Custom Search

Jun 27, 2007

พระบรมราโชวาท ของ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9


ภาพประกอบจาก คุณ ชัย ราชวัตร หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
 





ชาติบ้านเมืองประกอบด้วยนานาสถาบัน อันเปรียบได้กับอวัยวะทั้งปวง ที่ประกอบกันขึ้นเป็นชีวิตร่างกาย
ชีวิตร่างกายดำรงอยู่ได้ เพราะอวัยวะใหญ่น้อยทำงานเป็นปรกติพร้อมกันอย่างไร
ชาติบ้านเมืองก็ดำรงอยู่ได้ เพราะสถาบันต่างๆตั้งมั่นและปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยพร้อมมูลอย่างนั้น
(พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทานแก่ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ
และอาสาสมัครพลเรือนในพิธีตรวจพลสวนสนาม
เนื่องในโอกาสงานพระราชพิธีรัชดาภิเษก 8 มิ.ย.2514)


การจะพัฒนาทุกสิ่งทุกอย่างให้เจริญนั้นจะต้องสร้างและเสริมขึ้นจากพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ก่อนทั้งสิ้น
ถ้าพื้นฐานไม่ดีหรือคลอนแคลนบกพร่องแล้ว ที่จะเพิ่มเติมเสริมต่อให้เจริญขึ้นไปอีกนั้น ยากนักที่จะทำได้
จึงควรจะเข้าใจให้แจ้งชัดว่า นอกจากจะมุ่งสร้างความเจริญแล้ว
ยังต้องพยายามรักษาพื้นฐานให้มั่นคง
ไม่บกพร่อง พร้อมๆกันไปด้วย
(พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ณ จุฬาฯ 10 ก.ค.2523)

ความสามัคคีและความถือตัวว่าเป็นไทยนี้ เป็นสิ่งที่มีค่าสูงสุด เพราะเป็นมรดกที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษของเรา
และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรารวมกันอยู่ได้ ให้เราดำรงชาติประเทศและเอกราชสืบมาได้
ทุกคนควรจะได้พยายามรักษาความเป็นไทย
และความสามัคคีนี้ไว้ให้มั่นคงในที่ทุกแห่ง
อย่ายอมให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดมาทำลายได้
(พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในงานชุมนุมประจำปี
ของสมาคมนักเรียนไทยในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน 1 ก.ย.2526)

การดำเนินชีวิตโดยใช้วิชาการอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ จะต้องอาศัยความรู้รอบตัวและหลักศีลธรรมประกอบด้วย
ผู้ที่มีความรู้ดี แต่ขาดความยั้งคิด นำความรู้ไปใช้ในทางมิชอบก็เท่ากับเป็นบุคคลที่เป็นภัยแก่สังคมของมนุษย์
(พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
18 ก.ย.2504)

คุณธรรมข้อหนึ่งที่ยังมีอยู่อย่างบริบูรณ์ในจิตใจของคนไทยก็คือ การให้ การให้นี้ไม่ว่าจะให้สิ่งใด แก่ผู้ใด
โดยสถานใดก็ตาม เป็นสิ่งที่พึงประสงค์อย่างยิ่ง
เพราะเป็นเครื่องประสานไมตรีอย่างสำคัญระหว่าง
บุคคลกับบุคคลและ
ให้สังคมมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่นด้วยสามัคคีธรรม
(พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 31 ธ.ค.2545)

การใช้จ่ายอย่างประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเองและครอบครัว
ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้
จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ที่ประหยัดเท่านั้นยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย
(พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 31 ธ.ค.2502)

วิถีทางดำเนินของบ้านเมืองและประชาชนโดยทั่วไป
มีความเปลี่ยนแปลงมาตลอดเนื่องจาก
ความวิปริตผันแปรของวิถีแห่งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง
และอื่น ๆ ของโลก ยากยิ่งที่เราจะหลีกเลี่ยงให้พ้นได้
จึงต้องระมัดระวัง ประคับประคองตัวเรามากขึ้น
โดยเฉพาะในเรื่องการเป็นอยู่
โดยประหยัดเพื่อที่จะอยู่ให้รอดและก้าวหน้าต่อไปได้โดยสวัสดี
(พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 31 ธ.ค.2521)

ความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้น หมายถึง ความสุขความเจริญที่บุคคลแสวงหามาได้ด้วยความเป็นธรรม
ทั้งในเจตนาและการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญหรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบังมาจากผู้อื่น
(พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีกาญจนาภิเษกทรงครองราชย์ครบ 50 ปี)

การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน
คือ ความพอมีพอกินพอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน
โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา
เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรปฏิบัติได้แล้ว
จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจ
ขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป
(พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น 20 ธ.ค. 2516 )

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน
เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม
แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มซะด้วยซ้ำไป
(พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากวารสารชัยพัฒนา ประจำเดือนสิงหาคม 2542)

สังคมใดก็ตาม ถ้ามีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน
ด้วยความมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน
สังคมนั้นย่อมเต็มไปด้วยไมตรีจิต มิตรภาพ
มีความร่มเย็นเป็นสุข น่าอยู่
(พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เพื่ออัญเชิญลงพิมพ์ในนิตยสารที่ระลึกครบ 36 ปี
ของสโมสรไลออนส์กรุงเทพฯ 31 มี.ค.38)

การงานทุกอย่างทุกอาชีพ ย่อมจะมีจรรยาบรรณของตนเอง
จรรยาบรรณนั้นจะบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ตาม
แต่เป็นสิ่งที่ยึดถือกันว่าเป็นความดีงาม
ที่คนอาชีพนั้นพึงประพฤติปฏิบัติหากผู้ใดล่วงละเมิด
ก็อาจก่อให้เกิดความเสียหาย ทั้งแก่บุคคล หมู่คณะ
และส่วนรวมได้
(พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยมหิดล ณ
อาคารใหม่ สวนอัมพร 4 ก.ค. 40 )

ความเจริญของคนทั้งหลาย ย่อมเกิดมาจากประพฤติชอบ
และการหาเลี้ยงชีพชอบ เป็นหลักสำคัญ
ผู้ที่จะสามารถประพฤติชอบและหาเลี้ยงชีพชอบได้ด้วยนั้น
ย่อมจะมีทั้งวิชาความรู้
ทั้งหลักธรรมทางศาสนา เพราะสิ่งแรกเป็นปัจจัย
สำหรับใช้กระทำการทำงาน
สิ่งหลังเป็นปัจจัยสำหรับส่งเสริมความประพฤติ
และการปฏิบัติงานให้ชอบ คือให้ถูกต้องและเป็นธรรม
(พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชดำรัสแก่ครูโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม
4 จังหวัดภาคใต้ จ. ปัตตานี 24 ส.ค. 19)

การทำงานใหญ่ ๆ ทุกอย่าง ต้องการเวลามากกว่าจะทำสำเร็จ
ผู้ที่เริ่มโครงการอาจทำไม่สำเร็จโดยตลอดด้วยตนเองก็ได้
ต้องมีผู้อื่นรับทำต่อไป ดังนั้นไม่ควรยกเอาเรื่องใครเป็นผู้เริ่มงาน
ใครเป็นผู้รับช่วงงานขึ้นเป็นข้อสำคัญ
จะต้องถือผลสำเร็จที่จะเกิดจากงานเป็นใหญ่ยิ่งกว่าสิ่งอื่น
(พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยศิลปากร
14 ต.ค. 14)

“การใช้จ่ายโดยประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเองและครอบครัว
ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ประหยัดเท่านั้น
ยังจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย”
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๐๒

“ถ้าเราสะสมเงินให้มาก เราก็สามารถที่จะใช้ดอกเบี้ย ใช้เงินที่เป็นดอกเบี้ยโดยไม่แตะต้องทุน
แต่ถ้าเราใช้มากเกินไปหรือเราไม่ระวัง เรากินเข้าไปเป็นทุน ทุนมันก็น้อยลงๆจนหมด”
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๔ ธันวาคม ๒๕๑๘

“การกู้เงินที่นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ดี อันนี้เป็นข้อสำคัญ
เพราะว่าถ้ากู้เงินและทำให้มีรายได้ ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ”
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐

“คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย
ถ้าทุกประเทศมีความคิด อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง
หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข”
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑

“ความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้น หมายถึง ความสุขความเจริญที่บุคคลแสวงหามาได้ด้วยความเป็นธรรม
ทั้งในเจตนาและการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญหรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบังมาจากผู้อื่น”
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานในพระราชพิธีกาญจนาภิเษกทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี

“ความพอเพียงนี้ ก็แปลว่า ความพอประมาณและความมีเหตุผล”
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑