Thích Nhất Hạnh
นะโม พระศากยมุนีพุทธเจ้า
นมัสการพระเถรานุเถระ คณะภิกษุภิกษุณี
ธรรมสวัสดีเพื่อนที่รักทุกท่านในทั่วโลก
หลังจากที่ได้เดินทางมาพำนัก ณ วัดต้นสายธารตื่อเฮี้ยว
ในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2565
พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ เจ้าอาวาสวัดตื่อเฮี้ยว
ได้ละสังขารอย่างสงบในวัดต้นสายธาร
สถานที่ที่ท่านออกบวชเมื่อ 80 ปีที่แล้ว สิริอายุ 95 ปี
พรรษา 70
พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ หลวงปู่แห่งหมู่บ้านพลัม
เป็นครูทางจิตวิญญาณผู้เผยแผ่ธรรมอย่างกว้างขวาง
และลึกซึ้งไปทั่วโลก ท่านเป็นทั้งพระภิกษุ ผู้สอนธรรมะ
นักเขียน กวี นักวิชาการ
นักประวัติศาสตร์ และนักกิจกรรมเพื่อสันติภาพ
เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางผ่านการแสดงธรรม
ต่อสาธารณชนนับหมื่นและมีผลงานเป็นหนังสือที่
ทรงคุณค่ากว่า 120 เล่ม
ท่านได้เปิดทางสู่มิติใหม่ในการพัฒนาวิถีแห่งการปฏิบัติธรรม
จัดงานภาวนาสำหรับบุคลากรที่หลากหลาย
ทั้งครูอาจารย์ เด็ก วัยรุ่น ศิลปิน นักธุรกิจ นักการเมือง
แพทย์พยาบาล ฯลฯ
นอกจากนั้นท่านยังได้จัดพิธีการบรรพชาอุปสมบท
และมอบตะเกียงสืบธรรมหลายวาระโอกาส
ทำการปรับปรุงรูปแบบพิธีกรรมให้สอดคล้องกับยุคสมัย
มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.)
ได้กล่าวถึงท่านว่าเป็น
"ผู้สื่อสารศักดิ์สิทธิ์แห่งสันติภาพและการไม่ใช้ความรุนแรง"
ในการเสนอชื่อท่านเพื่อเข้ารับรางวัลโนเบลเพื่อสันติภาพ
ในปี 1967 (พ.ศ. 2510)
ตลอดช่วงเวลา 40 ปีที่ต้องพลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอน
พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์
นับได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มนำพุทธศาสนา
โดยเฉพาะวิถีการเจริญสติเข้าสู่โลกตะวันตกและ
มีส่วนร่วมสร้างชุมชนแห่งพุทธศาสนาที่เข้าสู่วิถีชีวิต
(Engaged Buddhism)
แห่งศตวรรษที่ 21 พร้อมด้วยลูกศิษย์นักบวชจำนวนร่วม 1250 รูป
และศิษย์ฆราวาสจำนวนนับล้าน
และผู้อ่านผลงานจำนวนนับร้อยล้านในทุกทวีปทั่วโลก
ศิษย์จำนวนมากของท่านได้รับดอกผลจากการปฏิบัติและสืบเนื่องภาระงาน
แห่งการเผยแผ่ธรรมที่ท่านได้สืบทอดและสั่งสอนตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา
-------------------------------
ประวัติโดยสังเขป
พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ (Thích Nhất Hạnh)
มีชื่อทางโลกว่า เหงวียน ซวน บ๋าว (Nguyễn Xuân Bảo)
ถือกำเนิดเมื่อปี 1926 (พ.ศ. 2469) ณ หมู่บ้านถั่ญจรุง
อำเภอกว๋างเดี่ยน จังหวัดเถื่อเทียน-เว้ ประเทศเวียดนาม
เป็นบุตรคนรองสุดท้องในครอบครัวที่ประกอบไปด้วย
พี่น้องชายหญิง 6 คน บิดามีนามว่า เหงวียน ดิ่ญ ฟุก
(Nguyễn Đình Phúc)
มารดามีนามว่า เจิ่น ถิ หยี (Trần Thị Dĩ)
ปี 1942 (พ.ศ. 2485) ออกบวช ณ วัดตื่อเฮี้ยว (Từ Hiếu)
กับพระอาจารย์เซน ทัญกุ๊ย เจินเถิด (Thanh Quý Chân Thật)
ได้รับนามตามสายธรรมว่า จรึ่งกวาง (Trừng Quang)
กันยายน ปี 1945 (พ.ศ. 2488)ได้บรรพชารับศีลเป็นสามเณร
กับพระอุปัชฌาย์พร้อมนามทางธรรมว่า ฝุ่งซวน (Phùng Xuân)
ปี 1947 (พ.ศ. 2490) เข้าศึกษา ณ
สถาบันการศึกษาสงฆ์บ๊าวก๊วก (Báo Quốc) เมืองเว้
ปี 1949 (พ.ศ. 2492) ออกจากเมืองเว้ เข้าสู่ไซ่ง่อน
เพื่อหาหนทางการศึกษาและปฏิบัติในวิถีใหม่
เริ่มพันธกิจที่ได้ก่อตั้งขึ้น พร้อมสมัญญาทางธรรมว่า
ติช นัท ฮันห์ (Thích Nhất Hạnh)
หมายถึง "การกระทำเพียงหนึ่ง"
ซึ่งได้กลายเป็นหนึ่งในหลายนามปากกาของท่าน
ได้ก่อตั้งวัดอั๊นกวาง (Ấn Quang)
และเป็นพระธรรมาจารย์ในการศึกษาพุทธศาสตร์ของ
วิทยาลัยสงฆ์นามเหวียด (Nam Việt)
ตุลาคม ปี 1951 (พ.ศ. 2494) อุปสมบทเป็นภิกษุโดยสมบูรณ์
ณ วัดอั๊นกวาง เมืองไซ่ง่อน
กับพระมหาเถระทิจ โดน เฮ่า (Thích Đôn Hậu)
ปี 1954 (พ.ศ. 2497) สมาพันธ์คณะสงฆ์พุทธศาสนา
ได้มอบหมายให้ท่านทำการปฏิรูปการศึกษา
และเป็นผู้อำนวยการด้านการศึกษา ณ วิทยาลัยสงฆ์นามเหวียด
ปี 1955 (พ.ศ. 2498)
เป็นบรรณาธิการนิตยสารพุทธศาสนาเวียดนาม
กระบอกเสียงของสมาพันธ์คณะสงฆ์พุทธศาสนา
ปี 1957 (พ.ศ. 2500) ก่อตั้งอาศรมเฟืองโบ๊ย
(Phương Bối Am) ณ จังหวัดบ๋าวหล็อก
เป็นที่พักฟื้นฟูจิตใจและภาวนาในความสงบเงียบ
ระหว่างการทำกิจกรรมเพื่อสังคม
ปี 1961 – 1963 (พ.ศ. 2504-2506)
ศึกษาวิจัยและทำการสอน ณ
มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton)
และโคลัมเบีย (Columbia) สหรัฐอเมริกา เขียนหนังสือ
"กุหลาบประดับดวงใจ"
ปี 1964 (พ.ศ. 2507) ได้รับนิมนต์ให้กลับคืนเวียดนาม
เพื่อร่วมช่วยงานในฐานะผู้นำ
ขององค์กรคณะสงฆ์เอกภาพแห่งเวียดนาม
และได้ก่อตั้งสถาบันการศึกษาพุทธศาสตร์ชั้นสูงในไซ่ง่อน
ณ วัดฟ๊าบโห่ย (Pháp Hội)
ต่อมาได้พัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยหว่านหั่ญ (Vạn Hạnh)
และก่อตั้งสำนักพิมพ์ล้าโบ๊ย (Lá Bối "ใบตาล")
เป็นบรรณาธิการวารสารรายปักษ์ "เสียงกระแสน้ำขึ้น"
ปี1965 (พ.ศ. 2508) ก่อตั้งโรงเรียนเยาวชนเพื่อการรับใช้สังคม
ปี 1966 (พ.ศ. 2509) ก่อตั้งคณะดั่งกันและกัน
(The Order of Interbeing) หรือ เตี๊ยบเหี่ยน (Tiếp Hiện)
วันที่ 1 พฤษภาคม1966 (พ.ศ. 2509)
ได้รับการสืบทอดตะเกียงธรรมโดยพระอาจารย์อุปัชฌาย์
ณ วัดต้นสายธารตื่อเฮี้ยว และได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าอาวาส
แห่งวัดตื่อเฮี้ยวองค์ต่อไปภายหลังจากพระอุปัชฌาย์มรณภาพ
วันที่ 11 พฤษภาคม 1966 เดินทางออกจากเวียดนามเพื่อเรียกร้องสันติภาพ
และเริ่มต้นระยะกาลลี้ภัยที่ยาวนาน 39 ปี
ปี 1967 (พ.ศ. 2510) ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ โดยมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์
ปี 1968 – 1973 (พ.ศ. 2511-2516)
ทำงานเรียกร้องสันติภาพโดยเป็นตัวแทนของสมาคมสันติภาพปารีส (1968-1973)
ในช่วงระยะเวลานี้ได้รับนิมนต์ให้สอนในวิชา “ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาเวียดนาม”
ณ มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ (Sorbonne) ประเทศฝรั่งเศส
และรวบรวมหนังสือประวัติศาสตร์พุทธศาสนาเวียดนาม
ใช้นามปากกว่า เหงวียน ลาง (Nguyễn Lang)
กันยายน ปี1970 (พ.ศ. 2513) ได้รับนิมนต์โดยองค์กรคณะสงฆ์เอกภาพแห่งเวียดนาม
เพื่อเป็นผู้แทนของคณะพุทธศาสนิกเพื่อสันติภาพในการประชุม ณ ปารีส
พฤษภาคม 1970 (พ.ศ. 2513) เข้าร่วมร่างประกาศแถลงการณ์เมนตัน (Menton)
ว่าด้วยการทำลายระบบนิเวศ มลภาวะทางสิ่งแวดล้อม และการเพิ่่มจำนวนประชากร ได้เข้าพบอูถั่น (U Thant)
เลขาธิการสหประชาชาติพร้อมกับเพื่อนร่วมงาน และได้รับคำมั่นสัญญาที่จะให้การสนับสนุน
ปี 1972 (พ.ศ. 2515) เป็นผู้นำของสมาคมเพื่อสิ่งแวดล้อมมีชื่อว่า The Fellowship of Reconciliation
โดยมีพันธกิจว่าด้วยระบบนิเวศเชิงลึก ความเป็นดั่งกันและกัน (ความเชื่อมโยงสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง)
และความสำคัญของการปกป้องผืนโลก
ปี 1971 (พ.ศ. 2514) ก่อตั้งอาศรมเมฆหอม (ฟงต์วานส์) ใกล้เมืองปารีส
ปี1976 (พ.ศ. 2519) ดำเนินงานช่วยเหลือมนุษย์เรือผู้ประสบภัยกลางท้องทะเล
ในการพยายามลี้ภัยทางเรือออกนอกประเทศหลังสงครามเวียดนาม
ปี 1982 (พ.ศ. 2525) ก่อตั้งหมู่บ้านพลัม ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส
ปี 1998 (พ.ศ. 2540) ก่อตั้งวัด Green Mountain ในสหรัฐฯ
ปี 2000 ก่อตั้งวัด Deer Park ในสหรัฐฯ
ปี 1999 (พ.ศ. 2542) เขียนประกาศแถลงการณ์มานิเฟสโต 2000 (Manifesto 2000)
ร่วมกับเหล่าผู้ได้รับรางวัลโนเบล เพื่อมุ่งสู่สันติภาพและการไม่ใช้ความรุนแรงสำหรับสหัสวรรษใหม่
ปี 2005 (พ.ศ. 2548) กลับเวียดนามครั้งแรกและก่อตั้งวัดปรัชญา
หรือ บ๊าดหญา (Bát Nhã) ที่จังหวัดบ๋าวหล็อก
ปี 2007 (พ.ศ. 2550) กลับคืนเวียดนามครั้งที่ 2 และจัดพิธีทำบุญอุทิศ
แด่ผู้ประสบทุกข์ภัยระหว่างสงครามเวียดนามตลอดทั้งสามภาค
ปี 2008 (พ.ศ. 2551) กลับคืนเวียดนามครั้งที่ 3
และเป็นองค์ปาฐกถาในพิธีวิสาขบูชานานาชาติ
ปี 2008 (พ.ศ. 2551) ก่อตั้งสถาบันพุทธศาสนาประยุกต์
แห่งยุโรป (European Insitute of Applied Buddhism)
ณ เยอรมนี, วัด Blue Cliff และ Magnolia สหรัฐฯ, อาศรมแห่งลมหายใจ ณ ปารีส,
หมู่บ้านพลัมประเทศไทย,
สถาบันพุทธศาสนาประยุกต์แห่งเอเชีย
(Asian Insitute of Applied Buddhism)
ณ ฮ่องกง, วัดเข้าสู่กระแส (Stream Entering) ออสเตรเลีย,
วัดภิกษุณีเหยี่ยวจ่าม (Diệu Trạm),
จ่ามติจ (Trạm Tịch) ในเวียดนาม ทำการสืบเนื่องและขยายกว้าง
ในงานการเผยแผ่ธรรมะและสร้างสังฆะไปทั่วโลก
พฤศจิกายน 2014 (พ.ศ.2557) อาพาธด้วยอาการเลือดออก
ในสมอง
ตุลาคม 2018 (พ.ศ. 2561)
กลับมาพำนักยังวัดต้นสายธารตื่อเฮี้ยว เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม
วันที่ 22 มกราคม 2022 (พ.ศ. 2565) มรณภาพอย่างสงบ
ณ กุฏิ"รับฟัง" วัดตื่อเฮี้ยว เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม
-------------------------------
จิตเป็นหนึ่งขอน้อมกราบสักการะจิตวิญญาณอันตื่นรู้แห่งพระอาจารย์เจ้าอาวาสวัดต้นสายธรรมตื่อเฮี้ยว
ผู้ก่อตั้งสถานปฏิบัติธรรมหมู่บ้านพลัม ผู้สืบสายนิกายหลินจี้รุ่นที่ 42 และสายธรรมเหลียวกว๊านรุ่นที่ 8
ผู้มีนามตามสายธรรมว่า จรึ่งกวาง, นามทางธรรม ฝุ่งซวน,
สมัญญาทางธรรม นัท ฮันห์ พระมหาเถระ พระอาจารย์เซน
- https://teetwo.blogspot.com/2009/10/blog-post_17.html
- https://teetwo.blogspot.com/2019/06/blog-post_3.html