Custom Search

Aug 23, 2010

ยี่สิบปีรำลึก สืบ นาคะเสถียร



วันชัย ตัน
มติชนออนไลน์
วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2553

คนโบราณเคยกล่าวไว้ว่า
"ความตายเป็นสิ่งที่ธรรมชาติให้มาเพื่อ
ให้หลุดพ้นจากความเจ็บปวด
ซึ่งอาจจะไม่ใช่ความเจ็บปวดทางร่างกาย
อาจเป็นความรู้สึกเจ็บปวดภายในใจ
แล้วเราก็หยิบสิ่งที่ธรรมชาติให้มาหยุดยั้งความเจ็บปวดนั้น"
แล้วอะไรที่ทำให้พี่สืบเจ็บปวดหัวใจขนาดนั้น
.............

ต้นฤดูฝนที่ผ่านมา ผมเดินทางกลับไป
อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน

จังหวัดสุราษฎร์ธานีอีกครั้งหนึ่งในรอบหลายปี
พร้อมกับพรรคพวกหลายสิบคน
ที่อยากมาตามรอยอดีตข้าราชการกรมป่าไม้คนหนึ่ง
สำหรับ หลายคน เขื่อนเชี่ยวหลาน
อาจจะเป็นสถานท่องเที่ยวที่มีทัศนียภาพแปลกตา
เห็นเกาะหินปูนรูปร่างแปลกอยู่กลางอ่างเก็บน้ำ
ราวกับทะเลสาบกุ้ยหลินของเมืองจีน
แต่สำหรับผมแล้ว การไปเขื่อนเชี่ยวหลาน
ครั้งแรกของผมเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน
เป็นภาพที่อยู่ในใจไปตลอดชีวิต
เพราะเป็นครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสรู้จัก
กับผู้ชายคนหนึ่งที่ชื่อ สืบ นาคะเสถียร

ผมดั้นด้นไปตามหาสืบ นาคะเสถียร
กลางอ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน
เมื่อได้ทราบว่าเขาเป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่า
ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
ในการช่วยชีวิตสัตว์ป่าที่หนีตาย
จากน้ำท่วมไปติดค้างอยู่ตามต้นไม้และเกาะ
กลางอ่างเก็บน้ำภายหลังการสร้างเขื่อน
ผมจำได้แม่นยำว่า วันหนึ่งขณะที่เราผูกเรือ
กับตอไม้กลางทะเลสาบ เพื่อช่วยชีวิตชะนีตัวหนึ่ง
ปรากฏว่างูจงอางสีดำมะเมื่อมขนาดลำข้อมือ
ยาวร่วม 3 เมตรพุ่งทะยานออกมาจากโพรงในตอไม้
ทุกคนบนเรืออ้าปากค้างด้วยความตกใจ
และโล่งอกเมื่องูจงอางพุ่งลงน้ำ
"ตามมันไป จับมันให้ได้" พี่สืบบอกพวกเรา
และเมื่อเราช่วยกันใช้สวิงจับงูขึ้นมาบนเรือแล้ว
คราวนี้ทุกคนหันหน้ามามองกันเลิกลั่ก
ใครจะเสี่ยงตายเป็นคนจับงูพิษยัดใส่กระสอบ...
ยังไม่ทันไรพี่สืบใช้มือกดหัว จงอาง
เจ้าจงอางใช้เขี้ยวพิษกัดสวิงอย่างแรง
พร้อมทั้งปล่อยน้ำพิษสีเหลืองใสๆ
ไหลเยิ้มออกมาจนหมด
จับมันใส่ถุงกระสอบ ใช้เชือกผูกมัดแน่นหนา

ผมเดินไปพูดกับพี่สืบว่า
ไปเรียนจับงูมาตั้งแต่เมื่อใด พี่สืบบอกว่า
"ผมก็เพิ่งหัดจับงูพิษเป็นครั้งแรกในชีวิต"
ผมนับถือน้ำใจของพี่สืบที่มีความมุ่งมั่น
ในการทำงานเต็มที่ แกมีลูกน้องหลายคน
แต่เมื่อต้องเสี่ยงอันตราย พี่สืบออกหน้ารับเอง
หลังจากนั้นเราก็มีโอกาสพบกันสม่ำเสมอ
ในงานต่างๆ โดยเฉพาะการรณรงค์คัดค้าน
การสร้างเขื่อนน้ำโจน ที่จังหวัดกาญจนบุรี
ที่พี่สืบเป็นแกนนำในการคัดค้านอย่างแข็งขัน
แม้ว่าจะเป็นข้าราชการตัวเล็กๆ
และเขาขึ้นไปพูดตามเวทีสาธารณะต่างๆ
จนคนทั่วไปรู้จักสืบดี
เพราะทุกครั้งสืบจะพูดออกมาจากหัวใจ

โดยเฉพาะคำพูดที่ว่า

"วันนี้ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่าทุกตัว
เพราะพวกเขาพูดเพื่อตัวเองไม่ได้"

ปลายปี 2532 พี่สืบเล่าให้ผมฟังว่า
กำลังตัดสินใจเรื่องสำคัญในชีวิต
คือพี่สืบได้รับทุนไปเรียนต่อระดับปริญญาเอก
ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ในขณะเดียวกันทางผู้ใหญ่ก็สั่งให้ไปดำรง
ตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ ป่าห้วยขาแข้ง
ที่ตอนนั้นแทบจะไม่มีใครรู้จัก
หากเป็นคนทั่วไป ก็คงจะเลือกการไปเรียน
ต่อระดับปริญญาเอกเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
แต่สำหรับพี่สืบแล้ว เขารู้ดีว่าป่าห้วยขาแข้ง
มีความสำคัญอย่างไร หากปกป้องไม่ได้
ป่าด้านตะวันตกของเมืองไทยก็คงพินาศ
ไม่กี่ปีต่อมา ข้าราชการกรมป่าไม้ตัวเล็กๆ
ผู้นี้ได้กลายเป็นบุคคลในตำนาน
ภายหลังการยิงตัวตายในป่าห้วยขาแข้ง
และเหนืออื่นใด ความตายของเขาได้
สั่นสะเทือนผู้คนในสังคมไทยที่ทราบข่าวอย่างรุนแรง
มีผู้คนมากมายพากันตั้งคำถามว่า
เหตุใดหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
จึงตัดสินใจยิงตัวตาย

วันที่ผมไปรอรับศพพี่สืบที่นำมาจากป่าห้วยขาแข้ง
เอามาตั้งไว้ที่วัดมหาธาตุบางเขน
จำได้ดีว่าวันแรกไม่มีศาลาว่าง
ต้องฝากโลงเอาไว้
ในความรู้สึกถึงเพื่อนและพี่ชายคนนี้

ผมเขียนบันทึกสั้นๆ ไว้ว่า
"คนส่วนใหญ่อาจมีชีวิตเพื่อครอบครัวและตัวเอง
แต่สำหรับสืบ นาคะเสถียรแล้ว
เขารักและหวงแหนชีวิตสัตว์ป่าและป่ามากกว่าตัวเอง
และครอบครัวเสียอีก
เขาทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อสิ่งอันเป็นที่รักยิ่ง
เขาวิ่งพล่านไปทั่ว เพื่อส่งเสียงบอกให้ผู้ใหญ่
และผู้มีอำนาจในบ้านเมืองนี้รู้ว่า
เกิดอะไรขึ้นกับสภาพการล่าสัตว์
และทำลายป่าห้วยขาแข้ง
...ไม่มีใครสนใจ

เสียงตะโกนของเขาไม่มีใครอยากได้ยิน
ก่อนรุ่งสางของวันเสาร์ที่ 1 กันยายน 2533
เสียงปืนนัดหนึ่งจึงดังกึกก้องขึ้นในป่าห้วยขาแข้ง
สองอาทิตย์ต่อมา ห่างจากบริเวณที่เกิด
เสียงปืนดังไม่กี่สิบเมตร

ข้าราชการระดับสูงจากกรมป่าไม้
ผู้ว่าราชการจังหวัด นายทหาร นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่
นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่บ้านเมืองนับร้อยคน
ได้แห่กันมาประชุมปรึกษาหารือ
ในการป้องกันการทำลายเขตรักษาป่าห้วยขา แข้งอย่างแข็งขัน
สืบ นาคะเสถียร รอวันนี้มาตั้งแต่วันแรก
ที่เขามาดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
ห้วยขาแข้งแห่งนี้ เพื่อให้ผู้ใหญ่บ้านเมือง
หันมาสนใจปัญหาอย่างจริงจัง
แต่ดูเหมือนจะมีเพียงความนิ่งเงียบในระบบราชการไทย
ก่อนตายไม่นาน พี่สืบได้เล่าให้ฟังว่า
มีโอกาสได้พบรัฐมนตรีคนหนึ่งและ
พยายามอธิบายปัญหาการตัดไม้ในห้วยขาแข้งที่
พัวพันกับเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย
แต่รัฐมนตรีตัดบทไม่ใส่ใจ
และทุกวันนี้ก็ยังลอยหน้าลอยตา
ดำรงตำแหน่งใหญ่ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน
พี่สืบคงเจ็บปวดกับระบบราชการจนถึงที่สุด
หากไม่มีเสียงปืนในราวป่านัดนั้น

การประชุมครั้งนั้นก็คงไม่เกิดขึ้นเช่นกัน
พี่สืบรู้ตัวดีว่า สักวันหนึ่งเขาอาจจะ
ถูกยิงตายจากการบงการของผู้มีอิทธิพลทั้งหลาย
พี่สืบรู้ตัวดีว่า สักวันหนึ่งลูกน้อง
ซึ่งเขาเป็นคนส่งไปปฏิบัติหน้าที่
ต้องถูกยิงตายอย่างไร้ค่าเพราะไม่มีใครสนใจ
สืบไม่ใช่คนกลัวตาย แต่ทนไม่ได้ที่ลูกน้องเขา
ต้องตายไปต่อหน้า โดยที่เขาไม่อาจทำอะไรได้
พี่สืบมีความฝันที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น
ปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำให้สัตว์ป่า
และป่าไม้ในป่าห้วยขาแข้งอยู่รอด
เขาพยายามทำตามหน้าที่ที่ได้รับ
มอบหมายมาจากประชาชนให้ดีที่สุดเท่านั้น
เมื่อ ความมุ่งมั่นของเขาที่มีต่อห้วยขาแข้ง
ถูกทำลายลงอย่างย่อยยับจากระบบราชการ
และผู้มีอำนาจในเมืองไทย
ที่ไม่เคยสนใจปัญหาการทำลายธรรมชาติอย่างจริงจัง
เขาเคยปรึกษาแม่ว่าจะลาออกและไปบวช
แต่เขาก็ไม่ลาออก การลาออกเป็นการทรยศต่อตัวเอง
ทรยศต่อห้วยขาแข้ง และทรยศต่อหน้าที่ของเขา
แต่การมีชีวิตอยู่ต่อไป ไม่สามารถทำให้ความมุ่งมั่น
ความเชื่อของเขาเป็นจริงได้

สืบ นาคะเสถียร เป็นคนไม่เคยทรยศต่อหลักการ
และความมุ่งมั่นของตัวเอง
บางทีการตั้งใจฆ่าตัวตายอาจเป็น
เพียงหนทางเดียวที่ทำให้ความฝันของเขาเป็นจริงขึ้นมาได้
ภายหลังการเสียชีวิตของสืบ นาคะเสถียร
ได้ก่อให้เกิดกระแสอนุรักษ์ครั้งใหญ่ในสังคมไทย
และต่อมาไม่นาน ยูเนสโก
ได้ประกาศให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
และทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ
ตามเจตนารมณ์ของพี่สืบ
ส่งผลให้เกิดความหวงแหนดูแลป่าทั้งสองผืนอย่างจริงจัง
จากคนทั้งประเทศ ปริมาณสัตว์ป่าในรอบหลายปีได้เพิ่มขึ้น
อันเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า
และมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ทำงานอย่างจริงจัง
ในการอนุรักษ์ผืนป่าเหล่านี้
รวมถึงการขยายพื้นที่ดูแลไปทางผืนป่าตะวันตก
อันประกอบด้วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 6 แห่ง
อุทยานแห่งชาติ 11 แห่ง เป็นผืนป่าติดต่อกัน 11.7 ล้านไร่
โดยประสบความสำเร็จในการสร้างความร่วมมือ
ระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่เคยขัดแย้งกันมาตลอด
ให้หันมาจับมือกันดูแลรักษาป่า
สืบทอดความฝันของสืบ นาคะเสถียร
เสียงปืนในราวป่าห้วยขาแข้งเมื่อยี่สิบปีก่อน
ยังคงดังกึกก้องมาจนถึงบัดนี้

หมายเหตุ : เชิญร่วมงาน 20 ปีสืบ นาคะเสถียร
ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ระหว่างวันที่ 31 ส.ค.-19 ก.ย. 2553
และร่วมชมคอนเสิร์ต 20 ปีสืบ นาคะเสถียร
วันที่ 19 ก.ย. 2553 ณ หอประชุมใหญ่
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สอบถามรายละเอียดได้ที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
โทร.0-2224-7838-9


ที่มา: หนังสือพิมพ์รายวันฉบับวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 11852