Custom Search

Aug 17, 2007

กระทรวงการต่างประเทศ & A49 : A49.COM
















ที่มา HiClass-Society
www.A49.com

"เราต้องตีโจทย์กันก่อนก็คือ หนึ่งงานของกระทรวงต่างประเทศ เป็นงานของทางราชการที่ต้องประกวดแบบ สองเป็นอาคารราชการที่ต้องเป็นหน้าตาของประเทศชาติ สามจะต้องเป็นสถานที่ต้อนรับแขกชาวต่างประเทศระดับกระทรวงอยู่เสมอๆ แล้วเมื่อต้องเป็นหน้าตาของประเทศก็ควรจะต้องมีความเป็นไทย"

เป็นโจทย์คร่าวๆ ที่ นิธิ สถาปิตานนท์ ศิลปินแห่งชาติ สถาปนิก และประธานบริหาร บริษัท Architects 49 ได้บอกเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับงานออกแบบชิ้นนี้ของเขา

กระทรวงต่างประเทศ เป็นอาคารในแบบไทยประยุกต์ที่เรียบง่าย แต่สวยสง่า ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนศรีอยุธยา ติดกับบริเวณพระราชวังสวนจิตลดา คอนเซ็ปท์ที่ทำให้แปลกกว่าอาคารโดยทั่วไปคืออาคารหลังนี้ถูกบังคับด้วยกฎหมาย ตัวอาคารจะสูงได้ไม่เกิน 23 เมตร เนื่องจากติดพระราชวัง บางส่วนจำเป็นต้องทำเป็นผนังตันปิดทึบหมด โดยเฉพาะในด้านที่ติดกับพระราชวัง และจากข้อกำหนดที่ทำให้มีความสูงได้ไม่มากนี้ ตัวอาคารจึงต้องมีการแผ่กว้างออกไปเต็มพื้นที่ และในส่วนที่เป็นผนังทึบก็ต้องมีการดึงเอาแสงจากภายนอกเข้ามา โดยอาศัยการออกแบบให้มีหลังคากระจก หรือการเปิดพื้นที่ว่างทำเป็นคอร์ท

ในส่วนของแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นไทยของงานออกแบบอาคารกระทรวงต่างประเทศนั้น เริ่มต้นกันตั้งแต่การวางผังพื้นกันเลยทีเดียว ตัวอาคารมีการวางระบบแกน เหมือนเช่น สิ่งปลูกสร้างในสมัยโบราณ วัดวาอาราม หรือพระราชวังต่างๆ ที่ต้องมีแกนที่สัมพันธ์กับทิศ ซึ่งอาคารหลังนี้รับเอารูปแบบที่เรียบง่ายที่สุดเป็นหลังคาทรงจั่ว (โดยวัสดุที่ใช้เน้นเป็นวัสดุสมัยใหม่) มีระเบียงแก้ว ช่องประตู หน้าต่าง และโคมระย้าที่ยังเป็นองค์ประกอบที่สื่อถึงความเป็นไทย

โจทย์อีกอันหนึ่งที่ทางกระทรวงมอบหมาย ซึ่งได้กลายมาเป็นแนวคิดในการออกแบบก็คือ ทางกระทรวงจะเน้นให้อาคารหลังนี้สามารถรองรับการประชุมในระดับนานชาติ ที่จัดอยู่เสมอๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ดังนั้นฟังก์ชั่นโดยส่วนใหญ่ของอาคารในหลายส่วนจึงต้องเป็นลักษณะมัลติฟังก์ชั่น โดยรับรองหรือใช้งานได้ในหลายกรณี ในตัวอาคารมีการปูพรม มีการออกแบบระบบปรับอากาศ ระบบเสียงที่ดี ในมาตรฐานเดียวกับโรงแรม ส่วนที่โดดเด่นของอาคารก็คือ พรีฟังก์ชั่นแอเรียที่ปูพื้นด้วยไม้สัก ซึ่งให้ความรู้สึกว่ามีความเป็นไทยอยู่ที่นี่ และ 'บุษบก' ที่มองเห็นได้ตั้งแต่หน้าประตูทางเข้า ซึ่งเป็นการจำลองพระราชบัลลังก์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่พระองค์เคยใช้รับรองทูตานุทูตจากประเทศต่างๆ ในสมัยอยุทธยามาไว้ในตัวอาคารได้อย่างลงตัว

นิธิ สถาปิตานนท์ ยังได้เล่าให้เราฟังถึงอีกโครงการหนึ่งที่เชียงใหม่ ซึ่งเขาอุทิศเวลาให้กับโครงการนี้เป็นนานถึงเวลา 10 ปี
"เกิดจากคำถามว่า ถ้าเราจะทำอะไรที่เชียงใหม่ ทำไมต้องเป็นสไตล์ยุโรป สไตล์โรมัน สไตล์บาวาเรียน หรือสไตล์ตะวันตก และถ้าจะทำสไตล์เชียงใหม่เจ้าของโครงการก็จะบอกว่ามันขายไม่ได้ คนไม่ซื้อ จากนั้นก็เลยเกิดความคิดว่าเราคงต้องทำเองแล้วละ พยายามหาที่สักแปลงหนึ่ง ซึ่งก็พอดีกับได้ไปรับประทานอาหารที่แม่ริม และได้เห็นที่แปลงหนึ่งเป็นทุ่งนาสวยมาก มีความลาดชันนิดหน่อย มีฉากหลังเป็นดอยสุเทพ แล้วเราก็ลงขันรวบรวมเงินกัน ซื้อที่มาเป็นจำนวน 99 ไร่ เมื่อสิบปีมาแล้ว"


จากการที่ นิธิ สนใจบุคลิกภาพของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเชียงใหม่ ที่มีแนวคิดแตกต่างหลากหลายไปตามจินตนาการของช่าง (ซึ่งเรามักจะเข้าใจผิดไปว่ามีมาจากหลังคาทรงกาแล หรือองค์ประกอบไม่กี่อย่างบนเครื่องหลังคา) เขาจึงจัดทำโครงการบ้านจัดสรรที่ได้แรงบันดาลใจจากความเป็นอาคารบ้านเรือนพื้นถิ่น แน่นอนโดยพื้นฐานโครงการนี้ไม่ได้บังคับให้ลูกค้าทุกคนต้องปลูกบ้านที่มีหน้าตาแบบเดียวกันไปหมด เพียงแต่พยายามเสนอแนะให้ลูกค้าคำนึงถึงวัสดุและความกลมกลืนของบ้านแต่ละหลัง ซึ่งหลายคนก็เห็นด้วย และมีบ้านในโครงการที่วางอยู่บนแนวคิดนี้สิบกว่าหลังด้วยกัน

โครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จทั้งในตัวโครงการเอง และในด้านที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนวิธีคิด หรือทัศนภาพของบ้านพักตากอากาศในเชียงใหม่ (ซึ่งเมื่อสิบปีที่แล้วค่านิยมในความเป็นไทยยังมีอยู่น้อย โดยมากยึดถือรูปแบบของยุโรปเป็นหลัก) เป็นโครงการแรกๆ