บทความโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณพิษณุ ศุภนิมิตร
Credit: Pishnu Supanimit
รฤกถึงพี่ถวัลย์ ดัชนี ใน”วันถวัลย์ ดัชนี”27กันยายน วันนี้
ผมเคยเป็นพิธีกรกล่าวนำพี่ถวัลย์ว่า ขอแนะนำศิลปินดัง
ศิลปินยอดเยี่ยมคือถวัลย์ ดัชนี พี่ก็จะใช้ชั้นเชิงโวหารโต้กลับผมทันทีว่า
“พิษณุครับ ผมชื่อถวัลย์ แต่ผมไม่ได้ชื่อดัง พันกร และไม่ได้ชื่อยอดเยี่ยมนะครับ”
นี่คือพี่ถวัลย์ที่เรียกเสียงเฮได้ตลอดถ้าได้ยืนขึ้นบนเวที พี่เป็นผู้ที่จดจำข้อความในพระสูตรพระคัมภีร์
หรือบทกลอนจากกวีได้เป็นเล่มๆ ต้องเรียกว่าเป็นพหูสูตเหมือนพระอานนท์สาวกแห่งพุทธองค์
และที่พิเศษไปกว่านั้นคือท่านร่ายพรรณนาด้วยสำนวนที่รจนาได้พิลึกพิลั่นราวกับกวี
ได้ฟังพี่พูดเราก็จะเคลิบเคลิ้มตามไปจนถึงนรกสวรรค์ได้
พี่ถวัลย์เป็นมนุษย์ขั้นเทพเช่นเดียวกับพี่อังคาร กัลยาณพงศ์ กวีเอกแห่งรัตนโกสินทร์
พี่อังคารไปสุดปลายทางที่ทิพย์กวี แต่พี่ถวัลย์ปลายทางสู่จิตรกรรมทิพย์
ผมจำได้ว่า วันหนึ่งได้ร่วมในบรรยากาศการสัมภาษณ์พี่ถวัลย์ของพิธีกรชื่อดัง(ชื่อดังอีกแล้ว เดี๋ยวพี่หวันได้ยิน
ผมโดนศอกกลับแน่)ของรายการทีวี พี่หวันพอเจอไมค์มาจ่อก็เริ่มพรรณนาร่ายยาว
พิธีกรก็ซักถามว่าศิลปะในทัศนะของท่านเป็นอย่างไร
ท่านก็เอ่ยอัตถาธิบายเป็นภาษาเทพของท่านยาวเหยียดจนจบ
พิธีกรจ้องมองท่านอย่างมึนงงแล้วก็ย้อนถามกลับ
“ขอความกรุณาท่านให้ความกระจ่างแบบง่ายๆอีกทีครับ”
พี่ถวัลย์หยุดคิดอยู่ชั่วครู่แล้วตอบกลับอย่างฉับไวในวิถีเซ็นที่อยู่ในจิตวิญญาณของตน
“ถ้าจะให้ผมพูดซ้ำอีกที ให้ผมไปเห่าเสียจะดีกว่า”
คราวนี้ทำให้พิธีกรของผมนิ่งงันไป ไม่ซักถามอะไรอีก
ท่ามกลางเสียงหัวเราะของผู้คนที่มุงดูอยู่รอบๆ
คำตอบนี้คงทำให้เห็นปฏิภาณการตอบและเป็นการสั่งสอนที่เจ็บแสบและมีอารมณ์ขัน
แต่คงไม่ต้องให้ผมอธิบายนะครับว่า พี่หวันพูดอะไร
เดี๋ยวผมคงต้องไปเห่าให้ฟังเช่นพี่หวัน
มีเรื่องที่ผมเขียนถึงพี่หวันไว้นานมากแล้วใน”กลิ่นสีและกาวแป้ง”
แต่ตอนนั้นปลอมชื่อเป็น”ตะวัน ชะนี” ล้อพี่เค้าสนุกๆไม่มีสาระอะไร
เมื่อหากเจอพี่เขาเมื่อไร พี่ก็จะพูดถึงข่าวคราวของผมบ้าง
ของคุณนายบ้างรวมถึงข้อเขียนใหม่ๆของผมนั่นแสดงว่า
พี่เป็นคนอ่านและติดตามข่าวคราวอย่างที่เรียกว่าอัพเดตอยู่เสมอ
ไม่มีวันตกข่าว เป็นศิษย์ของท่านอาจารย์ศิลป์ พีระศรี
อย่างแท้จริงที่พูดว่า
”นายไม่อ่านหนังสือ นายจะไปรู้อะไร”
พูดถึงท่านอาจารย์ศิลป์แล้วก็นึกถึงเรื่องราวท่านกับพี่ถวัลย์ขึ้นมาได้เรื่องหนึ่ง
ซึ่งเรื่องนี้พี่หวันก็เล่าให้ฟังอยู่บ่อยๆว่า อาจารย์ศิลป์วิจารณ์ว่าท่านเป็นคนทำงานศิลปะประเภทใช้กำลัง
ท่านเคยส่งงานให้อาจารย์ศิลป์ดูจะเป็นงานที่เป็น
งานเรียนหรืองานส่งประกวดศิลปกรรมแห่งชาติหรือเปล่า ไม่รู้ได้
ครั้งนั้นถูกอาจารย์ศิลป์โยนงานออกไปนอกห้อง พี่หวันก็สงสัยว่ามันไม่ดีอย่างไร
อาจารย์บอกว่า “นายมีแต่กำลัง” แม้จะโดนวิจารณ์ว่า
”นายเป็นแค่นักลอกรูป มันไม่ใช่งานศิลปะ” แต่พี่หวันก็ไม่เคยท้อถอย
ผมว่าเท่านั้นก็คงเพียงพอสำหรับคนที่มีสติปัญญาที่ได้รับพลังมาจากท่านอาจารย์ศิลป์
โดยผ่านพลังศรัทธา จากนั้นพี่ถวัลย์กลับใช้กำลังหรือความขยันหมั่นเพียรเพิ่มอีกเป็นหลายร้อยเท่า
เขียนรูปทุกวันไม่มีหยุด จนกระทั่งพบกับความสำเร็จในที่สุด
เด็กๆที่นับถือพี่ถวัลย์อย่าดูแต่รูปที่เขียนสำเร็จแล้ว
แต่ให้ดูที่การทำงานที่ทุ่มเทสุดชีวิต ผ่านอุปสรรคนานับประการ
เคยมีผลงานที่โดนกรีดประท้วงมาแล้วที่สำนักการนักเรียนครีสเตียน กรุงเทพฯ
จนกลายเป็นศิลปินคู่หูเพียงคนเดียวของนักปราชญ์ของไทย ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช
ที่สุดก็กลายเป็นศิลปินที่เป็นไอดอลของเด็กรุ่นหลังทั้งประเทศ
ไม่เคยคิดว่าคำวิจารณ์ของท่านอาจารย์ศิลป์จะทำให้ด้อยค่าหรือเป็นBullyเหมือนคนเดี๋ยวนี้ที่ชอบเป็นอยู่
คำวิจารณ์กลับเป็นพลังผลักดันให้ไปสู่อนาคต พี่หวันยังคงชื่นชูเคารพท่านอาจารย์ตราบวันสุดท้าย
เมื่อตอนเด็กๆ ผมเคยคิดฝันเมื่อตอนที่มองท้องฟ้าตอนกลางคืนที่มีดวงดาวทอแสงระยิบระยับ
เคยรับรู้ว่าดวงดาวที่ดารดาษอยู่บนท้องฟ้าคือคนที่เป็นดาวประจำตัวของทุกคนบนโลกนี้
เมื่อผู้นั้นหมดสิ้นอายุขัยบนโลก ดาวประจำตัวนั้นก็จะร่วงหล่นเป็นเช่นดาวตก
แต่มาถึงวันนี้ผมคงเปลี่ยนความคิดไปแล้วว่า ดวงดาวที่เห็นระยิบระยับอยู่นั้น
น่าจะเป็นอนุสรณ์ของผู้ที่ทำความดีที่จารึกไว้บนฝากฟ้า
คล้ายกับการฝากรอยมือรอยเท้าไว้บนถนนที่ฮอลลีวู้ด
อยากให้สังเกตุดูดวงดาวที่กระพริบถี่ๆแรงๆมากกว่าใคร
ดาวดวงนั้นน่าจะคือ
“ถวัลย์ ดัชนี”
ผมยังระลึกถึงอยู่เสมอ เมื่อมองไปยังผืนฟ้าและดวงดาว