งในฟันเฟืองสำคัญ ผู้ร่วมปลุกปั้นธุรกิจเพลงของแกรมมี่ให้มายิ่งใหญ่ได้อย่างทุกวันนี้
จากผลงานเบื้องหน้ากับเพื่อนพ้องชาวสถาปัตย์'จุฬา

ร่วมวงกันในนาม “เฉลียง” มาสู่ฐานะงานเบื้องหลัง คือ โปรดิวเซอร์ และ นักแต่งเพลง
ของแกรมมี่ จนกระทั่งปัจจุบัน “ดี้” ก้าวขึ้นมาถึระดับผู้บริหารด้วยตำแหน่ง กรรมการบริหาร

ทำให้ผู้ชายคนนี้ไม่ใช่แค่ "แอสเซ็ท" แบบดาดๆ ของแกรมมี่
เพราะทั้งลิขสิทธิ์เพลงดังทั้งเก่า-ใหม่นับร้อย บวกกับสไตล์ความเป็นนักคิด
ซึ่งเจ้าตัวนิยามตัวเองไว้ว่า เป็นคน “ซน”
จึงทำให้สามารถสร้างสรรค์ไอเดียสดใหม่มากมาย
จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากอินเด็กซ์ จะเลือก “ดี้”

มาเป็นเคสต้นแบบของธุรกิจดังกล่าว โดยซีอีโอคู่แฝด
ร่วมกันยืนยันว่า แบรนด์อย่างดี้นั้น เรียกว่าสมบูรณ์และชัดเจนอยู่แล้ว
พร้อมออกวิ่งได้เลย
"ชื่อ ยังดี ผมเป็นคนตั้งขึ้นมาเอง เพราะเป็นความหมายที่ดี

เป็นความหมายแง่บวก คือ ยังดีอยู่ แต่ก็ไม่ถึงกับโอ้อวดจนเกินไป
แล้วอีกแง่หนึ่งคือ ชื่อนี้ ถ้าเขียนเป็นภาษาอังกฤษ
ก็จะเขียนว่า Young Dee ก็เป็นความหมายที่ดี เพราะแปลว่า
แบรนด์ผม(ดี้)ยังเป็นหนุ่มเสมอไป" นิติพงษ์ ผู้เป็นเจ้าของแบรนด์ต้นแบบกล่าว
เพราะนอกจากจะอุทิศตัวเป็นเคสต้นแบบให้กับยังดีแล้ว "ดี้" ยังจะมีอีกบทบาทหนึ่งคือ

ในฐานะ Creator ซึ่งจะนำเอาประสบการณ์การปั้นนักร้องจนโด่งดังหลายต่อหลายคน
เข้ามาเป็นส่วนเสริมให้กับการเพิ่มความแข็งแรงให้กับแบรนด์ต่อๆมา
ซึ่งจะเข้าร่วมกับ "ยังดี" ด้วย
สำหรับเป้าหมายทางด้านตัวเลข เกี่ยวกับแบรนด์ของ ดี้ นิติพงษ์ ห่อนาค

นั้น แม้จะเหลือแค่ 4 เดือนสุดท้ายของปี
แต่สองซีอีโอก็ยังมั่นใจว่าแบรนด์นี้จะทำเงินได้มากถึง 26 ล้านบาท
"นิติพงษ์ ออน เดอะ ฮิล คอนเสิร์ต" คือบิ๊กอีเวนท์ของปีนี้

ซึ่งจะเป็นคอนเสิร์ตอุ่นไอหนาวกลางภูเขา
โดยคาดว่าจะจัดขึ้นราว เดือน ธันวาคมปีนี้ หรือไม่ก็มกราคมปีหน้า
แค่งานนี้งานเดียว ก็ถูกตั้งเป้ารายได้ว่าอย่างน้อยๆ

ก็ไม่น่าจะน้อยกว่า 20 ล้านบาท อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ ยังจะมีการต่อยอดทักษะอื่นๆ นอกเหนือจากงานเพลง

ซึ่งดี้ นิติพงษ์ นั้น ก็จัดเป็น นักเขียน และ นักคิด คนหนึ่งของเมืองไทยด้วย
ตามมุมมองซึ่ง เมฆ-หมอก แห่งอินเด็กซ์มองเกี่ยวกับตัว "ดี้" นั้น

นอกจากจะมีความสามารถด้านการแต่งเพลงและเล่นดนตรีแล้ว
ตัวตนของ "ดี้" ซึ่งยังไม่ค่อยได้รับการโปรโมทออกมายังมีอีกไม่น้อย
อาทิ การเป็นคอลัมนิสต์ให้กับนิตยสารชื่อดัง มีงานเขียนพ็อคเก็ตบุ๊ค
และยังมีงานอื่นๆ อาทิ วิทยากร, นักเขียนบทโทรทัศน์ บทละคร,
นักจัดรายการวิทยุ และ นักบริหาร ซึ่งทั้งหมดนี้
สามารถต่อยอดให้เกิดเม็ดเงินได้อีกไม่น้อย
ที่มา:

____________________

จาก Nitipongfanclub.com

เรื่องข่าวแกรมมี่ลดพนักงานลงเป็นร้อยคน เอามาจากไหนพี่ก็ไม่รู้
บางทีสื่อเขาก็ว่าของเขาไป ลดพนักงานสิบคนเพราะว่าไม่มีประสิทธิภาพ
ก็อาจจะถูกสร้างภาพว่าลดเป็นร้อยก็เป็นไปได้
หรือว่า จะลดจริง ๆ อย่างที่เขาว่า ก็จะไปสืบดู
พี่ไปงานหมั้นน้องแพ็ท (สุธาสินี) ไม่ทัน เพราะรถติด
ไปไม่ทันถ่ายรูปร่วมกับผู้บริหารของแกรมมี่ ก็มีข่าวลือ
เพื่อนฝูงหลายคนเห็นในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร เขาเขียนว่า พี่น้อยใจ
พี่กำลังจะออกจากแกรมมี่ พี่ยังงง ๆ อยู่เลย ว่ามันไปยังไงมายังไง
เมื่อปีก่อน หนังสือพิมพ์แทบบลอยด์อะไรซักฉบับ เขียนคอลัมน์กอซซิบ
ไม่ลงชื่อพี่หรอก แต่ลงชื่อว่า เป็นนักแต่งเพลง วงดนตรีอารมณ์ดี
ร้องเพลงไข่เจียว อะไรเงี้ย ให้หมาพันธุ์ไหนอ่านก็รู้ว่าหมายถึงใคร
เขาบอกว่าพี่เคลมพวกประชาสัมพันธ์ในบริษัท ไปฟันเข้าหลายคน
ชอบเด็ก ๆ ไรเงี้ย โถ อย่าว่าแต่ถูกเนื้อต้องตัวเลย
ชื่อพวกน้อง ๆ มันยังจำไม่ได้เล้ย ยังคิดเล่น ๆ อยู่ว่า
เออ ไอ้คอลัมนิสต์มันอวยพรหรือเปล่าวะ
ถ้ามันอวยพรก็ขอให้สมพรปากมัน
น้อง ๆ ประชาสัมพันธ์นั่นเขาก็สวย ๆ ทั้งนั้น
แต่ถ้าไม่ได้เคยได้อะไรอย่างนั้นมาเลย แล้วโดนกอซซิบอย่างนี้
เสียชื่อฟรี ๆ ส่วนที่น้องตนหลังเขา ถามว่า
วงการเพลงประเทศเรากำลังเดินถอยหลังนั้น
ก็ไม่เลวร้ายอย่างนั้นเสียทีเดียว แค่ไม่ไปไหนเลย เท่านั้นเอง
เหมือนวงการเมืองน่ะ
คนฟังเพลงบ้านเรามีประมาณสี่ประเภทคือ
หนึ่ง ฟังเพลงแบบอนุรักษ์นิยม ที่คุ้นเคย คุ้นรส เช่น เพลงลูกทุ่ง
เพลงเอ็นเตอร์เทน เพลงเข้าหู จดจำง่าย เช่น เพลงลูกทุ่งต่าง ๆ
เพลงแบบโอ้ละหนอมายเลิฟ ใครใครก็ไม่รักผม ครึ่งหนึ่งของชีวิต
คนเลวที่รักเธอ ฯลฯ
เป็นเพลงประเภทที่โครงสร้าง ทั้งทำนอง ฮาร์โมนี่ ไม่เคยไปไหน
ไม่สนใจดนตรีสักเท่าไหร่ แต่สนใจเนื้อร้องเพลง
ถ้ามีเนื้อหาที่โดนใจ ก็จะเป็นที่ชื่นชอบ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนทำงาน ครอบครัว
เรียกว่า มวลชน คนกลุ่มนี้เป็นคนมีงานมีการทำ
ไม่ค่อยติดตามวงการเพลงนักหนา แต่ถ้าชอบ อยากฟังเพลง ก็จะซื้อหามาฟัง
ไม่ค่อยซื้อของปลอม ไม่ค่อยไรท์ อาจจะเป็นเพราะไม่ค่อยเก่งเรื่องคอมพิวเตอร์
หรือไม่มีเวลามานั่งไรท์ มีกำลังซื้อตามแต่สะดวก
สอง พวกฟังเพลงไทยแบบร็อก หัวโยกหัวคลอน ชื่นชมวงดนตรีที่มีความสามารถ
แต่งเพลงเองได้ ร้องเพลงดี หน้าตาดีประมาณพอสมควร
ส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นไทยแท้ ซึ่งอาจจะมีมากอยู่ในหมู่วัยรุ่นต่างจังหวัด
ชานเมือง รักชอบ ชื่นชมจริงจัง เช่น วงแคลช วงบิ๊กแอส โปเตโต้ ไอน้ำ ฯลฯ
โดยอัลบั้ม ส่วนใหญ่จะมีเพลงที่สร้างอย่างจริงจังและมีการสร้างสรรค์ใหม่ ๆ
แต่ เพลงที่ทำให้เป็นที่ฮิตได้ ก็จะมีโครงสร้างคล้าย ๆ เพลงแบบที่หนึ่งนั่นแล
คนกลุ่มนี้ ติดตามวงการเพลงไทยอย่างแท้จริง ชื่นชมศิลปินไทย
พยายามซื้อเท่าที่มีกำลัง แต่ก็อาจจะซื้อของปลอมหรือไรท์ซีดีแจกกันได้มาก
ถ้าหากคิดว่าไม่มีกำลังจะซื้อแล้ว
สาม พวกแฟชั่นวัยรุ่น
พวกนี้ชอบรูปแบบ รูปร่างหน้าตานักร้อง มากกว่าเชิงดนตรี
เช่น พวกที่ชอบกอล์ฟ ไมค์ ฟิล์ม หรืออีกมากมาย ฟังไปดูไป
คลั่งไคล้ตัวตนมากกว่าเพลง ตัวนักร้องดังกว่าเพลง ตัวเพลงดังกว่ายอดขาย
เพราะคนฟังกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยรุ่นระดับม.ต้น ถึง ม.ปลาย
ซึ่งเชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์มาก มักจะมีพฤติกรรมลงขันซื้อซีดีแผ่นเดียว
แล้วซื้อซีดีอาร์มาสิบยี่สิบแผ่น แล้วก็ก๊อปแจกเพื่อนฝูงกันไป
ไม่ใช่แค่เพราะว่าประหยัดเงินเท่านั้น
ยังมีความเชื่อว่าการได้ฟังเพลงจากแผ่นที่ไรต์เอง
หรือเป็น เอ็มพีสาม ที่ใส่อยู่ในเครื่องจำพวก ipod จะเท่
จะฉลาดกว่าคนที่ไปซื้อของจริง
เนื่องจากคนไปซื้อของจริง แปลว่า ไม่มีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์
แต่ก็มีบางส่วนที่รัก ชอบนักร้องวัยรุ่นของตัวจริง ๆ
แล้วก็ไปซื้อแผ่นจริงเพื่อเก็บไว้ เพื่อให้รู้ว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้แต่ก็ไม่มากนัก
สี่ พวกที่ชอบกระแส อาจเป็นวัยรุ่นหรือนักศึกษา คนทำงานใหม่ ๆ
ที่คิดว่าตัวเองเป็นไฮโซหน่อย ก็จะชอบฟังเพลงด้วยรูปแบบที่ดูมีคลาส
มีแฟชั่นตามเทรนด์ ฟังเพลงชิลล์ชิลล์ ส่วนใหญ่ฟังเพลงไทยน้อย
จะชื่นชมเพลงจากเกาหลี ญี่ปุ่น หรือ เพลงฝรั่งมากกว่า
แถมด้วยความรู้สึกดูแคลนคนที่ชอบฟังเพลงไทย
กลุ่มนี้ บางส่วนจะฟังเพลงไทย ก็ต้องอินดี้หน่อย ทำอะไรไม่เหมือนใคร
ไม่ได้ฟังเพลงด้วยความรู้สึก แต่ฟังเพลงด้วยรสนิยมและสมอง
พูดง่ายๆ คือ ฟังแล้วเท่ อันไหนที่ชาวบ้านชอบ ก็จะปฏิเสธ
คนฟังกลุ่มที่หนึ่ง และสอง มักจะทำให้เพลงไทยไม่ค่อยก้าวหน้าในสายตาของปัญญาชน
เพราะชอบรสชาติเดิมๆ ชอบด้วยความรู้สึก ไม่ใช่เอาเท่ เอารสนิยม
แล้วก็เป็นคนส่วนมากของประเทศเสียด้วย
แต่ไม่ค่อยมีปากเสียงวิพากษ์วิจารณ์อะไรนัก ชอบก็ฟัง ไม่ชอบก็ไม่ฟัง
คนฟังกลุ่มที่สาม เป็นพวกวัยรุ่น ซึ่งก็สนใจแฟชั่นหรือตัวตนนักร้องมากกว่าเพลง
ก็มักจะทำให้รู้สึกไม่ก้าวหน้าในทางดนตรีสำหรับพวกปัญญาชน
คนกลุ่มที่สี่ ที่เรียกว่าเป็นปัญญาชนหน่อย ก็ต้องหาความแปลกใหม่ก้าวหน้าเสมอ
อะไรที่ซ้ำๆ ก็จะรู้สึกดูแคลน เหมือนวงการการเมืองเลย
คนต่างจังหวัดตั้งรัฐบาล คนในกรุงเทพฯ ล้มรัฐบาล
เรื่องเพลงนี่ ในทุกประเทศเลย ที่พี่เคยไปเกือบทั่วโลก
เพลงที่ขายดีที่สุด สำหรับคนกลุ่มใหญ่ ก็ยังเป็นเพลงลูกทุ่ง
หรือเพลงประจำท้องถิ่นของเขา ไม่ว่าจะอเมริกา หรืออังกฤษ อะไรก็เถิด
ส่วนพวกที่ดัดแปลง หารูปแบบใหม่ ๆ นี่ มักจะเป็นพวกอินดี้ เป็นชนกลุ่มน้อย
แต่ว่าส่วนใหญ่เป็นปัญญาชน บ้านเรานี่ อย่าไปห่วงเรื่องการพัฒนาดนตรี
เดินหน้าหรือถอยหลังเลย มันก็เดินหน้า ถอยหลัง ไป ๆ มา ๆ ของมันอยู่นี่แหละ
เมื่อไหร่ การเมือง การศึกษาไทย ก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม
เรื่อง music appriciation ก็อาจจะมีโอกาสพัฒนาขึ้นได้บ้าง
ฟังเพลงไปเถิดน้องเอย ชอบอันไหนก็ฟัง
ไม่ชอบอันไหนก็อย่าไปฟัง แค่นั้นเอง