Custom Search

Jun 12, 2012

วันอัฏฐมีบูชา


การบูชาในวันแรม ๘ ค่ำเดือน ๖
(ถ้าเป็นปีที่มีอธิกมาส ก็เลื่อนออกไปเป็น เดือน ๗)
วันอังคารที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๕ ตรงกับวันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๗ นี้
เป็น  " วันอัฏฐมีบูชา " คล้ายวันถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระพุทธเจ้า
ณ กรุงกุสินารา แคว้นมัลละ
วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ
ความหมาย
เนื่องด้วยอัฏฐมีคือวันแรม ๘ ค่ำ แห่งเดือนวิสาขะ (เดือน ๖) เป็นวันที่ถือกันว่าตรงกับวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ เมื่อถึงวันนี้แล้ว พุทธศาสนิกชนบางส่วน ผู้มีความเคารพกล้าในพระพุทธองค์ มักนิยมประกอบพิธีบูชา ณ ปูชนียสถานนั้น ๆ วันนี้จึงเรียกว่า "วันอัฏฐมีบูชา"
ประวัติความเป็นมา
   เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว ๘ วัน มัลลกษัตริย์แห่งนครกุสินารา พร้อมด้วยประชาชน และพระสงฆ์อันมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน ได้พร้อมกันกระทำการถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ณ มกุฏพันธนเจดีแห่งกรุงกุสินารา วันนั้นเป็นวันหนึ่งที่ชาวพุทธต้องมีความสังเวชสลดใจ และวิปโยคโศกเศร้าเป็นอย่างยิ่ง เพราะการสูญเสียแห่งพระพุทธสรีระ เมื่อวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๘ ซึ่งนิยมเรียกกันว่าวันอัฏฐมีนั้นเวียนมาบรรจบแต่ละปี พุทธศาสนิกชนบางส่วน โดยเฉพาะพระสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกาแห่งวัดนั้น ๆ ได้พร้อมกันประกอบพิธีบูชาขึ้น เป็นการเฉพาะภายในวัด เช่นที่ปฏิบัติกันอยู่ในวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ เป็นต้น แต่จะปฏิบัติกันมาแต่เมื่อใด ไม่พบหลักฐาน ปัจจุบันนี้ก็ยังถือปฏิบัติกันอยู่

ความสำคัญ

   โดยที่วันอัฏฐมีคือวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ เป็นวันที่มีเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนา ถือเป็นวันที่ตรงกับวันที่ตรงกับวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระเป็นวันที่ชาวพุทธต้องวิปโยค และสูญเสียพระบรมสรีระแห่งองค์พระบรมศาสดา ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงยิ่ง และเป็นวันควรแสดงธรรมสังเวชและระลึกถึงพระพุทธคุณให้สำเร็จเป็นพุทธานุสสติภาวนามัยกุศล
พิธีอัฏฐมีบูชา
   การประกอบพิธีอัฏฐมีบูชานั้น นิยมทำกันในตอนค่ำและปฏิบัติอย่างเดียวกันกับประกอบพิธีวิสาขบูชา ต่างแต่คำบูชาเท่านั้น