Custom Search

Jun 1, 2021

อีสานเศร้าแฮง.. ตำนาน "หอมดอกผักกะแยง" ลาลับ


ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา



อีสานบ้านเฮา
เนื้อร้อง/ทำนอง: พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา

หอมดอกผักกะแยง ยามฟ้าแดงค่ำลงมา
แอ๊บๆ เขียดจะนา ร้องยามฟ้าฮ้องฮ่วนๆ
เขียดโม่เขียดขาคำ เหมือนหมอลำพากันม่วน
เมฆดำลอยปั่นป่วน ฝนตกมาสู่อีสาน
หมู่หญ้าตีนกับแก้ ถูกฝนแลเขียวตระการ
ควายทุยเสร็จจากงาน เล็มหญ้าอ่อนตามคันนา
รุ่งแจ้งพอพุ่มพู ตื่นเช้าตรู่รีบออกมา
เร่งรุดไถฮุดนา รีบนำฟ้าฟ้าวนำฝน อีสานบ้านของเฮา
อาชีพเก่าแต่นานดน เอาหน้าสู่ฟ้าฝน เฮ็ดนาไร่บ่ได้เซา
เฮ็ดนาไร่บ่ได้เซา...ม่วนเอยม่วนเสียงกบ
ร้องอ๊บๆ กล่อมลำเนา ผักเม็กผักกะเดา
ผักกะโดนและผักอีฮีน ธรรมชาติแห่งบ้านนา
ฝนตกมามีของกิน ฝนแล้งแห้งแผ่นดิน
ห้วยบึงหนองแห้งเหือดหาย มาเด้อมาเฮ็ดนา
มาเด้อหล้าอย่าเดินผ่าย นับวันจะกลับกลาย
บ่าวสาวไหลเข้าเมืองกรุง เสียงแคนกล่อมเสียงซุง
ตุ้งลุ่งตุงแล่นแตรลุ่งตุง เสียงแคนกล่อมเสียงซอ
อ้อนแล้วอ๋อออนอีแล้วอ้อ มาเด้อมาช่วยกันก่อ
อีสานน้อ...บ้านของเฮา

    กลิ่น "หอมดอกผักกะแยง" ฟุ้งชื่นใจไปทั่วสารทิศ นับตั้งแต่ ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา หยิบยกมาเป็นตัวละครเอกในเพลง "อีสานบ้านเฮา" ส่งกลิ่นอายสะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบไทบ้านได้อย่างยอดเยี่ยม

    

    หลังจาก เทพพร เพชรอุบล นักร้องดังในอดีตถ่ายทอดจนเกิด "จิตสำนึกรักบ้านเกิด" ภูมิใจในความเป็น "อีสานบ้านเฮา" แล้ว ยังมีนักร้องรุ่นหลังนำความงดงามฉบับนี้มาขับกล่อมอย่างแพร่หลาย กลายเป็นมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น

    

    จนมีการเปรียบเปรยว่า "เพลงอีสานบ้านเฮา" เปรียบเสมือน "เพลงชาติของคนอีสาน"  

    

    "ครูชลธี ธารทอง" ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (นักแต่งเพลงลูกทุ่ง) ประจำปี พ.ศ. 2542 เจ้าของฉายา "เทวดาเพลง" ได้กล่าวยกย่อง ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ไว้ในหนังสือ "ชีวิตและงานศิลปินแห่งชาติ ชลธี ธารทอง เทวดาเพลง ภาคสมบูรณ์" ว่า... เพลงอีสานบ้านเฮาได้ประมวลความเป็นภาคอีสานไว้ครบถ้วน ทั้งวัฒนธรรมการกิน การอยู่ การประกอบอาชีพ

    

    "จึงได้รับการยอมรับว่าเป็นเพลงประจำภาคอีสาน"

    

    พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา คือผู้รจนาคำประพันธ์ที่ล้ำลึกและสง่างาม ได้ เทพพร เพชรอุบล ถ่ายทอดผ่านเสียงร้องด้วยลีลาสนุกสนานรื่นเริง และบันทึกเสียงไว้เมื่อปี พ.ศ. 2520 เป็นเพลงที่ยอมยกนิ้วให้ เป็นสุดยอดของเพลงที่มีกลิ่นอายอีสาน ฟังแล้วภูมิใจแทนคนอีสาน

    

    พงษ์ศักดิ์เป็นครูเพลงรุ่นพี่ เป็นนักแต่งเพลงภาคอีสาน "หาตัวจับยากมาก" เป็นกวีอีสานที่ยิ่งใหญ่ที่สุด "ไม่มีใครเทียบ" หรือ "เทียบได้ยากมาก" ท่านสร้างเพลงไว้เยอะมาก เก่งมาก เคารพในความสามารถของท่านมาก

    

    การเสียชีวิตของ ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา เมื่อเวลา 19.10 น. ของวันที่ 1 กันยายน 2558 ที่ตึกอายุรกรรมชั้น 7 โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี ด้วยอาการปอดอุดกั้นเรื้อรัง ขณะมีอายุได้ 79 ปี ตั้งศพสวดพระภิธรรมที่วัดเลียบ จ.อุบลราชธานี


    

    "นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของวงการเพลงลูกทุ่ง"

    สร้างความโศกเศร้าไปทั่วแผ่นดินอีสาน ครูพงษ์ศักดิ์ได้รับการยกย่องว่าเป็น "ปราชญ์อีสาน" ผู้มากความอดทน มุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปะการแสดงหลากหลายสาขามาอย่างต่อเนื่อง

    

    "โดยเฉพาะด้านการประพันธ์เพลงลูกทุ่ง"

    ชื่อเดิม "นายสงคราม" เกิดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2479 ที่บ้านดอนใหญ่ อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี เป็นบุตร นายสุขุม-นางแดง จันทรุกขา จบประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนอุบลวิทยากร มัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอุบลวิทยากร (วัดมณีวนาราม) อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ได้รับปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาดนตรีศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

    

    เริ่มตั้งแต่เพลงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 ในนาม "พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา"

    สร้างสรรค์ผลงานได้รับความนิยมแพร่หลาย อาทิ สาละวันรำวง, สาวชุมแพ, ตะวันรอนที่หนองหาน, รักร้าวหนาวลม, ทุ่งรัก, สาวอุบลรอรัก, อีสานบ้านเฮา, รอรักใต้ต้นกระโดน, ด่วน บ.ข.ส., ดอกจานบาน, นางกวักมหาเสน่ห์, คูนดอกสุดท้าย, รักลาอย่าเศร้า, แปลรักแปลใจ ฯลฯ เพลงเหล่านี้ได้สร้างนักร้องให้มีชื่อเสียงโด่งดังระดับประเทศ ได้แก่ ไพรวัลย์ ลูกเพชร, ศรคีรี ศรีประจวบ, รุ่งเพชร แหลมสิงห์, สนธิ สมมาตร, ไวพจน์ เพชรสุพรรณ, ผ่องศรี วรนุช, สายัณห์ สัญญา, ยอดรัก สลักใจ ฯลฯ

    

    โดยล่าสุด "สลา คุณวุฒิ" ศิษย์เอกผู้เดินตามรอย "พ่อครู" ผลงานทรงคุณค่าของ "คีตกวีลุ่มน้ำโขง ผู้หยิบความจนมาปั้นให้คนรู้ค่า" อาทิ อีสานบ้านเฮา, สาละวันรำวง, รอรักใต้ต้นกระโดน, สาวอุบลรอรัก, ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่, รักร้าวหนาวลม, หนาวเดือนห้า, ดอกอ้อริมโขง, นางกวักมหาเสน่ห์, โฉมนาง, ด่วน บ.ข.ส., เซิ้งแข่งเรือ ฯลฯ มาจารึกไว้ในแผ่นดินกับอัลบั้ม "หอมดอกผักกะแยง 1-2" หนึ่งในโปรเจกต์ฉลอง 20 ปี  แกรมมี่ โกลด์

    

    ผ่านการถ่ายทอดของนักร้องรุ่นลูกรุ่นหลานชาวอีสานอย่าง ไมค์ ภิรมย์พร, ไผ่ พงศธร, ศิริพร อำไพพงษ์, ต่าย อรทัย, พี สะเดิด, มนต์แคน แก่นคูน, ดอกอ้อ ทุ่งทอง, ก้านตอง ทุ่งเงิน และ เต๋า ภูศิลป์   

    

    นอกจากผลงานด้านประพันธ์เพลงลูกทุ่งเป็นเลิศแล้ว ครูพงษ์ศักดิ์ยังเป็นนักพากย์ภาพยนตร์ในนาม "เทพสงคราม" ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2502-2512 เป็นนักเขียนบทละครวิทยุ และเล่นละครวิทยุให้กับคณะมิตรมงคลของ ครูสวาสศดิ์ ไชยนันท์ ปีพ.ศ. 2520 เคยสร้างภาพยนตร์และกำกับภาพยนตร์เรื่อง "มนต์รักลำน้ำพอง, ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่, มนต์รักแม่น้ำมูล, มนต์รักลูกทุ่ง" เป็นนักโหราศาสตร์ (หมอดู) ในนาม "ธณวัฒน์" เรื่อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502

    

    ครูพงษ์ศักดิ์ได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ ประเภทผู้ประพันธ์เพลงยอดเยี่ยม เรื่อง "ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่" จากสมาคมภาพยนตร์ไทย, รางวัลเพลงลูกทุ่งดีเด่น "กึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย" จากเพลง "สาละวันรำวง" จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, รางวัลเพลงลูกทุ่งดีเด่นส่งเสริมวัฒนธรรมไทย งานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งสืบสานคุณค่าวัฒนธรรมไทย จากเพลง "สาละวันรำวง"

    

    ได้รับยกย่องให้เป็น "ครูภูมิปัญญาชาวบ้าน" จากสำนักเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ศิลปินดีเด่นสาขาศิลปะการแสดง จังหวัดอุบลราชธานี และศิลปินมรดกอีสานจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น รางวัลเชิดชูเกียรติศิลปิน "คีตกวีศรีแผ่นดิน" จากจังหวัดอุบลราชธานี

    

    ในบั้นปลายชีวิต ครูพงษ์ศักดิ์ และ นางจิตประไพ จันทรุกขา ภรรยา พักอาศัยอยู่ที่บ้านใน อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี และอุทิศที่ดินสร้างป็น "ลานบ้านลานธรรม" เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้พระพุทธศาสนาให้กับเยาวชนและประชาชนทั่วไป

พร้อมทั้งมีผลงานการประพันธ์เพลงธรรมคีตะ ชุดหนทางมนุษย์ 1-2 ชุดพลิ้วเพลงธรรมนำสุข ชุดพลิ้วแผ่เพลงธรรม ชุดพร่างพร้อยเพลงธรรม ชุดพบธรรมนำสุข

    

    ก่อนเสียชีวิตเพียง 1 ปี ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติจากกระทรวงวัฒนธรรมให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยลูกทุ่ง-ประพันธ์เพลง) ประจำปี พ.ศ. 2557

    

    "แม้ได้เป็นศิลปินแห่งชาติในห้วงเวลาไม่นาน"

    

    แต่ลูกศิษย์ลูกหาที่เคารพรักและศรัทธาต่างก็ภาคภูมิใจที่คุณค่าของ "ครูพงษ์ศักดิ์" ได้จารึกไว้บนจุดสูงสุด ได้ชื่อว่าเป็น "สุดยอดศิลปิน" ในชาตินี้แล้ว

    

    "สลา คุณวุฒิ" ลูกศิษย์ในรอยปากกาได้เรียงร้อยความรู้สึกอาลัยกับการจากไปของ "พ่อครู" ที่เขาตามรอยวิถีศิลปิน พร้อมกับบรรยายความเป็นตัวตนและคุณค่าความงามที่ท่านจารึกไว้ได้ซึ้งกินใจ


    "ศิลปินแห่งชาติ คีตกวีลุ่มน้ำโขง ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ผู้จรดปากกาไว้กลางใจผู้คน สาละวันรำวง ...อีสานบ้านเฮา ...นักรบทางวัฒนธรรม ผู้มีส่วนสร้างนาม "ลูกทุ่งอีสาน" ให้ลูกหลานได้สานต่อ วันนี้พ่อได้อาลัยดับสังขาร รดกลางใจของผู้คนคือผลงาน ในนามของลูกศิษย์ของครูคนหนึ่ง ขอไว้อาลัยด้วยใจคารวะ"


    ในขณะที่ "สิงห์เฒ่า" ศราวุธ ทุ่งขี้เหล็ก โปรดิวเซอร์ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักร้องชื่อดังมากมาย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน ได้สดุดี "พ่อครู" ว่า "เป็นนักสู้ผู้บุกเบิก เปรียบเสมือนต้นธารแห่งการขับเคลื่อนวัฒนธรรมเพลงลูกทุ่งอีสานให้คนรุ่นหลังได้สืบทอด ศึกษาเป็นวิทยาทาน"

    

    "วสุ ห้าวหาญ" นักแต่งเพลงมือทอง ที่ศึกษางานเพลงของ "คตีกวีอีสาน" เป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงาน สร้างนักร้องประดับวงการนับไม่ถ้วน บอกว่า "การจากไปของครูพงษ์ศักดิ์ถือเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งของวงการเพลงลูกทุ่ง นอกจากเพลงอีสานบ้านเฮาแล้ว ท่านยังแต่งเพลงสาละวันรำวง ได้รับความนิยมและเป็นที่ชื่นชอบของคอเพลงลูกทุ่งอีสานตั้งแต่ในอดีตมาจนถึงยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีความสามารถหลากหลาย สร้างคุณประโยชน์ให้กับวงการภาพยนตร์ ละคร เป็นสุดยอดศิลปินอย่างแท้จริง"

    

    "ต่าย อรทัย" ซึ่งได้ไปร่วมงานเชิดชูเกียรติ ศิลปินแห่งชาติชาวอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2558 ได้นำภาพสุดท้าย ในความทรงจำออกมาบรรยายว่า "แม้พ่อครูได้จากพวกเราไปแล้ว แต่ก็จะจดจำจารึกถึงโอกาสและสิ่งที่ท่านเคยชี้แนะในหลายๆ เรื่องของการเป็นศิลปิน หาก "พ่อครูพงษ์ศักดิ์" ไม่จัดการประกวดร้องเพลงที่โรงเรียนศรีเมืองใหม่วิทยาคารในวันนั้น เมื่อพ.ศ. 2540 คงไม่มีศิลปินชื่อว่า "ต่าย อรทัย" ในวันนี้ ขอน้อมส่งดวงวิญญาณคีตกวีแห่งลุ่มน้ำโขง ผู้หยิบความคนมาปั้นให้คนรู้ค่า ด้วยใจศรัทธาน้อมคารวะ"

    

    "ไผ่ พงศธร" หนึ่งในศิลปินฝากผลงานของ "ครูพงษ์ศักดิ์" ไว้ในแผ่นดิน ในอัลบั้มหอมดอกผักกะแยง 1-2 บอกว่า "แม้วันนี้ตัวพ่อจะไม่ได้อยู่กับพวกเราแล้วก็ตาม แต่ผมเชื่อว่าทุกบทเพลงของพ่อจะคงอยู่ในหัวใจของพวกเราทุกๆ ตลอดไป"

    

    แม้นอีสานจะเศร้าแฮงกับการลาลับของ "ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา" แต่ "ดอกผักกะแยง" ยังสวยงาม และส่งกลิ่นหอมฟุ้งตลอดกาล

    

    ขอน้อมคารวะ ด้วยความอาลัย