Custom Search

Aug 22, 2009

พระพุทธจริยาวัตร60ปาง ปางทุกรกิริยา


คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
มติชน
ภาพ/เรื่อง
วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2552


คงจะเคยเห็นผ่านตามาบ้าง คือ
พระพุทธรูปผอมแห้ง
เหลือแต่กระดูก มองเห็นเส้นเอ็นทั่วร่าง
พระพุทธรูปปางนี้เรียกว่า ปางทุกรกิริยา
หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ปางทรมานกาย


เหตุการณ์เกิดขึ้นในถ้ำที่ เรียกในปัจจุบันนี้ว่า ดงคศิริ ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นภาษาอะไร
แปลว่าอย่างไร ท่านเจ้าคุณเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา (ทองยอด ภูริปญฺโญ)
ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงขนานนามให้ว่า "ยอดบรรยาย"
อธิบายให้ฟังว่าน่าจะมาจาก มาตังเคศวรี (มาตังค-อิศวรี = เขามาตังคอันยิ่งใหญ่)
แล้วท่านก็หันมาถามผมว่า รู้ไหม "มาตังคะ" หมายถึงอะไร
ผมเรียนท่านไปตามที่นึกได้ว่า มาตังคะ
เป็นชื่อช้างตระกูลสูงตระกูลหนึ่ง ถ้าจะแปลก็แปลว่า "เขาพญาช้าง"
หรือ "ภูพญาช้าง" อะไรทำนองนั้น มาตังคกร่อนลงเหลือแต่ ตังค
แล้วเป็น "ดงค" ในที่สุด อิศวรีกร่อนเหลือแต่ ศิริ
จึงเป็น ดงคศิริ ด้วยประการฉะนี้


ถ้ำ ดงคศิริ อยู่ฝั่งตะวันออกของตำบลพุทธคยา
ปัจจุบันนี้มีพระทิเบตไปสร้างวัดคอยเฝ้าอยู่
ชาวพุทธน้อยคนจะเดินทางไปถึง เพราะไปค่อนข้างลำบาก
ภายในถ้ำกว้างจุได้ประมาณ 8-10 คน
มีพระพุทธรูปปางทุกรกิริยาตั้งอยู่ด้วย ณ ถ้ำแห่งนี้เอง
ที่พระมหาสัตว์ได้ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา
โดยมีพราหมณ์ห้าคน คือ โกณฑัญญะ วัปปะ
ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ คอยเฝ้าปรนนิบัติอยู่


พราหมณ์ทั้งห้า คนนี้ เฉพาะโกณฑัญญะ
เป็นพราหมณ์ที่หนุ่มที่สุดในแปดคนที่ทำนายพระลักษณะ
และขนานพระนามให้เจ้าชาย สิทธัตถะ
และเป็นคนเดียวที่ยืนยันว่าเจ้าชายสิทธัตถะจะออกผนวช
และตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ครั้นทราบภายหลังว่า
เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช
จึงชวนพราหมณ์อีกสี่คนออกบวชตามด้วย


พระมหาสัตว์ได้ทำทุกรกิริยาเป็นขั้นตอนตามลำดับดังนี้

1. ทรงกดพระทนต์ด้วยพระทนต์ กดพระตาลุด้วยพระชิวหาไว้ให้แน่น
จนพระเสโทไหลออกจากพระกัจฉะ ทรงได้รับทุกขเวทนาอันกล้า
เหมือนมีใครมาบีบคอไว้แน่น
แต่ในที่สุดก็ทรงเห็นว่าไม่ใช่ทาง จึงเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น


2.ทรงผ่อนกลั้นอัสสาสะ ปัสสาสะ
เมื่อลมเดินทางช่องพระนาสิกและช่องพระโอษฐ์ไม่ได้สะดวก
ก็เกิดเสียงดังอู้ทางช่องพระกรรณทั้งสองข้าง
ทำให้เสียดพระอุทร ร้อนพระวรกายเป็นกำลัง
แต่ก็ยังไม่สำเร็จ จึงทรงเปลี่ยนเป็นวิธีอื่น


3. ทรงอดพระกระยาหาร โดยเสวยวันละเล็กละน้อย
จนไม่เสวยอะไรเลย จนพระวรกายเหี่ยวแห้ง
พระฉวีวรรณเศร้าหมอง พระอัฐิปรากฏทั่วพระวรกาย
เมื่อลูบพระวรกาย เส้นพระโลมาร่วงติดมือมา
มีพระกำลังถดถอย จะเสด็จไปไหนก็ซวนเซล้ม
แต่ก็ยังไม่สำเร็จอีก ทรงทำถึงขั้นนี้นับว่า
ถึงที่สุดแล้วก็ยังไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณที่ทรงมุ่งหวัง
พอดีทรงได้คิดขึ้นมา แล้วทรงค้นพบทางสายกลาง
จึงทรงเลิกทุกรกิริยา


ว่ากันว่า พระอินทร์มาเทียบเสียงพิณสามสายให้ฟัง
พระมหาสัตว์ได้ยินก็เลยนำเอามาเปรียบเทียบกับการกระทำของพระองค์
ถ้าสายพิณตึงเกินไปเสียงก็ไม่ไพเราะ พาลจะขาดเอาได้
ถ้าสายพิณหย่อนเกินไป เสียงก็ไม่ไพเราะเช่นเดียวกัน
แต่เมื่อขึงสายให้พอเหมาะพอดี เสียงพิณก็ไพเราะชวนฟัง
ดุจเดียวกับการปฏิบัติ เคร่งครัดทรมานเกินไป
หรือย่อหย่อนเกินไป ไม่มีทางสำเร็จได้
ต้องพอเหมาะพอดีจึงจะสำเร็จประโยชน์
ทรงคิดได้ดังนี้ จึงทรงเลิกทุกรกิริยาอย่างเด็ดขาด


ในช่วงนั้น พระมหาสัตว์ทรงคิดเปรียบเทียบการปฏิบัติ
ของพระองค์กับท่อนไม้ลอยน้ำ 3 ข้อ คือ


1. ท่อนไม้สด ชุ่มด้วยยาง แช่น้ำ นำไปก่อไฟไม่ติด
เปรียบเหมือนสมณพราหมณ์ทั้งกายใจหมกมุ่นอยู่ในกาม
ถึงจะปฏิบัติเคร่งครัดทรมานตนอย่างไร ก็ไม่มีทางพ้นทุกข์


2.ท่อนไม้ สด ชุ่มด้วยยาง อยู่บนบก นำไปก่อไฟไม่ติดเช่นกัน
เปรียบเสมือนสมณพราหมณ์ที่กายออกจากกาม (ในรูปแบบนักบวช) แล้ว
แต่ใจยังติดอยู่ในกามก็ไม่มีทางพ้นทุกข์ได้


3.ท่อนไม้แห้ง อยู่บนบก นำไปก่อไฟติด
ดุจเดียวกับสมณพราหมณ์ที่ปลีกออกจากกามทั้งกายและใจ
ย่อมบรรลุความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งมวลได้


เมื่อทรงค้นพบ "ทางสายกลาง" จึงหันมาเสวยพระกระยาหาร
ให้มีพระกำลังแข็งแรงต่อไป เป็นเหตุให้ปัญจวัคคีย์ผิดหวัง
เข้าใจผิดว่าพระมหาสัตว์คลายความเพียรเวียนมาเป็นคนมักมากเห็นแก่กินแล้ว
ไม่มีทางบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณแน่ จึงชวนกันหนีไปอยู่ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน
แขวงเมืองพาราณสี


การที่ทรงเลิกทุกรกิริยาและค้นพบทางสายกลางนี้มิ ใช่อยู่ๆ ก็เลิก
ประสบการณ์ที่ทรงผ่านมาตั้งแต่ต้นนั้น เป็นข้อมูลให้พระองค์
ทรงนำมาพินิจพิจารณาจนกระทั่งแน่พระทัยว่าเป็นแนวทาง
ไม่ถูกต้อง เพราะถ้าถูกต้องพระองค์ก็น่าจะบรรลุเป้าหมายแล้ว
เนื่องจากทรงกระทำจนถึงที่สุดแล้ว
ครั้นแว่วเสียงใครบางคนเทียบพิณสามสายให้ฟังก็ยิ่งแน่ชัดว่าทางนั้น
(การทรมานตน) ไม่ถูก ทางสายกลางต่างหากเป็นทางที่ถูกต้อง


ขอตั้งข้อ สังเกตตรงนี้สักนิด ผู้มาเทียบเสียงพิณให้พระมหาสัตว์ฟังนั้น
ตำนานว่าพระอินทร์ พระอินทร์ก็พระอินทร์ ไม่ว่ากระไร
เพราะพระอินทร์ช่วงหลังนี้ ถูกเขา "ปลด"
จากทำเนียบหัวหน้าเทพทั้งหลายแล้ว ยกพระพรหมขึ้นแทนมานานแล้ว
จึงได้มา "อาศัย" อยู่ในร่มเงาพระพุทธศาสนา
(และวรรณคดี โดยเฉพาะช่วงหลังๆ ในวรรณคดีไทย)
จะเชื่อว่าพระอินทร์จริงๆ ก็ย่อมได้ หรืออาจหมายถึงหนุ่มภารตะคนใดคนหนึ่ง
มานั่งดีดพิณอยู่ใกล้ๆ "ถ้ำเขาพญาช้าง" (มาตังเคศวรี) นั้นก็ได้
ด้วยว่า วีณาหรือพิณนั้นเป็นเครื่องดนตรีที่ชาวภารตะถือไปไหนมาไหนประจำ
ดุจดังหนุ่มอีสานถือแคน หนุ่มเหนือถือซึง
และหนุ่มภาคกลางถือกีตาร์ อะไรทำนองนั้น
หรืออาจไม่มีใครมาดีดพิณ แต่ขณะนั้นพระมหาสัตว์
ทรงเทียบการกระทำของพระองค์ดุจพิณสามสาย
ทุกรกิริยานี้ดุจขึงสายพิณเสียตึงเปรี๊ยะ กามสุขัลลิกานุโยค
ก็หย่อนเหลือเกินดุจสายพิณที่หย่อนยาน
ทั้งสองแนวทางนี้คงมิใช่ทางบรรลุโมกษธรรม
ทางสายกลางดุจสายพิณที่ขึงพอดี
น่าจะเป็นทางที่ถูกต้องกว่า ทรงฉุกคิดได้ดังนี้
จึงทรงเลิกอดพระกระยาหารมุ่งปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
บำเพ็ญเพียรทางจิตต่อไป
ด้วยประการฉะนี้แล


หน้า 6