พระราชพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร และพระอัครมเหสี สมเด็จพระราชินีคามิลลาแห่งสหราชอาณาจักร กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2566
สำนักข่าว TODAY ได้รวบรวมรายละเอียดและเกร็ดความรู้เกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกกษัตริย์พระองค์ใหม่แห่งราชวงศ์อังกฤษไว้ที่นี่ผสานราชประเพณีโบราณกับค่านิยมสมัยใหม่
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปีในประวัติศาสตร์อังกฤษ โดยมีการวางแผนเตรียมการมายาวนานตั้งแต่
รัชสมัยของสมเด็จสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ภายใต้แผนการที่ใช้รหัสว่า ‘ปฏิบัติการลูกโลกทองคำ’ (Operation Golden Orb)
ขั้นตอนหลักในการประกอบพระราชพิธี ยังคงเป็นไปตามโบราณราชประเพณีของราชวงศ์อังกฤษที่ปฏิบัติสืบทอดมาเป็นระยะเวลากว่า 1,000 ปี โดยพระราชพิธีจะถูกจัดขึ้น ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาตั้งแต่สมัยที่
พระเจ้าวิลเลียม ผู้พิชิต หรือพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1066 และสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 นับเป็นกษัตริย์องค์ที่ 40 ที่ประกอบพิธีราชาภิเษกที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์แห่งนี้
พระราชพิธีจะเริ่มจากขบวนเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และพระราชินีคามิลลา
จากพระราชวังบังกิงแฮมไปยังมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ หรือที่เรียกว่า ‘the King’s procession’ (ขบวนแห่กษัตริย์) ซึ่งจะเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเฝ้าชมตลอดเส้นทาง
โดยขบวนเสด็จนี้ได้เปลี่ยนจากราชประเพณีเดิมที่ใช้ราชรถทองคำเป็นพระราชพาหนะ มาเป็นราชรถพัชราภิเษก (Diamond Jubilee State Coach)
ซึ่งเป็นราชรถที่ใหม่ที่สุด สร้างขึ้นเมื่อปี 2012 เพื่อใช้ในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แต่ในขบวนเสด็จพระราชดำเนินกลับหลังเสร็จพระราชพิธีจะยังคงใช้ราชรถทองคำ (Gold State Coach)
เป็นราชรถที่ประทับตามธรรมเนียมดั้งเดิม ซึ่งใช้มาตั้งแต่รัชสมัยของพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 เมื่อปี 1831 มีการคาดการณ์ว่า
สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 อาจเลือกทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบทหาร แทนฉลองพระองค์ตามแบบอย่างของกษัตริย์ในอดีต
ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายแบบบุรุษโบราณ สวมกางเกงสั้นเหนือเข่าและถุงเท้ายาว ความแตกต่างในพระราชพิธี จากควีนเอลิซาเบธถึงคิงชาร์ลส์ สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3
จะไม่ยิ่งใหญ่เท่ากับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยได้มีการปรับเปลี่ยนและลดทอนบางขั้นตอนลง เพื่อปรับให้เข้ากับยุคสมัย
ระยะเวลาประกอบพระราชพิธีในโบสถ์ถูกกำหนดไว้ให้ใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง จากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งใช้เวลา 3 ชั่วโมง
และมีการลดจำนวนแขกที่ได้รับเชิญเข้าร่วมในพระราชพิธีลงเหลือเพียงราว 2,200 คน น้อยกว่าสมัยพระราชมารดา ซึ่งมีการเชิญแขกมาร่วมพระราชพิธีราว 8,000 คน
นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ยังทรงคัดสรรเพลงที่จะใช้บรรเลงในพระราชพิธีด้วยพระองค์เอง โดยโปรดให้มีการประพันธ์เพลงขึ้นมาใหม่ 12 เพลง
รวมถึงดนตรีแบบกรีกออร์ทอดอกซ์ เพื่อรำลึกถึงเจ้าชายฟิลิป พระราชบิดาของพระองค์ด้วย
6 ขั้นตอนสำคัญ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะประกอบไปด้วย 6 ขั้นตอนสำคัญ เริ่มจาก
ขั้นตอนที่ 1 รับรองสถานะความเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ต่อปวงชน โดยอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี ผู้นำคริสตจักรแห่งอังกฤษ จะเป็นผู้ประกาศว่า สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3
เป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ ต่อหน้าบัลลังก์ราชาภิเษก หรือที่รู้จักกันในชื่อพระราชอาสน์เซนต์เอ็ดเวิร์ด (St Edward’s Chair)
ซึ่งเป็นบัลลังก์อายุ 700 ที่ใช้ในพระราชพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์ในอดีตมาแล้วถึง 26 พระองค์
ขั้นตอนที่ 2 กล่าวคำสัตย์ปฏิญาณ ในขั้นตอนนี้ สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณว่าจะทรงพิทักษ์รักษากฎหมายของแผ่นดินและศาสนจักรแห่งอังกฤษ
ขั้นตอนที่ 3 เจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ เป็นขั้นตอนที่มีความศักดิ์สิทธิ์ที่ในพระราชพิธี ซึ่งจะไม่มีการถ่ายทอดผ่านทางโทรทัศน์ อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีจะเป็นผู้ประกอบพิธีเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์
บนพระวรกายของกษัตริย์พระองค์ใหม่เป็นเครื่องหมายไม้กางเขน บนพระนลาฏ (หน้าผาก) พระอุระ (หน้าอก) และที่พระหัตถ์ทั้งสองข้าง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเลือกกษัตริย์
โดยขณะประกอบพระราชพิธีจะมีม่านกั้นปิดบังสายตาจากรอบข้างเพราะถือว่าเป็นพิธีกรรมระหว่างกษัตริย์กับพระผู้เป็นเจ้า
โดยน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในพระราชพิธีครั้งนี้ ถูกสกัดขึ้นใหม่ จากผลมะกอกที่ปลูกในป่าสองแห่งบนภูเขา Mount of Olives ในนครเยรูซาเลม ทั้งยังผ่านพิธีปลุกเสกในโบสถ์พระคูหาศักดิ์สิทธิ์ (Church of the Holy Sepulchre)
ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสุสานของพระเยซู แทนน้ำมันศักดิ์สิทธิ์จากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในอดีต เนื่องจากส่วนผสมของสัตว์บางชนิด ซึ่งขัดกับค่านิยมพิทักษ์สิทธิสัตว์และการบริโภคมังสวิรัติของคนรุ่นใหม่
ขั้นตอนที่ 4 สวมพระมหามงกุฎ เป็นขั้นตอนสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หลังจากเสร็จจากพิธีเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์และเปลี่ยนเครื่องทรงแล้ว อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีจะถวายเครื่องราชราชกกุธภัณฑ์
แก่กษัตริย์พระองค์ใหม่ และสวมพระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดลงบนพระเศียร ซึ่งตลอดพระชนมชีพพระองค์จะได้ทรงพระมหามงกุฎนี้เพียงครั้งเดียว ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเท่านั้น โดยสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3
จะเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 7 ที่ได้ทรงพระมหามงกุฎนี้ต่อจากพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2, พระเจ้าเจมส์ที่ 2, พระเจ้าวิลเลียมที่ 3, พระเจ้าจอร์จที่ 5, พระเจ้าจอร์จที่ 6, และสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
ขั้นตอนที่ 5 เสด็จขึ้นครองราชย์ ในขั้นตอนนี้ สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะเสด็จขึ้นบนพระราชอาสน์อันเป็นสัญลักษณ์ของการขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการ
ซึ่งในอดีตบรรดานักบวชและขุนนางอาจนำพระองค์ไปประทับยังพระราชอาสน์ด้วยวิธีอุ้มหรือยกพระวรกายไป
ขั้นตอนที่ 6 รับการถวายความเคารพ จากธรรมเนียมเดิมในอดีต ในขั้นตอนนี้ เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางจะพากันต่อแถวยาว เพื่อเข้าเฝ้าฯ ถวายความเคารพ
โดยพวกเขาจะคุกเข่าลงต่อหน้าพระพักตร์ กล่าวถวายความจงรักภักดี ก่อนจะจุมพิตที่พระหัตถ์ขวา แต่ในพระราชพิธีครั้งนี้ คาดว่าจะมีการปรับเปลี่ยน
โดยเจ้าชายวิลเลียมจะเป็นพระราชวงศ์ที่มีฐานันดรชั้นดยุคเพียงพระองค์เดียว ที่ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายความเคารพต่อสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3
จากนั้นจะเป็นพระราชพิธีสถาปนาแต่งตั้งสมเด็จพระราชินี โดยนักบวชจะเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์สำหรับพระอัครมเหสี
และถวายการสวมพระมหามงกุฎควีนแมรี ซึ่งพิธีการนี้มีขั้นตอนที่เรียบง่ายกว่า และพระราชินีจะไม่ทรงต้องกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณตามแบบของกษัตริย์
หลังเสร็จสิ้นพระราชพิธี สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา จะเสด็จลงจากพระราชอาสน์เพื่อไปยังโบสถ์น้อยเซนต์เอ็ดเวิร์ดภายในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ เพื่อผลัดเปลี่ยนพระมหามงกุฎที่ทรงอยู่
จากพระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดมาเป็นพระมหามงกุฎอิมพีเรียล ก่อนเสด็จออกจากมหาวิหารเพื่อทรงเข้าร่วมขบวนที่เตรียมเคลื่อนกลับไปยังพระราชวังบักกิงแฮม
โดยจะมีการบรรเลงเพลงชาติของสหราชอาณาจักรในช่วงเวลาดังกล่าว
ความท้าทายของราชวงศ์อังกฤษในศตวรรษที่ 21
แม้พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในครั้งนี้จะมีการตั้งข้อสังเกตว่า พยายามปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยและสะท้อนพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3
ในการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ท่ามกลางความนิยมต่อราชวงศ์ที่ลดลงอย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา
อีกทั้งยังการปรับลดงบประมาณที่ใช้ในพระราชพิธีลง เพื่อแสดงถึงความพยายามในการคำนึงถึงความเป็นอยู่ของประชาชนในยุคข้าวยากหมากแพง
ด้วยการปรับเปลี่ยนรายละเอียด ลดจำนวนแขกที่มาร่วมในพระราชพิธี หรือแม้แต่เครื่องใช้ในพระราชพิธี เช่น พระราชอาสน์ มงกุฏ ที่เลือกใช้ของเดิมที่มีอยู่ แทนการทำขึ้นใหม่เป็นพิเศษ
แต่ภายในสังคมอังกฤษเองยังมีข้อถกเถียงถึงความจำเป็นในการจัดพระราชพิธียิ่งใหญ่ ซึ่งคาดว่าต้องใช้งบประมาณมหาศาล แม้จะไม่มีการเผยถึงตัวเลขออกมาอย่างเป็นทางการ
แต่ก็มีการคาดเดาว่าอาจจะสูงถึง 50-100 ปอนด์ (ราว 2,100-4200 ล้านบาท) ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะซบเซา ประชาชนต้องดิ้นรนเอาตัวรอดจากวิกฤตค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น
จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนอังกฤษเมื่อเร็วๆ นี้ โดยสถาบันวิจัยสังคมแห่งชาติ ชี้ให้เห็นว่า ชาวอังกฤษให้การสนับสนุนราชวงศ์ลดลง มีเพียง 55%
ที่ยังคงมองว่าสถาบันกษัตริย์มีความสำคัญ และแค่ 29% ระบุว่า สถาบันกษัตริย์มีความสำคัญมาก ซึ่งตัวเลขต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
ขณะเดียวกัน ผลสำรวจจาก YouGov ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ของอังกฤษ ก็ชี้ไปในทิศทางเดียวกัน
โดยระบุว่า มีชาวอังกฤษถึง 48% ที่บอกว่าไม่สนใจหรือคาดว่าจะไม่ติดตามชมการถ่ายทอดสดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในครั้งนี้
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่ราชวงศ์อังกฤษยุคใหม่กำลังเผชิญ หลังการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ท่ามกลางข่าวอื้อฉาวหลายเรื่องที่กระทบต่อภาพลักษณ์ของราชวงศ์อย่างหนักมาก่อนหน้านี้
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเจ้าชายแฮร์รีและเมแกน ดยุคและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ กรณีเจ้าชายแอนดรูว์ ที่ทรงถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวพันกับการกระทำความผิดในคดีทางเพศ
หรือแม้แต่คะแนนนิยมในสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เอง
ช่วงเวลาหลังจากนี้ไปจะเป็นบททดสอบครั้งใหญ่ของราชวงศ์อังกฤษ และสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 หน้าประวัติศาสตร์ใหม่ในรัชสมัยของพระองค์ได้เริ่มขึ้นแล้ว
ที่มา Al Jazeera, BBC , Time, CNBC, BBC Thai