Custom Search

Dec 8, 2010

คาถาคลายทุกข์


คอลัมน์ แท็งก์ความคิด

วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2550

นฤตย์ เสกธีระ

max@matichon.co.th


หลายสัปดาห์ก่อนนวนิยายแปลเรื่องยาว "แฮร์รี่ พอตเตอร์"
ฉบับภาษาไทยได้วางจำหน่ายเล่มที่ 7 ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายไปแล้ว
"แฮร์รี่ พอตเตอร์" เป็นเรื่องราวของเด็กชายสายเลือดพ่อมด
ที่ใช้ความกล้าต่อสู้กับความชั่วร้าย
ฉากการต่อสู้ในนวนิยายแปลเรื่องนี้ดุเดือดตื่นเต้น
แอบแฝงไว้ด้วยความอบอุ่น ความรักอันบริสุทธิ์
ในการต่อสู้ทุกครั้ง "แฮร์รี่ พอตเตอร์"
และเพื่อนๆ จะนำคาถาพ่อมดมาใช้ต่อสู้กับศัตรู
คาถาพ่อมดที่ "แฮร์รี่ พอตเตอร์"
ใช้นั้น ไม่ได้สืบทอดมาทางพันธุกรรมนะครับ
หากแต่ต้องฝึกฝนจากโรงเรียนพ่อมด
คาถาแต่ละคาถา นักเรียนเวทมนตร์ต้องใช้ความเข้าใจในคาถานั้นๆ
ถึงจะสามารถเสกสิ่งต่างๆ ตามที่ตัวเองต้องการได้
พอนึกถึงเรื่อง "แฮร์รี่ พอตเตอร์" นึกถึงคาถาในเรื่อง
พลอยทำให้อยากจะมีคาถาประจำตัวบ้างเหมือนกัน
และพอนึกไปเรื่อยๆ ก็นึกได้ว่า เราก็มีคาถาประจำเหมือนกันนี่นา
เรียกว่า "คาถาคลายทุกข์"
คาถานี้ก็เหมือนกับคาถาของ "แฮร์รี่ พอตเตอร์" นั่นแหละครับ
แค่ท่องอย่างเดียวไม่สามารถจะใช้มันได้หรอก
ใครจะใช้ได้ต้องเข้าใจถ้อยคำของ "คาถา"
รับรองว่าใครสามารถเข้าใจและใช้คำๆ นี้ในชีวิตประจำวันได้
ทุกข์ของท่านจะคลี่คลายลงไปพลัน
คาถาที่ว่านี้ หากจำไม่ผิด
เข้าใจว่าได้มาในช่วงสงกรานต์เมื่อปีที่แล้ว
ตอนนั้นพวกเรา 5-6 คน ไปขอพรจาก สมเด็จพระมหาธีราจารย์
เจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม เพื่อนำไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน
เป็นสิริมงคลแก่ท่านผู้อ่าน
วันนั้น สมเด็จพระมหาธีราจารย์ท่านเทศนาให้ฟังเรื่อง
พรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา
พวก เราคงคุ้นเคยกันดีกับคำว่า
"เมตตา" คือทำให้คนเป็นสุข
"กรุณา" คือทำให้คนพ้นทุกข์ และ
"มุทิตา" คือยินดีกับความสำเร็จของผู้อื่นมาแล้ว
แต่เชื่อไหมครับว่า
คาถาที่ทำให้คนคลายทุกข์ได้นั่นคือ "อุเบกขา"
ใครหลายคนอาจจะแปลความหมายของคำว่า
"อุเบกขา" ว่ามีสติ เป็นกลาง ไม่โน้มเอียง
แต่ในความรู้สึกหลังจากฟังธรรม
จากสมเด็จพระมหาธีราจารย์แล้ว
เข้าใจได้ว่า
"อุเบกขา" คือ การปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ
วันนั้นจำได้ว่าพอออกจากกุฏิ
"สมเด็จท่าน" รู้สึกหูตาสว่าง
จิตใจเบิกบานเหมือนสำเร็จวิชาอะไรสักอย่าง
ตั้งใจไว้ว่าจะน้อมนำเอา "อุเบกขา"
เป็นคาถาประจำตัว เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน
ว่าแล้วก็ท่อง "อุเบกขา" "อุเบกขา" "อุเบกขา"
แต่ ขอสารภาพนะครับว่า ท่องไปอย่างนั้นแหละ
เสกอะไรไม่ได้หรอก
เพราะคำคำนี้ต้องใช้ความเข้าใจ
และกว่าจะเข้าใจกันอีกทีก็เมื่อได้เห็นคนอื่นเขาใช้
คือได้เห็นคนเขาปลอบญาติของผู้เสียชีวิตว่า
อย่าได้ทุกข์โศกเลย เขาไปดีแล้ว
ได้เห็น แม่ให้กำลังใจลูกที่ทำข้อสอบได้คะแนนไม่ดี
ทั้งๆ ที่พยายามอ่านหนังสือเต็มที่
ซึ่งเรามักได้ยินแม่บอกเสมอว่า
"ไม่เป็นไรหรอกลูก ลูกทำดีที่สุดแล้ว"
หรือเวลาที่เตือนวัยรุ่นในเรื่องต่างๆ
ด้วยความเป็นห่วง ทั้งเรื่องการคบเพื่อน
การใช้จ่ายเงิน การใช้ชีวิตที่ผาดโผน แต่วัยรุ่นเขาไม่เชื่อ
จนในที่สุดเราต้อง "ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ"
คือ เราได้เห็น ได้เตือน และให้สติแล้ว
แต่เมื่อเขาไม่เชื่อ
เราก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามแรงกรรม คือ
การกระทำของเขา
ทุกอย่างที่ได้เห็น ได้ยิน
และยกตัวอย่างมา
คือการใช้ "อุเบกขา" เป็นคาถาทั้งสิ้น
ไม่น่าเชื่อนะครับว่า
เมื่อเราได้คาถานี้
ความห่วงใย
และความกังวล จะค่อยๆ หายไป
เมื่อความพะวงห่วงใยลดน้อยลง
ความทุกข์ก็คลายหายไปอย่างไม่น่าเชื่อ
นั่นคืออานิสงส์ของคำว่า "อุเบกขา"
เหมาะไหมที่จะนำมาเป็นคาถาคลายทุกข์ ?
แต่อยากจะทำความเข้าใจ
สำหรับคำว่า "อุเบกขา" นี้อีกสักนิด
คือคำว่า "อุเบกขา"
ไม่ใช่การ "เพิกเฉย" นะครับ
ประเภท เห็นเพื่อนถูกทำร้ายแล้ว เฉย
ปล่อยให้เพื่อนเจอยำจมธรณี
หรือการที่เห็นคนทำผิด
แล้วไม่ตักเตือน ไม่ห้ามปราม อ้างว่าเป็น "อุเบกขา"
อย่างนี้ไม่ใช่
ยิ่งพวกเห็นปัญหา แล้วนิ่ง อ้างว่า "อุเบกขา"
นี่ยิ่งไปกันใหญ่
เพราะ "อุเบกขา"
คือการยอมรับผลจาก
การกระทำที่เราทำดีที่สุดแล้ว
ส่วนพวกที่นิ่งเฉย เขาเรียกว่า "หนีปัญหา"
คือไม่ยอมทำอะไรสักอย่าง เพราะกลัว
ดังนั้น "อุเบกขา" จึงเหมาะเป็นคาถาสำหรับคนทำงาน
เหมาะสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง
เหมาะสำหรับคนที่มีความรับผิดชอบต่อผู้อื่น
เป็นคาถาคลายทุกข์
เพราะบางสิ่งที่เราทำ
บางสิ่งที่เราหวัง
บางสิ่งที่เราห่วง อาจกลายเป็นสิ่งที่สร้างทุกข์ให้แก่เรา
ดังนั้น เมื่อเราเจอทุกข์ที่เกิดจากสิ่งเหล่านี้
ขอให้ใช้ "อุเบกขา" เป็นคาถา
ปล่อยทุกอย่างให้เป็นไปตามธรรมชาติ
ยอมรับผลจากสิ่งที่เราได้ทำอย่างดีที่สุด
แล้วทุกข์กังวลที่เคยปรากฏ
ก็จะคลายหายไปเองอย่างมหัศจรรย์