Custom Search

Mar 18, 2017

‘ทุนอานันทมหิดล’ พัฒนาคน..เพื่อพัฒนาชาติ





"ทุนอานันทมหิดล" พัฒนาคน..เพื่อพัฒนาชาติ
25 ตุลาคม 2559 | โดย ศรัณย์ กิจวศิน
http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/724275
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น กษัตริย์นักพัฒนา เป็นพระราชาผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก เป็นนักปกครองที่มองการณ์ไกล พระราชดำริของพระองค์ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ 

พระองค์ทรงทราบดีว่าการพัฒนาประเทศ จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญในวิชาการขั้นสูง หนึ่งในวิธีที่จะสร้างผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ขึ้นมา คือ การส่งผู้มีความสามารถออกไปหาความรู้ในแหล่งวิชาการแขนงต่างๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้ง “ทุนอานันทมหิดล” ขึ้นเมื่อปี 2498 

ปัจจุบันทุนอานันทมหิดล “ผลิต” ผู้ที่มีความรู้ความสามารถมากมาย ใน “ภาคเศรษฐกิจ” มีคนจำนวนไม่น้อยที่ได้รับทุนนี้ แต่ละคนที่ร่ำเรียนจบออกมา ล้วนเป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รวมทั้ง “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธปท.คนปัจจุบัน ก็ได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล 

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ทุนอานันฯ สัญญาใจ..รับใช้ชาติ 

“ประสาร” เล่าถึงความประทับใจที่ได้รับ “ทุนอานันทมหิดล” ว่า เขาได้ทุนนี้เมื่อปี 2519 เมื่อรู้ว่าได้ก็ดีใจมาก มองในแง่ส่วนตัว คือ เป็นโอกาสดีที่จะได้ไปศึกษาต่อในต่างประเทศ และทุนนี้ยังส่งเรียนจนถึงขั้นสูงสุด นั่นคือปริญญาเอก 

“ถือเป็นทุนที่มีเกียรติสูง การคัดเลือกจะแตกต่างกันไปตามแต่ละแขนงวิชา กรณีของผม เป็นสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งแต่ก่อนรวมอยู่ในแผนกวิทยาศาสตร์ วิธีการคัด เขาจะคัดจากนักศึกษาที่เรียนดี ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันจะดูในเรื่องอื่นๆ ด้วย ซึ่งคณะกรรมการใช้คำว่าความมีคุณธรรม และกรรมการที่ให้ทุนยังดูด้วยว่า ช่วงที่เรียนมีคุณลักษณะที่เหมาะสมหรือไม่ หลังจากนั้นก็จะเรียกมาสอบสัมภาษณ์ ให้เขียนวิสัยทัศน์ แล้วนำมาคัดเลือก” 

ประสาร บอกว่า ทุนนี้ไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ไม่มีการเขียนเป็นสัญญาทางกฎหมาย และก่อนจะไปศึกษาต่อ ยังได้รับพระราชทานพระราชวโรกาสให้เฝ้าทูลละอองพระบาทเพื่อกราบบังคมทูลลา การเข้าเฝ้าฯแต่ละครั้ง พระองค์ทรงพระราชทานเวลาให้อย่างมาก ทำให้เกิดความผูกพันทางใจ คิดอยู่เสมอว่า เมื่อได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นเช่นนี้ เมื่อเรียนจบแล้วก็อยากกลับมาทำงานรับใช้ประเทศ 

ประสาร บอกว่า ก่อนเข้าเฝ้าฯ รู้สึกตื่นเต้นมาก ตอนนั้นเกร็งไปหมด เมื่อได้เข้าเฝ้าฯก็มีความรู้สึกว่า พระองค์ทรงพระเมตตายิ่ง ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างมาก ตอนที่เข้าเฝ้าฯ ได้ถือพานพุ่มเข้าไป และก้มลงกราบท่าน ตอนนั้นคิดว่าคงนั่งกับพื้น แต่พระองค์ท่านรับสั่งให้นั่งบนเก้าอี้ ท่านตรัสว่าคุยกันนานกลัวจะเมื่อย 

การเข้าเฝ้าฯในครั้งนั้นใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมง แม้แต่ “ประสาร” เองก็ไม่คิดว่าจะนานขนาดนั้น เพราะก่อนเข้าเฝ้าฯคิดว่าอย่างมากสุดคงไม่เกิน 15 นาที 

ตลอดระยะเวลา 2 ชั่วโมง พระองค์ทรงพยายามชี้ให้เห็นว่า บ้านเมืองมีปัญหาอะไรบ้าง ทั้งเรื่องความยากจน ความขัดแย้ง พระองค์ทรงเล่าถึงแนวทางการพัฒนาประเทศ การได้เข้าเฝ้าเหมือนเป็นแสงสว่างนำทาง ทำให้การไปเรียนได้รู้ว่า เรามีเป้าหมายจะต้องทำอะไร 

“การได้เข้าเฝ้าฯถือเป็นเกียรติสูงสุดในชีวิต และยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณได้เข้าเฝ้าฯอย่างใกล้ชิดด้วย พระองค์ทรงเล่าเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะยามนั้นปี 2519 บ้านเมืองมีปัญหาไม่น้อย พระองค์ทรงเป็นห่วงบ้านเมือง ซึ่งเรื่องบางเรื่องเราไม่มีโอกาสได้รู้ แต่พระองค์ท่านทรงมีข้อมูล ทรงตรัสให้ฟังถึงปัญหาต่างๆ ภายในประเทศ” 

ประสาร บอกว่า แม้ทุนนี้จะไม่มีข้อผูกมัด แต่การที่พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้เข้าเฝ้าฯอย่างนี้ ทรงพระราชทานเวลา ทรงเล่าถึงประราชประสงค์ของพระองค์ แน่นอนที่สุดกระบวนการเหล่านี้จะซึมซับอยู่ในความนึกคิดของผู้ได้รับทุนไปในตัว โดยที่ไม่ต้องเขียนเป็นสัญญาบนกระดาษ แต่กลับทำให้ผู้รับทุนเกิดความเต็มใจอยากกลับมาตอบแทนแผ่นดิน เหมือนเป็นสัญญาใจ 

การเข้าเฝ้าฯในครั้งนั้น ทำให้เขามุ่งมั่นอย่างมากว่า เมื่อเรียนจบแล้วจะนำความรู้ที่ได้มาช่วยพัฒนาประเทศ เดิมก็คิดว่าคงทำงานด้านวิจัยหรือไม่ก็เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย จนกระทั่งช่วงที่ได้ทำงานวิจัยในสหรัฐ ได้พบกับอาจารย์ “อัมมาร สยามวาลา” ท่านแนะนำว่า เมื่อกลับมาไทย หากอยากใช้ทั้งความรู้ทางวิชาการ และได้ทำงานด้านนโยบาย ก็มีหน่วยงานซึ่งอาจจะเหมาะ นั่นคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงเป็นที่มาซึ่งทำให้ตัดสินใจสมัครเข้าทำงานใน ธปท. 

“ความมุ่งมั่นนี้ มีมาตลอดทางที่อยู่ระหว่างร่ำเรียน ทำให้เรามีโจทย์ เรามีอะไรได้คิด โดยคิดว่า ถ้าเราจบออกมาจะไปทำอะไรบ้าง” 

นอกจากนี้หลังเรียนจบ มีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯพระองค์อีกครั้ง ครั้งนี้พระองค์พระราชทานเวลาให้อีกชั่วโมงกว่า พระองค์ทรงซักถามถึงวิชาที่เรียนมาเป็นอย่างไร นำมาประยุกต์ใช้กับประเทศได้อย่างไรบ้าง พระองค์ยังทรงช่วยต่อยอดทางความคิด และทรงพระราชทานกำลังใจให้ ซึ่งถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ 

“เมื่อพระองค์ทราบว่า ไปเรียนด้านเศรษฐศาสตร์มา และตอนนั้นกำลังทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องตลาดข้าว พระองค์ทรงให้ข้อคิดว่า เรื่องข้าว พอจะมีแนวทางที่จะเพิ่มมูลค่าได้หรือไม่ ตอนนั้นปี 2524 ความจริงซูเปอร์มาร์เก็ตยังไม่ค่อยมี แต่พระองค์ทรงมองการณ์ไกลมาก ทรงตรัสว่า ข้าวแทนที่จะขายเป็นถุงหรือเป็นกระสอบ ความจริงน่าจะนำมาทำแพ็คเกจจิ้ง ทำเรื่องการตลาด ซึ่งจะทำให้ราคาสูงขึ้นได้ ขณะที่ช่วงเวลานั้นยังไม่มีใครคิดถึงเรื่องนี้เลย” 

ประสาร บอกด้วยว่า ทุกความคิดของพระองค์ ล้วนแต่ทรงเป็นห่วงประเทศชาติ พระองค์ทรงตรัสถามว่า เรื่องสถิติ หรือโมเดลทางคณิตศาสตร์ว่า สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงหรือไม่ หรือแม้แต่หลักทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ของชาติตะวันตกที่ร่ำเรียนมา นำมาประยุกต์ใช้กับบ้านเราได้หรือไม่ พระองค์จะทรงตรัสถามในทำนองนี้อยู่ตลอด 

สำหรับความประทับใจที่มีต่อพระองค์ท่าน ประสาร บอกว่า ถ้าพูดเป็นภาษาชาวบ้าน พระองค์ท่านถือเป็น คนเก่ง คนดี และคนขยัน พระปรีชาสามารถของพระองค์เป็นที่ประจักษ์ในหลายๆ ด้าน ตลอดช่วงเวลาของเรา จะเห็นว่า พระองค์ท่านทรงพระปรีชาทั้งด้านศิลปะ ดนตรี วาดภาพ ถ่ายรูป 

นอกจากนี้ ยังทรงพระปรีชาในด้านการพัฒนา ทั้งงานวิศวกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำ หรือแม้แต่การสร้างพาหนะต่างๆ พระองค์ทรงเป็นนักปกครองที่ยอดเยี่ยม มีพระราชอุตสาหะมากมาย ทรงงานแบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และในหลายๆ พระบรมราโชวาท ท่านจะตรัสเรื่องความถูกผิด เรื่องหลักคุณธรรม เป็นประจำ พระองค์จึงเป็นแบบอย่างที่ทุกคนควรยึดถือปฏิบัติตาม 

ทุนอานันฯ รากฐาน..พัฒนาประเทศ 

“วิรไท” เป็นอีกหนึ่งคนที่ได้รับทุนอานันทมหิดล เมื่อปี 2532 สาขาธรรมศาสตร์ เขาผูกพันกับทุนนี้มาก เพราะถ้าไม่มีทุนนี้ ก็คงไม่มีชื่อ “วิรไท สันติประภพ” คนปัจจุบัน 

เรื่องราวของทุนอานันทมหิดลนั้น มีหลายส่วนที่คนทั่วไปรู้น้อยมาก วิรไท เล่าว่า ถ้าจำกันได้ เราแทบไม่เคยเห็นพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล หรือ “รัชกาลที่ 8” เลย 

จนกระทั่งมีการสร้างสะพานพระราม8 จึงมีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ท่านขึ้น นั่นเป็นเพราะ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำรัสว่า ทรงอยากตั้งทุนอานันทมหิดล ขึ้นเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล 

สาเหตุเพราะ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเห็นความสำคัญในเรื่องการศึกษาขั้นสูง ทุนนี้จึงตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อ 60 ปีที่แล้ว พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า การพัฒนาประเทศต้องเริ่มจากการพัฒนาคน ทรงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นรัชกาล 

สาขาแรกของการจัดตั้งทุนอานันฯ คือ สาขาแพทยศาสตร์ เนื่องจากพระองค์มีพระราชดำริว่า คนที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศได้ จะต้องเริ่มจากการมีสุขภาพที่ดีก่อน “แพทยศาสตร์” จึงเป็นสาขาแรกที่พระราชทุนให้ นักเรียนทุนคนแรก คือ “ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา” รุ่นถัดมา คือ “ศ.นพ.ประเวศ วะสี” 

ปัจจุบันทุนนี้มีรวม 8 สาขาวิชา คือ แพทยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ ธรรมศาสตร์ อักษรศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ และคนที่ได้รับพระราชทานทุนนี้มีรวมแล้วกว่า 300 คน ในจำนวนนี้กว่า 80% ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย 

วิรไท บอกว่า ทุนอานันฯ มีความพิเศษหลายด้าน สะท้อนแนวพระราชดำริที่พระองค์ทรงคิดไว้อย่างรอบคอบและรอบด้าน ประการแรก ทุนนี้สะท้อนถึงความมีพระทัยที่กว้าง เนื่องจากทุนอานันฯ ไม่มีข้อผูกมัดว่าเรียนจบแล้วจะต้องกลับมาทำงานรับราชการ พระองค์ทรงรับสั่งเสมอว่า จุดประสงค์ของการพระราชทานทุน คือ การสร้างนักวิชาการที่รู้ลึกรู้จริงให้กับประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน ก็สามารถทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติได้ 

สำหรับนักเรียนทุนอานันฯ แม้ไม่มีข้อผูกมัด แต่ก็ตระหนักเสมอว่า เราต้องทำหน้าที่ให้ดีต่อเนื่อง เพราะทุนนี้ไม่มีเวลาจบเหมือนทุนอื่นๆ จะเห็นว่านักเรียนทุนหลายท่านที่เลยวัยเกษียณแล้ว ยังทำงานหนัก เพื่อประโยชน์ของประเทศ 

“สิ่งที่เหมือนกันของนักเรียนทุนอานันฯ คือ การคิดถึงส่วนรวม ซึ่งเรามีต้นแบบจากพระองค์ท่าน นอกจากนี้ยังมีต้นแบบจากรุ่นพี่ๆ ที่ทำงานหนักให้กับส่วนรวมอย่างต่อเนื่อง” 

วิรไท บอกว่า หลายคนอาจไม่รู้ว่า ทุนนี้เริ่มต้นจากเงินส่วนพระองค์เพียงแค่ 2 หมื่นบาท เป็นเงินก้อนแรกที่พระราชทาน จนถึงวันนี้ส่งนักเรียนทุน เรียนจบมาแล้ว 300 กว่าคน และที่กำลังเรียนอยู่อีกประมาณ 40 คนในต่างประเทศ 

นอกจากนี้เวลาที่ มูลนิธิอานันฯ ติดขัดปัญหาเรื่องเงิน พระองค์ก็ทรงพระราชทานทุนให้เพิ่มทุกครั้ง ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เป็นช่วงที่ค่าเงินบาทเพิ่มจาก 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ เป็น 50 กว่าบาทต่อ 1 ดอลลาร์ ได้มีกรรมการของมูลนิธิบางท่านกราบบังคมทูล ขอให้ส่งนักเรียนมาเรียนในประเทศแทน เพราะประเทศไทยเวลานั้นเริ่มมีหลักสูตรปริญญาเอกในหลายมหาวิทยาลัยแล้ว แต่พระองค์ไม่เห็นด้วย 

“พระองค์ ตรัสว่า การส่งไปเรียนต่างประเทศนอกจากต้องการให้คนไทยมีโอกาสศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ซึ่งจะได้ความรู้ที่ลึกจริงๆ จากอาจารย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลก แต่มีสิ่งที่สำคัญมากนั้น คือ การสร้างเครือข่ายของนักวิชาการ เวลาไปเรียนระดับโลก ไม่ใช่ได้เพียงแค่ความรู้ แต่เขายังได้เพื่อนฝูง ได้เครือข่ายที่จะช่วยต่อยอดให้เป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต” 

อีกเรื่องที่พระองค์ทรงเป็นห่วงนักเรียนทุนอย่างมาก คือ ทางมูลนิธิมีเงินจำกัด จึงมีความคิดว่าจะขอพระบรมราชานุญาตจัดงาน คล้ายๆ กับการหาทุนมาถวายเพื่อสมทบ ช่วงแรกๆ ท่านก็ไม่ทรงโปรด แต่ในที่สุดก็พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดได้ โดยมีรับสั่งให้จัดที่ ศาลาดุสิดาลัย เพื่อไม่ต้องเสียค่าสถานที่จัดงาน มูลนิธิจึงมีโอกาสพิเศษทุก 2 ปีครั้ง คือ วันที่ 20 ก.ย. ซึ่งตรงกับวันประสูติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล 

วิรไท เล่าว่า พระองค์ ทรงพระบรมราชานุญาตให้คิดค่าบัตรไม่เกิน 6,000 บาท ทางมูลนิธิก็มานั่งคำนวณว่า ราคานี้จะได้เงินเท่าไร แต่ก็ต้องตกใจเมื่อมีรับสั่งลงมาว่า ราคาที่ตรัสหมายถึง ให้คิดต่อโต๊ะ คือ โต๊ะละไม่เกิน 6,000 บาท ไม่ใช่ใบละ 6,000 บาท เนื่องจากพระองค์ทรงเข้าพระทัยว่า นักเรียนทุนที่จบมา ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เงินเดือนไม่มากนัก จึงไม่ควรทำให้เขาต้องลำบาก สะท้อนให้เห็นว่าพระองค์ทรงใส่พระทัยในรายละเอียดต่างๆ มาก 

พระองค์ท่านไม่เพียงแต่พระราชทานทุนให้ไปเรียนต่อเพียงอย่างเดียว ถ้าได้ลองศึกษาประวัติทุนอานันฯ จะทราบดีว่า เมื่อนักเรียนเหล่านี้ เรียนจบกลับมา บางครั้งไม่มีเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือแม้แต่สถานที่ในการทำงาน พระองค์ได้จัดสรรทุนไว้ก้อนหนึ่งเพื่อสนับสนุนการทำงานในส่วนนี้ 

“ห้องแล็บในหลายๆ ห้องของคณะแพทยศาสตร์ เป็นผลจากการที่ พระองค์เข้าพระทัยดีว่า การที่นักเรียนทุนเหล่านี้จบกลับมา จะใช้ความรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพก็ต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือที่พร้อม สะท้อนถึงสายพระเนตรที่ยาวไกลอย่างมาก” 

วิรไท บอกว่า เมื่อไหร่ที่รู้สึกท้อแท้ในการทำงาน อยากให้ดูข่าวในพระราชสำนัก จะเห็นภาพการทรงงานอย่างหนักของพระองค์ท่าน ซึ่งเป็นตัวอย่างที่หาที่ไหนไม่ได้แล้ว จึงถือเป็นกำลังใจที่ดีในการทำงาน