ที่มา : https://mgronline.com/daily/detail/9470000004554
เผยแพร่: โดย: ณัฐ สุวรรณภูมิ
มีการถามกันมากว่า สัมมาทิฏฐิ คืออย่างไร? ขอตอบโดยย่อว่า สัมมาทิฏฐิ
คือความเห็นชอบหรือความเห็นถูกต้องตรงตามสภาวธรรม ได้แก่
ความรู้อันถูกต้องในอริยสัจ 4 (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) คือความรู้ถูกต้องในสภาวธรรมทั้งองค์รวมในมิติต่างๆ
สัมมาทิฏฐิ มี 2 ระดับ ระดับแรกเป็นคำสอนพระพุทธองค์ที่มาในกุศลกรรมบถ 10 คือ
มีความเห็นถูกต้องว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ตามกฎแห่งกรรม หรือที่เรียกว่า "กฎอิทัปปัจจยตา"
อันเป็นกฎความสัมพันธ์ตามเหตุปัจจัย "เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี..." "เมื่อสิ่งนี้เป็นเหตุ สิ่งนี้ก็เป็นผล"
เป็นกฎที่ให้ความยุติธรรมที่สุดแก่สัตว์ทั้งปวงที่มีธาตุรู้ โดยไม่เลือกหน้าอินทร์ หน้าพรหม
ไม่ว่าจะเป็นยาจก วณิพก ราชา ยากจน ร่ำรวย หญิงหรือชาย ฯลฯ "ใครคิดดีเป็นดี คิดชั่วเป็นบาป"
สัมมาทิฏฐิชั้นสูงหรือปรมัตถธรรม นอกจากจะทำให้ผู้เรียนรู้หมดทุกข์ทางใจแล้ว
เป็นผู้รอบรู้สามารถประยุกต์แก้ปัญหาเหตุวิกฤตต่างๆ ที่ปุถุชนไม่อาจจะแก้ไขได้
การที่จะมีสัมมาทิฏฐิขั้นปรมัตถธรรมนั้น มีทางเดียวด้วยการวิปัสสนา
(วิ=แจ้ง ปัสสนา=เห็นว่าสังขารทั้งปวงตกอยู่ในอำนาจกฎไตรลักษณ์)
คือการกระทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งสภาวธรรมตามความที่มันเป็น ผู้ศึกษาจะต้อง
โยนิโสมนสิการ คือการรู้จักการใช้ความคิด กระทำในใจโดยแยบคายมองสิ่งทั้งหลายอย่างมีเหตุปัจจัย
พิจารณาอย่างเป็นกระบวนการ มีเบื้องต้นท่ามกลาง
ที่สุด คิดใคร่ครวญเพื่อให้รู้แจ้งตามความเป็นจริงแห่งสภาวธรรมทั้งปวง
การวิปัสสนา เพื่อรู้ถูกในขันธ์ 5 ได้แก่ รูป (กาย) และนาม (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จิต เจตสิก รูป)
(หรือกาย เวทนา จิต ธรรม) ล้วนตกอยู่ในอำนาจไตรลักษณ์ทั้งสิ้น
เราจึงสามารถจัดความสัมพันธ์สภาวธรรมทั้งองค์รวมให้เข้าใจได้ง่ายลัดสั้นที่สุด ดังนี้
คำว่า สัพเพ คือ สรรพสิ่ง หมายความว่า สิ่งทั้งปวงทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ทั้งนามธรรมและรูปธรรม
ทั้งสังขตธรรมและอสังขตธรรม ย่อมเป็นไปตามกฎเกณฑ์อันตายตัวเรียกว่า ธรรมนิยาม (Nature law)
อันตั้งอยู่อย่างธรรมดา (ธรรมฐิติ) ความสัมพันธ์ดังกล่าวจึงเกิดเป็น
กฎอิทัปปัจจยตา คือกฎความสัมพันธ์ตามเหตุปัจจัย คือความที่ "เมื่อมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น"
หรือจะเรียกว่า เป็นกฎสากลก็ย่อมได้ (Universal law)
ขอนำผู้อ่านให้เห็นในอีกมิติหนึ่ง
จากภาพมองอย่างเคลื่อนไหว (Dynamic) ทั้งนาม (จิตที่ปรุงแต่ง, จิตสังขาร) และรูป
ล้วนตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) สภาวะปรุงแต่ง (สังขารทั้งปวง)
ย่อมก่อให้เกิดทุกข์, ขัดแย้ง เกิด แก่ ดับ สมดังพุทธพจน์ที่ว่า
...ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค,
ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งมวล มีความดับเป็นธรรมดา...(วินัย 4/26) จิตที่พ้นจากการปรุงแต่ง
คือจิตที่รู้แจ้งเห็นจริง เป็นจิตที่มีวิชชา เป็นจิตที่มีปัญญา จึงสามารถ
"ผัสสะอิสระ จากสิ่งทั้งปวง ย่อมพ้นจาก 31 สภาวะ พ้นจาก 31 สภาวะย่อมพ้นทุกข์ทั้งปวง"
หรืออีกนัยหนึ่ง รู้แจ้งในสังขาร รู้เท่าทันสังขาร อยู่เหนือสังขาร ใช้สังขาร ดุจน้ำบนใบบัว
ผู้รู้ถูก รู้แจ้งในสภาวะไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์,
ขัดแย้ง ไม่เป็นตัวตน, เกิด แก่ ดับ) ย่อมเป็นไปตามกฎและสภาวะธรรมชาติด้านสังขตธรรม
(ธรรมที่มาประชุมกัน, ปรุงแต่งแล้วสิ้นไป ทั้งนามธรรมและรูปธรรม)
เมื่อเข้าถึงสภาวะ, อรรถ, เนื้อหา สภาวะสันตธรรมย่อมเกิดปัญญาอันยิ่ง
ย่อมหน่ายจากสภาวะสิ่งปรุงแต่งนั้น จึงไม่ยึดถือ ไม่เกาะเกี่ยว อิสระจากภาวะปรุงแต่งทั้งปวง
ย่อมพบกับสภาวะอสังขตธรรม ผู้รู้จึงสามารถผัสสะ
หรือสัมพันธ์อิสระจากสภาวะรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สัมผัส) และธรรมารมณ์
อันเป็นของน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ อันเป็นบ่วงมาร
เพราะเป็นอารมณ์เครื่องผูกใจให้ติดแห่งมาร สมดังอมตพุทธพจน์ ธรรมนิยาม ที่ว่า
"สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
สพฺเพ สงฺขารา ทุกขาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
สพฺเพ ธรรมา อนตฺตาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มฺคโค วิสุทฺธิยา" (ขุ.ขุ. 25/30)
แปลความว่า เมื่อใดเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ (ขัดแย้ง)
ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้นย่อมหน่ายในทุกข์ นั่นคือทางแห่งทัศนวิสุทธิ (นิพพาน)
การรู้เข้าใจในกฎไตรลักษณ์ เป็นอุปกรณ์สำคัญที่นำผู้ศึกษาปฏิบัติให้รู้ชัด
รู้แจ้งต่อสภาวธรรมในมิติต่างๆ เช่น อริยสัจ 4, ขันธ์ 5, สติปัฏฐาน 4 (กาย เวทนา จิต ธรรม)
สังขตธรรม, อิทัปปัจจยตา, ปฏิจจสมุปบาท, สุญญตา, อตัมมยตา,
ธรรมนิยามตา, ธรรมฐิติ, อสังขตธรรม, ตถตา เป็นต้น
เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกแล้ว เรียกว่ามี "ธรรมทัศน์" หรือญาณทัศนะ
ต่อไปก็จะคิดถูก (สัมมาสังกัปปะ) พูดถูก (สัมมาวาจา) ทำถูก (สัมมากัมมันตะ)
ประกอบอาชีพถูก (สัมมาอาชีวะ) ความเพียรถูก (สัมมาวายามะ) สติถูก (สัมมาสติ)
สมาธิถูก (สัมมาสมาธิ) ญาณถูก (สัมมาญาณ) และวิมุตติถูก (สัมมาวิมุตติ)
อย่างเป็นไปเองตามกฎอิทัปปัจจยตา กฎความสัมพันธ์ตามเหตุปัจจัยของเหตุ กับผล
"เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี" หรือพูดได้ว่า
"เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ ย่อมมีสัมมาสังกัปปะ เมื่อมีสังกัปปะ
ย่อมมีสัมมาวาจา...เป็นลำดับไป ดังกล่าวแล้ว
จึงขอเชิญชวนท่านทั้งหลายโดยเฉพาะผู้แสวงหาสัจธรรมเพื่อแผ่นดิน
นักการเมือง นักปฏิวัติสันติ ผู้ที่อุทิศตนเพื่อประเทศชาติ มาร่วมพิจารณาไปพร้อมๆ กัน
ทำความเข้าใจเป็นลำดับไป เมื่อเข้าใจแล้ว เห็นแล้วจะเป็นสุข สนุก
ปีติในธรรมเกินที่จะบอกกล่าวด้วยคำพูดใดๆ
ขอรับประกันว่าท่านจะสามารถแก้ปัญหาเหตุวิกฤตประเทศชาติได้สำเร็จ
และเป็นการสร้างชาติบ้านเมืองตามวิถีธรรม เป็นเสาค้ำสันติภาพโลกต่อไป...
เอวังก็มี ด้วยประการฉะนี้
ผู้สนใจต้องการสนทนาธรรมเพื่อความรู้แจ้งได้ที่ท่านปริญญาโณภิกขุ
วัดสันติธรรมาราม ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน
ซอย 23 บุคคโล เขตธนบุรี กทม. 10600
โทร. 0-2878-2110 หรือ 09-443-7520