27 ก.พ. 2565 เวลา 8:45 น
ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/social/990543
"โรคซึมเศร้า" ซึ่งสามารถเกิดได้ในทุกๆ วัย ซึ่งมีหลายปัจจัยทั้งด้านชีวภาพ จิตใจ และสังคม ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งกลุ่มที่น่าห่วง คือ เด็กเล็กไปจนถึงวัยรุ่น ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครอง จะสามารถสังเกตบุตรหลานตัวเองได้อย่างไรว่าพวกเขาเป็น "โรคซึมเศร้า" หรือ "ภาวะซึมเศร้า"
พญ.ชญานิน ฟุ้งสถาพร (หมอจริง) เจ้าของเพจ “หมอจริง DR JING” กล่าว ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ Net PAMA : เน็ต ป๊าม้า หัวข้อสนทนา “ดูแลยังไง เมื่อลูก ซึมเศร้า” โดยอธิบายว่า ในปัจจุบัน เราได้ยินคำว่า “โรคซึมเศร้า” บ่อยครั้ง “โรคซึมเศร้า” แต่ละคนมีอาการไม่เหมือนกัน คนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีอาการผลกระทบด้านต่างๆ เช่น การนอน เศร้าแล้วนอนไม่หลับ หรือหลับเยอะ เรื่องของการกิน เศร้าแล้วกินไม่ได้ หรือกินจุ
ความสนใจในชีวิตประจำวันลดลง จากที่เคยอาจจะชอบดูหนัง ฟังเพลง ก็ไม่ค่อยอยากทำ หรือความเศร้าที่ส่งผลกระทบต่อพลังงาน ไม่อยากลุกจากเตียง หรือบางคนเศร้า ซึม ทำอะไรช้า ตอบสนองช้า หรือมีเรื่องของความรู้สึกนึกคิดว่าตัวเองเป็นคนผิด มีเรื่องของความสนใจ สมาธิจดจ่อเรียน ทำงานลดลง
"แต่ไม่ใช่ว่าเป็นทั้งหมดนี้แล้วจะเป็นโรคซึมเศร้า หากเป็นโรคจะต้องมีอาการเศร้ามาก จนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เช่น บางคนเศร้าอาจจะถึงไปเรียนไม่ได้ ทำงานไม่ได้ มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว เศร้านาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป เศร้ามาก เศร้านาน จนทำอย่างอื่นไม่ได้ จึงจะถือว่าเป็นโรคซึมเศร้า"
ขณะที่ “ภาวะซึมเศร้า” อาจจะมีอารมณ์เศร้าแต่ยังสามารถทำอย่างอื่นได้ เช่น เศร้าหลังอกหัก หรือ คนรักเสียชีวิต เป็นชั่วคราวแล้วหายไป ยังออกกำลังกาย ทำงานได้เหมือนเดิม หมายความว่ายังไม่ถึงกับเป็นโรคซึมเศร้า
3 ปัจจัย ทำให้ซึมเศร้า
ปัจจัยโรคซึมเศร้ามีหลายอย่างด้วยกัน ประกอบด้วย
- “ปัจจัยด้านชีวภาพ” อาจเป็นเรื่องของพันธุกรรม พ่อแม่หรือญาติที่เป็นโรคซึมเศร้า หรือจิตเวช ก็เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าคนอื่น หรือเรื่องของฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกาย เช่น ไทรอยด์ต่ำ ก็อาจจะเป็นโรคซึมเศร้าได้ หรือภูมิภาค คือ โรคซึมเศร้าที่เกิดจากฤดูที่เปลี่ยนไป
- “ปัจจัยด้านจิตใจ” มีหลายอย่าง เช่น แนวคิดที่ต้องการเป็นคนเพอร์เฟค อาจกระทบถึงจิตใจหากบางเรื่องไม่เป็นดั่งใจ หรือความเชื่อบางวัฒนธรรมว่า ผู้ชายต้องเข้มแข็ง ห้ามร้องไห้ ซึ่งความจริงแล้ว การร้องไห้หรือความเศร้าเป็นเรื่องปกติ
- “ปัจจัยด้านสังคม” เพราะวัยรุ่น สังคมค่อนข้างสำคัญ หากความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ดี พ่อแม่ไม่เข้าใจเท่าไหร่ หรือไม่ได้เลี้ยงลูกตามวัย วัยรุ่นเป็นวัยที่ติดเพื่อน หากพ่อแม่ไม่เข้าใจหรือกดดัน ก็จะมีความเสี่ยงเป็นซึมเศร้าได้ รวมถึงสังคม วัฒนธรรม โดนบูลลี่ อาจทำให้เป็นซึมเศร้าได้
วิธีสังเกตลูกเมื่อเป็นโรคซึมเศร้า
หมอจริง กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ส่วนตัวดูแลจิตเวชเด็ก อายุต่ำกว่า 18 ปี ส่วนใหญ่ที่มาด้วยโรคซึมเศร้าจะเป็นช่วงวัยรุ่น 13-16 ปี ขณะเดียวกัน จากที่เคยดูแลจิตเวชผู้ใหญ่ บางครั้งอาจจะมีจุดเปลี่ยนในชีวิต สังคมเปลี่ยน เครียดมากขึ้น หรือเพิ่งเปลี่ยนที่ทำงาน ก็ทำให้เครียด อย่างไรก็ตาม
เด็กวัยประถมก็สามารถเกิดโรคซึมเศร้าได้ โดยวิธีสังเกตลูก มีดังนี้
1) สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกวัยรุ่น หากเริ่มเห็นว่าเขาเสียสมดุลของชีวิตต่างๆ เรื่องของความสามารถในการเรียน เริ่มเรียนไม่รู้เรื่อง เกรดตก ไม่ค่อยเข้าสังคมอย่างที่เคยเข้า
2) ในวัยเด็กชั้นประถมศึกษา บางครั้งเขายังบอกไม่ได้ว่าเศร้า ส่วนใหญ่จึงจะแสดงออกมาในอาการหงุดหงิดจากที่แต่ก่อนเรื่องเล็กๆ น้อยสามารถทนได้ แต่หลังๆ อาจจะหงุดหงิดเยอะ อะไรขัดใจก็ทนไม่ไหว ความสามารถในการจัดการอารมณ์ลดลง หรือมีอาการทางกาย เช่น ปวดท้อง ปวดหัว โดยหาสาเหตุไม่ได้ ก็เป็นไปได้ว่าซึมเศร้าเพียงแค่เขาบอกเราไม่ได้
3) อาจมีปัญหาพฤติกรรม เช่น เด็กประถม ป.1 ป.2 ที่ไม่ได้แสดงออกทางอารมณ์เศร้าแบบผู้ใหญ่ แต่เก็บตัว นอนเยอะ ไม่สนใจในสิ่งรอบข้าง เป็นพฤติกรรมในแง่ที่มีปัญหากับเพื่อน ดื้อ พฤติกรรมถดถอย กลับมาฉี่รดที่นอน
4) หากเป็นเด็กเล็กๆ จะมีภาวะไม่โต กินแล้วน้ำหนักไม่ขึ้น ในช่วงแต่ละอายุ จึงสามารถสังเกตได้หลายอย่าง เพราะภาวะซึมเศร้าในแต่ละช่วงอายุ และแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน
5) ขณะที่ วัยทำงาน อาจจะเสียเรื่องการงาน ไม่ค่อยไปทำงาน ลาบ่อย ความสามารถในการทำงานตก
ทำอย่างไรให้ลูกตัดสินใจเข้ารับการรักษา
สำหรับวิธีพูดคุยให้ลูกตัดสินใจเข้ารับการรักษา "หมอจริง" อธิบายว่าในสังคมที่ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แต่ในสหรัฐ และหลายประเทศ จะมีการตีตราผู้ป่วยซึมเศร้า เป็นคนอ่อนแอ ขี้เกียจ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด
ความจริงแล้ว คนที่เป็นซึมเศร้าเขาไม่ได้อยากเป็น หากเลือกได้ก็ไม่อยากเป็นโรคนี้ เช่นเดียวกับเบาหวาน ความดัน มะเร็ง ที่ไม่ได้มีใครอยากเป็น
ดังนั้น การที่พ่อแม่ผู้ปกครอง เริ่มเห็นว่าลูกมีอาการ การรับฟังเป็นเรื่องสำคัญ พูดคุยว่าเขาคิดอย่างไร และลองให้พื้นที่กับเขา บอกว่าเราเริ่มเห็นอาการและอยากจะช่วยเหลือ บางคนอาจจะยอมไปรักษา หรือ บางคนอาจต้องใช้เวลา แต่สิ่งที่จะลดการตีตราตรงนี้ได้ ทุกคนในสังคมต้องช่วยกัน ว่านี่เป็นโรคทางการแพทย์ ไม่ใช่ความขี้เกียจหรืออ่อนแอ
“บางคนอาจจะกลัวประวัติในการสมัครงานว่าจะถูกกีดกัน เพราะเป็นโรคหรือไม่ ซึ่งที่ไทยเท่าที่ทราบ ไม่สามารถบอกประวัติผู้ป่วยได้ ไม่มีนายจ้างคนไหนที่ไปถามหมอว่าคนนี้เป็นซึมเศร้าหรือไม่ หากสังคมลดการตีตรา ก็จะทำให้คนเป็นซึมเศร้ายินดีที่จะไปหาจิตแพทย์เอง โดยไม่ต้องถูกบังคับให้ไป เพราะทุกอย่างหากถูกบังคับก็จะไม่เต็มใจรักษา แต่หากเต็มใจทำเอง โดยมีคนรอบข้างใส่ใจก็จะช่วยได้มาก” หมอจริง อธิบาย
วิธีการรักษา
สำหรับ วิธีการรักษา “โรคซึมเศร้า” แบ่งเป็นหลายระดับ ดังนี้
- เศร้าน้อย การทำจิตบำบัด โดยนักจิตวิทยา ก็สามารถช่วยได้ หรือพบจิตแพทย์ที่ยังไม่ต้องเริ่มกินยาแต่ทำจิตบำบัดก่อน อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย จิตแพทย์ก็ยังไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากร นักจิตวิทยาก็หาได้ค่อนข้างยาก ดังนั้น การรักษาโดยจิตบำบัด อาจจะเข้าถึงได้ค่อนข้างยาก
- เศร้ามาก เศร้านาน ส่งผลกระทบต่อเรื่องต่างๆ หรือถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตอยู่ ยาต้านเศร้า ก็จะช่วยได้เยอะ ซึ่งมีหลายตัว ใครที่กินยาต้านเศร้าไปแล้วชนิดหนึ่งแล้วไม่ได้ผล ก็อย่าเพิ่งหมดหวัง เพราะยังมียาชนิดอื่นๆ ที่อาจจะได้ผลได้
การรักษาจะต้องใช้ขั้นตอนและระยะเวลา บางคนอาจจะ 2-3 เดือน บางคนอาจจะครึ่งปี หรือปีหนึ่ง หรือ 2-3 ปี โดยส่วนใหญ่ แพทย์จะให้กินยาและนัดประเมินดูเป็นระยะ หากอาการดีขึ้นก็อาจจะต้องดูว่าต้องกินยาต่อหรือไม่และลดยาหรือไม่ บางคนสามารถลดยาและหยุดยาได้ในที่สุด
"แต่บางคนอาจจะต้องกินยาตลอดก็ไม่เป็นไร หากกินยาแล้วทำหน้าที่ในชีวิตประจำวันได้ เช่นเดียวกับ คนที่เป็นเบาหวาน ความดัน ที่ต้องรักษาระดับน้ำตาล รักษาความดันคงที่ โรคซึมเศร้าก็เช่นกัน กินยาเพื่อปรับสารในสมองให้คงที่ การกินยาไม่ใช่เรื่องที่ว่าเราอ่อนแอหรือสู้กับตัวโรคไม่ได้ ให้ถือว่า โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางการแพทย์ชนิดหนึ่ง"
“ทั้งนี้ ปกติยาต้านเศร้าต้องใช้เวลาในการออกฤทธิ์ 4-6 สัปดาห์ บางคนอาจจะสั้นกว่า คือ 2 สัปดาห์ หรือบางคนอาจจะใช้ระยะเวลายาว 8 สัปดาห์ – 2 เดือน อย่างไรก็ตาม ต้องดูว่าบางคนเศร้านาน เศร้ามาตั้งแต่สมัยเป็นวัยรุ่น พอผ่านวัยมหาวิทยาลัย จนไปทำงานถึงเริ่มกินยา ดังนั้น ต้องดูว่าเราเศร้ามาเป็นระยะเวลานาน จึงต้องใช้ระยะเวลาในการรักษา เวลากินยาซึมเศร้าไม่ใช่พึ่งยาอย่างเดียว แต่ต้องปรับ Mindset วิธีคิด การจัดการอารมณ์ด้วย หากไม่ปรับตรงนั้น ยาจะช่วยได้แค่ส่วนหนึ่ง หากไม่ปรับความคิด อาจจะมีโอกาสกลับมาเป็นโรคซึมเศร้าซ้ำได้”
- เศร้าเยอะ จนถึงขั้นยาหลายตัวไม่ได้ผล อาจจะต้องใช้วิธีการช็อตไฟฟ้าเพิ่มเติม ต้องดูเป็นเคสไป
“การรับฟัง” ช่วยผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
หมอจริง กล่าวต่อไปว่า การรับฟัง ช่วยผู้ป่วยซึมเศร้าได้เยอะ และไม่ใช่แค่ผู้ป่วยอย่างเดียว แต่ช่วยได้ในทุกๆ ความสัมพันธ์ หากพ่อแม่มีลูกที่เป็นซึมเศร้า ต้องฟังเยอะๆ ว่าเขาคิดอย่างไร มีมุมมองต่อโรคอย่างไร ผ่านอะไรมาบ้าง ให้ฟังในมุมของเขา เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าเขาไปเจออะไรมาบ้างในแต่ละวัน
"และในเรื่องของการฟังต้องไม่ตัดสินเขา เพราะบางคำพูดของเราอาจจะพูดด้วยความหวังดี แต่เหมือนไปตัดสินเขาแล้วว่าเพราะเป็นแบบนี้ถึงเป็นซึมเศร้า เป็นการต่อว่าผู้ป่วย ดังนั้น ควรฟังอย่างตั้งใจ อยู่กับเขาจริงๆ ไม่ใช่ฟังไปด้วยเล่นมือถือไปด้วย แต่ฟังแล้วอาจจะสะท้อนความคิดกลับไป"
ผู้ปกครอง ช่วยเหลือเด็กที่เป็น “โรคซึมเศร้า” อย่างไร
สำหรับผู้ปกครองจะช่วยเหลือเด็กที่เป็นโรคซึมเศร้าได้อย่างไร "หมอจริง" กล่าวว่า ในเรื่องของการฟัง ที่สำคัญมาก และดูว่าจะช่วยเขาได้อย่างไร หากเขาอยากไปหาแพทย์ ก็สามารถพาเขาไปได้ ขณะเดียวกัน สิ่งที่อยากให้พ่อแม่ตระหนัก คือ การจัดการกับอารมณ์ของตนเอง บางทีเราได้ยินว่าลูกเป็นโรคซึมเศร้า พ่อแม่บางคนอาจจะรับไม่ได้ที่ลูกป่วย ยิ่งทำให้ลูกคิดว่าไม่เข้าใจเขามากขึ้น
ซึมเศร้า ไม่ใช่ "เดี๋ยวก็หาย"
"การที่พ่อแม่บางคนรับไม่ได้ที่ลูกป่วย ก็มีจากสาเหตุหลายอย่าง คือ สังคมที่ชอบตีตรา บางทีพ่อแม่มองว่าลูกป่วย เพราะเราเป็นพ่อแม่ที่ไม่ดีหรือไม่ จึงทำให้ลูกซึมเศร้า แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะซึมเศร้ามาจากหลายปัจจัย และบางครั้งการที่บอกว่า “เศร้าแค่นี้ไม่เป็นไรเดี๋ยวก็หาย” ก็ไม่ใช่วิธีการช่วยลูกเช่นกัน"
แต่สามารถช่วยได้ด้วยการฟัง หากลูกอยากไปพบแพทย์ พบจิตวิทยา ให้พาเขาไปและให้พ่อแม่ตระหนักว่า การเป็นโรคซึมเศร้าไม่ใช่ว่า “เดี๋ยวก็หาย” แต่อาจจะต้องได้รับการรักษาอย่างจริงจัง
หากลูกบอกว่าอยาก "ฆ่าตัวตาย" ทำอย่างไร
หมอจริง อธิบายว่า การที่ลูกวัยรุ่น เดินเข้ามาบอกว่า “อยากฆ่าตัวตาย” แปลว่าเขาไว้ใจเรา เพราะหากเขาไม่ไว้ใจเรา เขาคงไม่พูด แต่ไปบอกคนอื่นแทน ดังนั้น ต้องบอกพ่อแม่ว่า อันดับแรก ลูกเข้ามาหาเราแล้วแปลว่าเขาไว้ใจ ถัดมา อย่าเพิ่งตกใจเกินไป การที่เราจัดการกับความรู้สึก อารมณ์ตัวเองได้ ก็จะทำให้ลูกจัดการกับอารมณ์ตัวเองได้เช่นกัน เมื่อลูกมาพูดคุยกับเราแล้ว ให้ถามว่ารู้สึกอย่างไรถึงอยากฆ่าตัวตาย อยากทำร้ายตัวเองเฉยๆ หรือไม่ เพราะบางคนไม่อยากเศร้า อยากรู้สึกเจ็บมากกว่าจึงกรีดข้อมือ
"หรือบางคนรู้สึกอารมณ์เศร้าจนชาไปแล้ว จึงอยากกรีดข้อมือเพื่ออยากทำร้ายตัวเอง ดังนั้น จึงต้องถามว่าเขารู้สึกอย่างไรในตอนนี้ เราต้องทำอย่างไรต่อไป ลูกบางคนพูดคุยกับพ่อแม่แล้วสบายใจก็ไม่อยากฆ่าตัวตายแล้ว หลังจากนั้น จึงมาดูว่าจะทำอย่างไร ควรจะไปหาหมอหรือไม่ อย่างไร"
ทั้งนี้ หากใครที่ยังไม่แน่ใจว่าต้องทำอย่างไรก็มีด้วยกัน 2 ช่องทาง คือ
1) สายด่วน สุขภาพจิต 1323 (ตลอด 24 ชั่วโมง) จะมีนักจิตวิทยาบำบัดในการรับฟัง ให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่จำเป็นต้องอยากฆ่าตัวตายก็สามารถโทรเข้าไปได้
2) สมาคมสะมาริตันส์ 02-113-6789 (12.00 – 22.00 น.) เน้นเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายโดยเฉพาะ เป็นอาสาสมัครที่ผ่านการฝึกทักษะ การฟัง การให้คำปรึกษามาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือพ่อแม่โทรก็ได้
ประวัติ
ที่มา นสพ. มติชน
“ชญานิน ฟุ้งสถาพร” หรือ “จริง” ที่แฟนเพจเรียกติดปากว่า “หมอจริง” นั้น
เป็นหญิงสาวที่สดใสตั้งแต่หน้าตาไปจนถึงรอยยิ้ม เกิดเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2532
ในครอบครัวแพทย์ พ่อ-วีรภัทร ฟุ้งสถาพร เองก็เป็นทันตแพทย์ที่เข้าอกเข้าใจลูกตั้งแต่สมัยที่ชญานินยังเป็นวัยรุ่น
เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเชียงรายวิทยาคม และมาต่อชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว
ก่อนจะเป็นนิสิตที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปัจจุบันทำงานอยู่ที่สถาบันธัญญารักษ์ และกำลังตั้งใจรอเรียนต่อเฉพาะทางในสาขาจิตแพทย์เด็ก