Custom Search

Sep 30, 2019

ป๋อมแป๋ม นิติ ชัยชิตาทร












ภาพ / เรื่อง จาก สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

นิติ ชัยชิตาทร ชื่อเล่น ป๋อมแป๋ม เป็นนักแสดงตลก พิธีกร ฝ่ายสร้างสรรค์รายการ (ครีเอทีฟ)

จากรายการยอดฮิต เทยเที่ยวไทย และรายการ ทอล์กกะเทย และเป็นนักเขียน

มีผลงานการเขียนเล่มแรกชื่อ มะงุมมะงาหรา

ป๋อมแป๋ม-นิติ ชัยชิตาทร คือคนหนึ่งที่ก้าวเข้ามาในอาชีพครีเอทีฟ

รายการโทรทัศน์แล้วกลายเป็นที่จดจำ

เริ่มต้นเมื่อ 10 ปีก่อนจากรายการ Five Live

เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่มีโอกาสได้ทำงานในอาชีพที่ไม่ได้อยู่ในความใฝ่ฝัน

แต่ดัน “คลิก” และ “เปรี้ยง” ป๋อมแป๋ม-นิติ ชัยชิตาทร

คือคนหนึ่งที่ก้าวเข้ามาในอาชีพครีเอทีฟรายการโทรทัศน์แล้วกลายเป็นที่จดจำ

เริ่มต้นเมื่อ 10 ปีก่อนจากรายการ Five Live ทางททบ.5 จะเห็นป๋อมแป๋มในฐานะเป็น "เด็กเกย์"

และพีคสุดขีดจากรายการททท (เทยเที่ยวไทย) ซึ่งออกอากาศทางแบงแชนแนล

กับบทบาทพิธีกรไกด์สาว สาว สาว(เทย) และพ่วงตำแหน่งครีเอทีฟ และโปรดิวเซอร์รายการ


จากนักแปลสู่งานครีเอทีฟ

ด้วยเพราะจบคณะอักษรศาสตร์ เอกบาลี-สันสกฤต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ป๋อมแป๋มจึงเริ่มทำงานในสายงานนักแปล

ทำตำแหน่งนักบัญญัติศัพท์ของบริษัทพัฒนาโปรแกรมแปลอัตโนมัติมาก่อน “คลิก” กับงานครีเอทีฟ

“ทำงานแปลตั้งแต่ก่อนเรียนจบ พอจบแล้วก็ทำอยู่พักหนึ่ง

แล้วก็เปลี่ยนมาทำงานอีเว้นท์ในตำแหน่งประสานงานแต่เราก็ยังรู้สึกไม่ชอบ

ช่วงนั้นแกรมมี่เขาต้องการครีเอทีฟหน้าใหม่มาทำรายการ Five Live พอดี

เราก็เข้ามาคุยกับเจ้านายตอนนั้น เขาก็ให้งานกลับมาทำ 3 ชิ้น คือ

ให้เขียนสปอตโฆษณา 1 ชิ้น สร้างสรรค์รายการ 1 รายการ

และให้เขียนสคริปต์ 1 รายการ เขาก็คงเห็นว่าน่าจะไปกันได้ก็เริ่มทำงานเดือนกันยายน

ปี 45 ช่วงที่รอเริ่มรายการ Five Live เราก็ไปช่วยน้าเน็กทำรายการเกมฮอตเพลงฮิตก่อน

เทปแรกที่ทำคือเขียนสคริปต์ให้ใหม่ เจริญปุระ ผลตอบรับคือมันตลกและสนุกมาก”


การเป็นเด็กอักษรอาจจะเป็นอุปสรรคบ้างกับงานโทรทัศน์

แต่การลองผิดลองถูกเรียนรู้จากประสบการณ์

ความขยัน ประกอบกับทัศนคติในการทำงานที่ตรงกับองค์กร

ทำให้ศักยภาพที่มีอยู่ในตัวค่อยๆ ถูกปล่อยออกมา

“ช่วงแรกๆ เรามีปัญหากับเทคนิคเพราะเราไม่ได้เรียนนิเทศศาสตร์มา อย่างเวลาไปนั่งคุมตัดต่อ

เราช้ากว่าเขามาก อักษรศาสตร์จะเรียนเล่าเรื่องผ่านข้อความ

แต่นิเทศศาสตร์โดยเฉพาะทีวีเป็นการเล่าเรื่องผ่านภาพซึ่งเป็นรหัสที่เราไม่คุ้นเคยกับมันเลย

แรกๆ ก็จะมีการทำงานแบบเด็กอักษรคือใช้สคริปต์นำ

เรื่องราวที่จะเล่าจะผ่านปาก ไม่ได้ผ่านภาพ

ถ้าคนเรียนนิเทศฯมาจะเรียนรู้ได้เร็ว

และคุ้นเคยกับการทำงานผ่านสื่อโทรทัศน์ ซึ่งเราค่อนข้างใช้เวลา

แต่โชคดีอย่างหนึ่งที่ป๋อมแป๋มเป็นคนชอบดูทีวีตั้งแต่เด็ก

เลยคิดว่าว่าคนดูอยากดูอะไร คิดแทนคนดู เอาตัวเองไปอยู่นอกทีวี

แล้วเราเสนอไอเดียอะไรไปมันค่อนข้างตรงกับแนวทางของคนที่นี่ก็เลยค่อนข้างไปได้เร็ว

พอทำงานไปแล้วผลงานออกมาได้รับคำชม มีผลตอบรับในทางที่ดี

เราก็เกิดความฟูในใจขึ้นมานิดหนึ่งว่าเราก็ทำได้นี่นา

แล้วก็โดยอัตโนมัติว่าอยากทำให้ดีขึ้นไปอีก

เหมือนกับเราเพิ่งพบศักยภาพของเราว่าเราทำได้

ก็จะทำต่อและอยากทำให้ดีขึ้นไปอีก”