Custom Search

Jun 7, 2010

"ดร.สาทิส"แนะคนไทยอย่าแบกความเครียด ใช้"ชีวจิต" ดูแลสุขภาพกาย-ใจ


ตุลยย์
มติชนออนไลน์
วันที่ 07 มิถุนายน พ.ศ. 2553



ชีวจิตคืออะไร "ชีว" ก็คือ "กาย" และ
จิต ก็คือ "ใจ" ชีวจิตจึงมีองค์ประกอบหลักๆ 2 ส่วน คือ
ฝ่ายกายกับฝ่ายใจ
แต่"ชีวจิต"ถือว่าทั้งร่างกายและจิตใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ร่างกายมีผลต่อจิตใจ จิตใจก็มีผลต่อร่างกาย..
นี่คือความหมายคำว่าชีวจิตของ
ดร.สาทิส อินทรกำแหง
ผู้ได้รับรางวัล"ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์" ครั้งที่ 7

ดร.สาทิส เล่าว่าได้ทำนิตยสารชีวจิต
เป็นปีที่ 12 ย่างเข้าปีที่ 13 แล้ว
ที่ริเริ่มในการนำชีวจิตเข้ามา
เพราะคิดว่ามันจะช่วยคนได้ จึงนำเอาเรื่องชีวิต จิต
มารวมกับเรื่องของการแพทย์และสุขภาพ
วิถีชีวิต หลายอย่างเอามารวมกัน
มองว่าน่าจะเกิดประโยชน์
หลายคนที่มาลองปฏิบัติแล้วได้ผล ก็รู้สึกดีใจ
เลยคิดว่าถ้ามันเป็นของที่ดีที่ถูกต้องก็น่าจะอยู่ต่อไปได้
ขณะนี้ก็ยังคงทำงานต่อไป จะทำเท่าที่อยากทำ
เป็นห่วงแค่ว่าในระยะเวลาอีก 4-5 ปี
จะมีผู้สนับสนุนหรือไม่ ถ้ามีก็คงสบายใจ

"ผมคิดว่างานที่ทำมา
ถ้าอยู่ตัวแล้วก็คงไปได้ด้วยตัวของมันเอง
เพราะว่าผมให้ความรู้ ผู้ปฏิบัติถ้าทำได้ดีก็น่าจะทำได้ ชีวจิต
ในช่วงแรก ผมเป็นคนที่เอาเข้ามา
โดยนำการแพทย์ทางเลือกมาใช้
จนถึงอีกขั้นที่การแพทย์ทางเลือกเท่านั้น
ยังไม่พอ เราต้องช่วยให้ได้ในวงกว้าง
โรคหลายอย่างต้องช่วยได้
ไม่ใช่แค่อย่างใดอย่างหนึ่ง
ผมก็เลยทำเป็นการแพทย์ผสม
นำทุกอย่างมาผสมเพื่อให้คนไข้มีทางเลือกมากขึ้น"

ส่วนเรื่องการใช้ชีวิตในโลก
ที่มีมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมเพิ่มสูงขึ้น
ดร.สาทิส บอกว่า ตัวต้นเหตุที่จะทำให้อาหารดีหรือไม่ดี
เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องของโลก เป็นเรื่องของชีวิตคนทั้งโลก
ถ้าจะแก้คนในโลกก็ต้องช่วยกัน
แต่หากเขาป่วย สุขภาพไม่ดีก็นำชีวจิตเข้าไปแก้
เพราะชีวจิตไม่ใช่เรื่องของสิ่งแวดล้อมโดยตรง
แต่ต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมที่ดี ชีวจิตถึงจะไปดีได้

ทั้งนี้ เป้าหมายชีวจิตทั้งเรื่องสุขภาพ
การแพทย์ การเจ็บไข้นั้น
เป้าหมายที่สำคัญที่สุดคือภูมิชีวิต (Immune System)
ถ้าอยากเป็นชีวจิตก็ต้องเข้าใจหลักการก่อน
การทำความเข้าใจ
ถ้าไม่มีความรู้หรือพื้นฐานก็คงเป็นเรื่องที่ยาก
เราจึงต้องทำให้เป็นเรื่องง่าย
โดยที่ไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องภูมิชีวิต
แต่ทำของง่ายๆ 5 อย่าง คือ
"หลักปัญจกิจ"
1.กินให้ถูก
2.นอนให้ถูก
3.พักผ่อนให้ถูก
4.ออกกำลังกายให้ถูก
5.ทำงานให้ถูก
แล้วเราก็นำสูตรเหล่านี้มาให้

"ชีวจิต เป็นเรื่องของตัวเอง
ค่อนข้างเป็นเรื่องทางวิชาการ
หากทำแบบนี้เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ
สิ่งที่ควรปฏิบัติในแนวทางการเริ่มต้น
คือทำตาม"หลักปัญจกิจ"ก่อน
แล้วหากเจ็บป่วยค่อยแก้ไป เช่น
ทานยาหรือการปฏิบัติตัว
แต่หากบอกทั่วๆ ไป
อย่างคุณปวดหลังให้กินอย่างนี้
แค่นั้นไม่พอ ต้องมาดูเป็นตัวคน
ต้องดูว่าต้นเหตุเป็นเพราะอะไร"

ดร.สาทิส ยังฝากข้อคิดถึงคนไทยที่กำลังเคร่งเครียด
จากผลกระทบทางการเมืองว่า
ถ้า เรื่องที่ยุ่งเหยิงอยู่ขณะนี้เป็นต้นเหตุ
คนก็เครียด ถ้าจะแก้ความเครียด
จริงๆ ต้องแก้ที่ต้นเหตุก่อน
ถ้าไม่มี เราก็ไม่เครียด
แต่ขณะเดียวกัน ถ้าต้นเหตุมันมี
แล้วเราไปแบกจนกระทั่งเครียด
และความเครียดเป็นตัวทำลายตัวเรา
อันนี้ต้องคิดแล้วว่าเราจะแก้ไขตัวเองอย่างไร
ถ้ามันมีแล้วเราแก้ไม่ได้ แต่เราต้องแบกมันไว้
ก็ต้องดูว่า เราจะแก้อย่างไรต้องคิดดูให้ดี
ถ้าจะถามว่าชีวจิตช่วยได้หรือไม่
ก็ช่วยได้ถ้ารู้วิธีแก้แล้วทำตามนั้น

***
ภูมิชีวิต แรกเริ่มเป็นที่รู้จักกันในรูปของ
ภูมิต้านทานหมายถึง
ระบบป้องกันทั้งหมดของร่างกาย โดยมีหน้าที่
1.ป้องกันไม่ให้สารหรือสิ่งมีชีวิตที่เป็นอันตราย
และอยู่นอกร่างกายเข้าไปใน ร่างกายได้
2.ทำลายหรือไล่สิ่งที่มีอันตรายต่อร่างกายให้หมดไป
แต่แท้ที่จริงแล้วต้องประกอบด้วย
ภูมิต้านทาน+ระบบต่างๆ+จิตใจและฮอร์โมน
จึงเท่ากับภูมิชีวิตที่สมบูรณ์ ถ้าเรียกตามภาษาชาวบ้านคือ
"พลังที่มีอยู่ในตัวตั้งแต่เราเริ่มเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา"

ปกติแล้วเราจะป่วยหรือไม่ป่วย
ร่างกายแข็งแรง สุขภาพดี
ล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับภูมิชีวิต
หลักการที่ว่า "เราแข็งแรง สุขภาพดี
ล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับภูมิชีวิต ก็ขึ้นอยู่กับวิถีชีวิต"
ที่แต่ละคนมีวิถีชีวิตที่ต่างกัน
ดังนั้น คำแนะนำเรื่องการปฏิบัติตัวตามแนวทางชีวจิต
จึงเป็นคำแนะนำเพื่อการปรับปรุง วิถีชีวิต
ซึ่งหมายถึงปรับปรุงภูมิชีวิตให้เป็นไปตามธรรมชาติ
ทั้งการกินอาหาร ออกกำลังกาย
ผ่อนคลายความตึงเครียด ล้างพิษ
การมองโลกในทางสร้างสรรค์
การมีความรักต่อกัน และการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย
สอดคล้องกับธรรมชาติ
เมื่อแต่ละคน "เข้าใจความเป็นตัวเอง"
จะสามารถนำหลักการและข้อปฏิบัติ
ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละคน

อาหารชีวจิต เป็นแนวทางการกินอาหารที่
ดร.สาทิส ศึกษาและปรับปรุงจาก
หลักการของแมคโครไบโอติกส์ให้เหมาะสม
กับวิถีชีวิตของคนไทย
โดยห้ามหรืองด เนื้อ สัตว์ย่อยยาก (เนื้อ หมู ไก่) ไข่และนม
แป้งขัดขาวและผลิตภัณฑ์จากน้ำตาลฟอกขาวทุกชนิด
ไขมันเลว (ไขมันอิ่มตัว) ได้แก่
ไขมันจากสัตว์ น้ำมันปาล์ม
และกะทิ

แนะนำให้กินอาหารให้สมดุล
1.อาหารประเภทแป้งไม่ขัดขาว 50 เปอร์เซ็นต์ หรือ
ครึ่งหนึ่งของอาหารแต่ละมื้อ เช่น
ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง
ถ้าเป็นข้าวโพดจะเป็นข้าวโพดทั้งเมล็ดหรือทั้งฝัก
ถ้าเป็นแป้งขนมปังจะเป็นโฮลวีต
หรือแป้งกลุ่มคอมเพล็กซ์คาร์โบไฮเดรต
(คือแป้งหลายชั้นที่มีโปรตีนปนอยู่)
ก็ควรเติมมันเทศ มันฝรั่ง เผือก หรือฟักทองลงไป
2.ผักหนึ่งในสี่หรือ 25 เปอร์เซ็นต์
ใช้ผักดิบและผักปรุงสุกอย่างละครึ่ง
ถ้าปลูกเองไม่ใช้สารเคมีจะดีที่สุด
หรือเลือกผักปลอดสารพิษล้างผ่านน้ำและ
แช่น้ำด่างทับทิมหรือน้ำส้มสายชูเจือจางสัก 1-2 ชั่วโมง

3.ถั่วต่างๆ อยู่ในประเภทโปรตีน 15 เปอร์เซ็นต์ เช่น
ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น
เต้าหู้ โปรตีนเกษตร หรือใช้โปรตีนจากสัตว์ คือ
ไข่ ปลา และอาหารทะเล สัปดาห์ละ 1-2 มื้อ
4.เบ็ดเตล็ด 10 เปอร์เซ็นต์ ประเภทแกง เช่น
แกงจืด แกงเลียง ประเภทซุป เช่น ซุปมิโซะ
ประเภทของขบเคี้ยว เช่น งาสดและ
งาคั่ว (ใช้ปรุงอาหารต่างๆ)
ถั่วคั่ว เมล็ดฟักทอง เมล็ดแตงโม
เมล็ดทานตะวัน ผลไม้สด ต้องเป็นผลไม้ไม่หวานจัด เช่น
ฝรั่ง สับปะรด มะละกอ มะม่วงดิบ หรือพุทรา

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
ยังมีการดีท็อกซ์ ออกกำลังกายแบบรำกระบอง
การผ่อนคลายการและใจ รวมทั้งการดื่มน้ำเพื่อสุขภาพ เช่น
น้ำอาร์ซี เรื่องต่างๆ เหล่านี้สามารถเรียนรู้ได้
แต่ต้องหมั่นทำเป็นประจำเพื่อให้ร่างกายและจิตใจสมดุลกัน
ตามแนวทางของ"ชีวจิต"