สง่า พระมหา ไชยวงค์
๑๑ มิถุนายน ของทุกปี ศรัทธาชาวล้านนารวมถึงคนลำพูนถือเป็นวันครบรอบวันเกิดครูบาเจ้าศรีวิชัย มหาเถระ หรือที่คนล้านนาเรียกท่านว่า “ตนบุญ” ครูบาถือกำเนิดเมื่อ วันอังคารขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีขาล ตรงกับวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๔๒๑ เวลาพลบค่ำ เป็นวันที่พายุพัดกระหน่ำ ฟ้าร้องคำราม ณ บ้านปาง อำเภอลี้ พ่อแม่จึงให้ชื่อทารกผู้นี้ว่า “อินตาเฟือน” หรือ “อ้ายฟ้าร้อง” ตามนิมิตแห่งการเกิด เมื่อเยาว์วัยท่านเป็นเด็กเลี้ยงง่ายและอยู่ในโอวาทคำสั่นสอนของบิดามารดาช่วยประกอบสัมมาอาชีวะ ปกติท่านชอบเลี้ยงวัวเลี้ยงควายและรักความสงบตามธรรมชาติป่าเขา ครั้นเมื่อท่านอายุได้ ๑๘ ปี ได้ขอลาบิดามารดาไปเป็นขะโยม หรือเด็กวัดบ้านปาง ศึกษาเล่าเรียนและบวชเป็นสามเณรกับพระอาจารย์ขัตติยะ ซึ่งบางทีชาวบ้านก็เรียกว่า "ครูบาแข้งแคะ(ท่านเดินขากระแผก) เมื่ออายุได้ ๒๑ ปี ก็ได้อุปสมบทที่วัดบ้านโฮ่งหลวง จังหวัดลำพูน โดยมีครูบาสม สุมโณ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “สิริวิชโย ภิกขุ” จึงเป็นที่มาของนามที่ชาวบ้านจะเรียกขานท่านตามฉายาว่า “พระศรีวิชัย” พระศรีวิชัยได้ศึกษาสัพพะศาสตร์จากครูแข้งแคะ โดยได้ยึดมั่นว่าการศึกษาจะนำความสุขความเจริญมาให้ ท่านยังได้สักหมึกดำที่ขาทั้งสองข้างตามความเชื่อของลูกผู้ชายชาวล้านนา ต่อมาครูบาสม สมฺโณ ได้นำให้พระศรีวิชัยไปนมัสการครูบาอุปละที่วัดดอยแต อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน เพื่อเล่าเรียนครองวัตรปฏิบัติเป็นเวลา ๑ พรรษา จากนั้นจึงได้กราบลาครูอุปละไปศึกษาต่อกับครูบาวัดดอยคำและกลับมาศึกษาต่อกับครูบาสม สมฺโณ ที่วัดบ้านโฮ่งหลวง การได้ศึกษากับพระอาจารย์ผู้เปี่ยมด้วยภูมิรู้และวัตรปฏิบัติ ทำให้ท่านเกิดความเข้าใจในพุทธศาสนาที่ถูกต้อง มีความมุ่งมั่นปฏิบัติในด้านกัมมัฏฐาน โดยละเลิกความสนใจทางด้านไสยศาสตร์ ด้วยเล็งเห็นว่ามิใช่หนทางแห่งความหลุดพ้น
พระศรีวิชัย กลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านปางอีกครั้งและปลีกตัวเองไปอยู่ในเขตอรัญญาวาส บำเพ็ญสมาธิภาวนาด้วยความสงบ ฉันอาหารมื้อเดียว ละเว้นจากการฉันเนื้อสัตว์และเว้นจากของเสพติดเช่น หมาก พลู บุหรี่ เมี่ยง ฉันแต่ผักผลไม้ ทำให้ชาวบ้าน ตลอดจนชาวเขาหลายเผ่าที่อยู่ในแถบนั้นพากันเคารพเลื่อมใสศรัทธาในตัวท่าน
พระศรีวิชัย ได้เริ่มต้นเป็นผู้นำพัฒนาวัดบ้านปางเป็นแห่งแรก ก่อสร้างปฏิสังขรณ์กุฏิ วิหาร โบสถ์ และให้ชื่ออารามใหม่นี้ว่า “วัดจอมศะหรีทรายมูลบุญเรือง” แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงเรียกว่า “วัดบ้านปาง” นอกจากนั้นท่านยังได้ปลูกสร้างบูรณะปฏิสังขรณ์ วัดวาอารามในพระพุทธศาสนาอีกมากมายหลายวัดในพื้นที่ภาคเหนือ เช่น วัดพระธาตุหริภุญชัยลำพูน, วัดเชียงยืน, วัดพระพุทธบาทตากผ้า, วัดจามเทวี, วัดพระสิงห์, วัดสวนดอก, วัดศรีโสดา,วัดพระแก้วดอนเต้าลำปาง เป็นต้น
ผลงานด้านการพัฒนาของท่านเป็นที่รู้จักและยังคงกล่าวขวัญถึงยุคปัจจุบันก็คือ ถนนขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ ที่เป็นการร่วมแรงร่วมใจของผู้คนจากทั่วภาคเหนือที่พร้อมใจกันมาสร้างถนนร่วมกับครูบาศรีวิชัย ซึ่งก่อนหน้านั้นการจะเดินทางขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพต้องเดินเท้าขึ้นไปด้วยความลำบาก ใช้เวลาไม่ต่ำ ๔ – ๕ ชั่วโมง
รัฐบาลในสมัยนั้นซึ่งมีพลเรือตรีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ทราบเรื่องจากหลวงศรีประกาศ (ฉันท์ วิชยาภัย) จึงได้ส่งนายช่างขึ้นมาทำการสำรวจเส้นทาง ระยะทางทั้งหมด ๑๑.๕๓๖ กิโลเมตร โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๗๗ แล้วเสร็จในวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๔๗๘ ความมีชื่อเสียง ความสำเร็จผลในด้านการเป็นพระนักพัฒนา เป็นดังการบำเพ็ญบารมีธรรมในชีวิตของครูบาศรีวิชัย ที่จะก้าวไปพร้อมกันกับข้อสอบคืออุปสรรคปัญหา ที่มีทั้งคณะสงฆ์ผู้ใหญ่ ข้าราชการ ชาวบ้านในล้านนาที่ไม่พอใจในตัวท่าน จนถึงขนาดมีการกล่าวหาเอาผิดท่านถึง ๓ ครั้ง โดยกล่าวหาว่าท่านทำตัวเป็น “ผีบุญ” อวดอิทธิฤทธิ์ ซ่องสุมกำลังผู้คน คิดขบถต่อบ้านเมือง และนำท่านไปจองจำไว้ที่ ลำพูน และวัดศรีดอนไชย เชียงใหม่ และที่กรุงเทพมหานคร สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตั้งกรรมการชำระคดีครูบาศรีวิชัย ผลปรากฏว่าท่านเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่มีความผิด วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๔๘๑ ขณะที่อายุได้ ๖๐ ปีเศษ ครูบาศรีวิชัยได้ถึงแก่กาลมรณภาพที่วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มีพิธีพระราชทานเพลิงศพที่วัดจามเทวี เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๔๘๙ ตามแบบประเพณีล้านนาไทย ครูบาศรีวิชัย จึงนับเป็นแบบอย่างของพระพัฒนาที่สร้างคุณูปการต่อจังหวัดเชียงใหม่และล้านนาไทยเป็นอย่างมาก โดยไม่ย่อท้อต่อปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ นา ๆ แม้วันนี้ครูบาศรีวิชัย หรือ พระศีลธรรม จะมรณภาพมานานกว่า ๘๔ ปี ทว่าชื่อเสียงเกียรติคุณของท่านยังคงอยู่ในศรัทธาของชาวเชียงใหม่-ลำพูน และใกล้เคียงไม่เสื่อมคลาย
(ข้อมูลปรับปรุงจาก ร้อยเรื่องเมืองล้านนา ของ จักรพงษ์ คำบุญเรือง ขอบคุณภาพจากเพจ : พระครูบาเจ้าศรีวิไชย ต๋นบุญแห่งเเดนล้านนา)