Custom Search

Nov 12, 2018

ล้มเหลวในวัยกลางคน ไปต่ออย่างไรดี










มีคุณผู้อ่านเขียนมาถามในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer ว่า “ปัจจุบันผมมีอายุ 44 ปี ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งหน้าที่การงานและความรัก จบปริญญาตรี 2 ใบ แต่ไม่สามารถนำพาชีวิตให้มีความมั่นคงได้และในปัจจุบันตกงาน ไม่รู้จะไปทางไหนดี อยากทำให้ชีวิตมีความมั่นคง สามารถเลี้ยงตัวเองได้ในยามแก่เฒ่า ผมไม่มีครอบครัว ไม่มีลูก มีความกังวลใจมาก จะทำอย่างไรดีครับ”



การที่จะบอกว่าตนเองล้มเหลวหรือไม่ประสบความสำเร็จขึ้นอยู่กับว่าเราเอาอะไรมาตัดสินค่ะ บางคนตัดสินที่ตำแหน่งหน้าที่การงาน บางคนตัดสินที่รายได้ฐานะเงินทอง บางคนตัดสินที่ความสุขจากการทำในสิ่งที่ชอบ หรือทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น จะเห็นว่าเกณฑ์การตัดสินนี้แบ่งเป็นการมองจากสิ่งที่จับต้องได้ เช่น ตำแหน่ง เงินทอง ชื่อเสียง และสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น ความสุข และคุณค่าของตนเอง แต่การมองจากสิ่งที่จับต้องได้มันเห็นได้ง่ายว่าสำเร็จหรือล้มเหลว คนเราก็เลยนิยมใช้ตำแหน่งหน้าที่เงินทองชื่อเสียงมาเป็นตัวตัดสิน จนลืมมองการตัดสินจากสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น ความสุข การไม่มีความเครียด และการมองเห็นคุณค่าในตนเอง

นอกจากนี้มุมมองของความสำเร็จของคนเราก็ต่างกัน บางคนมองความสำเร็จด้วยการเปรียบเทียบการพัฒนาการของตนเองในปัจจุบันกับในอดีต เช่น เห็นว่าตัวเองเก่งขึ้น มีทักษะต่างๆ เพิ่มมากขึ้น แต่บางคนมองความสำเร็จของตนเองเปรียบเทียบกับของคนอื่น ซึ่งกรณีนี้มักนำไปสู่ความอิจฉาริษยาทุกข์ใจท้อใจถอดใจ เพราะคนเรามีแนวโน้มที่จะเห็นตนเองด้อยกว่าคนอื่นเสียด้วยสิ

ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินว่าเราเองว่าประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ควรตัดสินเพื่อการพัฒนา ไม่ใช่ตัดสินเพื่อทำร้ายตนเองบางทีเราอาจจะมองไม่เห็นว่าตัวเองมีความถนัดในด้านใด ถ้าเราหาเจอและมุ่งทำสิ่งนั้นอาจจะไปได้ดีก็ได้ คนเราจะทำอะไรได้สำเร็จนั้นต้องมี passion หรือความชอบความรักในสิ่งที่ทำ เมื่อทำอะไรด้วยความรัก เราจะทำไปเรื่อยๆ ไม่มีเบื่อ ต้องมี perseverance หรือความอึดอดทนมีมานะพยายามที่จะทำสิ่งที่รักน้ันต่อไปแม้จะไม่สำเร็จในตอนแรกก็จะทำไปเรื่อยๆ จนสำเร็จ 

ปัญหาของคนที่ไม่รู้จะทำอะไร ความจริงคือไม่เคยมองตนเองอย่างจริงจังว่าตนเองชอบอะไร แต่ดำเนินชีวิตภายใต้ความคาดหวังของพ่อแม่หรือผู้อื่น เช่น เด็กอยากเป็นนักดนตรี แต่พ่อแม่อยากให้ลูกเป็นหมอ เด็กฉลาดเรียนหมอได้ แต่จบมาก็เป็นหมอที่ทำงานไปวันๆ ไม่มี passion ในการค้นคว้าพัฒนาแนวทางในการรักษาโรค รักษาไปตามหน้าที่ ทำไปเรื่อยๆ มีปัญหากับเพื่อนร่วมงานก็ลาออกเพราะไม่มี passion จึงไม่มี perseverance ด้วย แต่หมอที่มี passion ในการแพทย์จะรักษาคนไข้ด้วยความกระตือรือร้น สังเกตอาการ หาสาเหตุและพัฒนาการรักษาจนเกิดความชำนาญยิ่งขึ้นไป

บางรายรู้ว่าตนเองชอบอะไรถนัดอะไร แต่กลับดูถูกสิ่งที่ตนชอบเพราะคิดว่าคนอื่นจะดูถูก เช่น ชอบงานประดิษฐ์สิ่งของจากวัสดุเหลือใช้ แต่รู้สึกว่าคนอื่นๆ จะมองว่าเป็นอาชีพไม่มั่นคง จึงไปสมัครงานบริษัทเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของคนอื่น แต่เวลาทำงานก็ทำด้วยความไม่เชื่อมั่นในตนเอง เพราะรู้ว่าตนเองไม่ถนัด จึงทำงานไปด้วยความกลัวผิดพลาดและเป็นทุกข์ เมื่อทุกข์มากก็ลาออก แต่คนที่รักในงานประดิษฐ์ที่ตนเองชอบทำ จะสนุกสนานในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้ตรงกับความต้องการของผู้ซื้อ และสามารถขยายงานกลายเป็นกิจการที่มั่นคงได้

สำหรับคุณผู้อ่านที่ถามมา อยากให้มองว่าเรายังมีหนึ่งสมองสองมือในการทำงานอีกกว่า 20 ปี ลองมองตัวเองและยอมรับในสิ่งที่เราชอบ เรามี และเราเป็นให้ชัดสิค่ะ และลงมือทำสิ่งต่างๆ ด้วยใจรัก ตั้งเป้าหมายว่าทำเพื่อความสุข เพื่อเรียนรู้ เพื่อเห็นความสามารถและพัฒนาการในตัวของคุณเอง ไม่ใช่ทำเพื่อความสำเร็จตามความคาดหวังของผู้อื่นและสังคมรอบข้าง แล้วคุณจะเข้าใจเป้าหมายชีวิตและการมีความสุขอย่างแท้จริงค่ะ


ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 0814581165 หรือ เข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ