Custom Search

Dec 10, 2006

ความสำคัญของเทศน์มหาชาติ

ศาสตราจารย์กิตติคุณวัฒนะ จูฑะวิภาต










การเทศน์มหาชาติเป็นประเพณีไทยโบราณ
ที่ดำรงมาช้านานตั้งแต่ก่อนตั้งกรุงศรีอยุทธยา
ไม่ต่ำกว่า 570 ปี จนถึงปัจจุบัน
เป็นประเพณีที่สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรือง
ความอุดมสมบูรณ์ บ้านเมืองร่มเย็น
พุทธศาสนาในประเทศไทยรุ่งเรือง
พุทธศาสนิกชนมีกุศลจิตเห็น
คุณค่าของการเทศน์มหาชาติว่าเป็น “พุทธวัจนะ”
ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าตรัสประทานแด่
พระภิกษุสงฆ์และพุทธบริษัท ณ นิโครธาราม
ผู้ใดสดับก็ย่อมเกิดสิริสวัสดิมงคล
หากได้ฟังเทศน์มหาชาติอันสดับด้วยพระคาถา
ถึงพันในวันและเดือนเดียวให้จบจะมีอานิสงฆ์
ทำให้พบพระศาสนาของพระศรีอาริยเมตไตร
ผู้ฟังก็จะมีความสุขความเจริญ มหาชาติคำหลวง
กาพย์มหาชาติ กลอนเทศน์ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก
เป็นวรรณคดีล้ำค่าของไทย เป็นมรดกทางวัฒนธรรม
ผู้อ่านจะได้รับความเพลิดเพลิน
และคุณค่าจากถ้อยความที่เรียงร้อย
พระยาอนุมานราชธน กล่าวไว้ใน
หนังสือศึกษาวรรณคดีและวรรณศิลป์ว่า
วรรณคดีมีความหมายแบ่งอย่างกว้างๆ ได้สองนัย
คือ วรรณคดีทั่วไป และ วรรณคดีวรรณศิลป์
วรรณคดีจึงเปรียบเสมือนกระจกเงาสะท้อนให้
เห็นสภาพความเป็นอยู่ของบุคคลในสังคม
แต่ละยุคสมัยผู้ศึกษาวรรคดี
จะได้เรียนรู้ เข้าใจสิ่งที่กวีถ่ายทอดเป็นลายลักษณ์อักษร
เนื้อเรื่องในวรรณคดีมุ่งสอนให้เห็นผลของการกระทำ
เช่น ทำดีย่อมได้รับผลแห่งการทำดี อันเป็นหลักพุทธศาสนา
แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของพุทศาสนาที่มีต่อสังคมไทย
คุณค่าของมหาชาติประการสำคัญนั้น
เป็นรากฐานของการดำเนินชีวิต คือ พุทธปรัชญา
พุทธปรัชญาที่ปรากฏในมหาชาติเน้นอย่างง่ายที่
คนในสังคมจะเข้าใจได้ เช่น ความเชื่อในความไม่เที่ยวแท้ของชีวิต
เชื่อว่ามนุษย์จะพบความสุขที่แท้จริง คือ การออกบวช
การบริจาคทาน ดังเช่น พระเวสสันดรบริจาคบุตรทารทาน
และปฏิบัติธรรม เพื่อหวังผลพระสัมโพธิญาณ
ซึ่งเป็นความศรัทธาและอุดมคติของพระพุทธศาสนิกชน
ดังตัวอย่างที่พระเวสสันดรพรรณนาถึงพระโพธิญาณ
เมื่อทรงขอให้สองกุมารไปกับชูชกตามที่ชูชกทูลขอ
ชาวพุทธมีความเชื่อว่าชีวิตนี้เป็นทุกข์
การดำเนินชีวิตในปัจจุบันเป็นไปตามกฎแห่งกรรม
รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส สิ่งเหล่านี้ไม่จีรัง
และเป็นเครื่องทำให้คนหลงผิด
พุทธปรัชญาดังกล่าวจะพบในวรรณกรรมไทย
กวีผู้รจนามักจะแฝงปรัชญาโดยมิได้แจกแจงอย่างแจ่มชัด
แต่ผู้อ่านจะได้รับโดยวิจารณญาณ เพื่อยึดเป็นสรณะ
มหาชาติมีคุณค่าอยู่ในเรื่อง
เพราะกวีได้ถ่ายทอดประสบการณ์ของตนไปสู่ผู้อื่น
และมีลักษณะร่วมที่ผู้อื่นจะเข้าใจได้ เช่น
ความศรัทธา ความเชื่อในรสพระธรรม วิธีการปฏิบัติธรรม
การปฏิบัติตนเป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริงหรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า
ผู้บรรลุโสดาบัน อันเป็นจุดมุ่งหมาย ของศาสนาพุทธ
ความกตัญญูกตเวทีต่อบุพการีเป็น
คุณค่าอันสูงส่งประการหนึ่งที่บุคคลในวัฒนธรรมไทย
ยึดถือปฏิบัติกันอย่างจริงจัง
พ่อ แม่ ครู อาจารย์เป็นปูชนียบุคคล
ซึ่งต้องแสดงความกตัญญูตอบสนองพระคุณท่านในโอกาส
นางอมิตดา ยอมเป็นภรรยาชูชกก็ด้วยเหตุผลที่ว่า
“เป็นลูกเหล่าตระกูลไม่เสียชาติไม่คิดว่าตัวเป็นสาวได้ผัวแก่
แล้วเป็นเมียทาส คิดว่าเป็นทุกข์ของพ่อ แม่ กรรมแล้วก็ตามกรรม ”
จึงเป็นความคิดที่ยังอยู่ในใจของบุคคลในสังคมไทยเสมอมา
พระชาลี พระกัณหา ยอมเป็นทาสของชูชกด้วยเหตุดุจเดียวนี้
ดังได้ทราบมาแล้วว่ามหาชาติ เป็นวรรณกรรมพุทธศาสนา
ที่แฝงไว้ด้วยพุทธปรัชญาหลายประการ
ถ้าพิจารณาอย่างดีจะพบว่า กวีได้สร้างตัวละครให้แสดงพฤติกรรมของปุถุชน
เช่น พระเวสสันดรเป็นผู้แสวงธรรมปรมัตถ์
เบื้องแรกนั้นยังไม่สามารถจะดับกิเลสได้ ยังมีความโกรธ
ความรักความสงสารสองกุมาร ความเชื่อเรื่องโชคลาง
เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ปรากฏอยู่ในมหาชาติเป็นเรื่อง
ของวิธีดำเนินชีวิตของคนไทย
เช่น ชูชกจะเดินทางออกจากบ้าน จะทำพิธี
“ประทักษิณวนเวียนวงได้สามรอบ ตามฉบับระบอบไสยศาสตร์เพทว่า
ทั้งผู้อยู่ก็จะไม่มีภัย ทั้งผู้ไปก็จะไม่มีเหตุ
อยากให้สวัสดิเจริญทั้งสองข้าง ก็เป็นจารีตเยี่ยงอย่างว่าเกิดคุณ”
ชูชกจะแต่งกายด้วยสีขาว
เพราะผู้ที่ได้พบเห็นจะคิดว่าเป็นชีปะขาวหรือดาบส
นักบวชนั้นบุคคลทั่วไปย่อมเกรงขาม
ผู้ศึกษามหาชาติจะพบว่า มหาชาติมีคุณค่านานาประการ
ปรากฏในวัฒนธรรมของสังคมไทย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมชนบทยังคงปฏิบัติกันอยู่
ส่วนสังคมเมืองนั้นได้รับอิทธิพลทางวิทยาศาสตร์
ความเชื่อถือโชคลางจึงลดน้อยลง
แต่พุทธปรัชญาในมหาชาติยังให้คุณประโยชน์
แก่ผู้ปฏิบัติทุกยุคทุกสมัย
สรุปความได้ว่า การฟังเทศน์มหาชาติที่กล่าวถึง
บารมีทั้งสิบชาติของพระพุทธองค์นั้นเป็นสิ่งจำเป็นในการทำชีวิต
และโลกของมนุษย์ให้น่าอยู่ คือ
ถ้ามนุษย์ไม่สามารถทำใจให้วางเฉย อุเบกขา
และวางเรื่องทางโลก เนกขัมมะ
มนุษย์ก็หาความสงบทางใจได้อยาก ถ้าขาดความเมตตา
และความคิดที่จะแบ่งปันทาน ก็คงต้องใช้ชีวิตแบบตัวใครตัวมัน
ถ้ามนุษย์ไม่มีศีล และสัจจะ
ทุกคนก็ต้องอยู่ร่วมกันด้วยความหวาดระแวง ไม่ไว้ใจกัน
ถ้ามนุษย์ไม่มีความตั้งใจที่แน่วแน่อธิฐาน
ขาดความเพียร วิริยะ และความอดทน ขันติ
มนุษย์ไม่สามารถทำสิ่งต่าง ๆได้สำเร็จ
และถ้ามนุษย์ขาดปัญญา
มนุษย์ก็ไม่สามารถรู้เท่าทันกิเลสได้พอที่จะรู้คิดถึงคุณ
และโทษรู้วินิจฉัยว่าอะไรดีหรือเลวและรู้จักการให้สำเร็จ
ได้ด้วยวิธีการที่ถูกทำนองครองธรรม
คนโบราณจึงเชื่อว่าการท่องชื่อของทศชาติ
(เต ช สุ เน ม ภู จ นา วิ เว)
วันละ หลาย ๆ จบ จะช่วยให้เกิดสิริมงคล
และสามารถคุ้มครองป้องกันภัยได้
ความเชื่อเช่นนี้เป็นจริงได้หรือเปล่า
ก็อยู่ที่การประพฤติและปฏิบัติธรรม
ถ้ามนุษย์อยากมีชีวิตที่มีความสุขอยากให้โลกของเราน่าอยู่
ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารประเทศ หรือประชาชนทั่วไป
ก็คงต้องหันมาสนใจคุณธรรมทั้งสิบ
ที่รวมเรียกว่า “ทศบารมี” ก็จะทำให้โลกนี้มีแต่สันติสุข