
วรากรณ์ สามโกเศศ
มติชนรายวัน
วันที่ 02 ตุลาคม พ.ศ. 2551
ปีที่ 31
ฉบับที่ 11163
มีผู้คนเขียนถึงวิกฤต "แฮมเบอเกอร์" กันมากมายแล้ว
ในเรื่อง What? และ How?
แต่ Why? นั้นดูจะพูดถึงกันไม่มากนัก
คำตอบสำหรับ Why? นั้นไม่ง่ายเพราะมีหลายสิ่งที่ผสมปนเปกัน
จนเสมือนทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในทะเล
และอาจกำลังก่อตัวเป็นสึนามิขนาดมหึมากระทบชาวโลกก็เป็นได้
ที่น่ากลัวก็คือผู้ควบคุมดูแลชายฝั่งในบางประเทศมือยังอ่อนหัด
และยังปล่อยให้ประชาชนเล่นน้ำทะเลกันอยู่วิกฤต "แฮมเบอเกอร์"
ต่างจากวิกฤต "ต้มยำกุ้ง"
เมื่อสิบปีที่แล้วตรงที่ครั้งก่อนมีสาเหตุจากความผิดพลาด
ในการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของไทย
จนมีทุนสำรองระหว่างประเทศไม่เพียงพอ กอปรกับสถาบันการเงินมีปัญหา
ดังนั้น มันจึงลุกลามไปถึงประเทศอื่นด้วย
แต่ครั้งนี้เป็นผลมาจากความผิดพลาดของสหรัฐอเมริกา
ในการจัดการสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์
และกำกับดูแลกลุ่มวาณิชธนกิจ (investment banker) อย่างไม่รัดกุม
จนเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องและลุกลามคุกคามความมั่นคงของสถาบันการเงิน
โดยขณะนี้ไม่มีใครรู้ว่าจะกระทบภาคเศรษฐกิจจริง (real sector)
ของสหรัฐอเมริกามากเพียงใดและจะส่งผลกระทบออกไปนอกประเทศ
จนเกิดปัญหาความมั่นคงของภาคการเงิน
และเศรษฐกิจในระดับโลกอย่างรุนแรงหรือไม่สาเหตุแรกของวิกฤต "แฮมเบอเกอร์"
ก็คือสหรัฐอเมริกามีทุนไหลเข้าไปในประเทศมาก
จนล้นออกไปในภาคอสังหาริมทรัพย์เกิดฟองสบู่เก็งกำไรกันขึ้น
ต้นเหตุที่ทำให้สหรัฐอเมริกามีเงินทุนไหลเข้ามากและได้มาในราคาต่ำกว่าชาวโลกอื่นๆ
ก็เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินสกุลหลักซึ่งเป็นที่เชื่อถือของชาวโลกมายาวนาน
ระหว่างหลังสงครามโลกครั้งที่สองถึง ค.ศ.1971
ดอลลาร์มีทองคำหนุนหลังร้อยเปอร์เซ็นต์
(เอาดอลลาร์มาแลกเป็นทองคำบริสุทธิ์ได้เสมอ
ในอัตรา 1 เหรียญต่อ 1 ใน 35 ทรอยเอาซ์)
แต่ถึงแม้ยุคนั้นจะหมดไป ดอลลาร์ก็ยังคงได้การยอมรับ
ว่าเป็นสิ่งมีค่าอันควรใช้เป็นเงินสกุลหลักเพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินสกุลอื่น
ในการค้าขาย
(เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาใหญ่ 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก)
รัฐบาลอเมริกาสามารถขาดดุลงบประมาณได้ถึง 1 ใน 3
ของงบประมาณเพราะส่วนที่ขาดดุลสามารถชดเชย
ด้วยการขายตราสารหนี้ของรัฐบาลสหรัฐ
(U.S.Treasury bills ที่ถือกันว่ามั่นคงสุดสุด)
และดอลลาร์เหล่านี้ที่ได้มาจากต่างประเทศ
ก็คือดอลลาร์ที่มาจากการพิมพ์ธนบัตรของสหรัฐก่อนหน้า
โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์หนุนหลัง
และไหลเวียนอยู่ในต่างประเทศ
(การบริโภคของคนอเมริกาจนขาดดุลการค้าต่างประเทศทุกปี
ทำให้ดอลลาร์จำนวนมากไหลไปอยู่ในต่างประเทศ)
เงินจากต่างประเทศที่ได้รับนี้ก็ไม่มีต้นทุนในการแลกเปลี่ยนข้ามสกุล
และที่สำคัญเมื่อสหรัฐจะใช้คืนเงินต้นและดอกเบี้ยก็ทำได้ด้วย
การพิมพ์ธนบัตรให้เงินทุนจากต่างประเทศเหล่านี้เปรียบเสมือนเงินกู้ที่จ่าย
ในอัตราดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซ็นต์ และใช้คืนด้วยกระดาษ
และเงินเหล่านี้ก็กลายมาเป็นเงินทุนของภาคเอกชนราคาต่ำอีกครั้ง
โดยไหลมาจากการใช้จ่ายของงบประมาณภาครัฐและการให้กู้ยืมต่างๆ แก่เอกชน
ทั้งหมดนี้สหรัฐเป็นประเทศเดียวที่ทำได้เพราะดอลลาร์เป็นเงินสกุลหลักของโลก
มีคนเรียกสิ่งนี้ว่า exorbitant privilege (อภิสิทธิ์เกินกว่าสมควร)
ของสหรัฐปัจจุบันรัฐบาลสหรัฐมีหนี้อัน
เนื่องมาจากการกระทำข้างต้น 3 ล้านล้านดอลลาร์
เฉพาะดอกเบี้ยต้องจ่ายวันละ 350 ล้านเหรียญสหรัฐ
หรือเท่ากับจ่าย 1 ล้านเหรียญต่อคนต่อวันและ
การจ่ายเงินคืนก็มาจากการพิมพ์กระดาษให้ซึ่งตราบเท่าที่มี
คนยอมรับก็ไม่เป็นปัญหา
(ปัจจุบันธนบัตรสหรัฐไหลเวียนอยู่ทั้งหมด
ประมาณ 760,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
สองในสามไหลเวียนอยู่ในต่างประเทศ)
นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหลังเหตุการณ์ 9/11
และการมีทุนมากคือสาเหตุที่ทำให้ช่วงเวลา 5-6 ปี ก่อน 2007
ผู้คนในสหรัฐกู้เงินผ่อนบ้านกันได้ง่ายดายเหลือเกิน
เกิดการเก็งกำไรจนเป็นฟองสบู่ราคาบ้าน
ยัดเยียดให้กู้ทั้งที่ไม่ปัญญาผ่อนส่ง
แต่ก็ไม่กลัวกันเพราะมั่นใจว่าราคาบ้านจะสูงขึ้นเรื่อยๆ
กำไรจากราคาบ้านจะคุ้มดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย
นักค้าเงินทั้งหลายรื่นเริงกับความร้อนแรงของธุรกิจ mortgage
(จำนองอสังหาริมทรัพย์) โดยไม่กังวลว่าฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์จะแตก
สาเหตุที่สองคือความโลภ ในธุรกิจ mortgage
ผู้ทำธุรกิจไม่ว่าธนาคารเพื่อที่อยู่อาศัย สถาบันการเงิน
บริษัทประกันภัย วานิชธนกิจ ฯลฯ คิดประดิษฐ์
ตราสารไม่ว่าจะเป็นหุ้นกู้
หุ้นหรือ อนุพันธ์ (derivatives) ประหลาดๆ
ออกมากมายหลายตัวที่ไม่มีใครเข้าใจถึงผลกระทบ
หากว่ามันมีการผันผวนไปในทางลบตราสารเหล่านี้ใช้กันอย่างกว้างขวาง
เนื่องจากให้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงและป้องกันความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง
วิธีการหนึ่งที่นิยมกันมากของผู้ค้าเงินก็คือ leveraging (การกู้เงินมาเพื่อต่อเงิน)
เครื่องมือหนึ่งที่นิยมใช้กันก็คือตราสารที่เรียกว่า CDS (credit-default swap)
ตราสารนี้บริษัทประกันใหญ่คือกลุ่ม AIG เป็นผู้ออกรายใหญ่ของโลก
การหาเงินก็ทำง่ายๆ ด้วยการขายตราสาร CDS นี้ให้ผู้ซื้อหุ้นกู้ (ลงทุน)
เช่น A ซื้อหุ้นกู้ 10 ล้านเหรียญ จากวาณิชธนกิจ B และ A
กลัวว่าจะไม่ได้เงินต้นคืนก็มาซื้อ CDS มูลค่า 10 ล้านเหรียญจาก AIG
เพื่อให้แน่ใจว่ายังไงเสียหากผู้ขายหุ้นกู้ B ไม่จ่ายเงิน AIG ก็จะจ่ายแทนให้
นอกจากซื้อ CDS แล้ว A ก็ยังต้องจ่ายค่าธรรมเนียมอีก CDS ของ AIG นี้
ก็จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันอีกทีเพื่อให้แน่ใจว่า
มีปัญญาจ่าย 10 ล้านเหรียญให้ A หากมีปัญหาเกิดขึ้นปัญหาที่เกิดขึ้น
ก็คือหุ้นกู้ 10 ล้านเหรียญที่ออกโดยวาณิชธนกิจ B
ซึ่งต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมก็คือธุรกิจจำนองบ้าน
โดย B ดำเนินการด้วยการซื้อหนี้การจำนองบ้านมาอีกที
กล่าวคือจ่ายเงินให้สถาบันให้กู้ซื้อบ้านแต่แรกและ B เอามาเป็นธุรกิจของตน
(ถ้าคนผ่อนบ้านหมดปัญญาผ่อน B ก็ยึดบ้านมาเป็นทรัพย์สินของตนเอง
และตราบใดที่ผ่อนได้ก็ยังได้รายได้มาด้วย) วาณิชธนกิจ B
ก็เอาหลักทรัพย์หนุนการจำนองบ้านหลายหลังที่ซื้อมาเหล่านี้มารวมกัน
และจัดเป็นหลักทรัพย์
(ดังที่เรียกว่า securitization)
ค้ำประกันหนี้ที่ออกให้ A กู้ 10 ล้านเหรียญวาณิชธนกิจ 5 บริษัทใหญ่
คือ Bear Sterns/ Merrill Lynch/ Lehman Brothers/ Goldman
Sachs/ Morgan Stanley ทำธุรกิจเช่นนี้
(ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกรรมทำเงินของบริษัท)
โดยขาดการควบคุมเข้มงวดจากรัฐเหมือนสถาบันการเงินทั่วไป
ที่มีแหล่งเงินทุนจากเงินฝาก
ในขณะที่วาณิชธนกิจอยู่ได้ด้วยการกู้เงินมาต่อเงิน
เมื่อทุกอย่างสะดุด กู้เงินอีกก็ไม่ได้ หุ้นก็ตก (ถึงกู้ได้ก็แพงกว่าเก่า)
ก็ขาดสภาพคล่องซึ่งเป็นหัวใจของการประกอบธุรกิจ
ถ้าไม่มีใครเอาเงินมาช่วยใส่ให้ ม่านก็ต้องปิดลง
หรือถ้าดีกว่าหน่อยก็ถูกเทกโอเวอร์ปัญหาที่ทำให้สะดุด
ก็คือฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก
(เกิดขึ้นเมื่อไม่มี "คนโง่" คนถัดไปที่จะมาซื้อบ้านโดยมั่นใจ
ว่าจะขายได้ในราคาสูงกว่าที่ซื้อมา)
เมื่อผู้บริโภคไม่มีปัญญาผ่อนบ้าน บ้านถูกยึด
บ้านเหล่านี้ก็เข้าสู่ตลาด
ยิ่งทำให้ราคาบ้านตกยิ่งขึ้น
ดังนั้น มันก็ไล่พังกันเป็นลำดับ
หุ้นกู้ที่ออกโดย B ก็มีมูลค่าลดลงหรือว่าเป็นศูนย์
(เพราะมีโอกาสไม่ได้เงินกู้คืน)
บริษัท B มีรายได้ลดลง ราคาหุ้นก็ตก
หาเงินกู้เพิ่มได้ยาก
สำหรับ AIG ก็ต้องจ่ายเงินประกันกันหัวโต
ราคาหุ้นบริษัทก็ลดลง
ต้องหาเงินมาชดใช้สัญญาหลากหลายประเภทที่ถูกบอกเลิก
ต้องหาเงินกู้เพื่อมาจ่ายเงินประกันด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น
แถมหลักทรัพย์ค้ำประกัน CDS เดิมก็มีมูลค่าลดลง
เพราะอาจเป็นหุ้นกู้ที่ตนเองซื้อมาจากบริษัททำธุรกิจ mortgage
รายอื่นที่ประสบปัญหาคล้ายกันซึ่งหมายความว่าต้องหาเงินทุนมาค้ำประกัน CDS
เพิ่มเติมทั้งหมดนี้ว่ากันอีนุงตุงนังพันกันเพราะไม่รู้ว่าใครซื้อใครไว้มากน้อยแค่ไหน
รู้แต่ว่ามันพิงกันอยู่ หากปล่อยให้รายใหญ่เช่น AIG ล้มไป
ก็อาจเกิดผลกระทบกว้างไกลได้
สาเหตุที่สาม ความไม่รู้และงมงายของคนซื้อตราสารใหม่ๆ (ลงทุน)
เพราะให้ผลตอบแทนสูงและดูปลอดภัย
ปัจจุบันนวัตกรรมตราสารมีพิสดารกว่านี้มากมาย
(เช่น เอาไปผูกไว้กับดัชนีหุ้น ดัชนีน้ำฝน ราคาน้ำมัน ฯลฯ
เพื่อประกันความเสี่ยง) อย่างไม่เข้าใจท่องแท้
ดูแต่การให้อันดับของ S & P หรือ moody
ซึ่งองค์กรเหล่านี้ก็ให้อันดับแบบที่เรียกได้ว่า "มั่วพอควร"
(ไม่กี่วันก่อนหน้าวิกฤต อันดับของหลายบริษัทก็ยังไม่น่าเป็นห่วง)
คน Wall Street ผูกพันกับวาณิชธนกิจมายาวนาน
พึ่งพาอาศัยกัน และทั้งที่รู้ว่ามันเสี่ยงก็ยังบอกคนนอกว่าไม่เสี่ยงมาก
(Warren Buffet เคยเตือนมานานแล้วว่าตราสารใหม่ๆ
ที่ซับซ้อนนี้วันหนึ่งจะเป็น financial weapon of mass destruction)
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า leveraging (เงินกู้เพื่อมาต่อเงิน)
ความไม่รู้จริง ความโลภ การอยู่ "เกินตัว"
(ผ่อนบ้านหลังใหญ่เกินตัวและใช้จ่ายสนุกจนมีเงินไม่พอผ่อนบ้าน)
คือจุดจบบางคนอาจสงสัยว่าทำไมไม่มีใครออกมาเตือนก่อนหน้านี้
ความจริงก็คือก็มีเหมือนกัน แต่ความโลภมันบังตาก่อนฟองสบู่แตกเสมอ
ที่เราเห็นกันชัดตอนนี้ก็เพราะ "ทุกคนฉลาดเมื่อมองอดีต"
ทั้งนั้นแหละครับ
หน้า 6