Custom Search

Apr 4, 2013

'ในหลวง ร.9' ทรงห่วงใยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การแก้ปัญหาอุทกภัย


ภาพ มติชน
เรื่อง ไทยรัฐ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ห่วงใยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการแก้ไขปัญหาอุทกภัยของชาติ มีพระราชกระแสฯ ว่า การวางแผนพัฒนาระบบน้ำ แผนที่ต้องละเอียดและถูกต้องแม่นยำ ที่สำคัญต้องเหมาะสมกับงานกับพื้นที่ 

ช่วงเย็นวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว .9 เสด็จออก ห้องประชุมสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ชั้น 14 อาคารเฉลิมพระเกียรติโรงพยาบาลศิริราช พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำคณะผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลรายงานความก้าวหน้าเกี่ยวกับการวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และแก้ไขปัญหาอุทกภัยแห่งชาติ

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลรายงานภาพรวมที่รัฐบาลดำเนินการ คือ เรื่องการปลูกป่าและหญ้าแฝก เรื่องการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ การพัฒนาพื้นที่รับน้ำนองบริเวณพื้นที่เหนือจังหวัดนครสวรรค์ และการระบายน้ำในพื้นที่ใต้จังหวัดนครสวรรค์ การพัฒนาศูนย์คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ

นายอานนท์ สนิทวงศ์ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กราบบังคมทูลรายงานในส่วนของหลักการและโครงการหลัก เรื่องการปลูกป่า การพัฒนาลุ่มน้ำยม พื้นที่รับน้ำนอง และเส้นทางผันน้ำ

นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กราบบังคมทูลรายงาน เรื่องการพัฒนาระบบคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ แบบจำลองคาดการณ์ฝน น้ำท่า แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งการคาดการณ์ฝนปีนี้ 

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ได้ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายตัวอย่างแผนที่พื้นที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจัดพิมพ์ในระบบสามมิติ ทำให้มองเห็นสภาพพื้นที่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว .9 ได้มีพระราชกระแสถึงรายละเอียดการใช้แผนที่เพื่อวางแผนพัฒนาระบบน้ำว่า พื้นที่ราบภาคกลางจะต้องคำนึงถึงความถูกต้องแม่นยำในแนวดิ่ง จึงจะใช้ได้เหมาะสม ทรงยกตัวอย่างการไหลระบายน้ำของพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ภาคเหนือ ทรงเล่าพระราชทานว่า เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงงานในภาคเหนือ พื้นที่เป็นภูเขาสูงต่ำ ความลาดเทเอียงสูง ทรงใช้แผนที่ขนาด 1 ต่อ 5 หมื่น ครอบคลุมพื้นที่จากจังหวัดเชียงใหม่ถึงจังหวัดน่านได้ง่าย แต่หากเป็นพื้นที่ราบภาคกลางจะต้องทำรายละเอียดสูงมาก เพราะความลาดเทเอียงน้อยมาก แผนที่และข้อมูลจะมีขนาดใหญ่มาก จะต้องทำให้เหมาะสมกับงาน เหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งการจัดทำแผนที่ในพื้นที่ราบที่ผ่านมา ได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้กรมแผนที่ทหารดำเนินการเก็บความสูงเป็นจุดๆ ไป และเก็บค่าระดับความสูงบนคันกั้นน้ำพระราชดำริด้วย จึงขอให้ไปพิจารณากำหนดใช้ให้เหมาะสม ถูกต้อง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยัง .9 ทรงห่วงใย ทรงซักถามถึงความก้าวหน้าการติดตั้งระบบโทรมาตร และการคาดการณ์สถานการณ์น้ำในแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน และแม่น้ำป่าสัก มีพระราชกระแสฯ ด้วยว่า แม่น้ำป่าสักจะบริหารจัดการได้ยากที่สุด เพราะปริมาณน้ำไหลลงอ่างสูงมากหลายเท่าของความจุอ่าง ทำให้การบริหารจัดการทำได้ยาก

โอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว .9 ได้พระราชทานพรแก่คณะทำงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ให้ทำงานขยันขันแข็ง ได้สำเร็จลุล่วง สร้างความปลาบปลื้มและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแก่คณะทำงานทุกคนอย่างที่สุด.