ตัวเลข 240 ล้านบาทที่จ่ายไปเหมือนจะสูง
แต่ในมุมของ "ตัน" นั้นถือว่าถูกมาก
240 ล้าน แบ่งเป็นค่าเครื่องหมาย
การค้าในเมืองไทย 80 ล้านบาท
ในต่างประเทศอีก 15 ประเทศ ประเทศละ 10 ล้านบาท รวม 150 ล้านบาท
และค่าสูตรน้ำส้ม น้ำองุ่น และ
น้ำมะนาวอีก 10 ล้านบาท
เฉพาะในเมืองไทยราคา 80 ล้านบาท
นั้น "ตัน" มองว่าถูกมากสำหรับการสร้างแบรนด์
เพราะการสร้างแบรนด์ใหม่ให้เป็นที่ยอมรับทั้งชื่อและรสชาตินั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
ไม่ใช่มีเงินแล้วจะสำเร็จ
"ตัน" เคยมีประสบการณ์เรื่องน้ำส้มมาแล้วครั้งหนึ่งสมัยที่อยู่ "โออิชิ"
จำน้ำส้ม "เซกิ" ได้ไหมครับ
เขาใช้งบประมาณในการปลุกปั้น "เซกิ" มากทีเดียว
ไม่แน่ใจว่าเท่าไร แต่คาดว่าไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท
แต่สุดท้าย "เซกิ" ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
80 ล้านสำหรับ "ไบเล่" จึงถูกมาก
เพราะแค่เอ่ยชื่อ "ไบเล่" กับ "เซกิ"
ผมเชื่อว่าคนรู้จัก "ไบเล่" มากกว่า
ส่วนรสชาตินั้น ถ้าถามคนที่เคยดื่ม "ไบเล่" น้อยนักที่จะมีคนบอกว่าไม่อร่อย
ยิ่งคนรุ่นเก่าที่คุ้นเคยกับ "ไบเล่" ตอนที่ยังหาซื้อง่าย ๆ ทุกคนจะชอบ "ไบเล่"
ดังนั้น 80 ล้านบาทสำหรับการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักและรสชาติเป็นที่ยอมรับ จึงถือว่าถูกมากจริง ๆ
และทันทีที่ "ไบเล่" อยู่ในมือ "ตัน"
มูลค่าของผลิตภัณฑ์จะเพิ่มขึ้นทันทีใน 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ "ต้นทุน"
ด้วยโรงงานที่ทันสมัยของ "อิชิตัน" ต้นทุน "ไบเล่" จะลดลงทันทีประมาณขวดละ 1-2 บาท
อย่าลืมว่า "สินค้าประหยัด คือ สินค้าที่ทำกำไรทันที"
1-2 บาทต่อขวด เยอะนะครับ
10 ล้านขวดก็ 20 ล้านบาท
20 ล้านขวดก็ 40 ล้านบาท
ถ้าตั้งเป้ายอดขายไว้ 300-400 ล้านบาท
ก็ประมาณ 30-40 ล้านขวด
หรือประหยัดต้นทุนได้ทันที 60-80 ล้านบาท
เรื่องที่สอง คือ "การตลาด"
"ไบเล่" พร้อมทั้งชื่อเสียงและรสชาติ ในขณะที่ "ตัน" เก่งเรื่องการตลาด
รับรองได้ว่าอีกไม่กี่เดือน เราจะพบกับ "ไบเล่" รูปแบบใหม่อย่างแน่นอน
"น้ำส้มไบเล่" จะแปลงกายเป็นผลิตภัณฑ์มากมาย
แค่อยู่ในมือ "ตัน"
"ไบเล่" ตัวเดิมก็ไม่เหมือนเดิมในบัดดล
เรื่องราวของน้ำส้ม "ไบเล่" ที่เก่าแก่ถึง 96 ปี มีคุณค่ามากในทางการตลาด
เพราะเป็นตำนานที่มีชีวิต
แต่ "ของเก่า" จะขลังหรือไม่ขลังก็ขึ้นอยู่กับผู้ปลุกเสก
"ไบเล่" อายุ 96 ปีก็เช่นกัน
จะพลิกฟื้นชีวิตให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้งได้หรือไม่ก็อยู่ที่ "พ่อมด" คนนี้
"ตัน ภาสกรนที"