Custom Search

May 31, 2017

ความรัก ชีวิต และความตาย ในทรรศนะของ ‘นิรุตติ์ ศิริจรรยา’

FRONTMAN 
ความรัก ชีวิต และความตาย ในทรรศนะของ นิรุตติ์ ศิริจรรยา ลูกผู้ชายวัย 70 ปี กำลังเริ่มขึ้น


‘เกร็ดชีวิต 70 ปีบนความเร็ว 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง’

ด้วยวัยวุฒิระดับนี้ ทำให้ทุกคำพูดจากนิรุตติ์นั้นคมคาย แฝงข้อคิด หากไม่ใช่คนที่ใช้ชีวิตมาอย่างโชกโชนย่อมทำไม่ได้ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องเล็กๆ อย่างการใช้ชีวิตประจำวันก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามกลับแก่ผู้ฟังได้อย่างน่าสนใจ

เป็นที่รู้กันว่านิรุตติ์ ศิริจรรยากินข้าววันละมื้อมา 22 ปีแล้ว ถ้าถามว่ากินมื้อไหน เขาตอบทันทีว่า มื้อที่หิว “หิวก็กิน ผมเห็นพวกคุณกินกันห้ามื้อ มันหิวจริงหรือเปล่า”

หรืออย่างเครื่องดื่มที่แทบจะติดมือตลอดเวลาคือกาแฟดำ ไม่ใส่น้ำตาล ซึ่งเขาเคยดื่มราวๆ 10 แก้วต่อวัน ปริมาณขนาดนี้จะแพ้ก็แค่คนอิตาเลียนเท่านั้น “จะเยอะหรือไม่เยอะ มันขึ้นอยู่กับว่าเราใช้ชีวิตในวันนั้นยังไง คุณทำงานมาก เหงื่อออกมาก คุณก็อาบน้ำมาก คุณไม่ค่อยได้ทำงาน เหงื่อไม่ค่อยออก คุณอาบน้ำห้าขัน สิบขันก็พอ เหมือนกัน ทำไมต้องกำหนดว่ากินกี่ถ้วย ผมเห็นมนุษย์ที่ทำงานอยู่กับผม เดี๋ยวมันก็โอวัลตินเย็น น้ำแดง น้ำอัดลม ชาเย็น แล้วมันกินกี่อย่าง ทำไมไม่มีใครไปเพ่งเล็ง ของผมแค่น้ำเปล่ากับกาแฟ ไม่ต้องเย็น ไม่ต้องใส่น้ำแข็งก็ได้ ผมง่ายมาก ทุกวันนี้เหลือแค่สามถึงห้าถ้วย ไม่เกินนั้น กินข้าวเย็นสักสี่ห้าโมง ผมก็จบแล้ว ผมดื่มกาแฟแบบนี้มาตั้งแต่อายุสิบหก แล้วมันก็ไม่เกิดเอฟเฟ็กต์อะไรกับร่างกายเรา ถ้าคุณไม่รู้ตัวคุณเองว่าทำแบบนี้แล้วมันไม่ดีกับตัวเองหรือไม่ คุณก็สมควรไปเกิดใหม่” เขาตะเบ็งเสียงสู้กับเสียงเครื่องยนต์ของรถตู้ที่วิ่งด้วยความเร็ว 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง “และนี่เป็นสิ่งเดียวที่ผมดื่ม เพราะผมไม่ดื่มเหล้า ผมเลิกดื่มตั้งแต่อายุ 30 จนตอนนี้เลิกมา 40 ปีแล้ว”

เวลา’ จะช่วยเยียวยาทุกอย่าง

“เด็กหนุ่มมักมองไปที่อนาคต แต่คนแก่มักคุยกันเรื่องอดีต คุณเป็นคนแก่ที่หมกมุ่นกับอดีตไหม”

“ถ้าไม่มีใครถาม ผมก็ไม่เล่า ผมไม่รื้อฟื้น ผมอยู่กับโลกปัจจุบัน เราเก็บเรื่องราวในประวัติศาสตร์มาเพื่อให้เรารู้สิ่งที่ผิด แล้วอย่าไปทำมันอีก เราแก้ไขอดีตไม่ได้ ที่ทำได้คือเราแก้ไขวันนี้ เพราะวันนี้คืออดีตของวันพรุ่งนี้”

หนึ่งในประเด็นที่หลายคนอยากรู้และมักถามนิรุตติ์อยู่เสมอคือความรู้สึกหลังจากที่เขาสูญเสียภรรยาจากอุบัติเหตุ จนทำให้เขาต้องย้ายไปอยู่อเมริกาและหายไปจากวงการบันเทิงถึงหกปีครึ่ง

“จนถึงตอนนี้ คุณจัดการกับอดีตเรื่องนี้ได้ดีขึ้นไหม”

“ก็ดีขึ้น แต่ใช้เวลาพอสมควร นั่นเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ผมได้ทบทวนตัวเอง อย่างที่บอกว่าเราแก้ไขอดีตไม่ได้และมันก็เกิดขึ้นแล้ว ตอนเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ ตื่นขึ้นมายังคิดว่า ฝันไปหรือเปล่า แต่ทั้งหมดเรารู้อยู่แก่ใจว่ามันเป็นเรื่องจริง และไม่มีใครช่วยเราได้นอกจากตัวเราเอง ตอนนั้นเราคิดทบทวนว่า ทำไม ทำไม ทำไม แต่ไอ้คำว่าทำไมนั้นน่ะ มันทำไปแล้ว โดยที่เราไม่ได้เป็นคนทำ เราก็ไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำเพราะเราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์และคนที่อยู่ในเหตุการณ์ก็พูดไม่ได้แล้วเพราะว่าเขาตายไปแล้ว แต่เรายังไม่ตายหนิ แล้วไง จะฆ่าตัวตายตามหรอ แล้วมันได้อะไร เราต้องเผชิญหน้ากับมัน ทำความเข้าใจกับตัวเองว่าต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปให้ได้ ต้องใช้เวลาเท่านั้นเอง เวลาเท่านั้น เมื่อไหร่เราพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งที่เราเคยอยู่กับเขาก็กลับมาเมืองไทย แค่หกปีครึ่งผมก็อ่อนแอมากแล้วนะ ผมอ่อนแอมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว เพราะมีสิ่งที่รอผมอยู่ ต้นไม้รอผมอยู่ บ้านรอผมอยู่ แม้เขาจะพูดไม่ได้ คนงานก็ยังรอคนที่จะเป็นเสาหลักอยู่ หกปีครึ่งมันนานพอแล้ว จึงตัดสินใจขายบ้านที่อเมริกาและกลับมาเริ่มใหม่ดีกว่า”

‘ความตายร่ายระบำ ชวนเต้นรำกับชีวิต’

“ผ่านชีวิตมา 70 ปี มีอะไรในโลกนี้ที่คุณยังต้องกลัวอีกไหม”

“ผมไม่ค่อยจะกลัวอะไร เราก็ใช้ชีวิตของเราไปในทุกๆ วัน ถ้าจะกลัวว่าพรุ่งนี้อาจไม่มีงานทำ หรือแก่แล้วจะกินอะไร ผมไม่กังวลเลย เพราะสุดท้าย มนุษย์เราก็กินได้แค่อิ่ม คุณจะกินพระกระโดดกำแพง ขาหมูหมั่นโถว หรือข้าวน้ำพริกผักต้ม ก็ได้แค่อิ่ม ให้เรารู้อยู่ รู้เป็นก็เท่านั้น”

“แม้กระทั่งกับความตาย?” ผมถาม

“ยิ่งไม่กลัวใหญ่เลย” เขายักไหล่ “ผมไม่เคยคิดถึงความตาย เพราะว่าถ้ามันจะตายเมื่อไหร่ มันก็ตายได้ ผมอาจจะนอนหลับไปคืนนี้ แล้วพรุ่งนี้ผมไม่ตื่นก็ได้ ถ้ามัวแต่กลัว ผมก็ไม่ต้องนอนสิ ถ้าชีวิตติดอยู่กับความกลัว คุณจะไม่สามารถทำอะไรได้เลย ชีวิตคุณต้องดำเนินไปตลอด คุณต้องไม่กลัวอะไรทั้งนั้น ความตายเป็นสิ่งที่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น แต่มันไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ถ้ากลัวว่าฉันยังไม่ได้ทำสิ่งที่อยากทำ มีเวลา ก็ทำซะเดี๋ยวนี้ อย่าผลัด”


นิรุตติ์ ศิริจรรยา จบประโยคด้วยการจิบกาแฟอึกใหญ่ อำลาแสงสุดท้ายด้วยน้ำเสียงทรงพลังอย่างที่ได้ฟังในภาพยนตร์ เจือรอยยิ้มละมุนพร้อมต้อนรับความไม่จีรังของสังขาร ปิดท้ายด้วยนัยน์ตาสีเทาที่ชวนให้นึกถึงมารดา กำลังจ้องเขม็งตาต่อตา แฝงความทระนงให้รู้ว่าชีวิตไม่จำเป็นต้องเกรงกลัวสิ่งใดอีกต่อไปแล้ว

ติดตามเรื่องราวและแฟชั่นเซตเพิ่มเติมได้ในนิตยสารแอลเมนประเทศไทยฉบับมิถุนายน

เรื่อง: กรกฎ อุ่นพาณิชย์
บรรณาธิการแฟชั่น: ณภัทร สุทธิธน
ภาพ: พันธ์สิริ สิริเวชชะพันธ์
หัวหน้าผู้ช่วยสไตลิสต์: นัฐพล กล้าหาญ
ผู้ช่วยสไตลิสต์: สิทธิโชค ทรายคำ
แต่งหน้า และทำผม: บัณฑิต บุญมี
สถานที่: Rachamankha