Custom Search

Oct 23, 2008

หนังสือ The Last Lecture



วรากรณ์ สามโกเศศ
(http://varakorn.com)

มติชน

วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2551
ปีที่ 31 ฉบับที่ 11184


เมื่อกลางเดือนกันยายน ปี 2007
Dr. Randy Pausch
ศาสตราจารย์
ด้านคอมพิวเตอร์คนหนึ่งของมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon
ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นยอดเยี่ยมของสหรัฐอเมริกา
ในด้านเทคโนโลยีได้รับเชิญให้ตอบคำถามสมมุติว่า

"ถ้าคุณรู้ว่ากำลังจะตาย คุณมีข้อคิดอุดมปัญญา (wisdom)

ใดที่อยากมอบไว้ให้แก่โลก"
คำถามนี้ตั้งให้เหล่านักวิชาการชั้นนำของโลก
ที่ได้รับเชิญขบคิดและนำมาบรรยาย
ในชุดการบรรยายที่เรียกว่า "Last Lecture"

ของมหาวิทยาลัย Camegie Mellon
ในวันนั้นมีนักศึกษาและผู้สนใจเข้าฟังกันแน่นขนัดเป็นพิเศษกว่า 500 คน
เนื่องจาก Randy Pausch ผู้บรรยายมิได้ตอบคำถามสมมุติ
หากกำลังตอบคำถามจริงเพราะเขากำลังจะตาย
เพราะป่วยเป็นมะเร็งในตับอ่อนที่ร้ายแรง
เขาบรรยายได้อย่างประทับใจคนฟังมากในหัวข้อ
"Really Achieving your Childhood Dreams"

ซึ่งต่อมาปรากฏในอินเตอร์เน็ตให้คน
ทั้งโลกได้ชม ภายในเดือนแรกมีคนเข้าชมกว่า 1 ล้านครั้ง

และในปัจจุบันมีผู้เข้าชมกว่า 6 ล้านครั้ง Randy Pausch
เป็นที่ชื่นชมเพราะเขาไม่ได้รอความตาย
หากทำให้ความเจ็บป่วยของเขามีความหมายต่อคนอื่น
เขารณรงค์หาทุนเพื่อวิจัยมะเร็งในตับอ่อน
ให้กำลังใจเพื่อนผู้ป่วยโรคมะเร็งให้สู้ชีวิต
ให้การแก่กรรมาธิการของวุฒิสภาเพื่อสนับสนุนการให้เงินทุน
สำหรับโรคมะเร็งตับอ่อน ฯลฯ รวมถึงตอบคำถามชีวิต
ในนิตยสาร Time ออกโทรทัศน์รายการดังๆ ทั้งหลาย

คนรู้จักเขามากที่สุดจากการบรรยาย Last Lecture
หลังการบรรยายเขาเขียนหนังสือร่วมกับ
Jeffrey Zaslow ชื่อ The Last Lecture
โดยเป็นเรื่องราวของชีวิตของเขาตลอดจน
เนื้อหาจากการบรรยายครั้งนั้น
และหลายสิ่งที่เขาอยากฝากให้บรรดาพ่อแม่
คณาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่สอนลูกศิษย์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
และคนทั่วโลกได้รับทราบสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ในชีวิต 47 ปี ของเขา

หนังสือ The Last Lecture ขายดีมาก วางตลาดได้ 13 วัน 400,000 เล่ม
ก็ขาดตลาดจนต้องพิมพ์ใหม่อีกหลายครั้ง
เป็นเบสเซลเลอร์ของนิวยอร์กอยู่นับสิบอาทิตย์ เป็นที่กล่าวขวัญกันทั่วโลก
แปลเป็นภาษาต่างประเทศแล้วกว่า 17 ภาษา
เชื่อว่าจะขายได้นับล้านๆ เล่ม

แน่นอนสำหรับบ้านเราได้มีการแปลหนังสือเล่มนี้ออกมาวางตลาดแล้ว
ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่เพิ่งเลิกไป
ผู้แปลคือวนิษา เรซ หรือหนูดี
(หนังสือของเธอที่สอนเด็กให้เรียนหนังสือเป็นชื่อ "อัจฉริยะ.....เรียนสนุก"
ได้รับความนิยมอย่างมากจนมีเล่ม 2 และเล่ม 3 กำลังจะตามมา)

ในชื่อ "เดอะลาสต์เล็กเชอร์" และขายดีมากจนได้ลำดับต้นๆ
ของยอดขายหนังสือใหม่ซึ่งออกในงานนี้เสน่ห์ของ Randy Pausch
อยู่ตรงที่เขาไม่มีความขมขื่นกับชะตาชีวิต
แต่หากเต็มไปด้วยความตื้นตันใจกับความช่วยเหลือที่ทุกคนให้แก่เขา
หลายคนที่อ่านต้องหัวเราะทั้งน้ำตาด้วยอารมณ์ขัน
และความโหดร้ายของชะตากรรม
และด้วยความทึ่งในข้อคิดในเรื่องชีวิตและการใช้ชีวิตเช่น

"คนอย่างผมถ้าไม่ใกล้ตายเขาก็คงไม่เชิญมาพูด Last Lecture แน่นอน"

"ตอนนี้มีก้อนเนื้องอกอยู่บนตับผม 10 จุด
เมื่อเกือบ 2 ปีก่อนหมอเคยบอกว่าอยู่ได้อีกประมาณ 3-6 เดือน
คราวนี้คุณก็ลองใช้คณิตศาสตร์ง่ายๆ ตัดสินแล้วกันว่าผมพอสู้มันได้ไหม"
"คุณไม่มีทางรู้ว่าวันใดคุณจะรู้ว่ามีเวลาเหลืออยู่น้อยกว่าที่คุณคิด"

เขาบอกว่าเขาเกิดมาพร้อมกับลอตเตอรี่ใบที่ถูกรางวัล
พ่อแม่ของเขาเลี้ยงดูเขาอย่างสนับสนุน
การสร้างจินตนาการของลูกท่ามกลางความรัก
(อนุญาตให้ลูกเขียนภาพบนฝาผนังห้องนอนได้ตามจินตนาการ)

เล่าเรื่องราวอย่างสนุกให้ลูกฟัง
พร้อมกับมีพจนานุกรมไว้อ้างอิงเสมอข้างโต๊ะกินข้าวเพื่อยั่วยุให้ลูกค้นคว้า
และสอนเรื่องคุณค่าให้แก่ลูกๆ ในเรื่องความมัธยัสถ์ การให้
เช่น ค้ำประกันการสร้างหอพักในชนบทของประเทศไทย
ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อช่วยให้เด็กหญิงไม่ต้องลาออกจากโรงเรียน
และกลายเป็นหญิงบริการRandy Pausch
เตรียมตัวตายอย่างละเอียดรอบคอบเพราะภรรยาเขาในวัย 41 ปี
ต้องเลี้ยงลูกต่อไปถึง 3 คน คือในวัย 6 ขอบ 3 ขวบ และ 22 เดือน

เขาเล่าว่าต้องแอบซ่อนน้ำตาเมื่อนึกถึงว่าจะไม่มีโอกาสได้เห็นลูกเขาเติบโตเป็นวัยรุ่น
เขาพูดคุยกับคนที่พ่อแม่เสียไปตั้งแต่ยังเล็กๆ
และพบว่าสิ่งสำคัญสำหรับคนเหล่านี้ก็คือการที่เขารู้ว่าพ่อแม่รักเขามาก
และเขาเป็นคนสำคัญและพิเศษของพ่อแม่อย่างแท้จริง
ดังนั้น เขาจึงเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อให้ลูกอ่านเมื่อโตขึ้น

ร่วมสร้างประสบการณ์แปลกๆ กับลูกเพื่อให้มีความทรงจำ
(ว่ายน้ำร่วมกับลูกและปลาโลมา) มีรูปถ่ายและวิดีโอมากมาย
รวมทั้งจัดทำวิดีโอพิเศษขึ้นเพื่อให้ลูกแต่ละคนได้รู้ว่าเขารักพวกเขามากเพียงใด
หนังสือเล่มนี้ให้วิธีการเลี้ยงลูกที่น่าสนใจ
ตลอดจนวิธีการสอนของเขาในการดำรงชีวิต แก้ไขปัญหา สร้างทีมเวิร์ก
สร้างสมาชิกที่มีคุณค่าของสังคม ฯลฯ หรือแม้แต่การกล่าวคำขอโทษสิ่งสำคัญที่
Pausch ทำให้ผู้อ่านต้องคิดก็คือการตระหนักถึงความตายอยู่เสมอ
การใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและอย่างตระหนักถึงเวลาที่ทุกคนมีอยู่อย่างจำกัดบนโลกใบนี้

เขาบอกว่าในแง่มุมหนึ่งเขาโชคดีที่ยังรู้ว่าจะมีเวลาเหลือเท่าใดอยู่ในโลกนี้
จนมีโอกาสเตรียมการสำหรับครอบครัวซึ่งดีกว่าการตายด้วยอุบัติเหตุเสียชีวิตไปทันที
ดังนั้น ข้อคิดเช่นนี้จึงนำไปสู่ข้อสรุปว่าทุกคนต้องเตรียมตัวตายเสมอ
เพราะอุบัติเหตุนั้นเกิดขึ้นได้เสมอกับทุกคนPausch
บอกว่า
Life is to be lived

(ใช้ชีวิตให้มีชีวิต) ไม่ว่าชีวิตจะยาวหรือสั้นก็ตามที
คุณภาพสำคัญกว่าปริมาณมากนักเขาได้ตาย
จากไปเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านไป
โดยทิ้งผลงานทางวิชาการด้าน virtual reality และทิ้ง
"ข้อคิดอันอุดมด้วยปัญญา" ไว้ให้พวกเราขบคิด
ถ้าท่านจะอ่านหนังสือที่มีคุณค่าสักเล่มเดียวในปีนี้
ผมขอแนะนำหนังสือเล่มนี้ที่แปลได้อย่างงดงามครับ

หน้า 6



หนังสือเรื่อง The Last Lecture
โดย Randy Pausch อาจารย์วิชาคอมพิวเตอร์
ประจำมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน
เป็นอัตชีวประวัติอันยอดเยี่ยมเล่มหนึ่งที่ทุกคนควรเสาะหามาตั้งไว้ใกล้มือ
หรือซื้อแจกเพื่อนๆ ที่กำลังท้อแท้หมดหวังในชีวิตหนังสือเล่มนี้ซึ่ง Pausch
เขียนร่วมกับผู้สื่อข่าว Wall Street Journal ชื่อ Jeffrey Zaslow
เป็นการถอดเทปและขยายความเล็กเชอร์ยาว 76 นาที
ในหัวข้อ “Really Achieving Your Childhood Dreams”
(ทำความฝันวัยเด็กของคุณให้เป็นจริงๆ) ที่
Pausch ไปบรรยายที่คาร์เนกี เมลลอน วันที่ 18 กันยายน 2007
(ดูวิดีโอเล็กเชอร์และติดตามข่าวคราวล่าสุดของ Pausch
ได้จากเว็บไซต์ของเขา-http://download.srv.cs.cmu.edu/pausch)
Pausch ในวัยเพียง 47 ปี ป่วยเป็นมะเร็งตับอ่อนขั้นสุดท้าย
เขาเล็กเชอร์เพื่อลูกๆ 3 คนที่จะเติบโตขึ้นโดยไม่มีพ่อ
แต่เนื้อหาในเล็กเชอร์รวมทั้งทัศนคติเชิงบวกของ Pausch
ที่ไม่เคยสมเพชตัวเอง หากมองโรคร้ายอย่างเปี่ยมอารมณ์ขัน
และถึงพร้อมด้วยมรณานุสติ
(ก่อนจะเล็กเชอร์ Pausch วิดพื้นหลายครั้งบนเวที
เพื่อโชว์คนดูว่าเขา “รู้สึกดี” ขนาดไหน)
ได้สร้างแรงบันดาลใจให้คนนับล้านที่คลิกเข้าไปดูวิดีโอในยูทูบ
ได้รับความนิยมจนเอามาต่อยอดทำหนังสือ
เนื้อหาส่วนใหญ่ในเล็กเชอร์ของ Pausch
และหนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องเกี่ยวกับความฝันในวัยเด็กของเขา
และวิธีที่เขาพยายามบรรลุความฝันเหล่านั้นตอนโต
บางคนอาจจะมองว่า
Pausch โชคดีมากๆ ที่ความฝันของเขาหลายข้อกลายเป็นความจริง
ตั้งแต่ประสบการณ์ลอยตัวในภาวะไร้น้ำหนัก
ในเครื่องฝึกสอนนักบินอวกาศของนาซ่า
การได้เป็นส่วนหนึ่งของทีม “Imagineer” ของดิสนีย์
และการได้เขียนบทความลง World Book Encyclopedia
Pausch เขียนเรื่อง Virtual Reality ในฐานะหนึ่งในผู้บุกเบิกสาขานี้)
แต่ The Last Lecture แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า
โชคไม่ได้ช่วยให้ Pausch บรรลุความฝันวัยเด็กของเขา
เท่ากับความมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้ ความรักในความรู้ ความจริงใจ
และการยึดมั่นในคุณธรรมเรียบง่ายที่หลายคนลืมไปนานแล้ว
โดยเฉพาะความซื่อสัตย์และความโอบอ้อมอารีต่อเพื่อนมนุษย์
ถึงแม้ว่าเนื้อหาในเล็กเชอร์และหนังสือเล่มนี้จะไม่มีอะไร “ใหม่”
ทัศนคติเชิงบวกอันน่าทึ่งของ Pausch
และความจริงใจของเขาในการถ่ายทอดแง่คิดและประสบการณ์
ทำให้ The Last Lecture เป็นมากกว่าอัตชีวประวัติธรรมดา
ตอนหนึ่งในเล็กเชอร์ และหนังสือที่ผู้เขียนชอบมาก
คือ ตอนที่ Pausch บอกว่า
ให้มองกำแพงที่กั้นขวางระหว่างเรากับความฝันว่าเป็น “โอกาส”
ที่จะแสดงให้ทุกคนเห็นว่าเราต้องการทำความฝันให้เป็นจริงเพียงใด
เขาบอกว่า “เหตุผลที่มีกำแพงก็เพื่อจะแยกแยะคุณออกจากคนอื่นๆ
ที่ไม่ได้อยากบรรลุความฝันนั้นเท่ากับคุณ”
Pausch บอกด้วยความถ่อมตัวด้วยว่า
หลังจากที่เขาทำความฝันให้เป็นความจริงได้แล้ว
เขาก็อยากจะช่วยทำให้ความฝันของคนอื่นๆ เป็นจริงได้ด้วย
ผู้เขียนคิดว่านั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่เขาเลือกเป็นอาจารย์
และแน่นอนว่าเป็นเหตุผลหนึ่งที่เขาเป็นหนึ่งในอาจารย์
ที่นักเรียนรักที่สุดในมหาวิทยาลัยนอกจากจะให้แง่คิดดีๆ
เกี่ยวกับการมองโลก การบริหารจัดการเวลา
และการล่าฝันแล้ว The Last Lecture
ยังเป็นหนังสือที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรอ่านอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะพ่อแม่ที่จดจำความคาดหวังที่ตัวเอง
ตั้งไว้กับลูกได้แม่นยำกว่าความฝันของลูกเอง
ตอนหนึ่งในหนังสือ Pausch
บอกว่าต้องขอบคุณพ่อแม่ของเขา
ที่ยอมให้ระบายสีผนังในห้องนอนของตัวเอง
(เขาวาดจรวด ลิฟต์ สมการคณิตศาสตร์
และกล่องแพนโดรา ฉายแววเนิร์สตั้งแต่เด็ก)
Pausch บอกคนดูอย่างกระตือรือร้นว่า
“ใครก็ตามที่นี่ที่เป็นพ่อแม่นะครับ
ถ้าลูกของคุณอยากระบายผนังห้องนอน ให้เขาทำเถอะครับ
ถือว่าทำให้ผม มันไม่เป็นไรหรอก
อย่าห่วงเรื่องราคาบ้านตอนเอาไปขายเลย”
The Last Lecture มีข้อความที่กินใจหลายตอน
แต่ตอนที่ประทับใจผู้เขียนที่สุด คือ
ตอนที่ Pausch บอกว่า
“ประสบการณ์คือสิ่งที่คุณได้เมื่อคุณไม่ได้สิ่งที่คุณอยากได้”
และตอนที่เขาอธิบายความหมายที่แท้จริงของ The Last Lecture
“ประเด็นไม่ได้อยู่ที่การบรรลุความฝันของคุณหากอยู่ที่การใช้ชีวิต
ถ้าคุณใช้ชีวิตอย่างถูกต้อง กรรมจะทำงานของมัน
และความฝันก็จะมาหาคุณเอง”
คอลัมน์ DOG EAR

โดย สฤณี อาชวานันทกุล www.fringer.org