ประภาส ชลศรานนท์ มติชนรายวัน 12 ก.พ. 46
www.Prapas.com
พี่ประภาส
เพิ่งทะเลาะกับเพื่อนที่ตั้งทีมกันทำงานด้านเว็บไซต์ด้วยกัน
กำลังมีรุ่นน้องมาชวนให้ไปตั้งทีมใหม่ บอกตรงๆ ว่าชักปอด
เพราะทีมเก่านั้นทำกันมาตั้งแต่เรียนปี 3 จนจบมาเกือบ 7 ปีแล้ว
เข้าขากันจนไม่อยากทำงานกับคนอื่นอีก กลัวไปสารพัด
กลัวว่าเขาจะเก่งกว่าเรามั้ย
หรือเขาอาจจะไม่เก่งเลย ยอมรับว่ากลัวจนเครียด
บางทีก็กลัวว่าเราอาจจะตกรุ่นแล้ว ความคิดล้าสมัย
พี่มีความคิดดีๆ เกี่ยวกับการทำงานกับทีมใหม่ๆ บ้างมั้ย
พี่ประภาส
เพิ่งทะเลาะกับเพื่อนที่ตั้งทีมกันทำงานด้านเว็บไซต์ด้วยกัน
กำลังมีรุ่นน้องมาชวนให้ไปตั้งทีมใหม่ บอกตรงๆ ว่าชักปอด
เพราะทีมเก่านั้นทำกันมาตั้งแต่เรียนปี 3 จนจบมาเกือบ 7 ปีแล้ว
เข้าขากันจนไม่อยากทำงานกับคนอื่นอีก กลัวไปสารพัด
กลัวว่าเขาจะเก่งกว่าเรามั้ย
หรือเขาอาจจะไม่เก่งเลย ยอมรับว่ากลัวจนเครียด
บางทีก็กลัวว่าเราอาจจะตกรุ่นแล้ว ความคิดล้าสมัย
พี่มีความคิดดีๆ เกี่ยวกับการทำงานกับทีมใหม่ๆ บ้างมั้ย
ไฟร์บอล
คุณอาประภาส
อยากรู้ว่าหน้าที่โปรดิวเซอร์เค้าทำอะไรกันบ้าง
เพื่อนบอกว่า โปรดิวเซอร์ไม่ใช่นักแต่งเพลง
แต่เป็นคนคุมงาน แล้วถ้าจะเป็นโปรดิวเซอร์ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง
รีโมท _______________
ขออนุญาตแนะนำให้รู้จักนักดนตรีคนหนึ่งครับ
เขาชื่อ ควินซี่ โจนส์
คนไทยส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรู้จักเขาสักเท่าไหร่
เพราะงานของเขาค่อนข้างอยู่เบื้องหลัง
แต่ถ้าไปถามพวกที่ทำงานอยู่ในแวดวงดนตรี
โดยเฉพาะนักดนตรีหรือโปรดิวเซอร์นี่ต้องเรียกว่าเป็นขวัญใจของคนหลายคนเลยทีเดียวผมได้ยินชื่อเขาครั้งแรกก็ตอนสมัยยังเป็นนิสิต
ได้ยินจากปากคุณเรวัต พุทธินันทน์ หรือพี่เต๋อ
ตอนที่ไปขอให้แกมาช่วยทำดนตรีให้เฉลียงชุดแรกเพิ่งได้ยินคำว่า "โปรดิวเซอร์"
ก็จากพี่เต๋อนั่นแหละครับ เกือบสามสิบปีที่แล้วนี่ คำนี้ยังไม่มีใครเคยใช้เลย
สมัยนั้นถ้าจะทำเพลงสักชุดนี่ คนที่เกี่ยวข้องก็จะมีคนแต่งเพลงที่นักร้องเรียกกันว่าครูเพลง
มีคนทำดนตรี แล้วก็มีนายห้างเจ้าของบริษัทแผ่นเสียงแม้แต่พวกผมที่ริอาจจะทำเพลงสักชุดจากเพลงที่แต่งกันร้องเล่นๆ
ก็คิดแค่ว่า จะไปหาพี่เต๋อเพื่อให้แกช่วยทำดนตรีให้เพลงชุดนี้หน่อย
แค่นั้นพอพี่เต๋อฟังเพลงที่พวกผมแต่งมาแล้วแกก็บอกว่า
แกจะเป็นโปรดิวเซอร์ให้ ทั้งๆ ที่แกก็ไม่ได้ทำงานอยู่ที่บริษัทแผ่นเสียงอะไรที่ไหน
(สมัยนั้นแกยังไม่ได้ตั้งบริษัทแกรมมี่)
แล้วแกก็ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า ในการทำเพลงชุดหนึ่งนั้น
ต้องมีคนที่ต้องมองภาพรวมของเพลงทั้งหมด
วางแนวว่าเพลงแต่ละเพลงดนตรีควรจะเป็นอย่างไร ใครร้อง ร้องอย่างไร
ประสานเสียงตรงไหน ใครต้องเป็นคนเล่นดนตรี ต้องเล่นแค่ไหน อย่างไร
รวมไปถึงการควบคุมการบันทึกเสียงทั้งด้านคุณภาพ ระยะเวลา งบประมาณ
และบรรยากาศในการทำงาน
คุณรีโมทถามมาถึงเรื่องหน้าที่ของโปรดิวเซอร์ก็คงได้คำตอบคร่าวๆ ไปแล้ว
อันที่จริงหน้าที่ของโปรดิวเซอร์ยังไม่หมดแค่นี้
บางท่านทำงานเลยไปถึงภาพพจน์ของนักร้อง
และเลยไปถึงการแสดงบนเวทีด้วยช่วงที่บันทึกเสียงเพลงเฉลียงชุดแรกกับพี่เต๋อ
พอมีเวลาว่างแกก็จะมักจะเล่าให้ฟังถึงนักดนตรีฝรั่งที่แกชื่นชม
หนึ่งในนั้นก็คือโปรดิวเซอร์ที่ชื่อ ควินซี่ โจนส์ คนที่ผมจะแนะนำให้รู้จักในวันนี้
สำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่รู้จักเขา แนะนำอย่างง่ายที่สุดว่าเขาทำอะไรมาบ้าง
ก็คงต้องบอกว่าเขาคือผู้ที่ทำเพลงเราล้วนคือโลก (We Are The World)
เพลงที่ได้ชื่อว่าขายดีที่สุดในโลกตลอดกาลเพลงหนึ่งและว่ากันว่าโจนส์น่าจะเป็นนักดนตรีที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี่ของอเมริกามากกว่าใครทั้งหมด
หนังสือดนตรีหลายเล่มยกให้โจนส์เป็นตำนานสำคัญหน้าหนึ่งของอุตสาหกรรมบันเทิง
เขาได้ร่วมงานกับนักดนตรีฝีมือดีมากมายหลายรุ่น
นับตั้งแต่ แฟรงค์ ซิเนตร้า,เรย์ ชาร์ลส, ไมลส์ เดวิส,ดุ๊ค เอลลิงตัน จนมาถึง
ยุค ไมเคิล แจ๊กสัน อัลบั้มสยด (Thriller) นี่ก็ฝีมือของเขา
โจนส์ใช้ชีวิตวัยเยาว์ในแหล่งเสื่อมโทรมของเมืองชิคาโก
พออายุถึงสิบเอ็ดก็ย้ายไปวอชิงตัน และก็เกิดรักแรกพบกับดนตรีที่นี่ เด็กชายโจนส์เริ่มต้นจากเครื่องดนตรีประเภทหางเครื่อง (Percussion) เขาเริ่มขลุกตัวอยู่ในโรงเรียนหลังเลิกเรียนทุกวันเพื่อหัดเลนดนตรีชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปี่ แตรและไวโอลิน
สุดท้ายเขาก็มาจดจ่ออยู่กับพวกเครื่องเป่า
โดยเฉพาะทรัมเป็ตนี่เป็นที่ยอมรับกันในหมู่เพื่อนฝูงว่าฝีมือไม่ธรรมดา
เมื่ออายุได้ 14 ปี โจนส์ก็ฉายแววอัจฉริยะ เขาเริ่มแต่งเพลงเอง เรียบเรียงดนตรีเอง
และเมื่อใดก็ตามที่มีวงดนตรีฝีมือดีมาแสดงใกล้โรงเรียน
โจนส์ก็มักหาโอกาสเข้าไปร่วมเล่น
หรืออย่างน้อยที่สุดก็เข้าไปพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดด้วย พออายุได้ 18 ปี
โจนส์ก็ออกตระเวนเล่นดนตรีอย่างจริงจังกับวงแฮมป์ตันพออายุครบเบญจเพส
โจนส์ก็ได้ชื่อว่าเป็นนักดนตรีที่ได้ร่วมงานกับนักดนตรีแจ๊ซที่ยิ่งใหญ่เกือบหมดประเทศแล้ว ความเห็นหนึ่งเดียวที่นักดนตรีแจ๊ซรุ่นพี่
ทุกคนพูดถึงหนุ่มน้อยโจนส์ก็คือ "เขามีความกระหายใคร่เรียนรู้ตลอดเวลา"
อาจเป็นด้วยบุคลิกนี้เองที่ทำให้เขาได้ทำงานกับคนหลากหลาย
หลังจากนั้นเขาก็เข้าทำงานกับบริษัทแผ่นเสียงเมอร์คิวรี่
และพออายุได้ 30 ปีเขาก็นั่งแท่นผู้บริหาร
ซึ่งต้องนับเป็นผู้บริหารผิวดำคนเดียวในบริษัทหลังจากนั้น
โจนส์ก็กระโดดเข้ารับงานท้าทายใหม่ๆ
ด้วยการทำเพลงประกอบภาพยนตร์กว่า 30 เรื่อง
และเพลงประกอบรายการโทรทัศน์อีกนับไม่ถ้วน
ตอนที่เขาตัดสินใจเข้าร่วมงานกับราชันย์เพลงป๊อป ไมเคิล แจ๊กสันนั้น
ในแวดวงดนตรีแจ๊ซไม่ว่าจะเป็นนักดนตรีหรือแฟนเพลงก็เริ่มโจมตีเขาว่า เขากำลังขายตัว ตรงนี้น่าสนใจนะครับ ศิลปะหลายชิ้นไม่ได้เกิดขึ้นบนโลกก็เพราะศิลปินติดอยู่ในบ่วงนี้
มาลองฟังโจนส์ให้สัมภาษณ์ดูดีกว่าว่าเขาคิดอย่างไร
"เมื่อครั้งยังวัยรุ่น วงที่โรงเรียนผมเล่นดนตรีแทบทุกประเภท ทั้งริธึ่มแอนด์บลูส์ โพลก้า ซัลซ่า
เราเล่นดนตรีในคลับทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นคลับคนขาวหรือคลับคนผิวสี ทั้งสโมสรเทนนิสและข้างถนน ผมรักดนตรีทุกสไตล์ ดังนั้นไม่ว่าผมจะทำงานกับแฟรงค์ ซิเนตร้าหรือไมเคิล แจ๊กสัน
ผมก็ไม่รู้สึกแตกต่างอะไรกันสักเท่าไร"
ฟังเขาอธิบายแล้ว ผมก็นึกออกเลยว่าทำไมผู้ชายคนนี้จึงได้ยิ่งใหญ่ในวงการเพลง
ในความคิดของผมแล้ว ผมว่าหัวใจเขาเปิดกว้างมาก และด้วยหัวใจที่เปิดกว้างอันนี้แหละเขาจึงน่าจะเป็นคนเดียวที่โลกต้องมอบหมายให้เขาทำเพลงเราล้วนคือโลก
ที่เอานักร้องนักดนตรีดังๆ ของทั้งโลกมาร้องร่วมกันคลาสสิคอย่าดูถูกแจ๊ซ
แจ๊ซอย่าดูแคลนป๊อป ป๊อปก็อย่ารังเกียจลูกทุ่ง
ลูกทุ่งเองก็อย่ารังงอนหมอลำย่อหน้าข้างบนผมขออนุญาตพูดลอยๆ นะครับ
ไม่รู้คุณไฟร์บอลจะสนใจในเรื่องราวเกี่ยวกับวงการดนตรีหรือเปล่า
แต่ย่อหน้าข้างบนนี่ผมเขียนให้คุณไฟร์บอลอ่านโดยเฉพาะนอกจากพรสวรรค์ด้านดนตรีที่
โจนส์มีอยู่ล้นเหลือแล้ว "ความยืดหยุ่น"
น่าจะเป็นอาวุธสำคัญอีกอันหนึ่งที่ทำให้โจนส์โลดแล่นอยู่ในยุทธจักรดนตรีอย่างเกรียงไกร และถ้ามองจากมุมของผมซึ่งก็ขอต้องขอสารภาพว่าผมก็นิยมการร่วมงานกับผู้คนหลากหลายเช่นกัน ผมคิดว่าการที่เขาได้ร่วมงานกับคนใหม่ๆ ตลอดเวลา
ทำให้เขาเกิดชำนาญมากขึ้นที่จะดึงเอาความสามารถพิเศษของแต่ละคนที่เขาร่วมงานด้วยให้โดดเด่นออกมา ขออนุญาตตอบคุณรีโมทไปด้วยเลยว่า อันนี้ก็เป็นอีกคุณสมบัติหนึ่งของ
"โปรดิวเซอร์"และก็ด้วยคุณสมบัติอันนี้นี่แหละครับ ทั้งการปรับตัวและการเปิดใจ
โจนส์ก็เริ่มขยายผลิตผลทางศิลปะของเขากว้างออกจากวงการดนตรี หลายคนไม่รู้เลยว่าเขาเป็นผู้ร่วมสร้างหนังเรื่อง The Color Purple ที่สตีเว่น สปีลเบอร์กกำกับ ก่อนที่จะมาทำรายการทีวีซีรีส์ชุด Fresh Prince of Bel-Air และก็กระโจนมาเปิดนิตยสาร Vibe
แรกๆ ที่ได้ยินว่าเขาไปทำนู่นทำนี่ก็เคยรู้สึกแปลกใจว่า ทำไมเขาจึงมีความสามารถหลากหลายนัก เดี๋ยวก็ทำเพลงกับนักดนตรีฝั่งอังกฤษ
เดี๋ยวก็ไปร่วมงานกับคาซึอากิ ช่างภาพหนุ่มชื่อดังของญี่ปุ่น อีกเดี๋ยวก็ไปเปิดบริษัท Qwest ผลิตรายการโทรทัศน์ ข่าวคราวสุดท้ายที่ผมได้ยินเกี่ยวกับโจนส์ก็คือ
เขากำลังเขียนบทละครบรอดเวย์อยู่ อะไรกันพี่โจนส์ อายุเจ็ดสิบกว่าแล้วยังหาอะไรใหม่ๆ
ทำอยู่เลยคนบ้าอะไรก็ไม่รู้ ไม่เคยมองความท้าทายเป็นปัญหาเลย ถามว่ามีฐานะร่ำรวยระดับเศรษฐีเบเวอรี่ฮิลล์อย่างเขานี่ใยต้องมาหาเรื่องเหนื่อยปั๊มเงินอีกทำไม
คำตอบของเขาน่ารักดีนะครับ เขาบอกว่าสิ่งที่สำคัญมากกว่าเงินและชื่อเสียงก็คือ งานใหม่ๆ ทำให้เขารู้สึกเหมือนเขากลับไปมีอายุสิบห้าอีกครั้งคุณไฟร์บอล อย่าไปกลัวนะครับ
ไม่ว่าจะเป็นไอเดียใหม่ สถานที่ใหม่ หรือทีมใหม่
ประโยคเดียวของโจนส์ที่น่าจะเป็นคำตอบของคุณไฟร์บอลก็คือ
"การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องใหญ่ มันอยู่ที่ว่าเรามองมันอย่างไร กลัวมันหรือสนุกกับมัน"